ตอนที่ ๙ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว


ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๙ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว
-------------------------------------

๒. การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว

การทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง หากจะทำให้สำเร็จลุล่วงตลอดรอดฝั่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ต้นแบบที่ดี แรงบันดาลใจที่ดี และกำลังใจที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ปุถุชนคนทั่วไปเกิดแรงบันดาลใจ คิดตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตบ้าง เป็นพระอัครสาวกในอนาคตบ้าง เป็นพระอสีติมหาสาวกในอนาคตบ้าง

ด้วยเหตุนี้  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสนับสนุนให้พระภิกษุยึดถือพระอัครสาวกทั้งสองเป็นต้นแบบในการฝึกฝนอบรมตนเองดังมีหลักฐานที่ปรากฏใน อายาจนสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศรัทธา เมื่ออ้อนวอนโดยชอบ พึงอ้อนวอนอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรและโมคคัลลานะนี้ เป็นตราชูมาตรฐานของภิกษุสาวกของเรา

ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงสนับสนุนให้ประชาชนปลูกฝังแนวคิดแก่บุตรหลานของตัวเองว่า หากลูกตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นบรรพชิตในอนาคต จงยึดถือพระอัครสาวกทั้งสองเป็นต้นแบบการฝึกฝนอบรมตนเอง ดังมีหลักฐานที่ปรากฏไว้ใน เอกปุตตกสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อวิงวอนบุตรคนเดียวซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ พึงวิงวอนอย่างนี้ว่า... ถ้าพ่อออกบวช ก็ขอจงเป็นเช่นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเถิด... ขอพ่อจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตผล ถูกลาภสักการะและความสรรเสริญครอบงำเลย ...

จากพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า คุณธรรมประจำตัวของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะนั้น คือสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงใช้เป็นมาตรฐานในการสร้างขุนพลกองทัพธรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเลยทีเดียว

พระสารีบุตรท่านมีคุณธรรมประจำตัวที่โดดเด่นอยู่มากมายหลายประการ ซึ่งทุกประการสามารถใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ เคารพพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์อย่างมาก รักการแสวงหาความรู้ รักความมักน้อยสันโดษ วางตนน่าเคารพยกย่อง ชอบอนุเคราะห์ชาวโลก ไม่เบื่อการตอบคำถาม ไม่คบหาผู้ชอบทำให้มิตรแตกแยก ฯลฯ เป็นต้นซึ่งจะยกตัวอย่างพอสังเขปได้ดังนี้

๒.๑ กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

สำหรับคุณธรรมข้อนี้ มีเหตุการณ์ที่ท่านแสดงความกตัญญูกตเวทีไว้หลายครั้ง ทั้งในช่วงเวลาก่อนบวช หลังบวชแล้ว และก่อนที่จะปรินิพพาน ดังนี้

๑) กตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์เก่า

พระสารีบุตร (มีนามเดิมว่าอุปติสสะ) ก่อนจะได้พบพระบรมศาสดา ท่านเคยสละสมบัติ ๘๐ โกฏิ ออกบวชเป็นปริพาชกพร้อมกับสหายรัก คือ พระโมคคัลลานะ (มีนามเดิมว่าโกลิตะ) โดยสาเหตุที่สหายทั้งสองตัดสินใจออกบวช ก็เพราะว่าในขณะกำลังชมมหรสพ เกิดความสลดใจขึ้นว่า นักแสดงเหล่านี้มีอายุไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็ต้องตายจากกันไป เราเองก็คงเช่นเดียวกัน พวกเราจึงควรออกแสวงหาโมกขธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

หลังจากสหายทั้งสองปรึกษากันแล้ว พวกท่านก็ออกบวชพร้อมด้วยบริวารอีกคนละ ๒๕๐ คน ในสำนักของสัญชัยปริพาชก เจ้าของลัทธิอมราวิกเขปิกทิฏฐิ คือ มีความเห็นที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในครูทั้งหกที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น (ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น)

ท่านศึกษาเล่าเรียนเพียง ๓ วัน ก็เจนจบความรู้ทั้งหมด และพบว่าคำสอนของสำนักปริพาชกไม่มีสาระแก่นสาร มิใช่โมกขธรรมที่ดับทุกข์ได้จริง ท่านจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับโกลิตะผู้สหาย แล้วตกลงกันว่าจะออกแสวงหาโมกขธรรมอีกครั้ง หากใครได้พบก่อนให้กลับมาบอกอีกคนหนึ่งด้วย

เวลาผ่านไปหลายเดือน เช้าวันหนึ่ง ท่านเห็นพระอัสสชิ ผู้เป็นมหาสาวกองค์ที่ ๕ ในกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ท่านสังเกตพบว่า พระอัสสชิเป็นสมณะที่มีอินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง บุคลิกสงบสำรวมดูแล้วน่าเลื่อมใส ไม่เหมือนกับนักบวชทั่ว ๆ ไปที่เคยพบเห็นมาก่อน

ท่านจึงเดินติดตามไปห่าง ๆ รอจนกระทั่งพระอัสสชิขบฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็เข้าไปสอบถามอย่างสุภาพว่า ท่านเป็นนักบวชในศาสนาใด ศาสดาของท่านเป็นใคร และมีคำสอนอย่างไร เมื่อได้ทราบความเป็นมาแล้วท่านก็ขอให้พระอัสสชิแสดงธรรม

พระอัสสชิกล่าวถ่อมตนว่า ท่านเป็นผู้บวชใหม่ในธรรมวินัยนี้ มิอาจแสดงธรรมให้กว้างขวางได้ แต่สามารถกล่าวแสดงโดยย่อได้หลังจากนั้นก็แสดงธรรมโดยย่อให้ฟังว่า

ธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ พระศาสดามีปกติตรัสถึงเหตุและความดับไปของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้

เมื่อการแสดงธรรมโดยย่อจบลง ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันฉับพลันทันที เมื่อได้พบกับโมกขธรรมที่แสวงหาแล้ว ท่านก็ขออนุญาตกลับไปบอกเพื่อนรักก่อน แล้วจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกัน จากนั้นท่านก็ก้มกราบแทบเท้าอาจารย์ ทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วลากลับไปยังสำนักปริพาชก

ท่านเล่าเหตุการณ์ทุกอย่างให้โกลิตะสหายรักฟัง พอท่านเล่าและกล่าวธรรมภาษิตโดยย่อจบลง สหายรักของท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเดี๋ยวนั้นทันที

จากนั้น ท่านทั้งสองก็แจ้งข่าวให้บริวารอีก ๕๐๐ คน ที่ติดตามออกบวชมาด้วยได้ทราบว่า ท่านกับสหายรักได้พบกับโมกขธรรมที่ดับทุกข์ได้จริงแล้ว กำลังจะไปขอบวชกับพระบรมศาสดาที่เวฬุวันมหาวิหาร บริวารทั้งหมดทราบเรื่องแล้วก็ขอติดตามไปบวชด้วย

แต่ก่อนที่ท่านจะจากไปนั้น ด้วยความที่ท่านมีปกติเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีและบูชาอาจารย์ จึงคิดห่วงใยสัญชัยปริพาชก เพราะทราบดีว่าคำสอนของอาจารย์เก่าไม่มีสาระแก่นสาร มิใช่โมกขธรรมที่ดับทุกข์ได้จริง ท่านจึงอาศัยอำนาจแห่งความกตัญญูกตเวที ย้อนกลับไปชวนอาจารย์เก่าให้ละทิ้งความเชื่อเดิมแล้วไปบวชกับพระบรมศาสดาด้วยกัน

แต่สัญชัยปริพาชกกล่าวปฏิเสธโดยให้ความเห็นว่า ตนเป็นถึงเจ้าลัทธิใหญ่ มีศิษย์สาวกมากเป็นหนึ่งในหกของแคว้นมคธ (ซึ่งขณะนั้นเป็นลัทธิที่ใหญ่กว่าพระพุทธศาสนามาก) การไปเป็นศิษย์ของผู้อื่น ก็เท่ากับลดตัวเองลงไปเป็นตุ่มให้ผู้อื่นใส่น้ำอาบ โลกนี้มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด คนฉลาดจะไปหาพระพุทธเจ้า ส่วนคนโง่เขลาจะมาหาเรา ท่านทั้งสองจงไปเถิด

เมื่อมิอาจจะเปลี่ยนใจสัญชัยปริพาชกได้ สหายทั้งสองก็จำต้องตัดใจจากอาจารย์เก่า พาบริวารออกจากสำนักไปยังเวฬุวันมหาวิหาร เมื่อสัญชัยปริพาชกมองเห็นสำนักว่างเปล่าลงเป็นอันมากก็อาเจียนเป็นโลหิต (การบวชของบริวารแบ่งเป็น ๒ ชุด ชุดแรกตามออกบวชทันที ๒๕๐ คน ชุดหลังตามออกบวชหลังจากสัญชัยปริพาชกเสียชีวิตแล้วอีก ๒๕๐ คน)

