รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
พระไตรปิฎกบาลีหรือพระบาลีเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในยุคแรกคำสอนของพระองค์เรียกโดยรวมว่าพระธรรมวินัย
ต่อมาในภายหลังจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ หมวด คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก
และพระอภิธรรมปิฎก พุทธศาสนิกชนถือว่าพระไตรปิฎกที่บรรจุคำสอน ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์นี้ เปรียบเสมือนตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดั่งพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
พระธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ภายหลังที่พระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว
นับแต่โบราณกาล
พระธรรมคำสอนของพระบรมครูได้รับการจารจารึกเป็นอักขระลงบนแผ่นใบลาน
เก็บรวมเข้าผูกด้วยสายสนองมีไม้ประกับประกบหน้าหลังไม่ให้แตกมัด
และรักษาไว้อย่างดีในห่อผ้า
พร้อมป้ายฉลากเขียนรายละเอียดของเรื่องที่จารนั้นเสียบบอกไว้หน้าคัมภีร์
ทุกองค์ประกอบสะท้อนให้เห็นความตั้งใจที่จะน้อมถวายคัมภีร์ไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา
คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจึงถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา
ทั้งยังสรรค์สร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุที่คู่ควรเพื่อรองรับมัดคัมภีร์ใบลาน อาทิเช่น
หีบพระธรรมและตู้พระไตรปิฎก
ด้วยเชื่อมั่นว่าธรรมทานและวัตถุทานอันเลิศที่ได้น้อมถวายไว้ดีแล้วในบวรพระพุทธศาสนานี้
จะเป็นพลวปัจจัยส่งผลดลบันดาลให้ทายกทายิกาผู้มีส่วนในการสร้างได้ผลานิสงส์มหาศาล
ดั่งปรากฏในคัมภีร์สังคีติยวงศ์ วรรณกรรมพระพุทธศาสนา ที่รจนาโดยสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนฯ
ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงอานิสงส์ของการถวายตู้บรรจุพระธรรมไว้สรุปความได้โดยสังเขป
คือ หากผู้ถวายตู้บรรจุพระธรรมได้อัตภาพเป็นมนุษย์
ด้วยกุศลผลบุญแห่งการถวายจะทำให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่จะได้ในสิ่งที่ปรารถนา
มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติและบริวาร มีผิวพรรณงดงาม
มีกลิ่นกายหอมฟุ้ง มีสติปัญญาหลักแหลม
หากเกิดเป็นกษัตริย์จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองทวีปทั้ง
๔ มีแก้ว ๗ ประการเกิดมาเป็นของคู่บุญ
เมื่อเสด็จไปทางใดก็จะมีเหล่าเสนามาตย์พร้อมทั้งขบวนรถ ขบวนช้าง ขบวนม้า
และขบวนทหารราบ แวดล้อมติดตามเป็นขบวนใหญ่ถึง ๗ โยชน์ หากไปบังเกิดเป็นเทวดา
กุศลผลบุญจะดลบันดาลให้ได้เป็นพระอินทร์ ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถึง ๗ ครั้ง
ครั้นกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง
เมื่อได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะออกบวชและได้บรรลุธรรม
และในที่สุดหากผู้ถวายตั้งจิตปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต
ผลบุญจากการถวายตู้พระธรรมนี้
จะเป็นพลวปัจจัยเกื้อหนุนให้เข้าถึงพุทธภูมิในภายภาคหน้า
อานิสงส์ที่กล่าวไว้ในวรรณกรรมยุคปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าว
ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวสยามน่าจะรู้จักการสร้างและตกแต่งหีบหรือตู้พระธรรมเพื่อถวายเป็นศาสนสมบัติมาก่อนหน้านั้นแล้ว
แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนแต่ก็สามารถศึกษาประวัติที่มาได้จากหลักฐานข้างเคียง
ตัวอย่างเช่น ข้อความที่ปรากฏในหนังสือสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน ซึ่งกล่าวไว้ว่า
ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ที่จารึกภาษาสันสกฤตด้วยอักษรขอม พ.ศ. ๑๗๓๔
พบที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ปรากฏคำว่า “หีบจีน
๕๒๐ ใบ” และปรากฏชื่อเมืองของอาณาจักรโบราณ
ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าอยู่ในเขตสยามประเทศ
นี้เป็นหนึ่งในหลักฐานที่คาดคะเนได้ว่าหมู่ชนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักใช้หีบมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๘ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัย
หีบในช่วงแรกที่ได้รับอิทธิพลจากจีนใช้บรรจุเสื้อผ้าหรือสิ่งของเครื่องใช้
เมื่อนิยมใช้สืบทอดเรื่อยมา
จึงเริ่มมีการดัดแปลงออกแบบให้เหมาะกับประโยชน์การใช้สอยในวิถีชีวิตของคนไทย
หากเป็นหีบหรือตู้ของชนชั้นสามัญทั่วไป วัสดุและการตกแต่งอาจไม่วิจิตรหรูหรานัก
แต่หากเป็นของชนชั้นสูงย่อมใช้วัสดุคุณภาพดีและตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง
โดยเฉพาะหากหีบและตู้นั้นสร้างขึ้นเพื่อรองรับพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวัสดุและการตกแต่งย่อมละเอียดประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป
เกิดการผสมผสานเป็นผลงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ เก็บไว้ในหอไตรตามอารามต่างๆ
จากหีบทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่ได้รับอิทธิพลจากจีน
ก็ปรับเป็นหีบพระธรรมทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างทำฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบเผยออก
มีฝาครอบปิดด้านบน มีหูทำด้วยโลหะด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน
หรือพัฒนาจากหีบกลายเป็นตู้ด้วยการต่อขาลงมา ๔ มุม ตู้ด้านบนสอบเข้า
ด้านหน้าด้านหลังกว้างกว่าด้านข้างมีประตูเปิดปิด ๒ บาน
ภายในมีชั้นไม้สำหรับวางห่อคัมภีร์ใบลาน ๓-๔ ชั้น ขนาดของตู้แตกต่างกันไป
จำแนกตามลักษณะของ “ขา” หรือ “ฐาน”
ได้ ๔ แบบ
หีบทรงสี่เหลี่ยม |
หีบพระธรรมฝาตัด |
หีบพระธรรมฝาคุ่ม |
ตู้พระธรรมฐานสิงห์ ตัวตู้ไม่มีขา แต่ตั้งอยู่บนแท่น ฐานเป็นชั้นซ้อน |
ตู้พระธรรมขาคู้ มีลักษณะคล้ายตู้พระธรรมเท้าสิงห์ ส่วนปลายของขาคู้เข้าด้านใน |
ตู้พระธรรมขาสิงห์ ขาตู้เป็นรูปเท้าสิงห์ มีนิ้วและเล็บสิงห์ บางครั้งเป็นเท้าสิงห์เหยียบลูกแก้ว |
ตู้พระธรรมขาหมู ส่วนปลายของขาทั้งสี่ ตรงและผายออกตามแนวสอบของทรงตู้ |
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
อธิบายลักษณะของตู้พระธรรมไว้ในหนังสือ “ตู้ลายรดน้ำ” ว่า
“ตู้พระธรรมที่แท้จริงนั้น
มีทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ส่วนบนสอบ มีขาตั้งตรงมุม ๔
ขายาวจากมุมของตู้ลงไปประมาณ ๑๕ หรือ ๒๐ นิ้ว โดยทั่วไปขาของตู้พระธรรมนั้น
ส่วนมากตกแต่งเป็นลายรดน้ำ หรือทำเป็นลายจำหลักไม้บ้างแต่เป็นส่วนน้อย แม้ว่าตู้พระธรรมจะมีขนาดแตกต่างกันอยู่มากก็ตาม
ขนาดเฉลี่ยโดยทั่วไปพอกำหนดได้ดังนี้ คือ สูง ๕๐ นิ้ว กว้าง ๔๐ นิ้วและลึก ๓๐ นิ้ว
ขาตู้ยาว ๑๕ หรือ ๒๐ นิ้ว”
(ตู้ลายรดน้ำ, ๒๕๐๓
: ๑๒)
ตู้พระธรรมที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ สมัย คือ
สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
แม้ตู้พระธรรมจะแตกต่างกันด้วยยุคสมัยและรูปแบบการตกแต่งทางศิลปะ
แต่สิ่งที่แน่วแน่ตรงกันคือ
ความตั้งใจของทายกทายิกาที่ถวายตู้พระธรรมไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อรองรับคำ
สอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมคำอธิษฐานให้ผลบุญดังกล่าวส่งผลให้ตนประสบความสำเร็จและบรรลุในสิ่งที่ปรารถนาไว้ดีแล้ว อันมีที่สุด คือ มรรค ผล นิพพาน ดังคำจารึกที่ปรากฏที่ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ มีคำจารึกที่ขอบล่าง ด้านหน้าว่า “ตู้ใบนิ นายแกน แมหนับแมทองยูสร้าง
เมื่อพระพุทธะสาศะนาล่วงแล้ว ๒๔๐๘ พระวะษา ปีฉะลูสัพตศก
เป็นเงินตราขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานเถิด”
------------------------------------------------
บุญเตือน ศรีวรพจน์.
รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ. กรุงเทพฯ : สำ นักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
กรมศิลปากร, ๒๕๕๕.
ศิลป์ พีระศรี. เรื่องตู้ลายรดน้ำ.
พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๓.
อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์. ลายรดน้ำ.
กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๐ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
|
คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย (ปีก่อนหน้า)
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
สองพระมหากษัตริย์...ร่มฉัตรปกแผ่นดิน
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ (ปีถัดไป)
รองรับพระธรรม น้อมนำถวาย
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:57
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: