ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์


เถรวาท เป็นชื่อของนิกายที่เก่าแก่ที่สุดในพระพุทธศาสนา โดยศัพท์แปลว่า ตามวาทะของพระเถระซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ขีณาสพ ๕๐๐ รูป ผู้ทำปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เป็นนิกายหลักที่นับถือในประเทศศรีลังกา และประเทศในแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ซึ่งเป็นดินแดนที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตมาเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังเสร็จสิ้นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ในปี พ.ศ. ๒๓๔ โดยคณะพระโสณะและพระอุตตระเดินทางมาเผยแผ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ คณะของพระมหินทะเดินทางไปยังตัมพปัณณิทวีป คือ ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน การเผยแผ่พระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ในยุคนั้น แม้จะแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกแล้ว แต่ก็ยังเป็นการสืบทอดด้วยการสวดท่องจำที่เรียกว่า มุขปาฐะ



จนกระทั่งราวปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษ จึงมีการจารึกคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนแผ่นใบลานเป็นครั้งแรก ณ อาโลกเลณสถาน ในประเทศศรีลังกา จากนั้นธรรมเนียมการจารจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นลานก็เผยแพร่มายังดินแดนสุวรรณภูมิ แต่เนื่องจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีที่ทรงจำกันมากว่า ๔๐๐ ปี เป็นภาษาที่มีแต่เสียง ไม่มีรูปอักษรเป็นของตนเองแต่ละอาณาจักรจึงใช้อักขระของตนจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ปัจจุบันเรามีคัมภีร์ใบลาน ๔ สายจารีตใหญ่ ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ จารีตศรีลังกาจารึกด้วยอักษรสิงหล จารีตพม่าจารึกด้วยอักษรพม่า จารีตไทยจารึกด้วยอักษรขอม และจารีตล้านนาจารึกด้วยอักษรธรรม

พระภิกษุชาวสิงหล เก็บคัมภีร์เข้ามัดด้วยการเข้าเชือกร้อยผ่านรูบนแผ่นลานทะลุไม้ประกับด้านหน้า

แม้รูปลักษณ์ภายนอกของคัมภีร์ใบลานทั้ง ๔ สายจารีตหลักจะคล้ายคลึงกัน คือ มีแผ่นใบลานที่จารเนื้อความพระไตรปิฎกที่รวมกันเข้าเป็นมัด แล้วประกบหน้าหลังด้วยไม้เนื้อแข็ง ที่เรียกว่า ไม้ประกับแต่หากศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละสายจารีต จะเห็นความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สืบทอดมาตลอดหลายร้อยปี และจากการศึกษารวบรวมคัมภีร์ใบลานของโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ที่เน้นการสำรวจในประเทศไทย ศรีลังกา และเมียนมาร์ พบว่าโดยภาพรวมเนื้อหาในใบลานจะจารพระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เหมือนกันแต่ลักษณะการแบ่งเนื้อหาในแต่ละมัดของแต่ละสายจารีตนั้นแตกต่างกัน ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนโดยการเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ อาทิ คัมภีร์ทีฆนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎกฉบับพิมพ์ ประกอบด้วยพระไตรปิฎก ๓ เล่ม คือ สีลขันธวรรค มหาวรรค และปาฏิกวรรค เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่พบในประเทศไทยซึ่งจารด้วยอักษรขอมและธรรมจะพบว่า คัมภีร์ใบลานหนึ่งมัดครอบคลุมเนื้อหาคัมภีร์เพียง ๑ เล่มเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่พบในประเทศศรีลังกาและประเทศเมียนมาร์ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมคัมภีร์ทีฆนิกายครบทั้ง ๓ เล่ม คือ สีลขันธวรรค มหาวรรคและปาฏิกวรรค รวมอยู่ในมัดเดียวกัน ดังนั้นคัมภีร์ ๒ สายจารีตหลังนี้จึงมีขนาดมัดคัมภีร์ใหญ่กว่าจารีตไทยและล้านนา


ความแตกต่างทางกายภาพประการถัดมา คือ ลักษณะการเข้าเล่ม คัมภีร์พระไตรปฎิกใบลานที่พบในประเทศไทย คือ จารตี ไทยและล้านนา ในหนึ่งมัดประกอบด้วยแผ่นลานหลาย ๆ ผูก หนึ่งผูกประกอบด้วยแผ่นลานที่มีการจารเนื้อหาจำนวน ๒๔ แผ่น และอาจมีแผ่นลานเปล่าอีก ๒-๔ แผ่นรวมอยู่ด้วยการรวมผูกใช้เชือกที่เรียกว่า สายสนอง ร้อยผ่านรูร้อยใบลานที่อยู่ทางด้านซ้ายมือเพียงด้านเดียว จากนั้นนำใบลานแต่ละผูกมารวมกันแล้วใช้ไม้ประกับประกบด้านหน้าและหลังเพื่อป้องกันไม่ให้แผ่นลานโค้งงอ แล้วจึงใช้เชือกมัดผูกใบลานเข้ากับไม้ประกับทางซ้ายและขวา แล้วห่อด้วยผ้าห่อคัมภีร์


