ชีวิตจริง..บนสังคมออนไลน์




อยากทราบความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสังคมออนไลน์

ทิศทางแนวโน้มของสื่อออนไลน์เหล่านี้จะมาใกล้ตัวเรามากขึ้นแน่นอน ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๓ ยอดขายสมาร์ทโฟนแซงยอดขายคอมพิวเตอร์ทั้งแบบ ตั้งโต๊ะและแบบโน้ตบุ๊ค คือขายได้ประมาณร้อยล้าน เครื่อง เริ่มแซงคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนนั้น ตอนหลัง ยิ่งทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ การที่สมาร์ทโฟน คือโทรศัพท์ที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ เข้าสู่ social network ได้ มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าอิสรภาพแห่งชีวิตเราเริ่มเหลือน้อยลง คือเราถูกตามตัวได้ทุกที่ แล้วเราเองก็สามารถโทรหาคนอื่นได้ทุกที่เหมือนกัน ขนาดเป็นโทรศัพท์ในยุคที่ใช้เสียงเป็นหลักยังเกิดสภาวะที่เราถูกผูกมัดตนเอง วงจรชีวิตเรายังต้องเปลี่ยนเลย แต่เมื่อมีโทรศัพท์ที่สามารถเข้าเครือข่ายออนไลน์ได้ เข้าอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบายคล่องแคล่วในยุค 3G ดูรูปได้ ดูตัวหนังสือได้ เล่นเกมได้ จากเดิมถ้าจะทำพวกนี้ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก เวลาใช้อินเทอร์เน็ตก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ถึงจะสะดวก

แต่พอเกิดเทรนด์สมาร์ทโฟนซึ่งเข้าอินเทอร์เน็ตได้คล่องแคล่ว ขนาดก็เล็ก ๆ เบา ๆ เหมือนโทรศัพท์ ทั่วไป ยอดขายเลยมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ แบบนี้จะเกิดสภาวะเหมือนยุคที่เปลี่ยนจากโทรศัพท์บ้านมาเป็นโทรศัพท์มือถือ เพียงแต่คราวนี้ไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยเสียงอย่างเดียวแล้ว แต่เราจะถูกผูกมัดด้วยสังคมออนไลน์ ด้วยเครือข่ายออนไลน์รอบตัวเรา มัดแน่นเลย เมื่อก่อนเราเอาคอมพิวเตอร์ติดตัวไปไม่สะดวก เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตก็ต้องเข้าออฟฟิศหรือกลับบ้านก่อน แต่ตอนนี้อยู่ที่ไหนก็เข้าได้

เราสังเกตหรือไม่ว่า เราถูกเขาโอบกระชับเข้ามาอีกขั้นหนึ่งแล้วโดยไม่รู้ตัว แล้วยังมีอีกกระแสหนึ่ง ขึ้นมาอีก คือกระแสเรื่องแท็บเล็ต

ถามว่าแท็บเล็ตคืออะไร แท็บเล็ตก็คล้าย ๆ กับสมาร์ทโฟนบวกโน้ตบุ๊คแล้วหารสอง ออกมาก็กลายเป็นแท็บเล็ต คือเป็นสมาร์ทโฟนที่หน้าจอใหญ่หน่อย อ่านอีเมล หรือดูอะไร ๆ ได้สะดวกพอสมควร น้ำหนักเบาด้วย คล้าย ๆ หนังสือเล่มหนึ่ง พกติดตัวไปไหนก็ได้ ไม่เทอะทะเกะกะเหมือนโน้ตบุ๊ค ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แล้วพอแข่งขันกันอย่างนี้  รู้เลยว่าอีกสักพักหนึ่งราคาจะต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น อีกไม่นานยอดขายแท็บเล็ตจะมากกว่าคอมพิวเตอร์ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนี้ชีวิตของเราจะถูกกระชับด้วยเครือข่ายออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ มันจะติดตามเราไปทุกที่ แล้วพอมันสะดวกอย่างนี้ จะทำให้เราอยากใช้ ว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไร เข้าออนไลน์ดีกว่า ซึ่งจะทำให้เราคุ้นกับมัน แล้วหลงไปอยู่ในสังคมออนไลน์มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว นิสัยคนจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป นี่คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นจากยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมทั้งในประเทศไทยและในโลกของเราในอนาคต

การพูดคุยในชุมชนออนไลน์ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกัน สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

ที่จริงคนเราเหงา อยากมีเพื่อน แต่พออยู่กับคอมพิวเตอร์มาก ๆ จะรู้สึกว่าหนึ่งบวกหนึ่งจะต้อง เป็นสอง สองบวกสองต้องเป็นสี่ ในชีวิตจริงกับคนจริง ๆ ไม่เป็นอย่างนั้น เวลาเราพูดกับคนนี้อย่างนี้ ปฏิกิริยาจะเป็นแบบหนึ่ง พูดกับอีกคนหนึ่งที่นิสัยไม่เหมือนกัน ปฏิกิริยาจะเป็นอีกแบบหนึ่งใช่ไหม หนึ่งบวกหนึ่งไม่ได้เท่ากับสองเสมอไป คนที่คุ้นกับเทคโนโลยีมากเกินไปจนกระทั่งห่างจากโลกแห่งความเป็นจริง จะมีความรู้สึกว่าไม่คุ้น จึงกลับเข้าไปอยู่ในโลกที่ตนเองคุ้นเคยดีกว่า ออนไลน์ดีกว่า แล้วก็หลุดไปในนั้นเลย

คือคนเราเริ่มเหงาและเกิดความแปลกแยกจากสังคมรอบตัว แต่ธรรมชาติมนุษย์ต้องการเพื่อน ก็เลยไปหาเพื่อนในออนไลน์ก็แล้วกัน ไม่ต้องรับผิดชอบ ตัวเองเสนออะไรออกไป ใครชอบใครไม่ชอบไม่ต้อง สนใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร นอกจากเราอยากจะให้เขารู้ ในสังคมจริงทะเลาะกับญาติกับเพื่อน เดี๋ยวก็มีเรื่องกัน แต่ในออนไลน์ไม่ชอบกันก็ต่างคนต่างไป มันเป็นสื่อสะท้อนสิ่งนี้

สังคมมนุษย์จะเปลี่ยนไปจากเดิมอีกเยอะไหม ในอนาคตอันใกล้

เยอะแน่นอน ถามว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วขนาดนี้ เราต้องทำอย่างไรบ้าง อาตมาอยากให้พวกเราจับหลักตัวหนึ่ง คืออย่ามาเสียเวลาดูว่าจะทำอย่างไรกับเทคโนโลยีตัวนี้ เพราะเดี๋ยวก็มีตัวใหม่ขึ้นมา มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และบางทีผู้ใหญ่ก็ตามไม่ทัน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ให้ถือหลักอย่างเดียวที่ใช้ได้ตลอด คือเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีทุกอย่างในฐานะที่เราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี อย่าเป็นทาสเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือของเรา ถ้าอย่างนี้จะเป็นเทคโนโลยีอะไรก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไรเราเป็นทาสเทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัว เราจะถูกเทคโนโลยีรุมรัดตัวของเรา ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเท่าไร อิสระแห่งชีวิตจะเหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะเราเป็นเหมือนทาสที่เจ้านายปล่อยให้มีช่วงเวลาว่างน้อยมาก แต่ก่อนตรวจงานวันละสองหนหน้าจอ ก็ถือว่าเราถูกเจ้านายคุมแค่ตอนนั้น แต่พอเทคโนโลยีก้าวหน้า กลายเป็นว่า เจ้านายคุมเราไปทุกที่เลย ว่างไม่ได้ ว่างปั๊บต้องเข้า เดี๋ยวต้อง BB เดี๋ยวต้อง chat เดี๋ยวต้องดูนั่นดูนี่ คือเจ้านายจะคอยควบคุมจนเราเป็นทาส กระดิกตัวไม่ได้ เมื่อนั้นเราจะแย่

การได้ออนไลน์ทำให้มีความสุข อย่างนี้จะสังเกตได้อย่างไรว่าเราเป็นทาสไปแล้ว

การรู้สึกว่ามีความสุขคือความเพลิน เหมือนกับคนสูบบุหรี่ กินเหล้า เขาก็ว่าเขามีความสุข หรือ เด็กที่ติดเกมออนไลน์ เขาก็มีความสุข เขาอยู่กับเกม จนกระทั่งไม่หลับไม่นอน การเรียนเสีย เขาก็บอกว่าเขามีความสุข เราคิดว่าควรจะสนับสนุนไหม นี่คือ การเป็นทาส ทาสบุหรี่ ทาสเหล้า ทาสเกมออนไลน์ ทาสของเทคโนโลยี เป็นทาสด้วยความเต็มใจ เหมือน คนติดยาบ้า เขาก็ว่าเขามีความสุข คือเป็นทาสด้วย ความเต็มใจ

แล้วจะแยกอย่างไรว่า เราเป็นนายเทคโนโลยีหรือเป็นทาส ก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันอย่างไร ถ้าใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ อย่างนี้แสดงว่าใช้อย่างเป็นนาย แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเพราะความคุ้นเคย เพราะความเหงา เพราะไม่รู้จะทำอะไร ไม่ทำแล้วอึดอัด เราก็กลายเป็นทาสเทคโนโลยีไปแล้ว

มีคนกล่าวไว้ว่า อีกหน่อยคนไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นของต่างประเทศในแง่เทคโนโลยี

ถ้าเราใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ เทคโนโลยีจะก้าวหน้าอย่างไร ใช้ไปเถิด เราจะไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี เพราะเราเอามาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ในการศึกษาเล่าเรียน ถ้าอย่างนี้ไม่ต้องปฏิเสธ เทคโนโลยี เพราะถ้าปฏิเสธเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ลำบาก ถ้าเราไม่เอาเลย เราก็ตามโลกไม่ทัน ศักยภาพในการ ทำงานของเราก็สู้เขาไม่ได้ แต่เราต้องใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด คือใช้อย่างเป็นนาย คอนเซ็ปต์อยู่ตรงนี้ ค่อย ๆ สังเกต แล้วค่อย ๆ ตรึกตรองให้ดี พอเข้าใจแล้ว เราจะพบว่า คอนเซ็ปต์นี้ใช้ได้กับเทคโนโลยีทุกอย่าง

ในยุคนี้ คนมองว่าต้องรู้ภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีถึงจะเรียกว่ามีความสามารถ สาขาอื่น ๆ ไม่มีความหมายเท่ากับ ๒ สาขานี้หรือ

ที่จริงแล้วสำคัญทุกสาขา แต่ว่าเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ทักษะ ๒ ด้านนี้ มีความเด่นขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายถึงว่า ความรู้สาขาอื่นไม่สำคัญเลย ที่เราควรจะรู้ภาษาอังกฤษเพราะช่วยให้หาข้อมูลสะดวก เข้าถึงแหล่งข้อมูลจำนวนมากได้ และสามารถนำเสนอความคิดเห็นของเราให้คนอื่นได้ง่ายด้วย ซึ่งเป็นความได้เปรียบ หรือการมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีก็เป็นความได้เปรียบ ก็แค่นั้นเอง

หลักการที่ดีก็คือ รู้เขารู้เรา เทคโนโลยีเปลี่ยน แปลงก็รู้เท่าทันและใช้อย่างเป็นนาย ไม่ใช่ปฏิเสธ ปิดล้อม กั้นตัวเอง ปลีกตัวจากเทคโนโลยี เราไม่ต้องขังตัวเองไว้อย่างนั้น ควรรับรู้สภาพความเป็นไปทั้งหมด แล้วกำหนดจุดยืนว่า เมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง จะใช้ประโยชน์จาก สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าอย่างนี้ก็คือ รู้เขารู้เรา ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเป็นนาย ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยี ถ้าเป็นแค่แฟชั่นจะได้คุยอวดกันว่า เราทันสมัย อย่างนี้แสดงว่าเป็นทาสเทคโนโลยี แต่ถ้าใช้อย่างมีเป้าหมาย นั่นคือเราเป็นนายเทคโนโลยี

มีพ่อแม่บางคนถามว่า ลูกขอให้ซื้อสมาร์ทโฟนให้ ซื้อแท็บเล็ตให้ ควรจะซื้อให้หรือเปล่า ถ้าไม่ซื้อลูกก็บอกไม่ทันเพื่อน ใคร ๆ เขาก็มีกัน อย่างนี้ให้ถามลูกก่อนว่าใช้เพื่ออะไร ถ้าเอาไปใช้เพื่อเป็นแฟชั่น ให้เหมือนคนอื่นเขา จะได้ไม่อายเขา อันนั้นไม่ใช่ แต่ถ้าซื้อไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา ต่อการทำงาน อย่างนี้ได้ ถ้ากำลังเราไหวก็สนับสนุนเขา และต้องสอนลูกให้เข้าใจตรงนี้ ถ้าลูกเราจับประเด็นตรงนี้ ได้ เขาจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะถ้าเขาจับหลักนี้ได้ มันจะไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเรื่องออนไลน์เท่านั้น จะเป็นเรื่องไหนก็แล้วแต่ เขาจะรู้จักคิด รู้จักมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวว่าเป็นอย่างไร ตัวเองเป็นอย่างไร จะเอาอย่างไร และจะเป็นคนที่ควบคุมสถานการณ์รอบตัวได้ ไม่ปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามกระแสน้ำ แต่จะเป็นเหมือนเรือที่มีเข็มทิศ รู้ว่าจะไปไหน ควบคุมตัวเองได้ มีเป้าหมายชัดเจน

