การสร้างศาสนทายาท


พระพุทธศาสนาผ่านวิกฤตมาพอสมควร แต่ก็ยังมั่นคงและยืนยาวมาจนทุกวันนี้ เป็นเพราะอะไร

จุดแข็งที่สุดของพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย  ประการแรก  พระบรมศาสดาของเราทรงมีความเป็นเลิศในทุกด้าน ทั้งฐานะ ตระกูล ครอบครัว การศึกษา ทุกอย่างดีเลิศครบถ้วน พระชายาคือพระนางพิมพาก็เป็นหญิงเบญจกัลยาณี  แต่พระองค์ ก็เสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม เพราะต้องการแสวงหาสิ่งที่สูงส่งกว่าทางด้านจิตใจ เมื่อตรัสรู้แล้วก็เผยแผ่ธรรมะด้วยความสงบ พระองค์จึงทรงเป็นแบบอย่างของศาสดาที่สมบูรณ์พร้อม

ประการที่ ๒  พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นสัจธรรมความจริงที่พิสูจน์ได้ ใครปฏิบัติตามอย่างจริงจัง  สุดท้ายก็จะเข้าถึงความจริงนั้นได้ คือสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีผู้พิสูจน์ได้เป็นแสนเป็นล้านคนตลอดต่อเนื่องมากว่า ๒,๐๐๐ ปี ว่าบุญบาปมีจริง กฎแห่งกรรมมีจริง นรกสวรรค์มีจริง ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง ทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมแล้วไปรู้ไปเห็นได้ด้วยตัวเอง นี่คือจุดแข็ง เพราะเป็นสัจธรรม

ประการที่ ๓  คือ พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้สืบทอดมรดกธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำคำสอน ของพระองค์ไปเผยแผ่แก่ประชาชน ซึ่งมีการปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานตลอด ๒,๐๐๐ กว่าปี

ทั้งหมดนี้คือจุดแข็งในพระพุทธศาสนา แม้บางครั้งอาจจะมีขึ้นมีลงบ้าง แต่โดยรวมพระพุทธศาสนาก็ยังคงดำรงอยู่ได้เพราะพระรัตนตรัยซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีวิธีส่งเสริมพัฒนา คุณธรรมและยกระดับพุทธบริษัทสี่อย่างไรบ้าง

โดยย่อถ้าเป็นพระภิกษุ สามเณร หลักปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจทำสมาธิให้เกิดปัญญา จนกระทั่งเป็นความรู้แจ้ง  ส่วนปัญญา ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน การฟัง การตรึกตรอง ขบคิด เป็นแค่พื้นฐานเบื้องต้น สุดยอดปัญญาจริง ๆ คือ  ภาวนามยปัญญา

ส่วนของญาติโยมนั้น หลักปฏิบัติในการดำเนิน ชีวิต คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้ตั้งใจทำทาน มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน และอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ และรักษาศีล ทำสมาธิภาวนา ทั้งทาน ศีล ภาวนา คือวิถีชีวิตของชาวพุทธ

หากทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ สุดท้ายจะประกอบกันขึ้นมาเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

การบวชอุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนาจำเป็นหรือไม่

ในครั้งพุทธกาลส่วนใหญ่ผู้บวชมักจะบวชอุทิศชีวิต เพราะบวชมุ่งนิพพาน ซึ่งเป็นการสละชีวิตไป โดยปริยาย แต่ถ้าบวชแล้วไปไม่รอด จะสึกกลางคันก็ไม่ว่า สึกแล้วเปลี่ยนใจมาบวชใหม่ก็ไม่ว่าอีกเหมือน กัน 

ส่วนในประเทศไทยเรามีประเพณีที่ดีมากคือการบวชช่วงสั้น  สมัยโบราณก็บวชในช่วงเข้าพรรษา ปัจจุบันอาจจะบวชช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

ประเพณีบวชช่วงสั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการค้ำยันความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ระหว่างบวชก็เรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ส่วนญาติพี่น้องก็มาทำบุญ ทำให้ได้อยู่ใกล้ชิดพระศาสนา ต่างจากบ้านเมืองอื่นซึ่งไม่มีประเพณีบวชแบบนี้  แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเพณีเริ่มหย่อนลง แต่ก่อนบวชพรรษาหนึ่ง เดี๋ยวนี้บอกว่างานยุ่งเอาแค่ ๑๕ วัน ๗ วัน แล้วเวลาบวชก็ไม่พร้อมกัน มาบวชทีละรูป ๒ รูป พระอาจารย์ที่จะอบรมก็ไม่ค่อยสะดวก เพราะไม่ได้มาเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เลยไม่ค่อยมีใครสอน ทำให้ผู้บวชเกิดความเข้าใจผิดว่าบวชพระไม่เห็นมีอะไร

เพราะฉะนั้นการอบรมธรรมทายาทถือว่าเป็นการอุดช่องโหว่ที่ย้อนคืนกลับสู่ระหว่างครั้งพุทธกาล กับธรรมเนียมประเพณีไทยอย่างพอดิบพอดี  เพราะมาบวชพร้อมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้อบรมได้อย่างเต็มที่ ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทั้งวันทั้งคืนอยู่กับการประพฤติปฏิบัติธรรม มีการสอนอย่างเป็นระบบระเบียบ แล้วเปิดกว้างว่าอบรมเสร็จผู้ที่ลาสิกขาจะกลับไปเรียนหนังสือ ไปทำการทำงาน ก็กลับไป แต่ได้หลักในการดำเนินชีวิตว่าต้องทำอย่างไรบ้างให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น สังคมก็จะได้คนดีกลับไป ถ้าใครมีศรัทธามีความพร้อมก็บวชต่อ  ผ่านไป ๒ พรรษา ๓ พรรษา ก็ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงของรุ่นใหม่ พอพรรษามากขึ้นก็เป็นพระอาจารย์อบรมพระใหม่ เทศน์สอนประชาชน เรียกว่าทำตามความสมัครใจ ใครพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นครูบาอาจารย์เผยแผ่ธรรมะไปสู่ชาวโลก ก็บวชต่อ คนไหนบวชช่วงสั้น ก็กลับไปเป็นคนดีของสังคม นี่คือธรรมทายาท

คำว่า  "ธรรมทายาท"  มีความเป็นมาอย่างไร

การอบรมธรรมทายาทของวัดพระธรรมกาย เริ่มขึ้นครั้งแรกในภาคฤดูร้อน ปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ พอเริ่มต้นสร้างวัด ขุดคูน้ำเสร็จ ต้นไม้เพิ่งขึ้นนิดหน่อย เริ่มอบรมธรรมทายาทแล้ว เพราะเป้าหมายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อในการสร้างวัดก็คือ จะต้องสร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ เพื่ออบรมประชาชนให้เป็นคนดี ดังนั้น พอมีที่มีทางแค่พอใช้งานได้ก็เริ่มอบรมเลย เพื่อสร้างทายาทผู้สืบทอดมรดกธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มาเรียนรู้ ทั้งปริยัติและปฏิบัติว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร ปีแรกมีนิสิตนักศึกษาอบรมประมาณ ๔๐-๕๐ คน ต่อมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อบรมธรรมทายาทเสร็จแล้วสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า เราคือชาวพุทธ รู้แล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และมีหลักในการดำเนินชีวิต รู้ว่าต้องทำอย่างไรชีวิตถึงจะประสบความสุขและความสำเร็จ


การที่เรามีการอบรมธรรมทายาทและมีสถานที่รองรับ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บวช และสังคมภายนอกอย่างไรบ้าง

เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าใครจับงานนี้แล้วสังเกตดู จะพบความจริงที่แฝงอยู่ คือบางคนรู้สึกว่าศีลธรรมในสังคมไทยเสื่อม เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสนใจธรรมะ ไม่ค่อยเคารพผู้ใหญ่ ความกตัญญูลดลง แต่พอไปสัมผัสแล้วจะพบว่า จริง ๆ แล้วคนทุกคนอยากเป็นคนดี แต่ไม่มีคนสอน ผู้ที่มีความรู้ความสามารถไปแนะนำเขาได้จริง ๆ มีไม่พอ ให้เราลองนึกดูว่า ในประเทศไทยมีพระภิกษุกี่รูปที่สามารถสอนให้ประชาชนทุกระดับชั้นรับได้ เข้าใจได้ และมีหลักไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ พระมีน้อย ปัญหาจึงเป็นอย่างที่เห็น

จากประสบการณ์ที่เคยไปอบรมประชาชนมา พบว่าทุกระดับตั้งใจมาก ใหม่ ๆ ก็ไม่ตั้งใจจะมาฟัง แต่พอได้ฟังคำสอนจริง ๆ ได้ปฏิบัติจริง ๆ ก็ซาบซึ้งและประทับใจว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนอย่างนี้หรือ รู้สึกภูมิใจที่เป็นชาวพุทธ อยากจะศึกษาคำสอนให้มากขึ้นไปอีก บางทีชวนมานั่งสมาธิ ๓ วัน ให้รักษาศีล นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ปรากฏว่าชอบมาก บอกว่าต้องไปชวนเพื่อน ๆ มาอีก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เป็นอย่างนี้ทุกกลุ่มเลย

