หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๗)
เดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้
ผู้เขียนได้รับเชิญจากเจ้าภาพ คือ ประธานพุทธสมาคมจีนให้เข้าร่วมประชุม World Buddhist Forum ครั้งที่ ๔ ที่เมือง Wu
Xi ซึ่งมีผู้แทนองค์กรชาวพุทธถึง ๕๒ ประเทศเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่พุทธบริษัทจะมารวมเป็นหนึ่งเดียว
ในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนจะเดินทางไปเมืองซีอานอีกครั้งหนึ่ง
ตามที่นัดหมายกับท่านศาสตราจารย์ยูว ยีว์ ผู้มีน้ำใจเป็นกุศล
ที่ช่วยนัดให้พบกับท่านเจ้าอาวาส คือพระธรรมาจารย์เจิ้งฉินฝ่าซือ
ประธานพุทธสมาคมแห่งมณฑลส่านซี ซึ่งท่านมีเมตตากล่าวชวนให้ไปใหม่อีกครั้ง
จะได้เตรียมพระคัมภีร์โบราณที่ทางวัดเก็บรักษาไว้มาให้ชม
เพราะช่วงนี้ทางวัดมีงานบุญประจำปี
อีกทั้งท่านต้องไปร่วมประชุมกับประธานพุทธสมาคมแต่ละมณฑลทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีท่านเจ้าอาวาสเมตตาอนุญาตให้ไปที่ห้องพิเศษ
เพื่อสักการะพระธาตุจอมกระหม่อมของพระถังซำจั๋งและคัมภีร์ต้นฉบับจริงที่ท่านนำมาจากอินเดีย
จึงนับว่าเป็นบุญวาสนาของพวกเรา
และเราเชื่อว่าจะต้องได้ไปเยี่ยมที่นี่อีกอย่างแน่นอน เพื่อทำงานภาคสนาม
ฉบับนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเรื่องเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบไป
พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าไปในดินแดนแถบเอเชียกลางในราวพุทธศตวรรษที่
๖ อาณาจักรและเมืองสำคัญในยุคดังกล่าวตั้งอยู่ริมแอ่งทาริม
รอบทะเลทรายตากลามากันบนเส้นทางแพรไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าขายมาแต่โบราณ
สถานที่เหล่านี้ ได้แก่ เมืองคิซิลกูชา อาณาจักรทูร์ฟาน บนเส้นทางแพรไหมตอนเหนือ
และอาณาจักรโขตาน เมืองนิยะ เมืองตุนหวง
บนเส้นทางแพรไหมตอนใต้ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งที่พบพุทธคัมภีร์โบราณ
แหล่งค้นพบพุทธคัมภีร์โบราณ เส้นทางแพรไหมตอนเหนือ เช่น คิซิล กูชา ทูร์ฟาน เส้นทางแพรไหมตอนใต้ เช่น โขตาน นิยะ ตุนหวง ที่มา http://irfu.cea.fr/Sap/Phocea/Vie_des_labos/Ast/ast.php?id_ast=2615 |
อาณาจักรโขตานตั้งอยู่ตอนใต้ของแอ่งทาริม เชิงเขาคุนหลุน เป็นโอเอซิสที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำยูรุงกาชและการากาช
จึงได้รับความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำ ๒ สาย
อาณาจักรโขตานเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ตั้งแต่เริ่มรับพระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๖ อย่างต่อเนื่อง จนถึงราวพุทธศตวรรษที่
๑๖ พระภิกษุจีนฝาเสี่ยน ผู้เคยเดินทางผ่านมา ได้บันทึกไว้ว่า “ประเทศนี้เจริญมั่งคั่งและมากไปด้วยประชากร
ประชาชนทั้งหมดเป็นผู้ยึดมั่นเปี่ยมศรัทธาในธรรมะ
และมักมีวิธีสันทนาการด้วยบทเพลงทางศาสนา พระสงฆ์ที่นี่มีหลายหมื่นรูป
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหายาน” ความนิยมทางฝ่ายมหายานที่นี่เป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกับเส้นทางแพรไหมตอนเหนือที่นิยมพระพุทธศาสนาสาวกยานมากกว่า
สถานที่สำคัญที่ค้นพบคัมภีร์โบราณทางตะวันออกเฉียงเหนือของโขตาน คือตันตันอูอิลิก
ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการขุดค้นไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าไป
จิตรกรรมพระพุทธเจ้า พุทธโบราณสถานตันตันอูอิลิก โขตาน ที่มา http://idp.bl.uk/archives/news32/idpnews_32.a4d |
