หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔)


ผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันดีรี (DIRI) ได้นำเสนอเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องประจำทุก ๆ เดือน ผ่านมาได้ ๓ ฉบับแล้ว แต่การเผยแผ่พระพุทธศาสนายังมีเรื่องราวอีกมาก ในฉบับนี้ผู้เขียน จึงขอนำเสนอ ประวัติของเส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว

พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่กว้างไกลสู่อาณาจักรรอบข้าง โดยเฉพาะที่ โยนกประเทศ และ แคว้นคันธาระ แคว้นนี้อยู่ระหว่างประเทศอินเดียกับตะวันออกกลาง เป็นที่เชื่อมการเดินทางสมัยโบราณ เรียกว่า เส้นทางสายไหม เส้นทางนี้พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก โดยเริ่มต้นจากตอนกลางของอินเดียขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่อยู่ของแคว้นคันธาระโบราณในทิศตะวันตกก่อน แล้วจึงหักออกมาทางทิศตะวันออกเข้าสู่เส้นทางสายไหม แล้วแยกออกเป็น ๒ เส้นทาง ขนาบด้านเหนือและใต้ของทะเลทรายทากลามากัน แล้วไปบรรจบเป็นเส้นทางเดียวกันอีกครั้งในทิศตะวันออกที่ Anxi   ก่อนจะเข้าสู่ประเทศจีนนั้น ปรากฏว่าเป็นเส้นทางที่มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของพระพุทธศาสนาและคัมภีร์พุทธโบราณอยู่ตลอดสาย

ภาพ : Huntington  Archieve
http://www.huntingtonarchive.osu.edu/resources
เส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าโบราณ

ทำให้พวกเราเหล่านักวิจัย ดีรียิ่งตั้งใจมุ่งมั่นสืบค้นวิจัยคำสอนดั้งเดิมในแหล่งพุทธโบราณสถานนี้ให้ได้ และสืบเนื่องจากการลงนามสัญญาความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัย ดีรีกับมหาวิทยาลัยออสโลแห่งนอร์เวย์ ซึ่งผ่านมาได้เกือบ ๔ ปีแล้วนั้น ทำให้เราดำเนินการสืบค้นเรื่อยมานับแต่บัดนั้น

สำหรับเรื่องที่มีการเผยแผ่ออกพ้นเขตชมพูทวีปไปสู่อาณาจักรต่าง ๆ รอบข้าง และประดิษฐานได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปในโยนกประเทศและคันธาระนั้น  เมื่อครั้ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ของกรีกยกทัพเข้ารุกรานอินเดีย เมื่อยกทัพกลับแล้ว  ก็โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแลแคว้นที่ทรงพิชิตได้ ภายหลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว แม่ทัพชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งตนเป็นอาณาจักรอิสระ อาณาจักรที่มีกำลังมากคือ อาณาจักรซีเรีย และอาณาจักรแบกเทรียซึ่งปัจจุบันคือส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานและตอนเหนือของปากีสถาน อาณาจักรแบกเทรียสถาปนาเป็นรัฐอิสระในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ซึ่งตรงกับ รัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช 

ต่อมาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนี้สับสนไปด้วยสงครามและการแย่งชิงอำนาจอยู่ประมาณร้อยปีเศษ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๓๙๒ พระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์ผู้มีเชื้อสายกรีก มีพระนามในภาษากรีกว่า เมนันดรอส (Menandros) พระองค์ทรงแผ่อำนาจลงมาถึงตอนเหนือของลุ่มแม่นํ้าคงคา เดิมทีมิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงแตกฉานวิชาไตรเพทของพราหมณ์และปรัชญาศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย ทรงโต้วาทีกับนักบวชในลัทธิศาสนาต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครเสมอพระองค์ได้ จนกระทั่งคณะสงฆ์ได้เลือก พระนาคเสน ผู้สามารถมาสนทนากับพระเจ้ามิลินท์      จนกระทั่งพระองค์ทรงกอปรด้วยสัมมาทิฐิ ทรงเจริญศรัทธาในพระพุทธศาสนา จากการตั้งคำถามและฟังคำตอบจากพระนาคเสนเป็นเวลาหลายวัน คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก  แต่พระนาคเสนก็เฉลยได้ทุกข้อ พร้อมทั้งยกอุปมาเปรียบเทียบได้อย่างแจ่มแจ้งโดยอาศัยธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาจึงได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ามิลินท์เป็นอย่างดี  การสนทนาระหว่างทั้งสองท่านนี้ได้รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์เรียกว่า มิลินทปัญหา ซึ่งในคัมภีร์นี้  พบว่าได้กล่าวถึง พระธรรมกาย ไว้ด้วย
พระเจ้ามิลินท์ ( Menander ) ชื่อในภาษากรีกเมนันดรอส ( Menandros)
ครองราชย์ปลายพุทธศตวรรษที่ ๔
ที่มา http://www.livius.org/source-content/the-milindapanha/