จากเหตุการณ์ในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าพระสารีบุตรไม่ใช่คนได้ดีแล้วลืมอาจารย์เก่าเมื่อได้พบโมกขธรรมที่ดับทุกข์ได้จริง ก็อยากให้อาจารย์เก่าได้โอกาสแห่งการบรรลุธรรมนั้นด้วย เพราะเป็นทางเอกสายเดียวที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ทางสายอื่นไม่มี

แต่ทว่าเมื่ออาจารย์เก่าไม่สามารถละทิ้งลาภยศสรรเสริญที่เคยได้รับจากความเป็นศาสดาในลัทธิเก่าได้ ท่านจึงต้องตัดใจจากอาจารย์อย่างไม่มีทางเลือกอื่น เพราะอาจารย์เลือกที่จะอยู่กับคำสอนที่ไม่มีแก่นสาร เพื่อหลอกลวงเอาความเคารพและลาภสักการะจากผู้อื่นต่อไป

หลังจากท่านบวชในสำนักพระบรมศาสดาแล้ว บำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๕ วัน ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญาในวันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) ท่ามกลางพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งนับเป็นเกียรติอันสูงสุดสมความปรารถนาที่ท่านตั้งใจสร้างบารมีสั่งสมวิชาครูมายาวนาน ๑ อสงไขยกับ ๑ แสนมหากัป เพื่อตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวานั่นเอง

๒) กตัญญูกตเวทีต่อมารดาในชาติก่อน

นอกจากความกตัญญูกตเวทีที่มีต่ออาจารย์เก่าแล้ว ท่านยังเคยช่วยเหลือมารดาในชาติก่อนให้พ้นจากวิบากกรรมที่ลำบากอีกด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งมีนางเปรตตนหนึ่งรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม จะมาขอเข้าพบพระสารีบุตรในวิหาร แต่เทวดาที่เฝ้าประตูไม่ยอมให้เข้า นางเปรตจึงบอกกับเทวดาว่า ตนเป็นอดีตมารดาของพระสารีบุตรใน ๕ ชาติที่แล้ว เทวดาจึงยอมให้เข้าไป

เมื่อนางเปรตได้พบกับพระสารีบุตร ก็เล่าให้ฟังว่า นางเป็นมารดาของพระสารีบุตรเมื่อภพในอดีต เป็นภรรยาของสามีผู้เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก แต่ที่ต้องมาเกิดเป็นเปรต เพราะว่านางไม่ยอมทำตามคำสั่งของสามีที่สั่งไว้ก่อนออกเดินทางไปต่างเมืองว่า ให้รักษาประเพณีการให้ทานของตระกูลไว้ จงให้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางวณิพก และยาจก และจงถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุทั้งหลายด้วยความเคารพ

นอกจากนางจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสามีแล้ว ยังต่อว่าขับไล่คนเหล่านั้นด้วยถ้อยคำ   หยาบคายว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่านแล้วระบุชื่อสิ่งของที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย

ต่อมา เมื่อนางละอัตภาพจากชาตินั้นก็มาเกิดเป็นเปรตผอมซูบหิวโซ ไม่มีที่อยู่อาศัยและต้องกินของเน่าของเสียประทังชีวิตตามวจีกรรมที่กล่าวไว้ในชาตินั้น บัดนี้นางได้รับความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก นางจึงมาขอร้องพระสารีบุตรว่า ลูกเอ๋ย ช่วยอุทิศส่วนบุญแก่แม่บ้าง แม่จะได้พ้นสภาพจากการกินน้ำหนองน้ำเลือดประทังชีวิตอย่างทุกวันนี้

วันต่อมา พระสารีบุตรนำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระโมคคัลลานะ พระอนุรุทธะ และพระกัปปินะเมื่อสหายรักของท่านทราบเรื่องนี้แล้ว พระโมคคัลลานะได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาทรงทราบเรื่องแล้วก็รับเป็นเจ้าภาพจัดการงานบุญทั้งหมด

พระราชารับสั่งให้บริวารสร้างกุฏิ ๔ หลังตั้งไว้ทั้ง ๔ ทิศของเมือง เมื่อถึงวันฉลองกุฏิใหม่พระราชาได้กราบนิมนต์พระบรมศาสดาเป็นประธานสงฆ์ แล้วถวายข้าวปลาอาหารและเครื่องบริขารทั้งหมดแด่พระสารีบุตร

พระสารีบุตรจึงนำภัตตาหารและสิ่งของทั้งหมดนั้นถวายเป็นสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ทั้ง ๔ ทิศ โดยมีพระบรมศาสดาเป็นประธานอุทิศส่วนบุญให้แก่เปรตมารดา หลังจากที่นางเปรตได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว ก็ไปบังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยทิพยสมบัติทุกอย่าง

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ตอนที่ ๙ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว ตอนที่ ๙ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:30 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.