วัดถ้ำพุทธสถานโบราณคิซิล กูชา มณฑลซินเจียง จีน พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๓ ที่มา http://mongolschinaandthesilkroad.blogspot.com/2012/04/tocharian-and-tocharians.html |
วัดถ้ำพุทธสถานโบราณคิซิลเป็นวัดถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลซินเจียง
ประกอบด้วยถ้ำเล็กใหญ่ ๒๓๖ ถ้ำ ขุดเจาะเข้าไปในหน้าผายาวกว่า ๒ กิโลเมตร
จิตรกรรมภายในถ้ำเป็นเรื่องราวชาดกและอวทานของนิกายสรรวาสติวาท
จากเนื้อหาในคัมภีร์ที่พบที่กูชา ทำให้ทราบว่าหนึ่งในจิตรกรรมถ้ำที่คิซิลนั้น
กษัตริย์ชาวโตคาเรียนทรงพระนามว่า เมนทเร
มีรับสั่งให้วาดขึ้นภายใต้คำแนะนำของพระเถระชื่ออนันทวรมัน
โดยฝีมือช่างเขียนชาวอินเดียชื่อนรวาหนทัตตะ กับอีกท่านมาจากซีเรียชื่อปรียรัตนะ
และกษัตริย์โขตานทรงพระนามว่าวิชยวรธนะและมูร์ลิมิน
ได้ส่งช่างมาเขียนภาพจิตรกรรมไว้ในอีกถ้ำหนึ่งด้วย
ชิ้นส่วนพุทธคัมภีร์โบราณ อักษรพราหมี ภาษาโตคาเรียน พุทธศตวรรษที่ ๘-๑๓ ที่มา http://mongolschinaandthesilkroad.blogspot.com/2012/04/tocharian-and-tocharians.html |
อาณาจักรทูร์ฟาน
เป็นพื้นที่โอเอซิสหรือพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในทะเลทรายตากลามากัน
ตั้งอยู่บนเส้นทางแพรไหมตอนเหนือมีพื้นที่ ๑๗๐ ตารางกิโลเมตรโดยประมาณ อยู่ระหว่างเมืองเจียวเหอและเกาชาง
เขตเมืองทูร์ฟานใหม่ในมณฑลซินเจียงของจีน พุทธโบราณสถานที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคือวัดถ้ำเบเซกลิก
สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘
พุทธคัมภีร์โบราณของทูร์ฟานปัจจุบันเป็นสมบัติของเบอร์ลินคอลเลกชัน
พบว่าชิ้นส่วนคัมภีร์พุทธศาสนาที่เก่าที่สุดของที่นี่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่
๑๓-๑๕ เป็นคัมภีร์ที่สร้างด้วยความประณีตบรรจง โดยใช้หมึกสีแดงเขียนเฉพาะคำว่า “พุทธะ” และ “โพธิสัตวะ” หรือใช้กับคำแรกของคาถาเป็นต้น
อักษรที่ใช้จารึกส่วนใหญ่เป็นอักษรอุยกูร์ที่พัฒนามาจากอักษรซอกเดียน
มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้ อักษรทิเบตและพราหมี เนื้อหาในคัมภีร์แปลมาจากภาษาจีน ทิเบต
สันสกฤต โตคาเรียนหรือซอกเดียน แต่ก็พบคัมภีร์ท้องถิ่นประเภทร้อยกรองและวรรณกรรมของคฤหัสถ์เช่นกัน
นอกจากนี้ยังพบคัมภีร์ที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้อีกด้วย
จิตรกรรมพระพุทธเจ้าพันพระองค์ พุทธโบราณสถานถ้ำเบเซกลิก ทูร์ฟาน มณฑลซินเจียง จีน ที่มา http://www.bartellonline.com/chinapic.php?i=25600 |
ม้วนคัมภีร์กระดาษ ภาษาจีน จากโม่เกา ตุนหวง มณฑลกันซู จีน พุทธศตวรรษที่ ๑๒- ๑๔ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่มา http://news.lib.uchicago.edu/blog/2012/08/ |
คัมภีร์พุทธศาสนา อักษรพราหมี ถ้ำโม่เกา ตุนหวง มณฑลกันซู จีน ปัจจุเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดบริติช ที่มา http://farm5.static.flickr.com/4115/4866403781_72778fe2eb_z.jpg
จากการศึกษาเส้นทางการเผยเเผ่นี้
ผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบันดีรีสรุปได้ว่า
ดินแดนของจีนนับเป็นเเหล่งข้อมูลในระดับปฐมภูมิที่มีจำนวนมหาศาล
สถาบันดีรีจึงได้จัดบุคลากรและแผนการทำงานวิจัยในภาคสนาม เพื่อสืบค้นคำสอนดั้งเดิม
ให้ได้มาซึ่งหลักฐานร่องรอยธรรมกายสืบไป
Cr. พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่านหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามบทความด้านล่างนี้
|
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๗)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:22
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: