ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๓)
บทความเรื่องลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม
ได้กล่าวถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของประเทศศรีลังกาที่ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในคัมภีร์ทีปวงศ์
ซึ่งเป็นวรรณกรรมภาษาบาลีที่มีความสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา
โดยบทความแบ่งเป็น ๓ ตอนด้วยกันคือ ตอนที่ ๑ กล่าวถึงการเสด็จเยือนเกาะลังกา ๓
ครั้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ ๒
กล่าวถึงการลงหลักปักฐานของพระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่เกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่
๓ และในบทความตอนที่ ๓ นี้ จะนำเสนอเป็นตอนสุดท้าย
ซึ่งจะได้กล่าวถึงวิธีการสืบทอดพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ
ลังกาทวีปที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการสืบทอดแบบมุขปาฐะมาเป็นการจารจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นใบลาน
อันเป็นแม่แบบให้ดินแดนอื่น ๆ
ที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทยึดถือปฏิบัติตามเป็นธรรมเนียมสืบต่อมายาวนานหลายพันปี
หลังจากพระมหินทเถระและพระนางสังฆมิตตาเถรี
พระราชโอรส และพระราชธิดา ของพระเจ้าอโศกมหาราช
ได้ยังความรุ่งเรืองแห่งพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หยั่งรากลง ณ
เกาะลังกา จนมีกุลบุตรและกุลธิดาเกิดความเลื่อมใสออกบวชเป็นพระภิกษุ
ภิกษุณีเป็นจำนวนมาก
พระภิกษุและภิกษุณีชาวสิงหลเหล่านี้ต่างเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยและใส่ใจในการศึกษาพระไตรปิฎก
เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีป นอกจากนี้ แสงแห่งธรรมของพระบรมครูยิ่งเจิดจ้า
เมื่อมีพระมหาเถระและพระมหาเถรีผู้เป็นเลิศจากดินแดนชมพูทวีปจำนวนมากเดินทางมาสอนพระไตรปิฎกยังเกาะลังกา
ดังปรากฏในคัมภีร์ทีปวงศ์ฉบับกรมศิลปากรอยู่หลายตอน อาทิ หน้า ๙๓ ได้กล่าวไว้ว่า “พระนางสังฆมิตตากับพระภิกษุณีหมื่น
๖ พันองค์ เป็นผู้ที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงบูชา
ได้สอนพระวินัยปิฎกอยู่ในอนุราธปุระ… กับพระภิกษุณี ๒
หมื่นองค์ได้มาจากชมพูทวีป เป็นผู้ที่พระเจ้าอภัยทรงขอมา
ได้สอนพระไตรปิฎกอยู่ในอนุราธปุระ”
ภาพการบูรณะวิหาร Kelani หลังถูกทำลายโดยต่างศาสนิก เป็นตัวอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แสดงว่าความรุ่งเรืองหรือความตกต่ำของพระพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับกษัตริย์ที่ปกครอง เกาะลังกา ณ ช่วงเวลานั้น |
ในสมัยที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นกษัตริย์ครองทวีปลังกา
ถือว่าพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ทว่าในขณะนั้น
เกาะลังกามีชนเผ่าอาศัยอยู่ ๒ ชนเผ่าคือ ชาวสิงหลและชาวทมิฬ
ชนเผ่าสิงหลเป็นผู้ที่เคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย
ในขณะที่ชนเผ่าทมิฬมีความเชื่อในศาสนาอื่น ครั้นสิ้นรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
อำนาจผู้ปกครองลังกาทวีปตกอยู่ในเงื้อมมือของกษัตริย์ทมิฬ
เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาถูกบ่อนทำลาย เกิดการสู้รบแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์ ๒
ชนเผ่าอยู่หลายร้อยปี
หากคราใดบัลลังก์ตกอยู่ในอำนาจของกษัตริย์ชนเผ่าทมิฬพระพุทธศาสนาก็ดับมืดจนแทบหมดสิ้นไปจากแผ่นดินลังกา
ในทางตรงข้าม หากกษัตริย์ชนเผ่าสิงหลเป็นผู้มีชัย
แสงแห่งธรรมก็จะกลับเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่วดินแดน
ดังนั้นความรุ่งเรืองและความตกต่ำของพระพุทธศาสนา ณ เกาะลังกาจึงไม่แน่นอน
ขึ้นอยู่ที่ว่ายุคนั้นกษัตริย์ของชนเผ่าใดขึ้นมามีอำนาจในการปกครอง
ลังการามเจดีย์แห่งอนุราธปุระ ที่สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัย |
การสู้รบแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างกษัตริย์ ๒
ชนเผ่าที่ยาวนานต่อเนื่องหลายร้อยปี
ทำให้พระธรรมวินัยที่พระภิกษุท่องจำสืบต่อกันมากระจัดกระจายสูญหายไปในไฟสงคราม อีกทั้งความวุ่นวายที่กระจายไปทั่วแผ่นดินก็ทำให้ผู้คนว่างเว้นจากการศึกษาและการประพฤติธรรม
จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัย พระองค์ทรงกู้ราชบัลลังก์คืนมาจากกษัตริย์ทมิฬ
ทรงมีพระราชศรัทธาและทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างโลหะปราสาทเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือชนเผ่าทมิฬ
ทั้งยังทรงทำนุบำรุงพระสงฆ์และทรงสร้างวัดและสถูปอีกหลายแห่ง เช่น
มหาสถูปในเมืองอนุราธปุระอย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ บัลลังก์ก็ถูกเปลี่ยนกลับไปตกอยู่ในเงื้อมมือกษัตริย์ทมิฬอีกครา
ประมาณ พ.ศ. ๔๐๐ เศษ รัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย กษัตริย์ทมิฬเข้ายึดเมืองอนุราธปุระ
ประชาชนประสบภาวะทุพภิกขภัยอย่างหนัก เจดีย์ถูกปล่อยปละให้รกร้าง
พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากอพยพหนีไปยังประเทศอินเดีย
พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยไปซ่องสุมกำลังเพื่อชิงบัลลังก์กลับคืนมาจากกษัตริย์ทมิฬ
โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหาติสสะ เมื่อทรงยึดพระราชอำนาจคืนมาได้สำเร็จ
ทรงตระหนักว่าหากปล่อยให้พระธรรมคำสอนสืบทอดด้วยวิธีท่องจำแบบปากเปล่าตามแบบเดิมที่กระทำกันมายาวนานเกรงว่าจะทำให้พระธรรมวินัยผิดเพี้ยนและไม่สมบูรณ์
จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำสังคายนาขึ้น ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท
โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน และโปรดเกล้าฯ
ให้จารจารึกพระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลานเป็นครั้งแรก
เพื่อรักษาพระธรรมวินัยให้ยืนยาวดังปรากฏในคัมภีร์ทีปวงศ์ฉบับกรมศิลปากรหน้า ๙๘
ดังนี้
“…เมื่อก่อนพระภิกษุทั้งหลายได้นำพระไตรปิฎกบาลีและอรรถกถามาด้วยมุขปาฐะ แต่ภายหลังได้เห็นความเสื่อมไปแห่งปัญญาของกุลบุตรทั้งหลาย
จึงได้จดจารพระปาลีอรรถกถาลงไว้ในใบลาน เพื่อความตั้งอยู่นานแห่งพระธรรม…” นับจากนั้นการสืบทอดพุทธธรรมด้วยการจารจารึกลงในคัมภีร์ใบลานก็เป็นรูปแบบใหม่ที่ประเทศต่าง
ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนานำไปปฏิบัติ แม้ว่าคัมภีร์ฉบับแรกที่จารจารึก ณ
อาโลกเลณสถานจะผุผังไม่เหลือฉบับจริงให้ได้เห็น
แต่คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่จารทดแทนฉบับดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่นก็เป็นหลักฐานปฐมภูมิที่ยืนยันให้เห็นถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาต่อเนื่องหลายพันปีตั้งแต่
พ.ศ. ๔๐๐ เศษ
หากพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ
เกาะลังกา
จะเห็นว่าไฟสงครามและความพยายามที่จะล้มล้างพระพุทธศาสนาโดยต่างศาสนิกเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการสืบทอดพระธรรมคำสอน
เป็นการปฏิรูปของเดิมที่ดีที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
จากการสืบทอดแบบปากเปล่าที่กระทำสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลในชมพูทวีป
ปรับเปลี่ยนเป็นการจารจารึกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรบนแผ่นลาน จนกลายเป็นวิธีการสืบทอดที่แพร่หลายและใช้สืบต่อมายาวนานอีกหลายพันปี
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษเรื่อยมา
นี้แสดงให้เห็นว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาส
หากในวันนั้นชาวสิงหลยอมจำนนให้กับโชคชะตาและละทิ้งพระพุทธศาสนาให้ตกต่ำไปตามยถากรรม
คงไม่เกิดการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์เป็นลายลักษณ์อักษรมาถึงเราในปัจจุบัน
มุขปาฐะที่ใช้สืบทอดมานานเป็นวิธีการที่ดี
แต่หากเราเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสพัฒนาหาแนวทางใหม่ ๆ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
อาจจะได้พบช่องทางใหม่ที่ดีกว่าเดิมควบคู่ไปกับวิธีแบบเดิมที่ปฏิบัติกันมามองเหตุการณ์ในอดีตแล้วนำมาวิเคราะห์กับสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อเกิดภัยต่อพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใด
บางสิ่งที่เราเคยทำเป็นปกติวิสัยในอดีต วันนี้อาจทำได้ไม่เช่นเดิม
ขอเพียงแต่เราไม่เสื่อมคลายจากศรัทธา และเดินหน้าในการทำดีตามแนวพุทธองค์ต่อไป
และปรับตัวปรับใจให้เข้ากับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ต่อไปภายหน้าความอดทนความพยายามท่ามกลางวิกฤตในวันนี้
จะทำให้แสงแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสว่างไสวยิ่งกว่าเดิม
เฉกเช่นแสงแห่งธรรมที่กลับมาเจิดจ้าในเกาะลังกา ไม่ว่าจะถูกภัยใดมาเบียดเบียนก็ตาม
Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๓)
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
23:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: