ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย


                                             ตู้ใหญ่ใบโตโอฬาร            เขียนลายรดสนาน
                                  เปนเรื่องพระพุทธโฆษา       
                                             เมื่อเสด็จไปเมืองลังกา      โดยสานนาวา
                                  กำปั่นของพวกพานิช           
                                             ท่านไปแปลคำสังสกฤต    เปนมคธภาสิต
                                  สำเร็จนิวัติคืนคลา
                                            ในตู้เต็มพุทธฎีกา              ทั้งอรรถกถา
                                  โยชนาก็มีมากหลาย

ตอนหนึ่งของฉันท์จากหนังสือฉันท์ชมกุฎี และกาพย์ฉบังเบ็ดเตล็ด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ บรรยายถึงลวดลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎกที่เก็บรักษาไว้ภายในกุฏิของพระเถระรูปหนึ่ง ณ วัดอรุณราชวราราม วาดเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ลงเรือพ่อค้าวานิชออกเดินทางไปยังลังกาทวีป เพื่อแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาสันนิษฐานว่าแต่งโดยพระมหาห่วง วัดมหาธาตุ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบทประพันธ์นี้แสดงให้เห็นธรรมเนียมการตกแต่งตู้พระไตรปิฎกด้วยศิลปะลวดลายรดน้ำ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญในอดีต


ลายเส้นสีทองของลายรดน้ำเป็นงานศิลปะชั้นสูง ที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของช่างศิลป์ที่รู้จักนำเอาวัสดุบริสุทธิ์สูงค่า คือแผ่นทองคำเปลวมาผสมผสานกระบวนการอันซับซ้อนละเอียดอ่อนของงานประณีตศิลป์ เพื่อประดับตกแต่งฝาผนังตู้พระไตรปิฎกทั้งด้านหน้าบานประตู และด้านข้างตู้ซ้ายขวา เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นผิวให้เรียบ ทาด้วยรัก ขัดผิวเขียนลวดลายลงพื้นรักด้วยหรดาลในส่วนที่ไม่ต้องการปิดทอง ปิดด้วยทองคำเปลวจนเต็มพื้นที่ และเสร็จสิ้นกระบวนการขั้นสุดท้ายด้วยการ รดน้ำล้างน้ำยาสีเหลืองของหรดาลออกทองคำเปลวที่ปิดทับหรดาลจะละลายน้ำหลุดออกไป ปรากฏเฉพาะลวดลายในส่วนที่ทองคำเปลวติดอยู่บนตัวพื้นรักเท่านั้น คำว่า ลายรดน้ำจึงมีที่มาจากขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างสรรค์ผลงานประณีตศิลป์นี้เอง

ขั้นตอนการออกแบบลวดลายและการจัดองค์ประกอบให้สมดุลถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี วิเคราะห์ไว้ว่า “...จะต้องมีความถ่วงกันอย่างพอดีของความอ่อนและแก่ อันบังเกิดจากสีดำของยางรักและความสว่างของทองคำเปลว หากความอ่อนและแก่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งข่มกันมากเกินไป ก็จะบังเกิดความขัดแย้งไม่ประสานกันขึ้น...


ลายกระหนกเป็นรูปแบบลายของศิลปะไทยชั้นสูงที่ช่างฝีมือนิยมใช้ในศิลปะลายรดน้ำ ที่พบมากเป็นลายกระหนกเปลวไฟ มีเส้นสายอ่อนพลิ้วไหว ปลายสะบัดละม้ายคล้ายเปลวไฟหรือเป็นลวดลายที่ช่างฝีมือดัดแปลงจากธรรมชาติรอบตัว เช่น รวงข้าวและทรงของฝ้ายเทศ ก่อเกิดเป็นลายกระหนกรวงข้าวหรือลายกระหนกใบเทศอันงดงาม สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันแน่นแฟ้นอยู่กับสังคมเกษตรกรรมมาอย่างช้านาน หรือบางครั้งช่างศิลป์ก็ผูกลวดลายเป็นกระหนกเคล้าภาพ คือ ผูกเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น กระรอก นก ผีเสื้อเกาะหรือไต่ไปตามกิ่งก้านของกระหนกด้วยอากัปกิริยาการเคลื่อนไหวที่สอดผสานอย่างกลมกลืนกับลายประดิษฐ์ ความสร้างสรรค์และอัจฉริยภาพในการประดิษฐ์ลวดลายไทยที่มีเอกลักษณ์ของครูช่างไทยในอดีตปรากฏในคำไหว้ครูช่างดังนี้
       
       ผูกลายขดแย่งเวียดวัล                 หางโตบิดผัน
นกคาบในคลองเปลวปลาย               
       เครือเทศกุดั่นหลากหลาย             พลิกแพลงเยื้องกราย
เปนอย่างฝรั่งจีนจาม           
       ซ้อนซับก้านเกี้ยวเงื่อนงาม            ขดไขว้เลื้อยลาม
ด้วยลูกแลดอกอัดแอ           
        ลักพื้นโปร่งร่วงรวนแร                    แฉกเพราเลิศแล
วิจิตรแนบเนียนทำ ฯ            