ในขณะที่คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่พบในประเทศศรีลังกาและในประเทศเมียนมาร์ นอกจากมีเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งคัมภีร์แล้วการเข้ามัดไม่แบ่งเป็นผูกย่อยแต่รวมเป็นมัดใหญ่ ทั้งยังไม่ค่อยพบผ้าห่อคัมภีร์ สำหรับใบลานที่พบในประเทศศรีลังกา ส่วนใหญ่ใช้เชือกเส้นยาวร้อยตามรูเฉพาะด้านซ้ายคล้ายจารีตไทยและล้านนา แต่ร้อยเชือกผ่านรูไม้ประกับด้านหนึ่งเข้ารูร้อยใบลานตั้งแต่แผ่นแรกจนใบลานแผ่นสุดท้ายทะลุไม้ประกับอีกด้านส่วนปลายเชือกนำมาพันเก็บมัดด้านขวา ซึ่งส่วนใหญ่ไม้ประกับมีการตกแต่งด้วยลวดลายประจำถิ่นที่สวยงาม ส่วนคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่พบในประเทศเมียนมาร์ส่วนใหญ่ใช้ไม้เสียบเข้ารูใบลานทั้งซ้ายและขวาตั้งแต่แผ่นแรกจนแผ่นสุดท้ายก่อนใช้ไม้ประกับประกบซึ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมทำลวดลาย เป็นเพียงไม้เนื้อแข็งทาสีเรียบ ๆ


ลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันอีกประการหนึ่ง คือ ขนาดของแผ่นลานที่นำมาใช้ ใบลานที่พบในประเทศไทยซึ่งจารด้วยอักษรขอมและอักษรธรรมไม่กว้างแต่ยาว ความกว้างและความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ ๕๕ x ๕ ซม. ส่วนใหญ่มี ๕ บรรทัดต่อหน้า มี ๔๘-๙๐ อักษรต่อบรรทัด

คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจารด้วยอักษรขอม พบในประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร

คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจารด้วยอักษรธรรม พบในประเทศไทย ที่ จ.แพร่

ใบลานที่พบในประเทศศรีลังกาจารด้วยอักษรสิงหลมีความกว้างและยาวมากที่สุด ความกว้างและความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๕๘ X ๖.๕ ซม. มี ๘-๑๑ บรรทัดต่อหน้า มี ๘๐-๑๒๐ อักษรต่อบรรทัด

คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจารด้วยอักษรสิงหล พบในประเทศศรีลังกา ที่เมืองแคนดี

ใบลานที่พบในประเทศเมียนมาร์ซึ่งจารด้วยอักษรพม่าสั้นที่สุด แต่มีความกว้างกว่าแผ่นใบลานที่พบในประเทศไทย ความกว้างและความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ ๕๐ x ๖ ซม. มี ๘-๑๑ บรรทัดต่อหน้า มี ๖๕-๑๒๐ อักษรต่อบรรทัด

คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจารด้วยอักษรพม่า พบในประเทศเมียนมาร์ ที่เมืองย่างกุ้ง


คัมภีร์พระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด ดั้งเดิมที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และถูกต้องแม่นยำที่สุด มีต้นกำเนิด ณ เกาะลังกา แล้วสืบทอดมาตามสายจารีต แม้ว่าอักขระที่ใช้จารและองค์ประกอบปลีกย่อยของคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานของสายจารีตศรีลังกา จารีตพม่า จารีตไทย และจารีตล้านนา มีความแตกต่างกัน แต่จุดประสงค์ในการสร้างคัมภีร์เพื่อสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดานั้นคือเป้าหมายที่ทุกสายจารีตมีร่วมกัน ไม่ว่าจะดินแดนใด เผ่าพันธุ์ใด หรืออักษรใด เหล่าพุทธศาสนิกชนทุกหนแห่งต่างก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

ขณะนี้โครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ได้จัดนิทรรศการ เล่าเรื่องใบลานสืบสานพุทธธรรมสำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ ณ สภาธรรมกายสากล เสา ฒ ๒๔ (N 24) ทุกวันอาทิตย์

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙








คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
ตู้พระไตรปิฎก มรดกประณีตศิลป์
ลายรดน้ำ วิถีธรรม วิถีไทย
อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม
อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทย รักษาไว้ให้แผ่นดิน
ศรัทธาธรรม ย้ำคำอธิษฐาน จารพระคัมภีร์
วิถีใบลาน แห่งน่านนคร
ย้อนรอยกาล ตามรอยธรรมแห่งพระพุทธโฆษาจารย์
สมุดไทย...ทรงไว้ซึ่งสรรพศาสตร์ และอัจฉริยภาพเชิงศิลป์
พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)
ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์ ใบลานเถรวาท... จารพระศาสน์สืบสายคัมภีร์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:50 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.