พลังของจินตนาการ


เหตุใดอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จึงบอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ?

ก่อนอื่นต้องดูว่า จินตนาการคืออะไร ต่างกับความคิดที่มีเหตุผลอย่างไร ถ้าเราคิดอย่างมีเหตุผล คิดบนฐานความรู้เดิมว่ามีสิ่งที่ค้นพบแล้วพิสูจน์ได้ แล้วก็ต่อยอดขึ้นไปนั้นคือการคิดอย่างมีเหตุมีผล แต่จินตนาการเป็นการคิดกึ่ง ๆ คิดฝัน โดยไม่ต้องอิงถึงฐานความรู้ปัจจุบัน เช่น คนสมัยก่อนคิดว่า วันหนึ่งจะไปบินบนฟ้าเหมือนนก ก็เป็นการคิดฝันที่ไม่ได้อิงจากฐานข้อมูลปัจจุบัน เพราะในยุคนั้นยังไม่มีเครื่องบิน แล้วคนจะไปบินบนฟ้าได้อย่างไร การคิดกึ่ง ๆ นึกฝันไม่ถูกจำกัดด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นคือจินตนาการ

ถามว่าแล้วทำไมไอน์สไตน์จึงบอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ก็เพราะว่าการที่เราจะค้นพบอะไรใหม่ ๆ ต้องอาศัยจินตนาการ ถ้าคิดแบบไม่มีจินตนาการ ต้องคิดจากสิ่งที่เรารู้แล้วในปัจจุบัน แล้วก็พัฒนาต่อไปอีกนิดหน่อย แต่ถ้ามีจินตนาการจะสามารถทะลุกรอบไปอีกมิติได้เลย

การที่ไอน์สไตน์สรุปอย่างนี้ เพราะว่าเขาสรุปจากประสบการณ์ในชีวิตจริง ทฤษฎีที่ดังที่สุดของเขาคือทฤษฎีสัมพัทธภาพ ก็เกิดขึ้นจากจินตนาการ ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีนี้ตอนอายุ ๒๕ ปี ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เก่งกาจอะไรมากมาย ถ้าเป็นคนยุคปัจจุบันยังไม่จบปริญญาเอกเลย แต่ไอน์สไตน์ประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพแล้ว ซึ่งแสดงว่า เขาไม่ได้คิดตอนอายุ ๒๕ ปี จะประกาศออกมาเป็นที่ยอมรับทั่วโลกได้ต้องคิดมาก่อนหน้านั้นแล้วอาจจะคิดตอนอายุ ๒๒-๒๓ ปีด้วยซ้ำไป ถามว่าเขาคิดได้อย่างไร คิดได้ด้วยจินตนาการ ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ค่อย ๆ ใช้ความคิดใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจะคิดไม่ออกเลยเพราะสิ่งที่เขาคิดมันหลุดจากสามัญสำนึกของคนทั่วไป ความคิดเรื่อง มวลสารขยายได้หลุดจากสามัญสำนึกของคนทั่วไปไหม ถ้ามีใครบอกว่าทิชชูชิ้นนี้มีมวลสารมากกว่าโลกทั้งใบหรือดวงอาทิตย์ทั้งดวง หลุดกรอบไหม หลุดนะ ถ้าใช้ความคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่ค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ไม่มีทางคิดออก แต่ไอน์สไตน์คิดสิ่งนี้ออกใน ๑ วัน เพราะใช้จินตนาการที่เกิดขึ้นขณะที่นั่งใจสบาย ๆ พอใจโปร่ง ๆ คล้ายเป็นสมาธิ มันก็แวบขึ้นมาในใจว่า ถ้าหากไม่มีอะไรเร็วเหนือแสงจะเกิดอะไรขึ้น นักวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่าแสงเดินทางเร็วมาก ด้วยความเร็วประมาณ ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที วินาทีเดียววิ่งรอบโลกได้หลายรอบ พอรู้ว่าแสงเดินทางได้เร็วขนาดนั้น เขาก็จินตนาการว่า ถ้าสมมุติไม่มีอะไรเร็วเหนือแสง แสงเร็วที่สุดจะเป็นอย่างไร แล้วก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาคำนวณดูเล่น ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร พอคำนวณเสร็จ ก็เอาไปทดลองดู ปรากฏว่าเป็นจริง เลยกลายเป็นที่มาของทฤษฎีสัมพัทธภาพ ถ้าคิดอย่างมีเหตุมีผลไม่มีทางคิดออก แต่ทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นเพราะจินตนาการที่หลุดกรอบ

หลาย ๆ เรื่องที่มนุษย์ทำสำเร็จก็เพราะจินตนาการ เช่น จินตนาการว่าวันหนึ่งเราจะบินบนฟ้าได้ ก็เลยเกิดเป็นเครื่องบิน วันหนึ่งเราจะไปเดินบนดวงจันทร์ ก็สร้างยานอวกาศขึ้นมา แล้วไปเดินบนดวงจันทร์ได้ การค้นพบใหม่ ๆ ที่สำคัญ ๆ มากมายเกิดขึ้นเพราะจินตนาการ ไอน์สไตน์จึงสรุปว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้

จะเปรียบได้หรือไม่ว่า ความรู้คืออดีตส่วนจินตนาการคืออนาคต ?

อยากให้เปรียบว่า ความรู้เป็นพื้นฐาน จินตนาการคือการต่อยอดสู่อนาคต เพราะถ้าจินตนาการแบบไม่มีความรู้ ก็คิดอะไรไม่ออก ถ้าไอน์สไตน์ไม่มีความรู้เรื่องกฎของนิวตัน สิ่งที่เขาคิดก็เป็นความเพ้อฝันเฉย ๆ ถ้าเรามีความรู้เป็นพื้นฐานที่หนักแน่น เมื่อจินตนาการแล้ว เราก็สามารถใช้ความรู้นั้นเป็นฐานต่อยอดก้าวไปสู่จินตนาการนั้นได้ เพราะฉะนั้นความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือพื้นฐาน แต่จะค้นพบอะไรใหม่ ๆ ที่ยิ่งใหญ่ได้ ต้องอาศัยจินตนา การจินตนาการคืออนาคตที่ไร้ขีดจำกัด

มนุษย์ใช้ความคิดจากสมองในการจินตนาการหรือใช้ใจ ?

ต้องเข้าใจก่อนว่า สมองเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นเครื่องมือของใจ สมองเหมือนคอมพิวเตอร์ ใจเป็นผู้สั่งการเหมือน user เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่า เราใช้สมองซีกขวาในเรื่องจินตนาการ สมองซีกซ้ายในเรื่องเหตุผลและความจำ แสดงว่าสมองเป็นตัวจินตนาการไม่ใช่นะ เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราใช้โปรแกรมนี้เกี่ยวกับเรื่องคำนวณ แต่เวลาทำ Photoshop สร้างรูปต้องใช้อีกโปรแกรมหนึ่ง เราก็คิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นตัวสร้างรูปและเป็นตัวคำนวณใช่ไหม ไม่ใช่ คนที่สร้างรูปตัวจริงคือ user โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เราใช้แต่ละโปรแกรมเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น ใจเป็นผู้สั่งทุกอย่าง สมองเป็นแค่เครื่องมือให้ใจใช้

เด็กสามารถจินตนาการได้ดี แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ของเด็กคือการอ่านการ์ตูนและเล่นเกม ถ้าห้ามเด็กอ่านการ์ตูนหรือเล่นเกม จะไปปิดกั้นจินตนาการหรือไม่ ?

ถามว่าทำไมเด็กถึงจินตนาการได้ดี เพราะว่ากรอบที่ร้อยรัดเขายังน้อย ความรู้ยังไม่มาก ที่เขาใช้จินตนาการเป็นหลักเพราะเขามีความคิดฝันเยอะ เวลาอ่านการ์ตูน ก็จินตนาการคิดฝันไป หรือถ้าได้มุดท่อไปนั่นไปนี่ก็ชอบ รู้สึกว่ามีการผจญภัย ลึกลับ หรือถ้ามืด ๆ หน่อยก็กลัวผี นั้นคือโลกของเด็กซึ่งฐานความรู้ยังแคบ เลยใช้จินตนาการเป็นหลักพอโตขึ้น เริ่มรู้อะไรมากขึ้น จินตนาการเริ่มถูกจำกัดกรอบ พอจะคิดอะไรที่รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ หรือที่ขัดแย้งกับความรู้ที่เคยเรียนมา ก็ไม่คิด ทำให้จินตนาการแคบลง

แต่ถ้าคนไหนรู้หลักและฝึกการสมดุลได้ดี คือ มีความรู้แต่ไม่จำกัดจินตนาการ ถ้าอย่างนี้ความรู้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นฐานหนุนให้จินตนาการนั้นเป็นจินตนาการที่สร้างสรรค์ แล้วก็สามารถนำมาพิสูจน์ได้ว่าจินตนาการนั้น ๆ ทำจริงได้ไหม เอามาใช้ได้หรือเปล่า เพราะไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะจินตนาการได้ทั้งหมด ความรู้จะเป็นฐานหนุนให้จินตนาการมีโอกาสนำมาใช้ให้เป็นจริงได้สูงขึ้น นี้คือความต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่

พอเราเรียนรู้เยอะ ๆ แล้ว อย่าไปติดกรอบมาก อาตมามีเพื่อนคนหนึ่งเรียนแพทย์ด้วยกันอยทูี่จุฬาฯ เขาเป็นนักกีฬา มีคราวหนึ่งเล่นผิดท่า กล้ามเนื้อหลังยอก เวลาจะตีเทนนิสเงื้อตบไม่ได้ ตบแล้วปวดหลัง เส้นมันยึด อาตมารู้จักหมอนวดฝีมือดี นวดแล้วหายจริง คนที่คอตกหมอนกว่าจะหายบางทีเป็นอาทิตย์ไปให้หมอนวดจับเส้นที่เก่ง ๆ จับแล้วหายคามือเลย อาตมาก็เลยบอกให้เขาไปหา แต่เขาคิดว่าถ้ามีปัญหาเรื่องกระดูก เรื่องเส้น ต้องไปหาหมอกระดูกและข้อเท่านั้น ด้วยความที่ตัวเองเรียนแพทย์ จึงไปจำกัดกรอบตัวเองว่าแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้นที่เก่ง หมอนวด หมอฝังเข็ม ยาจีน ยาไทย ไม่เชื่อทั้งนั้น ผลสุดท้ายคือหลังยอกต่อไป แต่ถ้าไปหาหมดนวดเก่ง ๆ จับเส้น เขาจะหายได้ทันทีเลย นี้คือข้อจำกัดของการมีความรู้เยอะ ถ้าหากไปยึดมั่นกับมันมากเกินไปจนกระทั่งปฏิเสธอย่างอื่นหมด จะกลายเป็นข้อเสียมากกว่า

ย้อนมาที่เด็ก เมื่อเรารู้แล้วว่า วัยเด็กเป็นวัยที่ความรู้ยังไม่มาก เขามีจินตนาการเยอะ เพราะยังไม่ถูกครอบ เราควรจะส่งเสริมจินตนาการเด็กอย่างไร เรื่องการ์ตูนหรือเกมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าการ์ตูนที่มีความรุนแรงหรือเกมรบราฆ่าฟันกันอย่างนี้ไม่ดี ต้องเป็นการ์ตูนที่สร้างสรรค์ สมัยโบราณที่ยังไม่มีการ์ตูน ผู้เฒ่าผู้แก่จะเล่านิทานชาดกให้เด็ก ๆ ฟัง เด็กฟังแล้วจะคิดตามไปด้วย รูปไม่มีก็ต้องใช้จินตนาการตามไปด้วย อย่างนี้ดี เพราะเนื้อหาสอนใจ เกมก็เหมือนกัน แทนที่จะไปเล่นเกมรุนแรงโหดร้าย ก็เล่นเกมตัวต่อให้เด็กจินตนาการช่วยกันคิด ช่วยกันต่อ อย่างนี้เป็นต้น อะไรที่เสริมจินตนาการเป็นสิ่งที่ดี แต่อะไรที่ทำให้เด็กคุ้นเคยกับความโหดร้ายหรือเรื่องที่ไม่ดี ก็ต้องหลีกเลี่ยง

มีวิธีแก้ไขหรือกระตุ้นคนที่ขาดจินตนาการอย่างไรบ้าง ?

อย่างแรก อย่าไปยึดมั่นกับความรู้ที่เรามีในปัจจุบันมากเกินไป ให้รู้ว่าความรู้ในปัจจุบันก็คือ ความรู้ที่สั่งสมมา แต่เรายังต้องก้าวไปข้างหน้า มนุษย์เราเจริญมาได้ก็ด้วยจินตนาการ อย่างนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เขาจะคิดฝันแบบหลุดกรอบไปเลย แล้วพบว่าต่อมาที่ฝัน ๆ ไว้จำนวนไม่น้อยกลายเป็นจริงขึ้นมา เพราะอะไรรู้ไหม บางคนอาจจะนึกว่านักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จินตนาการเก่งมากจริง ๆ แล้วให้เรารู้ว่าในโลกนี้ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น แล้วสิ่งที่วิทยาศาสตร์รู้ตอนนี้ก็ยังไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของกฎธรรมชาติที่มีอยู่เลย ดังนั้นเมื่อมนุษย์จำนวนมากมีใจมุ่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการชี้นำของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ พวกเขาก็จะพยายามหาวิธีการให้มันเป็นจริงขึ้นมา พอใจจดจ่อเรื่องใดมาก ๆ เข้า ก็จะไปเหนี่ยวนำจนกระทั่งสุดท้ายพบวิธีทำให้เรื่องนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นให้เรารู้เถิดว่า มนุษย์มีขีดความสามารถที่แทบจะเรียกว่าไร้ขีดจำกัด ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราตั้งใจจริง เพราะฉะนั้นอย่าไปจำกัดกรอบตัวเองด้วยความคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อย่าเอาความรู้ปัจจุบันมาครอบตัวเองจนกระทั่งไม่กล้าจะกระดิกออกไปนอกกรอบ ปฏิเสธทุกอย่างที่อยู่นอกกะลาว่าไม่จริง เพราะเห็นอยู่แค่ในกะลาโลก มีแค่ในกะลาเท่านั้น ใครติดกรอบความรู้ปัจจุบันก็ไม่ต่างจากกบในกะลา ถ้าออกนอกกะลาแล้วจะพบว่า ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกตั้งเยอะ และจะไปถึงได้ด้วยจินตนาการ แล้วก็ย้อนกลับมาเอาฐานความรู้ปัจจุบันไปพิสูจน์คิดค้นให้จินตนาการนั้นเป็นความจริง

ถ้าจะแก้คนที่ขาดจินตนาการ ต้องแก้ทัศนคติตรงนี้ก่อน พอแก้ทัศนคติได้ ก็ค่อย ๆ ฝึกจินตนาการ ลองขีดเขียนวาดรูป ลองฝึกใช้สมองซีกขวาบ้าง ไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองอย่างเดียว ให้อยู่กับเรื่องราวที่เป็นศิลปะบ้างแล้วก็นั่งสมาธิให้ใจนิ่ง ๆ ด้วย คนเราพอใจนิ่งจินตนาการจะยิ่งเกิด เพราะมันเป็นการเคลียร์ใจให้หลุดจากกรอบความคิดที่ถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว มนุษย์ปัจจุบันถูกครอบทั้งนั้น จะมากจะน้อย แม้คนที่มีจินตนาการดีก็ถูกครอบ แต่ถูกครอบน้อยหน่อยเท่านั้นเอง การครอบไม่ได้มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แม้เรื่องทางสังคมก็มี ตัวเราโตมาอย่างไร ถูกปลูกฝังมาอย่างไร ก็จะคิดอย่างนั้นโดยไม่รู้ตัว

คนที่ฉลาดคือคนที่สามารถมองกรอบที่ครอบตัวเองเอาไว้ได้ แล้วสามารถหลุดกรอบออกมาได้ นั้นคือคนที่มีปัญญาและมีจินตนาการ การนั่งสมาธิทำใจนิ่ง ๆ คือการเคลียร์กรอบทั้งหลายให้เกลี้ยงออกไปจากใจ จะทำให้ใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็เป็นจินตนาการทางบวกด้วย

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
พลังของจินตนาการ พลังของจินตนาการ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:01 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.