ดังนั้น ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่คนไม่สนใจธรรมะ แต่อยู่ที่ว่ายังไม่มีผู้สอนธรรมะเพียงพอต่างหาก เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมธรรมทายาทมาก ๆ อบรมเสร็จผู้ที่ต้องการลาสิกขา ก็กลับไปปฏิบัติภารกิจการงานของตัวเอง และพร้อมจะเป็นคนดีของสังคม  ส่วนที่อยู่ต่อก็เป็นพระภิกษุที่ผ่านการอบรมอย่างดี มีความรู้ความสามารถออกไปประกาศพระพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะให้แก่ญาติโยมได้  ถ้าอย่างนี้ละก็ศีลธรรมจะกลับมาสู่สังคมไทย และจะล้นออกไปสู่สังคมโลกได้ด้วย  นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงต้องบวชธรรมทายาทเยอะ ๆ จึงต้องสร้างศูนย์ฝึกอบรมธรรมทายาทให้อบรมได้ครั้งหนึ่งเป็นพันรูป เพราะมีความจำเป็นอย่างนี้

ผู้สร้างสถานที่รองรับผู้มาอบรมธรรมทายาทได้บุญอย่างไรบ้าง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเปรียบว่า “ ผู้ให้ประทีปชื่อว่าให้ดวงตา ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ผู้ให้ อาหารให้ข้าวชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”  การที่ผู้ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะที่อยู่อาศัยเป็นตัวรองรับอย่างอื่น มีสถานที่แล้วจึงจะสามารถพัฒนาสิ่งอื่น ๆ ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุที่ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม และยิ่งมีพระเป็นพัน ๆ รูป คิดดูว่าบุญขนาดไหน ขนาดเราไปอุปัฏฐากบำรุงพระที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพียงรูปเดียว บุญก็ยังมากเลย และสถานที่ปฏิบัติธรรมนี้สร้างเสร็จแล้วก็ไม่ได้ใช้แค่ปีเดียว แต่ทำให้แข็งแรงทนทานอยู่ได้เป็นพันปี ปีหนึ่งอบรม ๑,๐๐๐ รูป พันปีก็ ๑,๐๐๐,๐๐๐ รูป อบรมแล้วส่วนหนึ่งมีศรัทธาอยู่ต่อ แล้วไปประกาศพระพุทธศาสนาทั่วโลก บุญเราจะขนาดไหน พระภิกษุเหล่านี้ทำความดีเท่าไร เรามีส่วนแห่งบุญของท่านทั้งหมดเลย แม้ละโลกนี้ไปแล้วบุญยังตามส่งต่อเนื่อง เพราะสถานที่ที่เราสร้างยังอยู่ ยังมีพระภิกษุ มาฝึกตัว มาประพฤติปฏิบัติธรรมและออกประกาศพระศาสนาให้รุ่งเรืองทั่วโลกเป็นพัน ๆ ปี บุญส่งถึงเราตลอดเวลา

สรุปโดยย่อ อานิสงส์ผลบุญนี้ ประการแรก คือ เกิดภพใดชาติใดก็ตาม เราจะมีที่อยู่อาศัยที่เป็นปฏิรูปเทส เหมาะแก่การทำความดีตลอดไปทุกภพทุกชาติ อยู่บนสวรรค์วิมานก็สวย ร่มรื่น งดงาม เป็นที่ชื่นชมยินดีของมวลหมู่เทพยดาทั้งปวง กลับมาเกิดบนโลกมนุษย์ ก็ได้เกิดในที่ที่ดี รุ่งเรืองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ในตระกูลที่มีศักดิ์สูง เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนทั้งหลาย พร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติทั้งปวง

ประการที่ ๒ เกิดภพใดชาติใดก็ตาม เราจะมีญาติพี่น้อง บริวาร เพื่อนฝูงเป็นคนดีทั้งหมด เพราะ เราสร้างสถานที่สำหรับสร้างคนให้เป็นคนดี จะทำอะไรมีแต่คนสนับสนุนให้ทำความดี มีลูก มีสามีภรรยา พวกพ้องบริวาร ก็จะมีแต่คนดี ๆ มีแต่ข่าวดี มีแต่เรื่องชื่นใจมาให้ ทำงานก็จะมีแต่ลูกน้องเก่งและดี ด้วยอานิสงส์ที่เราได้สร้างศูนย์ฝึกอบรมธรรมทายาท สถานที่สร้างพระภิกษุผู้เป็นอายุพระพุทธศาสนา

การบวชธรรมทายาทมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง

มีอานิสงส์มหาศาล คือ เราจะได้เรียนรู้หลักพระพุทธศาสนาจริง ๆ ต้องบอกว่าที่อาตมามานั่งอยู่ตรงนี้ได้ ก็เริ่มมาจากธรรมทายาทนั่นเอง ก่อนจะเข้าอบรมธรรมทายาทไม่เคยเข้าวัดพระธรรมกายมาก่อน วันแรกที่เข้าวัดพระธรรมกายคือวันอบรมธรรมทายาท มาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิจริงจัง ฟังหลวงพ่อท่านเทศน์สอนแล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนที่เลิศและเยี่ยมอย่างนี้ ได้มาปฏิบัติรู้สึกซาบซึ้งมาก และได้เอาไปใช้ในการเรียนอย่างเต็มที่ เพราะตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ ผลการเรียนพุ่งขึ้นเป็นอัศจรรย์ เกิดปัญหาอะไรขึ้นเราจะไม่สับสน เราจะทบทวนว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร เราควรจะแก้อย่างไร ค่อย ๆ มองปัญหาออก แล้วแก้ทีละเปลาะ ๆ พูดง่าย ๆ ว่าดำเนินชีวิตอย่างมีหลัก ไม่สับสน ใครอบรมธรรมทายาทแล้วจะมีหลักอันนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นก็แก้ได้ ต้องการประสบความสำเร็จในการเรียนในการงาน ก็รู้หลักว่าจะต้องทำอย่างไร จะต้องปกครองผู้คนทั้งหลายก็รู้ว่าต้องทำอย่างไร ทุกอย่างเรามีหลัก เพราะฉะนั้นเราจะดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ และจะนำไปสู่ความสุขความสำเร็จในชีวิต

บางคนบอกว่าการบวชเป็นการเสียเวลา จะมีวิธีแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้อย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่าให้ลองมาอบรมธรรมทายาทดู แล้วจะพบคำตอบว่า พระใช้เวลาอย่างคุ้มค่าทุกหยาดหยด ยิ่งกว่าสมัยที่เป็นโยมเสียอีก ที่เขาเข้าใจอย่างนี้ เพราะว่าบางท่านไปบวชแล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร เพราะบวชช่วงสั้น ๆ ๗ วัน ๑๕ วัน และไม่มีการอบรมอะไร ก็เลยเข้าใจว่าการบวชไม่มี อะไร เสร็จแล้วก็ไปพูดต่อ คนฟังเลยคิดว่าไม่มีอะไร เกิดความเข้าใจผิด แต่ความจริงแล้วชีวิตของพระ แค่ท่านปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมณธรรม ก็เป็นเนื้อนาบุญให้เราแล้ว เราไปทำบุญกับท่าน เราก็ได้บุญมาก เพราะท่านตั้งใจทำความดี ยิ่งท่านสอนอบรมชาวบ้าน ประโยชน์ยิ่งเกิดขึ้นอีกมหาศาล ใครที่อยากจะรู้ว่าชีวิตพระเป็นอย่างไร ใช้เวลาคุ้มหรือไม่คุ้ม มาอบรมธรรมทายาทเถิด แล้วจะพบความจริงว่า ทำไมชีวิตของพระถึงประเสริฐอย่างนี้ ทำไมถึงมีคุณค่าอย่างนี้ เวลาทุกวันทุกคืนที่ผ่านไปได้ใช้อย่างเป็นประโยชน์จริง ๆ ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ทุกวัน ทุกคืน ทุกชั่วโมง ทุกนาทีที่ผ่านไป บวชแล้วจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะเวลาทั้งหมดได้ใช้ไปในสิ่งที่เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นไปเพื่อการพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นและดีขึ้นทั้งสิ้น

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
การสร้างศาสนทายาท การสร้างศาสนทายาท Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:10 Rating: 5

2 ความคิดเห็น:

  1. กราบอนุโมทนา
    สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

    ตอบลบ
  2. กราบอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญทุกท่าน
    ที่มีส่วนในมหากุศลนี้ด้วยครับ สาธุครับ

    ตอบลบ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.