พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก
พระพุทธศาสนามีกี่นิกาย ?
พระพุทธศาสนาแบ่งออกได้หลัก ๆ เป็น ๓ นิกาย คือ
๑. เถรวาท เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ถ้ามองในแง่หนึ่งอาจจะเป็นลักษณะอนุรักษ์นิยม เช่น พระวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ
ในครั้งพุทธกาลบัญญัติไว้อย่างไร ก็คงรักษาอยู่จนถึงปัจจุบัน
คำสอนในพระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ก็รักษาไว้แบบเดิมจนถึงปัจจุบัน
๒. มหายาน เป็นสายที่เจริญทางอินเดียตอนเหนือ
ข้ามไปจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น
เอกลักษณ์ของมหายานเน้นการเป็นพระโพธิสัตว์
สร้างบารมีนำพาสรรพสัตว์ไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ได้เป็นจำนวนมาก
มีการแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติให้ยืดหยุ่น จะได้สะดวกในการเผยแผ่พระธรรมไปในประเทศต่าง
ๆ ซึ่งมีภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมแตกต่างกัน
๓. วัชรญาณ หรือ ตันตรญาณ บางทีเรียกว่า มนตรญาณ นิกายนี้รุ่งเรืองที่ทิเบตมองโกเลีย จุดเด่นของวัชรญาณเน้นว่า
ลามะองค์สำคัญ ๆ จะมีการกลับลงมาเกิดใหม่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Living Buddha คือ เป็นลามะองค์สำคัญที่บรรลุแล้วกลับชาติมาเกิด
แต่ภาษาอังกฤษแปลว่าเป็น Living
Buddha ไปเลย
แล้วเวลาที่ทะไลลามะมรณภาพเขายังไม่ตั้งองค์ใหม่
แต่จะคอยสืบว่าท่านกลับชาติลงมาเกิดที่ไหน และต้องมีการสุ่ม เช่น
มีความคุ้นเคยกับข้าวของเครื่องใช้ของทะไลลามะไหม และมีการสอบถามหลาย ๆ เรื่อง
พอได้ตัวบุคคลที่ใช่แล้ว ก็จะแต่งตั้งให้เป็นทะไลลามะตั้งแต่ ๓-๔ ขวบ
แล้วให้การศึกษา ฝึกอบรม เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นทะไลลามะ แล้วก็เป็นตลอดชีวิต
เป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เพราะถือว่าเป็นองค์อวตารขององค์เดิม
นี้เป็นความเชื่อของชาวพุทธแบบวัชรญาณ
นิกายนี้บางทีเรียก มนตรญาณ
มีมนต์ที่สวดแล้วมีอานุภาพให้พระพุทธเจ้ามาช่วยได้ เป็นต้น
เป็นนิกายที่ค่อนข้างจะลึกลับ คนจีนบางทีเรียกนิกายนี้ว่า มี่จง “จง” คือ ศาสนา “มี่” คือ ลึกลับ
นิกายวัชรญาณมีศาสนิกไม่ค่อยมาก ที่มองโกเลียกับทิเบตรวมแล้วแค่ ๑๐
กว่าล้านคน แต่มีอิทธิพลในโลกไม่น้อย
เป็นเพราะหลังจากเกิดความผันผวนทางการเมืองในทิเบต ทะไลลามะก็พาพระลามะและชาวทิเบตอพยพไปอยู่ที่ธรรมศาลาในอินเดีย
ซึ่งเป็นศูนย์อพยพใหญ่ของชาวทิเบต แล้วพระลามะก็กระจายไปทั้งโลก
การกระจายไม่เหมือนพระไทยที่ไปสร้างวัดในต่างแดน
เพราะว่าคนไทยไปสร้างวัดในต่างแดนส่วนใหญ่สร้างในชุมชนชาวไทย พระไทยไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษ
ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ เพราะคนมาวัดส่วนใหญ่เป็นคนไทย
พระไทยไปสร้างวัดเพื่อรองรับคนไทยในต่างประเทศแต่ชาวทิเบตและมองโกเลียมีอยู่นิดเดียว
ในแต่ละประเทศอาจจะมีแค่ ๒ คน ๕ คน วัดทิเบตไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของชาวมองโกลหรือชาวทิเบต
จำเป็นต้องเผยแผ่ศาสนาไปสู่คนท้องถิ่นให้ได้ ถ้าเผยแผ่ไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้
ช่วงแรกพระลามะลำบากมาก ภาษาก็ไม่รู้เรื่อง เพราะออกมาแบบกะทันหัน
ถูกบีบออกมาด้วยแรงกดทางการเมือง หนีตายมาแล้วกระจายไปทั่วทั้งโลก
ถ้าเผยแผ่ไม่สำเร็จตายแน่ เลยกัดฟันสู้ สุดท้ายสู้ได้ ค่อย ๆ
ศึกษาภาษาในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้วก็เผยแผ่ ผลปรากฏว่า เวลาผ่านมา ๔๐-๕๐ ปี
พระพุทธศาสนาแบบทิเบตกลายเป็นพระพุทธศาสนาที่ชาวโลกรู้จักมาก เรียกว่าในเสียมีดี
ในดีมีเสีย
นี้คือภาพรวมของพระพุทธศาสนา ๓ สายใหญ่ในโลกปัจจุบัน
แต่ละนิกายมีคำสอนหรือแก่นของพระพุทธศาสนาเหมือนกันไหม
?