(ประชุมหนังสือเก่า ภาคที่ ๑-๒, ๒๕๕๒ : ๑๗)

ภาพลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎกมักผูกเป็นลวดลายจนเต็มพื้นที่และมี แม่ลายหรือภาพหลัก บ้างเป็นภาพบุคคลที่ไม่ได้เขียนเป็นเรื่องราว เช่น เทวดา ทวารบาล บ้างเป็นภาพบอกเล่าเรื่องราวจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาและเรื่องจากวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน ในส่วนที่เป็นเรื่องราวจากคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้น นิยมเขียนเป็นภาพพุทธประวัติและชาดกมีทั้งชาดกที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก เช่น ทศชาติชาดก และชาดกนอกนิบาต หมายถึง ชาดกที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ได้แก่ ปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวที่พระภิกษุชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมนิทานไทยพื้นบ้านมาแต่งเป็นชาดก เพื่อสอนพระพุทธศาสนาให้แก่คนไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ภาพพุทธประวัติตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ภาพพุทธประวัติตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาในสรวงสวรรค์

เรื่องจากวรรณคดีและนิทานที่เกี่ยวเนื่องด้วยคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่นิยมนำมาวาดประดับตู้พระไตรปิฎก อาทิเช่น เรื่องจากคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งโดยพระราชดำริในพระยาลิไท สมัยสุโขทัย เนื้อหากล่าวถึงโลกสัณฐาน แบ่งเป็น ๓ ส่วน หรือไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ มุ่งสอนให้คนรู้จักบาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ลายรดน้ำปรากฏเป็นภาพเขาพระสุเมรุ เทวดาในสวรรค์ หรือภาพสัตว์ที่อาศัยในป่าหิมพานต์ เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวจากวรรณคดีชั้นสูง ที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบุคคลชั้นสูงมักให้ช่างวาดตกแต่งตู้พระไตรปิฎกถวายวัด ประดิษฐานไว้ตามอารามสำคัญ ๆ เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน หนึ่งในวรรณคดีที่แพร่หลาย คือ เรื่องรามเกียรติ์ ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักกันดีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา มีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดียเรื่องมหากาพย์รามายณะ ที่แพร่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการนำไปประพันธ์จนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติของหลายประเทศ ในส่วนของวรรณกรรมไทยนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีบทประพันธ์ที่มีต้นเค้าจากเรื่องรามายณะ ถึง ๑๐ สำนวน แต่บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นสำนวนที่มีความสมบูรณ์และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่าฉบับอื่น ลวดลายบนตู้พระไตรปิฎกปรากฏเรื่องราวตอนสำคัญ ๆ ของเนื้อเรื่อง อาทิ ภาพการรบระหว่างกองทัพพระรามกับฝ่ายกองทัพยักษ์ หรือ ภาพจับซึ่งเป็นภาพการต่อสู้เป็นคู่ ๆ เป็นต้น

ลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ ตอนยกรบฝ่ายลงกาและฝ่ายพลับพลา


พื้นรักสีดำขับลวดลายเส้นสีทองให้เด่นชัดอย่างลงตัวฉันใด วิถีแห่งไทยก็เด่นชัดขึ้นด้วยวิถีแห่งธรรมฉันนั้น พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม ประเพณี คติความเชื่อ ที่หล่อหลอมเข้าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แม้วิถีแห่งไทยในปัจจุบันอาจแปรเปลี่ยนรูปแบบไปตามความก้าวหน้าของยุคสมัย แต่วิถีแห่งธรรมยังเป็นสิ่งเกื้อหนุนประคับประคองความเป็นปึกแผ่นและยังความภาคภูมิใจให้ไทยเป็นไทยจวบจนวันนี้ และวิถีแห่งไทยคงจะร่มเย็นสงบสุขขึ้น หากคนไทยหันมาใส่ใจกับวิถีแห่งธรรมให้กลับมาเฟื่องฟูในจิตใจเหมือนยุคบรรพบุรุษแล้วภาพประวัติศาสตร์เล่าเรื่องราวของเราในวันนี้ที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่แผ่นดินจะแจ่มชัด และเป็นที่ชื่นชมอนุโมทนาของคนไทยรุ่นถัดไป แต่หากเราละเลยวิถีแห่งธรรมอันถูกต้องดีงามแล้วไซร้ ต่อไปภายภาคหน้าวิถีแห่งไทยก็คงจะหมดไป แล้วเอกลักษณ์ของชาติไทยจะเหลืออะไรไว้บนแผ่นดิน

-----------------------------------------------------
บุญเตือน ศรีวรพจน์. รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๕๕.
ศิลป์ พีระศรี. เรื่องตู้ลายรดน้ำ. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๓.
อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์. ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๒ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙







คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.