วิถีใบลาน แห่งน่านนคร


น่านจังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือของไทย ทรงคุณค่าเนื่องด้วยเป็นแหล่งคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมจำนวนมาก เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ไปตั้งแต่ยุคสร้างเมืองในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ทำให้พบว่า น่านเป็นนครรัฐที่มีพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก แต่กลับมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แห่งเดียวในเขตอาณาจักรล้านนา นครรัฐแห่งนี้จึงใช้เกลือเป็นเครื่องเจรจาต่อรองทางการเมือง และสร้างความสัมพันธ์กับอาณาจักรรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา สุโขทัย ล้านช้าง หลวงพระบาง ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ อาทิ โปรตุเกสและฮอลันดาโดยผ่านนครรัฐสุโขทัยในฐานะเมืองเครือญาติ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ วัดหลวงที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งใน จ.น่าน
แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวเมือง ชีวิตประจำวัน การแต่งกาย และสภาพบ้านเมือง

เส้นทางการค้าเกลือนอกจากจะนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่เมืองน่านแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับอาณาจักรและเมืองต่าง ๆ นำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่สะท้อนผ่านทางสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งนครน่าน รวมถึงการรับธรรมเนียมการจาร คัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรม และการศึกษาภาษาบาลีอีกด้วย ซึ่งในเรื่องของการจารคัมภีร์ใบลานและการศึกษาภาษาบาลีนั้น อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม จังหวัดน่าน ให้ข้อมูลไว้ว่า การศึกษาภาษาบาลีรวมทั้งกระแสการจารคัมภีร์ใบลานเข้ามายังนครรัฐแห่งนี้ใน ๒ ยุคที่สำคัญ คือ

ภาพทัณฑ์ทรมานต่างๆ ในอบายภูมิ เช่น ภาพเปรตกินอาจมเป็นอาหาร เพราะเมื่อบวชเป็นภิกษุแล้วทำผิดพระวินัย หรือภาพเปรตนั่งทับลูกอัณฑะตนเอง เพราะเป็นผู้รักษากฎหมาย แต่ตัดสินคดีความไม่เที่ยงธรรม เป็นต้น

ยุคแรก เมื่อครั้งพญาการเมืองแห่งนครรัฐน่านรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์และภาษาบาลีจากกรุงสุโขทัยในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) ซึ่งถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ใช้หลักการศาสนาและการทหารในการปกครองพุทธจักรและอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่น โดยอาศัยพระปรีชาสามารถในด้านพุทธศาสนา ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงเพื่อสอนเรื่องนรกสวรรค์ให้ประชาชนเกรงกลัวต่อบาปและหมั่นสั่งสมบุญกุศล อันมีนัยด้านการปกครองบ้านเมืองให้พสกนิกรใต้ร่มพระบารมีอยู่เย็นเป็นสุข ถือเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเล่มแรก และเป็นกุศโลบายที่พระองค์ทรงใช้เพื่อสร้างความสงบร่มเย็นทางสังคมอย่างแยบคาย นอกจากนี้พระองค์ยังมีสายพระเนตรที่กว้างไกลในการขยายแสนยานุภาพทางการทหารและศาสนาผ่านศูนย์กลางการค้าเกลืออย่างน่านไปยังดินแดนต่าง ๆ เพื่อให้อาณาจักรรอบข้างยอมรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งมหาเถรธรรมบาลภิกขุ หนึ่งในพระอาจารย์ของพระองค์ ผู้เป็นที่เคารพของพญาการเมืองไปอยู่ที่น่าน เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงใช้หลักการทางทหารและการพระศาสนาสำเร็จ การจารใบลานด้วยภาษาบาลีจึงขยายไปอย่างกว้างขวางในเมืองน่านนับแต่นั้นมา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝั่งทิศเหนือ เป็นภาพลูกศิษย์หมอบเขียนอักษรธรรมบนกระดานชนวนตามคำบอกของพระอาจารย์ว่า "เย สันตา สันตะจิตตา ติสะระณะสะระณา"

ร้อยกว่าปีต่อมาเป็น ยุคที่สอง ที่ภาษาบาลีและการจารคัมภีร์ใบลานเข้ามาสู่น่านนคร เมื่อพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ มีพระราชประสงค์จะครอบครองแหล่งเกลือ จึงทรงยกทัพมาตีจนสามารถผนวกน่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จ รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านนา ที่รุ่งเรืองทั้งการขยายอาณาเขตไปครอบครองหัวเมืองน้อยใหญ่จำนวนมาก อีกทั้งพระพุทธศาสนาและการศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกก็เจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกบาลีแล้วจารลงใบลานด้วยอักษรธรรมแจกจ่ายไปทั่วอาณาเขตที่ทรงปกครอง จึงส่งผลให้น่านในฐานะที่เป็นหนึ่งในเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนารับความรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาและการศึกษาภาษาบาลีเข้ามาด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังทิศเหนือฝั่งขวาแสดงภาพพระอาจารย์สอนลูกศิษย์ให้เขียนบทสวดกรณียเมตตสูตรด้วยอักษรธรรม

จากข้อมูลดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า อิทธิพลจากอาณาจักรสุโขทัยในยุคแรกและอาณาจักรล้านนาในยุคต่อมา ทำให้การจารคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกภาษาบาลีงอกงามในดินแดนนครน่าน จนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลีแห่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งในภาคเหนือ ดังจะเห็นได้ว่า ครั้งหนึ่งพระสิริมังคลาจารย์จอมปราชญ์แห่งล้านนาผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีแตกฉานในอักขรวิธี วจีวิพากษ์ วากยสัมพันธ์และฉันทลักษณ์ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาบาลีที่นครน่านนานถึง ๒ ปี เมื่อกลับไปเชียงใหม่ท่านได้รจนาผลงานทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ คือ เวสสันตรทีปนี มังคลัตถทีปนี และจักกวาฬทีปนี การที่ท่านเดินทางจากเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสังคายนาที่พรั่งพร้อมไปด้วยนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัยเพื่อไปเรียนรู้ภาษาบาลีที่น่าน แสดงว่า นครแห่งนี้ต้องมีความสำคัญในด้านการศึกษาพระไตรปิฎกและภาษาบาลีไม่น้อยทีเดียว


ภาพวาดเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๒ แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๔ รวมระยะเวลา ๓๙ ปี

กระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้านครน่านชั้นหลังทุกองค์ต่างทรงให้การทำนุบำรุงอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๐ เรื่อง ราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช บันทึกไว้ว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่านองค์ที่ ๖๒ จากจำนวน ๖๔ พระองค์ ทรงสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์บูรณปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุเป็นอันมากและทรงเป็นองค์ประธานในการจัดสร้างคัมภีร์ใบลาน จารึกพระธรรมคำสั่งสอนถึง ๗ ครั้ง ระหว่างปีจุลศักราช ๑๒๑๗-๑๒๔๘ รวมแล้วจำนวนหลายพันผูก เมื่อจารคัมภีร์ใบลานแล้วเสร็จในแต่ละครั้ง ก็จัดให้มีงานสมโภชเฉลิมฉลอง ทั้งเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนต่างเข้าร่วมบูชากัณฑ์เทศน์และถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ด้วยศรัทธา ดังปรากฏเรื่องราวเมื่อสร้างคัมภีร์ในครั้งที่สามแล้วเสร็จว่า

“...ท่านสร้างตั้งแต่จุลศักราช ๑๒๒๕ ตัวเถิงจุลศักราช ๑๒๓๒ ตัว นานได้ ๘ ปีแล รวมท่านได้สร้างธรรมครั้งถ้วน ๓ นี้นับเปนคัมภีร์มี ๑๘๙ คัมภีร์ นับเปนผูกมี ๑๒๕๑ ผูก...ท่านก็ได้ตั้งกระทำพุทธาภิเศกเบิกบายฉลองฟังธรรม กระทำบุญหื้อทาน ตั้งแต่วันเดือนยี่ขึ้น ๓ ค่ำ ไปจนตลอดเถิงวันเดือนยี่ลงค่ำ ๑ จิงเปนที่เลิกแล้วบริบวรณ์หั้น เปนมหาพอยอันใหญ่หั้นแล นับเปนกัณฑ์คิ่นพระองค์ได้บูชากัณฑ์ครั้งนี้รวมมี ๓๑๖ กัณฑ์ วัตถุห้อยแขวนกัณฑ์ละ ๒ แถบรูเปีย เจ้ามหาอุปราชาบูชาเปนคิ่นท่าน ๕๐ กัณฑ์ เจ้าราชวงษ์บูชาเปนกัณฑ์คิ่น ๑๐ กัณฑ์ เจ้าสุริยบูชา ๕ กัณฑ์ เจ้าราชบุตรบูชา ๕ กัณฑ์ นอกนั้นศรัทธาเจ้านายท้าวพระยาเสนาอามาตย์ก็บูชาคนละกัณฑ์ฤๅ ๒ กัณฑ์ไปแลพระสงฆเจ้าทั้งหลายซึ่งท่านได้นิมนต์มารับทานในสมัยนี้มี ๓๘๓ องค์ ท่านได้เบิกเข้าใส่บาตรกินทานในครั้งนี้สิ้นเข้าสารแปดแสนเจ็ดหมื่นได้เบิกเปนเข้าพันก้อน เสี้ยงสองหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยแปงเข้าหนมเสี้ยงแสนหนึ่ง รวมทั้งเลี้ยงพระสงฆ์เมืองแพร่เสี้ยงเข้าสารล้านสามหมื่นเจ็ดพัน นี้เปนครั้งถ้วน ๓ แล...

นับตั้งแต่การสถาปนานครรัฐน่านในศตวรรษที่ ๑๘ จวบจนเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นครน่านได้ผ่านการศึกสงคราม และตกอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นต่าง ๆ ที่ผลัดกันขึ้นมาเรืองอำนาจหลายครั้งหลายครา แต่ท่ามกลางความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การศึกษาภาษาบาลีและการจารคัมภีร์ใบลานก็ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายด้วยแรงศรัทธาทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร ก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตของชาวเมืองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งในยามสงบสุขและในยามศึกสงคราม อดีตของนครรัฐน่านเป็นเครื่องสะท้อนสะกิดใจว่า หากผู้คนในรัฐ คือ เจ้าผู้ครองนคร ข้าราชการ และผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองปกครองแผ่นดินด้วยศีลธรรมให้ความเคารพต่อพระรัตนตรัย ความงอกงามไพบูลย์ย่อมเกิดขึ้น แต่หากกระทำไปในทิศทางตรงข้าม ชาติบ้านเมืองจะมีอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตที่ดีงามให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลานชื่นชมได้อย่างไร


ขอขอบคุณอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรมจังหวัดน่าน สำหรับข้อมูลและภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์

เรื่อง : Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙











คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์
ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย
อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม
อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทย รักษาไว้ให้แผ่นดิน
ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์
ศรัทธาธรรม ย้ำคำอธิษฐาน จารพระคัมภีร์
ย้อนรอยกาล ตามรอยธรรมแห่งพระพุทธโฆษาจารย์
สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์
พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)
วิถีใบลาน แห่งน่านนคร วิถีใบลาน แห่งน่านนคร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:26 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.