หัวใจอย่างแรกก็คือ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทุกนิกายนับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกันพระพุทธเจ้า
คือศูนย์รวมชาวพุทธทุกนิกายชาวพุทธทั้งหมดล้วนแต่เป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน
แล้วพระธรรมคำสอนของพระองค์ก็อยู่บนหลักอหิงสา คือไม่เบียดเบียนกัน
ไม่ว่าพระพุทธศาสนานิกายไหนก็ไม่สนับสนุนให้เผยแผ่ศาสนาด้วยการเบียดเบียนทำร้ายเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น
เราไปเหมือนน้ำเย็น ๆ ใครพอใจจะนับถือก็นับถือ ไม่มีการบังคับ
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่มีสงครามศาสนาเลย เพราะว่าเป็นเอกลักษณ์ขององค์พระศาสดาซึ่งไม่สนับสนุนความรุนแรง
แล้วทุกคนต่างก็ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ให้พ้นจากกิเลส พ้นจากทุกข์
ถ้าพ้นแล้วจะอยู่ในสถานะเป็นพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคนแต่เป้าหมายปลายทางคือมุ่งสู่นิพพาน
อะไรเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ชาวโลกสนใจพระพุทธศาสนา
?
บางศาสนาเน้นเรื่องความเชื่อ ห้ามสงสัย แค่สงสัยบาปเลย
แค่คิดว่าพระเจ้ามีจริงหรือเปล่า บาปแล้ว พระเจ้าสร้างโลกจริงไหม
เหล่านี้ห้ามสงสัยทั้งหมด ถ้าสงสัยเมื่อไรก็บาป ต้องเชื่อ เลยเป็นสามัญสำนึกของชาวตะวันตกว่าศาสนาคือเรื่องของความเชื่อ
ความศรัทธา แต่พระพุทธศาสนาไม่ใช่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ ตรองให้ดี
ปฏิบัติให้ดีก่อน รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองแล้วค่อยเชื่อ
คราวหนึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนาแสดงจบแล้วตรัสถามพระสารีบุตรว่าเชื่อไหม พระสารีบุตรตอบว่าขอคิดดูก่อน
พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าถูกต้อง
นี้คือท่าทีของชาวพุทธคือต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล
แล้วเมื่อทุกคนปฏิบัติก็จะสามารถเข้าถึงความจริงที่พระพุทธเจ้าสอนได้
เพราะว่าคำสอนในศาสนาพุทธเป็นสัจธรรม นี้คือเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา
คนยุคปัจจุบันมีความรู้เยอะขึ้น
ถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น พอคิดไปคิดมา
คนตั้งพันกว่าล้านคนประกาศตนเป็นคนไม่มีศาสนา เพราะศาสนาเก่าของตัวเองบอกให้เชื่อ
เขารับไม่ได้ ไม่มีเหตุไม่มีผล
คนจำนวนมากเลยแสวงหาว่าศาสนาไหนจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้แก่พวกเขาได้
และมาพบคำตอบในพระพุทธศาสนา ยิ่งคนมีความรู้มาก ฉลาดมาก เก่งมาก มีความคิดเป็นระบบ
จะบังเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก
ลองดูความเห็นและความรู้สึกของบุคคลชั้นนำของโลกที่มีต่อพระพุทธศาสนากันบ้าง
๑. H.G. Wells นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ นักหนังสือพิมพ์นักประวัติศาสตร์
เขากล่าวว่า “พระพุทธศาสนากระทำไว้มากยิ่งกว่าอิทธิพลอื่นใดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เพื่อความก้าวหน้าแห่งอารยธรรมของโลกและวัฒนธรรมที่แท้จริง” พูดง่าย ๆ ว่า