การสืบค้นหลักฐานธรรมกายจากดินแดนที่เคยเป็นคันธาระโบราณ และจากพื้นที่โดยรอบทะเลทรายทากลามากัน ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็นเส้นทางการค้าที่เรียกว่าเส้นทางสายไหม ซึ่งรับเอาพระพุทธศาสนามาจากคันธาระอีกที บ่งบอกว่าดินแดนคันธาระเป็นต้นแหล่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่เอเชียกลางและประเทศจีน เอกสารโบราณที่บันทึกโดยพระภิกษุในพระพุทธศาสนา กล่าวถึงการเดินทางของพระพุทธศาสนาไปสู่แคว้นคันธาระหลายระลอก เช่น ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลหรือหลังพุทธกาลใหม่ ๆ, หลังการสังคายนาครั้งที่ ๒ ก่อนรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช, ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และสุดท้ายมาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยของพระเจ้ากนิษกมหาราชแห่งราชวงศ์กุษาณะ และนี่ก็เป็นภาพการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในคันธาระและเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีคัมภีร์โบราณอันทรงคุณค่าอยู่มากมาย

ทั้งสืบเนื่องจาก วันที่ ๔-๑๐ สิงหาคม ที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในโครงการสืบค้นวิจัยคำสอนดั้งเดิมฯ ณ ประเทศนอร์เวย์ เนื่องจากได้รับจดหมายเชิญจากท่านศาสตราจารย์เจนส์  บราวิก นักวิชาการอาวุโสด้านโบราณคดีแห่งศูนย์การศึกษาก้าวหน้า มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ผู้จุดประกายให้นักวิชาการระดับโลกรวมถึงนักศึกษาพุทธศาสตร์ทั่วโลกได้รับทราบและปลื้มปีติว่ามีการค้นพบพระคัมภีร์พุทธโบราณที่มีอายุตั้งแต่ ๑,๓๐๐-๒,๐๐๐ กว่าปี โดยท่านศาสตราจารย์เชิญไปเพื่อร่วมปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ อีกทั้งภาคบ่ายยังได้พาคณะของผู้เขียนไปพบกับนักอนุรักษ์และบำรุงรักษาซ่อมแซมพระคัมภีร์โบราณ และยังได้ชมได้สัมผัสต้นฉบับพระคัมภีร์อันเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิฉบับแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดเช่นนี้

สำหรับ ศาสตราจารย์เจนส์  บราวิก นั้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มและจุดประกายให้วงการชาวพุทธ  ได้รับรู้ว่า ที่บามิยันก่อนถูกพวกตาลีบันระเบิดทำลายพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่นั้น ภายในหุบเขานี้มี พระคัมภีร์เก่าแก่ อายุ ๑,๓๐๐ ปี ถึง ๒,๐๐๐ กว่าปี ที่มีสภาพทั้งที่ยังสมบูรณ์ และที่ชำรุด  ต้องอาศัยนักอนุรักษ์บำรุงรักษาเพื่อการซ่อมแซม แล้วยังมีขั้นตอนการดูแลความสะอาดให้สมบูรณ์ ก่อนนำมาถ่ายสำเนาด้วยระบบดิจิทัลแล้วเก็บต้นฉบับไว้ เอาผลงานที่ถ่ายสำเนานำมาให้นักวิชาการผู้รู้ด้านอักษรโบราณอ่านและตรวจชำระ เพื่อปริวรรตและถอดความต่อไป

