อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม


ย้อนไปนานนับพันปี บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนา มีพื้นที่ครอบคลุมหลายจังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ตลอดจนเขตสิบสองปันนาของจีนและบางส่วนของพม่าและลาว ผู้คนในถิ่นนี้มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง อักษรที่นิยมใช้เขียนวรรณคดีทางโลก คือ อักษรฝักขาม ส่วนอักษรที่นิยมใช้บันทึกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ อักษรธรรม จึงเรียกอักษรธรรมที่ใช้ในอาณาจักรล้านนาว่า อักษรธรรมล้านนา



สมัยพระเจ้าติโลกราช พระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๙ ถือเป็นยุคทองของภาษาและวรรณกรรมล้านนาทั้งยังเป็นยุคที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องด้วยพระองค์ทรงส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีและทรงสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติตามหลักพระวินัยอย่างเคร่งครัดจึงทำให้คณะสงฆ์มีความเชี่ยวชาญและแตกฉานในพระไตรปิฎก จนสามารถจัดสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินไทยในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ณ วัดโพธารามมหาวิหาร(วัดเจ็ดยอด) แล้วใช้อักษรธรรมล้านนาจารึกพระไตรปิฎกบาลีลงในคัมภีร์ใบลาน และได้แจกจ่ายเผยแผ่ไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองสิบสองปันนา เมืองหลวงพระบาง และหัวเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านนา ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของพระพุทธศาสนาในล้านนาสืบต่อมาอีกหลายยุคสมัย


ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหาเถระผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและรวบรวมคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา ผู้เป็นที่เคารพรักและนับถือของสาธุชนตลอดจนเจ้าผู้ครองนคร คือครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรหรือครูบามหาเถร ผู้แตกฉานในอรรถบาลีและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีพื้นเพเดิมอยู่ที่เมืองแพร่ (จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน) ได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาอักขระล้านนาตั้งแต่เยาว์วัย ณ วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ เมื่อครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า กัญจนภิกขุด้วยความสนใจในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านจึงเดินทางไปเมืองเชียงใหม่เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนาธุระเพิ่มเติมและเนื่องจากท่านเป็นพระภิกษุผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนามากมาย ท่านจึงได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ (จ.ศ. ๑๑๘๘) เจ้าหลวงแผ่นดินเย็นพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีพระราชศรัทธาจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้จีรังยั่งยืนในแว่นแคว้น ทรงปรารถนาจะเจริญรอยตามพระพุทธโฆษาจารย์ พระภิกษุชาวอินเดีย ที่เดินทางไปรวบรวมคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกที่เกาะลังกา เพื่อนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนชมพูทวีปอีกครั้ง จึงทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์สนับสนุนครูบากัญจนอรัญญวาสี พระมหาราชครู และพระมหาเถระผู้ทรงคุณวุฒิแห่งเมืองเชียงใหม่ ให้ร่วมกันตรวจสอบและรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกโดยเฉพาะคัมภีร์พระวินัยและอรรถกถาที่ยังขาดตกบกพร่อง แล้วเขียนเป็นหมวดหมู่ขึ้น เมื่อแล้วเสร็จได้ทำการฉลองธรรมที่วัดพระสิงห์ต่อเนื่องกัน ๗ วัน ๗ คืน

วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากที่ครูบากัญจนอรัญญวาสีได้รวบรวมคัมภีร์ในเมืองเชียงใหม่ ท่านได้รับอาราธนาจากเจ้าหลวงอินทรวิชัยราชา เจ้าผู้ครองเมืองแพร่ ให้อัญเชิญคัมภีร์อักษรธรรมจากเชียงใหม่มาประดิษฐาน ณ วัดสูงเม่น เมืองแพร่ ตลอดเส้นทางจากเมืองเชียงใหม่สู่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองนครและสาธุชนในเมืองที่ท่านเดินทางผ่านต่างให้การต้อนรับด้วยความเคารพ แสดงให้เห็นว่าเจ้าผู้ครองนครและพุทธศาสนิกชนในสมัยก่อนให้ความเคารพในพระธรรม และให้ความสำคัญต่องานของพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ ศิลปะล้านนาประยุกต์ ซึ่งเจ้าหลวงเมืองแพร่ และพระชายาสร้างถวายวัดสูงเม่น
ห่อผ้าบรรจุคัมภีร์ใบลาน ณ วัดช้างค้ำ จังหวัดเชียงใหม่

แม้ครูบากัญจนอรัญญวาสีจะเดินทางกลับมาเมืองแพร่อันเป็นพื้นเพเดิมของท่านแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังเดินหน้ารวบรวมและสร้างสรรค์คัมภีร์ใบลานต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งท่านเขียนตำรามูลกัมมัฏฐานขึ้นที่เมืองแพร่และออกเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา อาทิ ไปถึงเมืองน่านเพื่อร่วมตรวจชำระคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ธรรมที่วัดช้างค้ำ และไปเมืองหลวงพระบางเพื่อสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกที่วัดวิชุนราช โดยมีเจ้าหลวงชื่อมังธาเป็นศาสนูปถัมภก


หากศึกษาตัวอย่างคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่เก็บรักษาไว้ ณ วัดสูงเม่น ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จะพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างคัมภีร์ตั้งแต่ชื่อผู้สร้างปีที่สร้าง จำนวนแผ่นลาน จารจารึกไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลของสถานที่ที่จารคัมภีร์ฉบับนั้น ๆ ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญในการศึกษาภาษาบาลี ประวัติศาสตร์ และพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทย


ใบลานพระไตรปิฎกบาลีสีลขันธวรรค ทีฆนิกาย อักษรธรรมล้านนา จากวัดสูงเม่น จารเมื่อจุลศักราช ๑๑๙๘ (พ.ศ. ๒๓๗๙) สร้างที่เมืองน่าน หนึ่งมัดมี ๑๑ ผูก รวม ๒๘๖ แผ่น ปรากฏชื่อผู้จาร ปีที่จาร ลานหน้าสุดท้ายของผูกแรกจารข้อความว่า ข้าน้อยแสนไชยลาบ จารคัมภีร์ผูกนี้เสร็จในเดือน ๙ ปีรวายสัน (ปีตามปฏิทินล้านนา) จุลศักราช ๑๑๙๘ พร้อมระบุคำอธิษฐานจิตขอให้เหตุแห่งการสร้างคัมภีร์ฉบับนี้ (ผลบุญที่ทำ) เป็นปัจจัยส่งให้ถึงพระนิพพาน




แผ่นลานจารพระไตรปิฎกบาลีสีลขันธวรรค ทีฆนิกาย อักษรธรรมล้านนา จากวัดสูงเม่น จารเมื่อจุลศักราช ๑๑๙๘ (พ.ศ. ๒๓๗๙) สร้างที่เมืองแพร่ หนึ่งมัดมี ๑๓ ผูก รวม ๓๕๘ แผ่น หน้าสุดท้ายของผูกแรกจารข้อความว่า คัมภีร์ฉบับนี้สร้างโดยพระมหาเถรเจ้ากัญจนอรัญญวาสี และสานุศิษย์แห่งเมืองแพร่ โดยราชวงศ์แห่งเมืองหลวงพระบางมีศรัทธาพร้อมกันสร้างขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ว่าครูบากัญจนอรัญญวาสมี หาเถรเดนิ ทางไป ณ ที่แห่ง ใดท่านจะมีส่วนสำคัญในการตรวจชำระและสร้างคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา รวมไปถึงศาสนสถานสำคัญ ณ ที่แห่งนั้นให้เจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็ได้อัญเชิญคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นจากดินแดนต่าง ๆ ในล้านนากลับมาประดิษฐานรวบรวมไว้ ณ หอไตร วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ จำนวนหลายพันมัด ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาขยายออกไปในวงกว้าง นับเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสาธุชน ผู้ปกครองบ้านเมือง และคณะสงฆ์ในแต่ละท้องถิ่นให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงทำให้ผลงานอันล้ำค่า คือ คัมภีร์ใบลานตกทอดมาถึงชาวพุทธในปัจจุบัน ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันสานต่อมโนปณิธานในอันที่จะดูแลปกป้องคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยเฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษไทยในกาลก่อนที่ทุ่มเทกายและใจรักษาไว้อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙







คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:35 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.