สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์
คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกเป็นงานเขียนบันทึกโบราณที่ทางโครงการพระไตรปิฎก
ฉบับวิชาการ มุ่งออกเดินทางสำรวจ ค้นหา และถ่ายภาพบันทึกไว้เพื่ออนุรักษ์สืบทอดเก็บไว้เป็นหลักฐานทางวิชาการต่อไปในภายภาคหน้า
เพราะเป็นผลงานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง ทั้งยังเป็นสมบัติของแผ่นดินที่เปี่ยมคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์
ภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และโบราณคดี ขณะเดียวกันได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม
ความเชื่อ สภาพสังคม
และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษไทยที่นับวันจะเสื่อมสลายไปโดยไม่มีใครตระหนักถึงความสำคัญ
พระภิกษุประจำโครงการฯ กำลังอ่านสมุดไทยพระอภิธรรม อักษรมอญ อายุราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ |
การออกสำรวจแหล่งคัมภีร์ใบลานในจังหวัดต่าง ๆ
ของประเทศไทยทำให้พบว่านอกจากหนังสือใบลานที่บรรพบุรุษไทยนำใบจากต้นลานมาใช้จารจารึกเรื่องราวต่าง
ๆ แล้วหลายครั้งยังพบสมุดไทยเก็บรักษารวมไว้กับหนังสือใบลานอีกด้วย
แม้ส่วนใหญ่สมุดไทยมีความเก่าแก่น้อยกว่าหนังสือใบลาน
แต่ก็จัดเป็นแหล่งอ้างอิงสรรพวิชาที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวในอดีต
อาทิ เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ตำราเวชศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม ตำราโหราศาสตร์ และวรรณคดีพื้นบ้าน
เป็นต้น มีทั้งสมุดไทยฉบับหลวงที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นและฉบับราษฎร์ที่สร้างโดยพระภิกษุสงฆ์หรือชาวบ้านทั่วไป
สำหรับสมุดไทยที่เป็นฉบับหลวงนั้นมีความงดงามอย่างยิ่งด้วยเป็นผลงานวิจิตรศิลป์ของฝีมือช่างหลวงที่มีประสบการณ์และมีความรู้ในเรื่องที่เขียนอย่างดี
ในขณะที่สมุดไทยที่พบตามวัดหรือหอสมุดทั่วไปอาจมีความวิจิตรไม่เท่าฉบับหลวง
แต่สมุดไทยฉบับราษฎร์บางเล่มก็นับว่ามีความงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ตำราคชศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด |
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สร้างในปีพระนารายณ์มหาราช เป็นสมุดไทยฉบับเก่าแก่ที่สุดเก็บรักษาไว้เหตุการณ์ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสามารถใช้เป็นหลักฐานสันนิษฐานย้อนไปได้ว่า
สังคมไทยน่าจะรู้จักประดิษฐ์กระดาษเพื่อใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ
มาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาตอนกลางโดยในอดีตบรรพบุรุษไทยผลิตกระดาษจากเยื่อไม้ของพันธุ์ไม้พื้นบ้านที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกสมุดไทยที่แตกต่างกันไปตามวัสดุที่นำมาใช้
สมุดไทยที่ทำจากเปลือกข่อย ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำกระดาษทั่วไปในหลายภาค
เรียกว่าสมุดข่อย ส่วนสมุดไทยที่ทำจากเปลือกของต้นสา เรียกว่า "พับสา"
เป็นที่นิยมในภาคเหนือ ชาวเหนือออกเสียงว่า "ปั๊บสา"
สมุดไทยดำ ตำราพิชัยสงคราม ว่าด้วยการออกรบ |
สมุดไทยขาววัดศาลาเขื่อน เรื่องพระมาลัยยาว ๖๓.๗ ซม. กว้าง ๑๒.๗ ซม. หนา ๘ ซม. |
ขั้นตอนในการทำกระดาษเริ่มจากนำเปลือกไม้แช่น้ำให้เปื่อย
ฉีกเป็นฝอย หมักแล้วนึ่งจนยุ่ย นำมาทุบให้ละเอียด แล้วหล่อขึ้นรูปเป็นกระดาษ
นำไปตากให้แห้ง จากนั้นทาด้วยแป้งเปียกผสมน้ำปูนขาว จะได้กระดาษสีขาวตามธรรมชาติ
เรียกว่า "สมุดไทยขาว"
หากทาด้วยแป้งเปียกผสมเขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียดจะได้กระดาษสีดำ เรียกว่า
"สมุดไทยดำ" เมื่อตากแดดจนแห้งสนิทแล้วจะได้กระดาษแผ่นใหญ่
นำกระดาษแต่ละแผ่นมาต่อกันด้วยแป้งเปียกจนเป็นแผ่นยาว พับทบกลับไปกลับมาเป็นเล่มสมุดตามขนาดความกว้างยาวและจำนวนหน้าที่แตกต่างกันไป
สมุดพระอภิธรรมและบทสวดพระมาลัยมีขนาดใหญ่และมีจำนวนหน้ามากเป็นพิเศษ
เรื่องราวที่ปรากฏในสมุดไทยทั้งด้านหน้าและด้านหลังเขียนด้วยหมึกจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ตามพื้นบ้าน
สำหรับสมุดไทยขาวเขียนด้วยน้ำหมึกสีดำที่ได้จากเขม่าไฟบดผสมกาวยางมะขวิด หากเป็นสมุดไทยดำ เขียนด้วยหินดินสอหรือน้ำหมึกขาวที่ได้จากเปลือกหอยมุกฝนละเอียด