แต่คนที่เป็นทาสเทคโนโลยีเหมือนขอนไม้ที่ลอยไปในมหาสมุทร สะเปะสะปะแล้วแต่กระแสคลื่น กระแสน้ำจะพัดไป เราจะเป็นเรือที่วิ่งตัดมหาสมุทรไปสู่เป้าหมายปลายทาง หรือจะเป็นขอนไม้ เป็นเศษไม้ ที่ลอยสะเปะสะปะไปตามกระแสน้ำ ก็อยู่ที่ตัวของเรา พ่อแม่จะฝึกลูกต้องฝึกให้เป็นคนที่รู้จักมีเข็มทิศชีวิต มีเข็มมุ่งในการกระทำต่าง ๆ ว่า ทำไปเพื่ออะไร ถ้าอย่างนี้แล้วละก็ เราเป็นนายเทคโนโลยี


ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากดึงลูกออกจากสังคมออนไลน์ จะนำเสนอกิจกรรมอะไรให้ลูก ๆ ได้บ้าง

ที่จริงคนเราอยู่ที่สิ่งแวดล้อม บางคนติดเทคโนโลยีมาก เช้าขึ้นมาต้องเช็กข่าว ไม่งั้นรู้สึกว่า ขาดอะไรไป แต่พอเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น ไปอยู่ในชนบทซึ่งไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีหนังสือพิมพ์ ก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่เดือดร้อน อย่าว่าแต่ติดเทคโนโลยีอย่างนี้เลย ขนาดคนติดบุหรี่ หรือติดเหล้า ถ้าไม่ใช่ ขนาดแอลกอฮอลิซึม พอไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีเหล้า เขาก็เฉย ๆ ไม่รู้สึกทรมานในการอด แต่ถ้าเคยติดบุหรี่ แล้วมีคนเอาบุหรี่มาล่อ แต่พยายามจะฝืนตัวเอง อย่างนี้มักจะห้ามใจได้ไม่นาน คนที่มาบวช รอบตัวไม่มีใครสูบบุหรี่ ไม่มีใครดื่มเหล้าเลย เขาบอกว่า เขาทำได้ ไม่เห็นลำบากเลย หรือไปนั่งสมาธิ ๗ วัน ก็สบาย ๆ ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต มือถือก็ปิด อินเทอร์เน็ตก็ไม่เข้า ชีวิตก็สบายดี ใจปลอดโปร่ง สิ่งแวดล้อมจึงมีส่วนมากในการทำให้เรามีเวลาถอยไปตั้งหลัก

เวลาพ่อแม่จะฝึกลูก ควรหาเวลาให้เขาตั้งหลักชีวิตสักนิดหนึ่ง ปิดเทอมนี้ชวนไปอบรมธรรมทายาท ฝ่ายชายบวชเณรก็ได้ บวชพระก็ได้ ฝ่ายหญิงอบรมธรรมทายาทหญิง ให้เขามีเวลาตั้งหลักว่า เขาห่างเทคโนโลยีได้ พอตั้งหลักอย่างนี้แล้ว รู้จักความสงบใจอย่างนี้แล้ว และรู้จักวิธีใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นนาย พอกลับไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง เขาจะเป็นคนใหม่ที่ตั้งหลักชีวิตได้ รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไรกับเทคโนโลยี ต้องทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทำอย่างไรจึงจะเป็นเรือที่มีหางเสือ มีเข็มมุ่งชัดเจน ไม่เป็นเศษไม้ลอยน้ำไปมา

Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
ชีวิตจริง..บนสังคมออนไลน์ ชีวิตจริง..บนสังคมออนไลน์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:26 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.