หุบเขาบามิยันนั้น ในอดีตดินแดนแถบนี้เรียกว่า แคว้นคันธาระหรือคันธารราฐ (Gandhara) เป็นเมืองตั้งอยู่บน เส้นทางสายไหม (Silk Road) จุดทางแยกสู่จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นบริเวณที่อารยธรรมจากตะวันออกเดินทางมาพบกับอารยธรรมจากตะวันตก กล่าวคือ อารยธรรมจากอินเดียเดินทางมาพบกับอารยธรรมจากอิหร่าน กรีซ และจีน มีการค้นพบศาสนสถานทางศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูเป็นจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง เป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในบริเวณนั้นมาก่อนที่จะมีศาสนาอิสลามเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ศาสนวัตถุที่สำคัญที่สุดในบริเวณนั้น คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่จำนวน ๓ องค์ ซึ่งแกะสลักอยู่บนหน้าผาหินสูงชันกว่า ๒,๕๐๐ เมตร และมีอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี ซึ่งสถานที่นี้มีอารามมากกว่า ๑๐ แห่ง มีพระสงฆ์หลายพันรูป ทั้งฝ่ายโลกุตตรยาน (โลกุตตรวาทิน) ซึ่งเป็นนิกายย่อยของมหาสางฆิกะและภิกษุฝ่ายหินยาน ดังนั้นคัมภีร์โบราณที่ถูกค้นพบในหุบเขาบามิยันจึงมีทั้งคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหาสางฆิกะ ถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งค้นพบพระคัมภีร์พุทธเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งพบในถํ้าต่าง ๆ แห่งหุบเขาบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถานนั้น

ศาสตราจารย์เจนส์  บราวิก ได้ไปเข้าร่วมประชุมทางวิชาการในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙  ณ มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า แซม ฟ็อกก์ พ่อค้าของเก่าแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ขายชิ้นส่วนเอกสารโบราณของพุทธศาสนาจำนวน ๑๐๘ ชิ้นให้แก่  คุณมาร์ติน  สเคอเยน ชาวนอร์เวย์  ผู้อำนวยการและเจ้าของสถาบันอนุรักษ์สเคอเยน  (Conservation Institute of SchØyen) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้ (เก็บรวบรวมไว้ของทุกศาสนา) พอทราบว่าเจ้าของเป็นชาวนอร์เวย์ ท่านจึงเกิดความสนใจอย่างแรงกล้า จึงได้ไปพบเพื่อขออนุญาตให้นำเอกสารโบราณดังกล่าวมาศึกษาวิจัย ซึ่งทางเจ้าของคือคุณมาร์ติน  สเคอเยน ก็อนุญาตและยินดีให้ความร่วมมือ

ภาพขวามือ  ผู้เขียนได้รับมอบหนังสือผลงานการชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต ซึ่งมีอายุเก่าแก่ 

๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปี ของสถาบันอนุรักษ์สเคอเยน

ดร.เจนส์  โบว์ (เสื้อเขียว)  นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านสันกฤต ซึ่งเรียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปริญญาตรี, โท และเอก  
อีกทั้งยังเชี่ยวชาญภาษาทิเบตอีกด้วย  ซึ่งเป็นบุคลากรหลักในการชำระและแปลพระไตรบิฎกพร้อมทำงานวิจัยอย่างใกล้ชิดกับ 

พระวีระชัย  เตชังกุโร (กลาง)  ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยออสโล  ด้วยผลงานวิทยานิพนธ์เกรด A  

สร้างความภาคภูมิใจให้กับสถาบันฯ เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านทำการศึกษาและสืบค้นวิจัยจนได้พบหลักฐานที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์

โบราณ  คือ  เรื่อง "ธรรมกาย"  จากที่นี่ด้วย

โดยก่อนหน้าที่จะมีการขายเอกสารโบราณนั้น แซม ฟ็อกก์ ได้ติดต่อนักโบราณคดีชื่อ ลอร์  แซนเดอร์ ให้ช่วยเขียนอธิบายความเป็นมาของเอกสารโบราณเหล่านี้ ซึ่งเมื่อเธอได้นำไปวิเคราะห์ก็พบว่า เอกสารโบราณเหล่านี้ถูก จารึกขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรพราหมี (อ่านว่า พราม-มี) ในช่วงราวปี พ.ศ. ๕๔๐-๙๔๐ เป็นพระคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่ว่าถึงพระสูตร พระวินัย ตลอดจนจารึกเหตุการณ์ต่าง ๆ หลากหลาย บางเรื่องก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่เอกสารอีกหลายชิ้นมีเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏให้โลกรู้มาก่อน และเรียกได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญในภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุดของพุทธศาสนา (ที่มีหลักฐานเหลืออยู่)

พระคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณเหล่านี้ถูกจารึกอยู่บนแผ่นวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ ใบลาน เปลือกไม้ หนังแกะ และแผ่นทองเหลือง เป็นต้น เจาะรูแล้วร้อยด้ายรวมไว้เป็นเล่ม บางเล่มอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ที่เป็นเศษเล็กเศษน้อยนั้นมีจำนวนมาก และเมื่อสืบหาข้อมูลต่อไป ท่านศาสตราจารย์จึงพบว่า แหล่งที่มาของเอกสารโบราณสำคัญลํ้าค่าเหล่านี้มิใช่อื่นไกล แต่เป็นถํ้าต่าง ๆ บริเวณหุบเขาบามิยัน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากพระพุทธรูปประทับยืนหินแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นเอง

ต่อมาศาสตราจารย์เจนส์  บราวิก ได้เป็นผู้เชิญชวนให้นักวิชาการระดับโลก ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลกให้มาร่วมมือกันทำงานสำคัญ เพื่อการตรวจชำระปริวรรตเป็นอักษรโรมันเเละแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ แล้วจัดพิมพ์เผยแผ่ให้นักวิชาการพุทธศาสตร์และชาวพุทธทั่วโลกได้รับทราบข้อมูลต่อไป และถือได้ว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญให้คนรุ่นหลังได้รับรู้  จึงเสมือนเป็นการเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนา จากการศึกษาพระคัมภีร์ที่มีความเก่าเเก่ทั้ง ด้านโบราณคดี วัฒนธรรม และความคิดความรู้ของคณะสงฆ์ ตลอดจนผู้คนในยุคนั้น ๆ ด้วย จนทำให้ชาวโลกต่างตื่นตาตื่นใจ เพราะทั้งเนื้อหาเรื่องราวที่ถูกจารึกด้วยภาษาและตัวอักษรโบราณนั้นล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

นักวิชาการที่ร่วมกันทำงานเหล่านั้นประกอบด้วยนักวิชาการ คณาจารย์ระดับโลกของเยอรมัน มีศาสตราจารย์ลอร์  เเซนเดอร์  ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะอินเดียที่เบอร์ลิน ท่านศาสตราจารย์ เจนส์  อุเว  ฮาร์ทเเมนน์  จากมหาวิทยาลัยลุดวิก  แม็กซิมิเลียน  มิวนิค และที่มาจากประเทศญี่ปุ่น คือ ท่านศาสตราจารย์คาซุโนบุ  มัตสึดะ มหาลัยบุคเกียว  เกียวโต และต่อมามีศาสตราจารย์พอล  แฮร์ริสัน (ชาวนิวซีเเลนด์) จากมหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ด  อเมริกา อีกด้วย

เรียงลำดับจากซ้ายมาขวา
ศ. คาซุโนบุ  มัตสึดะ, ศ. ลอร์  แซนเดอร์,
ศ. เจนส์  อุเว  ฮาร์ทแมนน์, ศ. พอล  แฮร์ริสัน และ ศ.เจนส์  บราวิก
ท่านเหล่านี้ได้ร่วมงานกันมา ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๕๔๐

ท่านเหล่านี้ได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบันนี้มีนักวิชาการระดับโลกและนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานอีกมากมาย และที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีนักวิจัยของสถาบันดีรีร่วมอยู่ด้วย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา สถาบันดีรีมีความร่วมมือทางวิชาการอย่างต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยออสโล แล้วทางสถาบันดีรีก็ได้ร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ที่มีโครงการวิจัย ชำระ และแปลเอกสารโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเช่นกัน จึงทำให้เรานักวิจัยของสถาบันดีรีได้เรียนรู้สืบค้นจากแหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิ (Primary Source) ที่แท้จริง นั่นหมายถึงโอกาสอันดีงามที่นักวิจัยของสถาบันดีรีได้ย้อนยุคไปศึกษาวิจัยและได้เรียนรู้ภาคสนามกับนักวิชาการ คณาจารย์ระดับโลก ที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก

จากการที่นักวิจัยของสถาบันฯ ได้บ่มเพาะฝึกฝนตนเองทั้งด้านวิชาการ ทั้งเรียนรู้ภาษาโบราณ และการทำวิจัยด้วยระบบมาตรฐานสากลของโลก โดยเริ่มต้นเสมือนเป็นผู้ช่วยวิจัยของคณาจารย์นักวิชาการระดับโลกเหล่านั้น จึงทำให้พวกเราพัฒนางานวิจัยก้าวหน้าไปได้มาก จนในปัจจุบันพวกเราก็ได้รับความเมตตาให้ร่วมทำงานเคียงข้างท่านอย่างเต็มตัว จนนักวิจัยของเราได้ผลิตผลงานทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเหล่านั้น ที่จะพิมพ์เผยเเผ่สู่สาธารณะทั่วไป ทำให้นักวิชาการระดับโลกต่างเริ่มรับรู้ผลงานจากสถาบันวิจัยดีรีเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ท่านศาสตราจารย์เจนส์  บราวิก ได้พาคณะนักวิจัยของสถาบันดีรีไปที่ Workshop โดยนัดหมายไปพบ Conservator ชื่อคุณดาเนียล เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการถนอมรักษาของเก่าด้านเอกสาร โดยเฉพาะภาพเขียนโบราณเก่าที่ประณีต เป็นต้น เเละเนื่องจากพระคัมภีร์เหล่านั้นเป็นวัสดุเปลือกไม้เบิร์ช (Birch Bark) และใบลาน ที่มีการจารึกด้วยหมึกชั้นเยี่ยม อายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๖ (อายุราว ๑,๓๐๐ ปี) เเต่ถูกความชื้น (ไม่รู้สาเหตุ) จนทุกแผ่นติดกันแน่น  คุณดาเนียลต้องค่อย ๆ แกะแล้วทำให้เเห้ง แล้วจึงส่งต่อไปถ่ายสำเนาดิจิทัล จากนั้นจึงเป็นช่วงที่นักวิจัยของดีรีกับ ดร.เจนส์ จะได้มีโอกาสเรียนอ่าน ชำระปริวรรตเป็นตัวอักษรโรมัน (Romanize) จากนั้นจึงจะไปเทียบกับคัมภีร์ในภาษาอื่น ซึ่งผู้ชำระจะต้องมีพื้นความรู้ภาษานั้น ๆ เช่น ทิเบต จีน เป็นต้น และแปลเป็นภาษาอังกฤษ

คุณดาเนียล (Conservator)  แผนกอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ กำลังอธิบายวิธีการเก็บรักษาและซ่อมแซม
เพื่อการทำงานขั้นตอนต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งข้อมูลชุดใหญ่
ต้นฉบับเก่าแก่ อายุมากกว่า ๑,๓๐๐ ปี

การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในครั้งนี้ มีพันธกิจเพื่อร่วมประชุมปรึกษางานกัน เเละจะได้มีโอกาสพัฒนาความร่วมมือต่อกัน อันสืบเนื่องจากการทำ MOU ระหว่างสองสถาบันคือ University of Oslo (UiO) และ Dhammachai lnternational Research lnstitute (DIRI)

อีกทั้งผู้เขียนและทีมงานก็ได้มีโอกาสพบปะและเข้าไปทำความรู้จักกับทีมงานนักวิชาการที่เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับพระคัมภีร์พุทธโบราณ ฉบับภาษาคานธารี ได้แก่ ศ. ริชาร์ด ซาโลมอน, ศ. คอลเล็ต  ค็อกซ์, ดร. แอนดรูว์  กลาส และท่านภิกษุณีเทียนชาง ในการประชุมวิชาการด้านพุทธศาสตร์ศึกษานานาชาติ ครั้งที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ ภาควิชาตะวันออกและอัฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงเป็นผลงานของนักวิจัยสถาบันดีรีที่สามารถค้นพบหลักฐาน ร่องรอยธรรมกาย ซึ่งมีอยู่หลายแหล่งด้วยกัน และเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยผู้เขียนจะทยอยนำมาเผยแพร่ให้ได้ทราบกันในฉบับต่อไป

Cr. พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔) หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๔) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:05 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.