ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่


ยุคแรกของมนุษย์เป็นยุคโอปปาติกะ คือเกิดแล้วโตทันที และไม่มีเพศหญิงเพศชาย เพราะมาจากอาภัสราพรหม ต่อมา พรหมได้กินอาหารในโลกมนุษย์ จึงมีอวัยวะและร่างกายที่หยาบขึ้น มีเพศหญิงและเพศชายขึ้นมา เป็นเครื่องบ่งบอกความแตกต่างตามบุพกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต เมื่อมนุษย์ชายหญิงเกิดความรักความเสน่หา จึงตกลงครองเรือน และเข้าสู่ยุคชลาพุชะ คือ ยุคที่มนุษย์เกิดจากครรภ์มารดา

นับจากที่มีการบังเกิดขึ้นของมนุษย์ในครรภ์มารดานี้เอง จึงเริ่มเกิดมีคำว่า แม่คำคำนี้เกิดขึ้นพร้อมกับคำว่า ลูกไม่ก่อนไม่หลังกันเลย ลูกเรียกแม่ แม่เรียกลูก เกิดมาแล้วก็มีความรักความผูกพันเกิดขึ้น ในยุคที่ต่อจากยุคโอปปาติกะ ทุกชีวิตเริ่มต้นจากตรงนี้ ไม่ว่าประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐีของโลก หรือจะเป็นใครก็ตาม ทุกคนเริ่มจากตรงนี้ คือ เริ่มที่..พ่อ ก่อที่..แม่ ออกมา..เป็นตัวเรา ทุกคนต้องมีพ่อ มีแม่ และเราก็ต้องรักท่านให้มาก ๆ เพราะท่านให้กายมนุษย์แก่เรา กายมนุษย์นี้มีความสำคัญมาก ผู้ที่ทำให้กายมนุษย์ของเราบังเกิดขึ้นมาได้ จึงมีความสำคัญมาก เป็นผู้ควรแก่การเคารพ สักการบูชาประดุจพระอรหันต์ในบ้าน แค่ให้กายมนุษย์ก็เป็นพระคุณที่ยิ่งใหญ่มากแล้ว เพราะทำให้เราสามารถสั่งสมบุญสร้างบารมีจนบรรลุธรรมได้

นอกจากนี้ ท่านยังเลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ สั่งสอน ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ให้กำลังใจ คอยปลุก คอยปลอบ ยามที่เราท้อใจ ท่านมีพระคุณมหาศาล พ่อและแม่จึงได้ชื่อว่าเป็นทุกสิ่งของลูก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า  ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่บนบ่านั้น ป้อนข้าวป้อนน้ำและให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่านั้น แม้บุตรจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และปรนนิบัติท่านไปจนตลอดชีวิต ก็ยังนับว่าตอบแทนพระคุณท่านไม่หมด

เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน คุณธรรมของลูกเริ่มที่รู้จักพระคุณของพ่อแม่ (กตัญญู) คือ รู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีกก็คือ ตอบแทนคุณท่าน (กตเวที) ลูกที่ดีจึงต้องมีทั้งความกตัญญูและกตเวทีตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ทั้ง ๒ สิ่งนี้คือคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูก

กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าของท่านคือ เห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา ว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาว ๆ ไปเท่านั้น

พระคุณของพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรา ซึ่งต่างจากคนอื่นคนทั่วไปเมื่อจะอุปการะใคร เขาจะต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ เมื่อแน่ใจแล้วว่า อุปการคุณของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้น เป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ไม่ได้มององค์ประกอบใด ๆ เลย เราเองเกิดมาตัวเปล่า ไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็มเล่มเดียว และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกายจะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้วยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียวว่าโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะอกตัญญูหรือไม่ ไม่รู้ทั้งสิ้น หนังสือสัญญาการรับปากสักตัวเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มี แต่ท่านทั้งสองก็โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องเหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผล อย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้เรียกว่า กตัญญู ซึ่งเป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นพระคุณของท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้นเท่านั้น

กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ๒ ประการ คือ

๑. ประกาศคุณท่าน
๒. ตอบแทนคุณท่าน

การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณต่อเราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมากไปทำตอนงานศพ คือ เขียนประวัติสรรเสริญพระคุณพ่อแม่ในหนังสือแจกงานศพ การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผิน ถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น สิ่งที่จะประกาศคุณพ่อแม่ได้ดีกว่านี้ ก็คือตัวเรานี้เอง

คนเราทุกคนคือตัวแทนของพ่อแม่ตนทั้งนั้น เลือดก็แบ่งมาจากท่าน เนื้อก็แบ่งมาจากท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี้แหละ จะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างโจ่งแจ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่หนังสือแจกงานศพ ไม่ใช่อยู่ที่หีบศพบนเชิงตะกอน แต่อยู่ที่ตัวเรานี้เอง หากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกงานศพว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองสำมะเลเทเมา โกงคนอื่นทุกครั้งที่มีโอกาส ศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษา ถ้าอย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลง กลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทนเรา ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ แสดงกตเวทีแทนเรา แล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของเราเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ชาวบ้านว่า พ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็น

ดังนั้น เมื่อเรารักท่าน ก็ควรประกาศคุณความดีของท่านด้วยความดีของตัวเราตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่ง

การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วงคือ

๑. เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบแทน เมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบาย และเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย

๒. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และหมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว ยังนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีและต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมดพึงกระทำดังนี้

๑. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้

๒. ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้

๓. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้

๔. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้ เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน รักษาศีล และการทำสมาธิภาวนา เป็นประโยชน์โดยตรงต่อบิดามารดา เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ท่านทั้งในภพนี้ ภพหน้า และเป็นหนทางไปสู่พระนิพพานด้วย

ความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาเป็นคุณธรรมความดีอันยิ่งใหญ่ ที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิตของผู้เป็นลูก และยังเป็นหนทางไปสู่สวรรค์อีกด้วย ดังพุทธพจน์ที่ว่า เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแลบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

จากหนังสือ GB 102 สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ 
ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.