นอกจากนี้ยังมีสีแดงจากชาด สีเหลืองจากยางไม้ผสมแร่
และสีทองจากทองคำเปลวที่ใช้เขียนได้ทั้งสมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ
ก่อนลงมือเขียนจะต้องขีดเส้นบรรทัดให้เป็นรอยโดยเว้นระยะช่องไฟให้เสมอกันตลอดทั้งเล่ม
ส่วนใหญ่มี ๓-๔ บรรทัดต่อหน้าโดยเขียนอักษรใต้เส้นบรรทัด
ไม่ได้เขียนเหนือเส้นบรรทัดอย่างปัจจุบัน
สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง สมัยธนบุรี กล่าวถึงอริยบุคคล ๘ ประเภท |
เนื่องจากสมุดไทยมีรูปลักษณ์ ขนาดกว้าง ยาว
ความหนา และวัสดุที่นำมาเขียนหลากหลายบางครั้งจึงเรียกสมุดไทยตามประโยชน์ใช้สอย
สมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและใช้ในพิธี ได้แก่
สมุดพระอภิธรรม บันทึกบทสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ย่อ สำหรับพระภิกษุใช้สวดในงานศพ
สมุดสวดพระมาลัย บันทึกเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ "มาลัยสูตร"
เป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก กล่าวถึงพระอรหันต์รูปหนึ่งที่มีฤทธิ์สามารถเดินทางไปนรก
สวรรค์และไปสนทนากับพระศรีอาริย์ได้ ในอดีตบทสวดพระมาลัยใช้สวดในงานมงคล
เช่นงานแต่งงาน แต่ต่อมาใช้สวดในงานศพ
และสมุดไตรภูมิพระร่วงบันทึกเรื่องราวนรกสวรรค์ใช้สอนให้คนเข้าใจบาปบุญคุณโทษ
หมั่นสร้างความดีและละเว้นจากการทำชั่ว สมุดไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานี้มักมีภาพจิตรกรรมประกอบที่งดงาม
แสดงถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานและความเคารพในพระรัตนตรัยของผู้สร้างถวาย
กว่าจะได้หนังสือใบลานสักมัด สมุดไทยสักเล่ม
ต้องอาศัยความตั้งใจในการทำตั้งแต่การตัดเปลือกไม้มาทำกระดาษ การบันทึกเนื้อหาผ่านอักขระทุกตัว
จนถึงการตกแต่งด้วยภาพประกอบประณีตศิลป์ไทย
ก่อเกิดเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าทั้งทางสรรพศาสตร์ที่บันทึกสืบต่อกันมาหลายยุคสมัย
และความงดงามของงานศิลป์ไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
แม้วันนี้เส้นอักษรและลวดลายของสีหมึกที่แต่งแต้มอาจจะซีดจางไปบ้างตามกาลเวลา
แต่ความภาคภูมิใจในอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยจะยังคงเด่นชัดไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้นการอนุรักษ์หนังสือใบลานและสมุดไทยจึงเป็นโครงการสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนให้กระทำอย่างเร่งด่วนก่อนสรรพศาสตร์และความงามของวิจิตรศิลป์ไทยเหล่านี้จะผุพังไปอย่างน่าเสียดาย
อ้างอิง : ก่องแก้ว วีระประจักษ์, การทำสมุดไทยและการเตรียมใบลาน.
กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร, ๒๕๕๓.
บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ, สมุดข่อย. กรุงเทพฯ :
องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒. สำนักวัฒนธรรม กีฬา
และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร, วิวัฒน์การอ่านไทย.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๖.
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่๑๖๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์
ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย
อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม
อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทย รักษาไว้ให้แผ่นดิน
ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์
ศรัทธาธรรม ย้ำคำอธิษฐาน จารพระคัมภีร์
วิถีใบลาน แห่งน่านนคร
ย้อนรอยกาล ตามรอยธรรมแห่งพระพุทธโฆษาจารย์
พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)
|
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์
ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย
อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม
อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทย รักษาไว้ให้แผ่นดิน
ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์
ศรัทธาธรรม ย้ำคำอธิษฐาน จารพระคัมภีร์
วิถีใบลาน แห่งน่านนคร
ย้อนรอยกาล ตามรอยธรรมแห่งพระพุทธโฆษาจารย์
พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
19:48
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: