การบวช ทางแห่งความภูมิใจ



การบวชในปัจจุบันแตกต่างจากการบวชใน อดีตอย่างไรบ้าง

การบวชแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประเภท คือเริ่มต้นในระยะแรก ผู้บวชจะต้องบวชกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น  การบวชแบบนี้เรียกว่า  เอหิภิกขุอุปสัมปทา  คือใครขอบวชก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า  มีศรัทธาเกิดขึ้นในพระรัตนตรัย ต้องการจะอุปสมบท พระพุทธเจ้าก็จะเหยียดพระหัตถ์ ออกมาแล้วตรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด แค่นี้เอง  แต่ถ้าคนที่จะบวชเป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์ก็จะตรัสสั้น ว่า  “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” โดยไม่ต้องบอกว่ากระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ เพราะว่า ถึงที่สุดแห่งทุกข์เรียบร้อยแล้ว พอสิ้นพระดำรัส ชุดแต่งกายฆราวาสก็จะหายไป มีผ้าไตรจีวรลอยมาจากนภากาศมาคลุมตัวเลย มีบาตรคล้องเสร็จสรรพพร้อมทั้งอัฐบริขารที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งบุญ

ก่อนที่พระองค์จะประทานการบวช พระองค์จะระลึกชาติไปดูว่า บุคคลนี้ ภพในอดีตเคยทำบุญ ด้วยผ้าไตรจีวรหรือเปล่า ถ้าเคยจึงจะประทานการบวชให้ แล้วบาตรและจีวรก็จะเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ สวมได้พอดิบพอดี แม้บวชใหม่วันนั้นก็ดูสงบเสงี่ยม สง่างามเหมือนพระเถระที่บวชมาตั้งร้อยพรรษา

แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยให้ทานด้วยผ้าไตรจีวร ไม่เคยทอดผ้าป่า ไม่เคยทอดกฐิน พระองค์จะรับสั่งให้ ไปหาผ้าไตรจีวรมาก่อน แล้วถึงจะบวชให้ มีบางท่าน เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ไม่เคยทำบุญด้วยผ้าไตรจีวร เลย เมื่อพระองค์รับสั่งให้ไปหาผ้าไตรจีวร เสียชีวิตไปก่อนบวชก็ยังมี

ยุคต่อมา เริ่มมีพระภิกษุมากขึ้น พระองค์ก็รับสั่งให้พระภิกษุออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ เมื่อมีคนเกิดศรัทธาต้องการขอบวช ก็ต้องดั้นด้นตามหาพระพุทธเจ้าซึ่งไม่ได้ประทับอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง แต่ทรงจาริกไปเรื่อย ๆ ทำให้ไม่ค่อยสะดวก พระองค์เลยทรงอนุญาตการบวชประเภทที่ ๒ เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา เป็นการขอถึงไตรสรณคมน์  พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ  ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ  สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ กล่าว ๓ จบ ก็สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ คือพระภิกษุเพียงรูปเดียวก็สามารถอนุญาตให้กุลบุตรที่มีความศรัทธาบวชได้ นี้คือการบวชในยุคที่ ๒

ต่อมาคณะสงฆ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก พระองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการบวชแบบ ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา เพื่อให้เกิดความรัดกุมมากขึ้น และใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือใครต้องการบวชก็ต้องขออนุญาตจากคณะสงฆ์ ในยุคแรก ๆ ถ้าไปขออนุญาตจากพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็สามารถตัดสินได้ว่าใครเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะบวช  แต่ยุคต่อมามีพระภิกษุที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์มากขึ้น ถ้าท่านอนุญาตเพียงคนเดียวก็จะเกิดความเสี่ยงว่าวินิจฉัยถูกต้องหรือเปล่า พระองค์จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้หมู่สงฆ์ ถ้าใครจะบวชต้องไปบวชกับพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระที่บวชมาแล้วอย่างน้อย ๑๐ พรรษา และต้องบวชในท่ามกลางสงฆ์อย่างน้อย ๑๐ รูปขึ้นไป แล้วมติจะต้องเป็นเอกฉันท์ว่าควรให้บุคคลคนนี้บวช โดยมีพระคู่สวดเสนอญัตติในท่ามกลางสงฆ์ว่า บุคคลชื่อนี้มีความประสงค์จะขอบวช สงฆ์เห็นชอบไหม ตั้งญัตติขึ้นมาครั้งหนึ่งก่อน หลังจากนั้นก็สอบถามความเห็นอีก ๓ รอบ รวมแล้วเป็น ๔ ครั้ง เสนอญัตติ ๑ ครั้ง แล้วพิจารณาอีก ๓ วาระ ถ้าทั้ง ๓ วาระผ่านเป็นเอกฉันท์ บุคคลนั้นก็จะได้เป็นพระภิกษุ ถ้าระหว่างการบวชมีพระรูปใดรูปหนึ่งบอกว่าไม่เหมาะ การบวชก็ไม่สำเร็จ ปัจจุบันที่โหวตเสียงในสภา ๓ วาระ ยังล้าหลัง จริง ๆ แล้ว ในพระพุทธศาสนามีระบบนี้เกิดขึ้นก่อน น่าอัศจรรย์

ต่อมาในบางท้องที่หาพระมาประชุมกันทีเดียว ๑๐ รูป ได้ยาก พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติว่าในประเทศที่พระพุทธศาสนาปักหลักมั่นคงแล้วต้องมีพระ ๑๐ รูปขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะใช้ ๒๐ รูป เผื่อเหลือเผื่อขาด แต่ถ้าเป็นที่ที่มีพระน้อย เช่น ต่างประเทศ อย่างน้อยต้องมีพระ ๕ รูปขึ้นไป นี่คือการบวชแบบที่ ๓ ส่วนการบวชแบบที่ ๒ ที่ขอถึงไตรสรณคมน์ ในปัจจุบันใช้เป็นพิธีบรรพชาสามเณร

ถ้ามองในแง่ของการบริหาร จะเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้นำที่วางหลักการบริหารคณะสงฆ์อย่างยอดเยี่ยม มีการปรับองค์กรพุทธ คือ คณะสงฆ์เป็นระยะ ๆ ตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป ยุคแรกพระน้อย ทุกอย่างรวมศูนย์ที่พระองค์ ต่อมา คณะสงฆ์ใหญ่ขึ้น ก็ทรงกระจายอำนาจให้แต่ละท่าน มีอำนาจในการรับสมาชิกใหม่เข้าหมู่ แต่ต่อมา หมู่คณะเข้มแข็งขึ้นอีก เพื่อให้เกิดความรัดกุมและเป็นการวางมาตรฐานหลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว จึงไม่ให้ตัดสินใจโดยบุคคลคนเดียว แต่ให้อาศัยหมู่คณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติของคณะสงฆ์ในการรับสมาชิกใหม่เข้าหมู่ที่ยอดเยี่ยมมาก  ถ้าหากนักบริหารทั้งหลายอยากจะศึกษาวิธีบริหารองค์กร ให้มาศึกษาวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการบริหารจัดการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะจากพระวินัย จะพบวิธีการที่ยอดเยี่ยมมากมาย สามารถมาปรับใช้ในปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม นี้เป็นพระปัญญาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการหนึ่ง

ถ้ามีลูกชายบวช พ่อแม่จะเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ คำพูดนี้มีกำเนิดมาจากไหน เมื่อไร

การบวชเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เริ่มตั้งแต่ผู้บวชต้องเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่เป็นมนุษย์บวชไม่ได้ เพราะมนุษย์เท่านั้นที่มีกายตั้งตรง สัตว์ประเภทอื่นกายขวางทั้งนั้น แม้แต่ลิงที่ดูเหมือนบางครั้งจะผงกตัวตั้งตรงได้ แต่โดยธรรมชาติกระดูกสันหลังจะเฉียง ๆ พอเป็นอย่างนี้แล้วไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้บรรลุธรรมภายในได้ มีแต่กายที่ตั้งตรงจึงจะหาศูนย์กลางกายเจอ และสามารถปฏิบัติธรรมจนหมดกิเลสได้ ดังนั้นจะบวชได้ต้องได้กายมนุษย์ก่อน แม้เป็นสัตว์อื่นที่มีฤทธิ์แปลงกายเป็นมนุษย์ได้ก็ยังบวชไม่ได้ ดังเช่นพญานาคที่อยากจะบวชแปลงกายมาขอบวช ก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะบวช พระคู่สวดจะต้องถามในท่ามกลางประชุมสงฆ์ก่อนว่า เธอเป็นมนุษย์ใช่ไหม ผู้ขอบวชจะต้องตอบว่า อามะ ภันเต แปลว่า ใช่

นอกจากต้องเป็นมนุษย์แล้ว จะต้องเกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วย ไม่พบพระพุทธศาสนาบวชไม่ได้ ไม่มีอุปัชฌาย์บวชไม่ได้ พบพระพุทธศาสนาแล้วก็ต้องเกิดศรัทธา ญาติพี่น้องให้ความเห็นชอบ พ่อแม่ให้ความเห็นชอบ กว่าจะบวชได้ไม่ใช่ของง่าย

พอบวชแล้ว ท่านบอกว่าผู้บวชได้อานิสงส์ ๖๔ กัป โยมพ่อโยมแม่ได้ ๓๒ กัป ญาติพี่น้องรวมทั้ง ผู้สนับสนุนการบวชได้ ๑๖ กัป ถามว่ากัปหนึ่งนานแค่ไหน  สมมุติว่ามีศิลาหินแท่งทึบ สูง กว้าง ยาว ๑๖ กิโลเมตร ถึงเวลา ๑๐๐ ปี มีเทวดานำเอาผ้าแพร ที่บางเบาเหมือนควันไฟมาลูบทีหนึ่ง ลูบจนกระทั่งศิลาหินนั้นราบเท่ากับพื้น นั่นคือ ๑ กัป ลองคิดดูว่า หินแกรนิตแท่งทึบ สูง กว้าง ยาว ๑๖ กิโลเมตร ร้อยปีเอาผ้าทิพย์บางเหมือนควันไฟมาลูบทีหนึ่ง กว่าจะสึกลงเสมอแผ่นดิน ลำบากไหม อย่าว่าแต่ ๑๖ กิโลเลย พื้นหินแกรนิตที่บ้านเราแค่ไม่กี่เซนติเมตร แล้วไม่ต้องเอาผ้าทิพย์เหมือนควันไฟด้วย ลองเอาผ้าถูพื้นหยาบ ๆ นี่แหละไปถู แล้วก็ไม่ต้องรอถึง ๑๐๐ ปี ถูไปเรื่อย ๆ กว่าจะทำให้หินแกรนิต ๓-๔ เซนติเมตร สึกลงเสมอแผ่นดินยังหืดขึ้นคอ เพราะฉะนั้น ๑ กัป นี่นานมาก อานิสงส์การบวชให้ผลถึงขนาดนี้ ไม่ธรรมดาเลย

บางคนถามว่าพ่อแม่ได้อานิสงส์ที่ลูกชายบวช ๓๒ กัป คือไม่ตกนรกตลอด ๓๒ กัป เลยใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ ถ้าไปทำบาปทำกรรมยังมีสิทธิ์ตกนรก แต่ในระยะเวลา ๓๒ กัป บุญยังตามส่งผลต่อเนื่อง ถ้าหากพลั้งเผลอไปทำผิดศีล โอกาสตกนรกยังมีอยู่ แต่บุญจะตามไปส่งผลทำให้กลับตัวกลับใจได้เร็ว อยู่ ๆ เกิดฉุกคิดขึ้นมาว่าเลิกดีกว่า บุญจะไปเตือนใจให้ได้คิดขึ้นมา หรือเกิดไปตกระกำลำบาก เจออุปสรรคต่าง ๆ บุญก็จะมาอุ้ม อยู่ ๆ ก็มีคนมาช่วยให้ผ่านวิกฤตอันนั้นมาได้อย่างนี้เป็นต้น ตลอดช่วง ๓๒ กัป บุญยังตามส่งผลต่อเนื่อง เหมือนเรามีคนคอยปกป้องสนับสนุนนานตั้ง ๓๒ กัป คุ้มแสนคุ้ม เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่มาที่บอกว่า ถ้าลูกได้บวช พ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองไป เป็นการเปรียบเทียบ เพราะอานิสงส์ที่ได้จากการที่ลูกบวชมากขนาดนี้ พ่อแม่ถึงอยากจะให้ลูกบวชมาก

ทำไมโบราณจึงให้บวชก่อนเบียดหรือบวชก่อนแต่งงาน

การบวชเป็นการฝึกตัวเองที่ดีเยี่ยม ได้ปฏิบัติขัดเกลากิเลส คนโบราณจึงถือว่า ถ้าผู้ชายคนไหนจะไปขอลูกสาวเขามาแต่งงาน ถ้ายังไม่เคยบวช เขา ไม่ยกลูกให้ เพราะเขายังไม่ไว้ใจว่าจะมีธรรมะเป็นหลักของครอบครัวหรือเปล่า เพราะฉะนั้นต้องบวชก่อน ใครบวชเต็มพรรษาแล้วเขาเรียกว่าทิด ทิดแปลว่าคนสุก คือกิเลสในตัวสุกแล้ว แม้ยังไม่หมดกิเลส แต่ว่าทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ถูกการบำเพ็ญตบะจากการบวชและตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมแผดเผา จนกระทั่งกิเลสสุก พ้นจากความดิบ คือกิเลสที่หยาบ เริ่มละเอียดลง ถูกบ่มได้ที่ไปชั้นหนึ่งแล้ว เขาถึงเรียกว่าทิดหรือคนสุก จึงเป็นธรรมเนียมไทยแต่โบราณว่าให้บวชก่อนแต่งงาน เดี๋ยวนี้ธรรมเนียม เริ่มจะหย่อน ๆ ลงมา เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาครอบครัวเยอะ เพราะว่ายังไม่เคยผ่านการบวชเรียน ดังนั้นให้พวกเรามาช่วยกันฟื้นธรรมเนียมนี้กลับมา ชายไทยเกิดมาชาติหนึ่งก็บวชเสียเถิด ถ้าเกรงว่าทำงานแล้วจะหาเวลาบวชยาก ขณะกำลังเรียนหนังสืออยู่พอปิดเทอมก็บวชเลย มีจังหวะเมื่อไรรีบบวชเลย ถ้าอยู่ชั้นมัธยมจะบวชเณรก่อนก็ได้ พอครบ บวชพระ บวชอีกรอบก็ยิ่งดี ถึงคราวเกิดมีงานการติดพันขึ้นมา อย่างน้อยเราก็ยังมีช่วงที่เคยบวชอยู่ในผ้าเหลือง

อายุเท่าไร วัยไหน เหมาะสมที่จะบวชมากที่สุด

การบวชมี ๒ แบบ คือบวชเณรและบวชพระ ถ้าบวชพระ พระวินัยกำหนดว่าจะต้องอายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์ขึ้นไป คำว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ เขานับจากวันปฏิสนธิวิญญาณ พระพุทธศาสนาเราทันสมัยมาก พระวินัยระบุชัดเจนว่า วันที่อสุจิของพ่อผสมกับไข่ของแม่ มีปฏิสนธิวิญญาณถือกำเนิดขึ้น เริ่มนับอายุ ตอนนั้น โดยหลักการแพทย์ปัจจุบัน ปกติคนเราอยู่ ในท้องประมาณ ๙ เดือน เพราะฉะนั้นเอาอายุในท้องมารวมอีกหน่อย อายุ ๑๙ ปี ๖ เดือน ก็มาบวชพระได้เลย

ส่วนการบรรพชาเป็นสามเณร อย่างสามเณรราหุล คือ ๗ ขวบ จึงถือตามหลักนี้ว่า อย่างน้อย ๗ ขวบขึ้นไป แต่จริง ๆ แล้วจากประสบการณ์ในการอบรมพบว่า ๗ ขวบ ยังค่อนข้างจะเด็กไปนิดหนึ่ง สามเณรราหุลบวชได้ เพราะว่าท่านสร้างบุญมาเยอะ ๗ ขวบ ก็เพียงพอที่จะเป็นสามเณรเป็นอรหันต์ได้ แต่ปัจจุบันจบ ป.๖ ไปแล้ว อายุประมาณ ๑๒ ปี มาบวชเป็นสามเณรได้ดีเลย

จุดมุ่งหมายของการบวชคืออะไร

เป้าหมายของการบวชตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชัดเจนตรงกัน คือมุ่งพระนิพพาน เวลาขอบวชผู้บวช จะเปล่งวาจาถึง ๖ รอบว่า สัพพะทุกขะนิสสรณะ นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ แปลว่า ข้าพเจ้าขอออก บวชเพื่อสลัดกองทุกข์และทำพระนิพพานให้แจ้ง ต้องเปล่งวาจาอย่างนี้ในท่ามกลางสงฆ์ถึง ๖ รอบ แม้จะบวชช่วงสั้นหรือช่วงยาวก็ตาม มีเป้าในการบวชตรงกัน คือมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ในระหว่างที่เรายังไม่สามารถทำให้หมดกิเลสได้ ก็ให้ใกล้ต่อหนทางพระนิพพาน ถ้าจะเปรียบเหมือนว่าต้องเดินถึงพระนิพพาน ๑๐๐ ก้าว บวชงวดนี้แม้จะไม่ถึง เดินได้สัก ๓ ก้าว เหลืออีก ๙๗ ก้าว ก็ยังดี ดังนั้นบวชแล้วต้องตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ประพฤติ ปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสอย่างเต็มที่ จึงจะถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการบวช  ส่วนอานิสงส์อย่างอื่น เช่น ทำให้ได้ศึกษาธรรมะ ลาสิกขาออกไปจะได้มีหลักในการดำเนินชีวิต เป็นหลักของครอบครัวได้ ทำให้ได้ฝึกใจให้สงบ บวชแทนคุณพ่อแม่ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผลพลอยได้

การบวชธรรมทายาทภาคฤดูร้อนมีข้อมูลอย่างไรบ้าง

ช่วงซัมเมอร์มีการจัดบวชหลายกลุ่มทีเดียว ตั้งแต่ผู้ที่อยู่มัธยมต้น คือจบ ป.๖ เป็นต้นไป ก็เป็น กลุ่มของยุวธรรมทายาท บวชเป็นสามเณร ส่วนมัธยมปลาย ก็ถือว่าเป็นกลุ่มมัชฌิมธรรมทายาท ส่วนผู้ที่เรียนอยู่ในชั้นอุดมศึกษา ก็จะเข้ากลุ่มธรรมทายาทอุดมศึกษา ใครครบบวชก็บวชเป็นพระ ยังไม่ครบก็บวชเป็นสามเณร แต่ก็อยู่กลุ่มเดียวกัน เพราะพื้นภาวะความรู้ใกล้เคียงกัน ก็อบรมไปด้วยกัน  ส่วนผู้ใหญ่ที่ทำงานทำการแล้วก็มาอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง มีการอบรมหลากหลายกลุ่มครอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ขึ้นไป

ถามว่าบวชแล้วจะได้อะไร คำตอบคือว่าได้ฝึกตัวเองอย่างจริงจัง เพราะที่วัดแม้จะอบรมช่วงสั้น แต่ก็ฝึกอบรมบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ ถ้าใครคิดว่าบวชแล้วจะมาพักผ่อนสบาย ๆ ไม่ต้องมาที่นี่ แต่ถ้าบวชแล้วตั้งใจใช้เวลาให้คุ้มค่า มาฝึกฝน เรียนรู้ ให้รู้จักชีวิตของนักบวชจริง ๆ มาศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาจริง ๆ ทั้งปริยัติ ทั้งการปฏิบัติธรรม ให้มาเลย แล้วจะได้ทั้งธรรมปฏิบัติ ทั้งคำสอนในพระพุทธศาสนากลับไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างดีเยี่ยม ตัวเองก็ได้บุญเต็มที่ โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้องทุกคน ก็จะได้บุญเต็มที่เช่นเดียวกัน

Cr. พระปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
การบวช ทางแห่งความภูมิใจ การบวช  ทางแห่งความภูมิใจ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.