ผลกระทบจากพระพุทธศาสนาแรงกว่าปรากฏการณ์ทุกเรื่องตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
๒. Max Muller เป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษาชาวเยอรมัน
เขาทำพจนานุกรม ทำหนังสือ ตำราภาษาสันสกฤต ภาษาโบราณเยอะมาก
เรียกว่าถ้าหากเอ่ยชื่อนี้ในแวดวงนักวิชาการด้านภาษาของโลกรู้จักทุกคน
แล้วต้องอาศัยหนังสือที่เขาทำมาเป็นร้อย ๆ ปีประกอบในการค้นคว้า เขาบอกว่า “ประมวลศีลธรรมของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยรู้จักมา” นี้คือความเห็นของคนที่เกิดมาในศาสนาอื่น
แล้วเป็นผู้ที่มีปัญญาสูงมากศึกษามาอย่างเจนจบ
๓. ศาสตราจารย์ Carl G. Jung เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิสที่มีชื่อเสียงดังก้องโลกกล่าวว่าในฐานะนักศึกษาศาสนาเปรียบเทียบตัวเองเกิดมาในศาสนาคริสต์
แต่พยายามศึกษาทุกศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง
และอาจจะรู้จักพระพุทธศาสนาดีกว่าพวกเราชาวพุทธเสียอีก เขาบอกว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยพบมา
ปรัชญาของพระพุทธเจ้า ทฤษฎีวิวัฒนาการและกฎแห่งกรรม (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว)
ยิ่งใหญ่เหนือลัทธิอื่นอย่างห่างไกล”
นอกจากนี้ยังมีคนดังระดับโลกหันมานับถือพระพุทธศาสนา เช่น Richard Gere เป็นดาราที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ
ครั้งที่ ๖๐ ก็ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง Steven Seagal นักแสดงฮอลลีวูด
ผู้ผลิตภาพยนตร์ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบท ก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา
แล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังถึงขนาดลามะบางองค์บอกว่า Steven Seagal เป็นอดีตลามะองค์สำคัญกลับชาติมาเกิด นอกจากนี้
Roberto Baggio กองหน้าตัวหลักของอิตาลี
ก่อนลงสนามเตะก็ต้องนั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ใจนิ่ง จะได้ลงเตะแบบมีสมาธิ
อะไรทำให้คนต่างศาสนิกเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาขนาดนั้น
?
อาตมาคิดว่าเป็นเพราะธาตุแท้ของความไม่เบียดเบียน ความสงบเย็น
พอเขาศึกษาแล้วเขาสัมผัสได้ว่าเย็นจังเลย สบายใจ ไม่ถูกบังคับทุกอย่างเป็นแบบอิสระ
คนทางยุโรป อเมริกาเขากลัวเรื่องการมาจูงใจให้เปลี่ยนศาสนาแต่พุทธศาสนาไปแบบเย็น ๆ
สบาย ๆ สนใจก็มาศึกษาเอาตามสบาย เขาจึงมาด้วยความสบายใจ
พอศึกษาแล้วเขาสัมผัสได้ถึงความสงบเย็น ลงมือปฏิบัติก็ได้ผลอีก
ได้สวดมนต์นั่งสมาธิ ใจเป็นสุข สบายใจ สุขภาพแข็งแรงขึ้น
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความจริงปฏิบัติแล้วเข้าถึงได้จริง
แล้วระหว่างการศึกษาทุกอย่างเป็นแบบธรรมชาติ
ไม่มีการบีบบังคับให้ทุกคนตระหนักรู้ด้วยตัวเอง
ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะมากกับคนยุคใหม่ที่ชอบอิสระ มีความคิดความอ่าน มีแหล่งข้อมูลที่ศึกษาเยอะ
ใครจะมาบังคับให้เชื่ออะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ง่าย
การนั่งสมาธิของนักเตะระดับโลกคนหนึ่งมีส่วนให้ชาวโลกหันมาสนใจพระพุทธศาสนาด้วยหรือไม่
?
มีส่วน และเป็นส่วนสำคัญด้วย
อย่างในอเมริกามีชาวอเมริกันนั่งสมาธิทุกวันเกิน ๑๐ ล้านคน
แล้วเขาไม่ใช่ชาวพุทธโดยกำเนิด เขามาศึกษาเพราะสนใจ
ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชให้เขานั่งเลย เขานั่งเอง แล้วตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐ ปี เพิ่มหนึ่งเท่า
คนสนใจสมาธิเกินครึ่งประเทศอเมริกาเข้าไปแล้วตอนนี้ คนที่นั่งทุกวัน ๑๐
ล้านคนที่เหลือก็นั่งบ้างนาน ๆ ที
นี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องของชาวอเมริกันกระแสหลักไปแล้ว
ถามว่าทำไมเขาถึงชอบนั่งสมาธิขนาดนี้ ก็เพราะว่าปฏิบัติแล้วได้ผล นั่งแล้วสบายใจ
มีความสุขใจนิ่ง หลุดจากปัญหา จากความเครียด ชีวิตคนปัจจุบันยุ่งเหยิงมาก
ข้อมูลก็ไหลทะลักท่วมตัวไปหมด ชีวิตเหมือนลอยไปกับกระแสกดดันต่าง ๆ มากมาย
แต่พอได้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนคนที่ลอยกลางน้ำมาเป็นปี ๆ ขึ้นเกาะได้สบายอกสบายใจ
ความรู้สึกของเขาคล้าย ๆ อย่างนั้น เมื่อมาพบหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
มาพบคำตอบในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งสมาธิแล้วมีความสุข
มาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นเหตุเป็นผล เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
ปราศจากความเบียดเบียนต่อบุคคลอื่น ทำให้เขาค่อย ๆ ยอมรับ แล้วศึกษาเพิ่มขึ้น
ปฏิบัติเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
พระพุทธศาสนามีการเผยแผ่แบบสงบ ผู้เผยแผ่ก็มีบุคลิกไม่เหมือนศาสนาอื่น
คือศาสนาอื่นจะพยายามดึงคนมาเป็นสมาชิกของเขา ให้ตัดทิ้งของเดิมให้หมด
แต่พระพุทธเจ้าทรงเปิดกว้างตามความสมัครใจ
ใครสนใจพระพุทธศาสนาไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาก็ได้ มาศึกษาคำสอนแล้วเอาไปปฏิบัติ
ให้มีเมตตา ให้ทาน รักษาศีล อย่างน้อยศีล ๕ แล้วตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน
ไม่ได้ต้องการบังคับว่า คุณต้องเปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธเท่านั้น ห้ามยุ่งกับศาสนาเดิม
เปล่าเลย
เอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็คือหลักธรรมปฏิบัติ ทำสมาธิ
แล้วขณะเดียวกันพระธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้าก็โดนใจคนมาก เพราะเป็นเหตุเป็นผล
ยิ่งคนฉลาดมากเท่าไรก็ยิ่งยอมรับคำสอนของพระพุทธเจ้ามากเท่านั้น
พระสงฆ์หรือฆราวาสผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาควรทำตัวอย่างไร
?
หลัก ๆ
ต้องทำตัวเราให้เป็นต้นแบบ อย่าไปฝากไว้กับผู้เผยแผ่ศาสนาอย่างเดียว พวกเราชาวพุทธทุกคนต้องเป็นต้นแบบด้วย คนศึกษาใหม่เขารู้ว่าเรามาจากประเทศไทยศูนย์กลางพระศาสนาของโลก เขาจะมองดูว่าบุคลิกชาวพุทธเป็นอย่างไร
ถ้าเราคว้าแก้วเหล้าขึ้นมาดื่มอึ้ก ๆ
ภาพลักษณ์ที่สวยงามก็พังทลายเพราะฉะนั้น เราต้องมีเมตตา แล้วดำเนินชีวิตด้วยทาน ศีล
ภาวนา เอื้อเฟื้อต่อสรรพชีวิตทั้งปวง มีน้ำใจต่อกัน
ตั้งใจรักษาศีลให้ดีไม่เบียดเบียนใคร แล้วตั้งใจสวดมนต์ภาวนาสม่ำเสมอทุกวัน
เป็นต้นแบบของชาวพุทธที่ดีให้ชาวโลกได้เห็น ยิ่งเป็นผู้เผยแผ่ศาสนา
ก็ยิ่งต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีก
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
สงครามคีย์บอร์ด
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
อากาศร้อน ใจร้อน
การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย
เลิกเหล้าเข้าพรรษา
สังคมอารมณ์ร้อน
มิตรแท้ มิตรเทียม
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
|
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทำไมต้องสั่งสมบุญบ่อย ๆ (ปีก่อนหน้า)
"ปลื้ม" หัวใจของการสร้างบุญ
สงครามคีย์บอร์ด
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
อากาศร้อน ใจร้อน
การอนุโมทนาและมุทิตาจิต
จุดเริ่มต้นบุญที่ยิ่งใหญ่
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย
เลิกเหล้าเข้าพรรษา
สังคมอารมณ์ร้อน
มิตรแท้ มิตรเทียม
เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงกัปไขลง
ชาตินี้ ชาติหน้า (ปีถัดไป)
พระพุทธศาสนาในสายตาชาวโลก
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
03:26
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: