เลิกติดเกม อย่างนุ่มนวล
จะแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมได้อย่างไร
อาตมาไม่อยากใช้คำว่า
เด็กติดเกม เพราะบางทีผู้ใหญ่ก็ติดเหมือนกัน
ถามว่าทำไมถึงติดเกม เป็นเพราะธรรมชาติของคนชอบรสแห่งชัยชนะ ชอบความสำเร็จ
รู้สึกพึงพอใจในความสำเร็จ ในชัยชนะ แต่ในชีวิตจริงการจะเอาชนะอะไรสักอย่างเป็นเรื่องยาก
ไม่ว่าเรื่องการเรียนหรือการงาน ในชีวิตจริงไม่ง่าย
เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากมาย แต่ในเกมเป็นการจำลองชีวิต
และใช้เวลาอาจจะแค่ครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่งก็ชนะได้แล้ว ถ้าเล่นแล้วยังไม่ชนะก็อยากจะชนะ
พอชนะแล้วก็อยากจะได้แต้มดีกว่าเก่าให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป วนอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว
เดี๋ยวก็ชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง อดหลับอดนอน บางคนเล่น ๒ วัน ๓ วัน
แทบไม่ได้นอนเลยก็มี เพราะพอใจกับชัยชนะ
ในแง่มุมหนึ่งก็คล้าย ๆ
กับการติดการพนันเหมือนกัน คนติดการพนันบางคนให้นั่งสมาธิครึ่งชั่วโมงก็เมื่อยแล้ว
แต่ว่าเล่นไพ่ข้ามคืนไม่เมื่อย ปวดปัสสาวะไม่ต้องเข้าห้องน้ำด้วย ถามว่าเพราะอะไร
เพราะว่าตอนชนะก็พอใจอยากเล่นต่อ ตอนแพ้ก็อยากจะแก้ตัว แก้ตัวแล้วเกมหน้าต้องชนะ
พอชนะ ก็ชอบ แล้วเดี๋ยวเกมหน้าชนะอีก ก็จะติดพันอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
จนบางทีไม่ใช่แค่เสียเวลาหรือสุขภาพเท่านั้น ทรัพย์สมบัติละลายหมด
การพนันคล้าย
ๆ กับเกม เพียงแต่ว่าเกมอาจจะไม่มีเรื่องผลประโยชน์ได้เสียโดยตรงมากเท่ากับการพนันเท่านั้น
ทำไมเกมเดียวกัน
เด็กแต่ละคนเล่นแล้วมีท่าทีต่างกัน
เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา
เพราะว่าแต่ละคนมีภูมิหลังไม่เหมือนกัน อัธยาศัยก็ไม่เหมือนกัน บุญบาปที่เคยสั่งสมไว้ในอดีตก็ไม่เหมือนกัน
ทำให้การตอบสนองต่อเกมที่เล่นย่อมไม่เท่ากัน ทั้งด้วยพื้นภูมิหลัง ทั้งด้วยสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งระยะเวลาในการเล่น บางคนอาจจะเล่นแบบธรรมดา ๆ บางคนอาจจะเล่นทั้งวันทั้งคืนจนกระทั่งอินไปเลย
เหมือนกับว่าตัวเองอยู่ในเกมนั้นจริง ๆ รู้สึกว่าตัวเองทำได้จริง ๆ
ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างเหตุการณ์เช่นนี้บ้างไหม
คือเรื่องเดียวกันแต่มองคนละมุม
ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนการมองคนละมุมก็มีอยู่เป็นเรื่องปกติ
ในครั้งพุทธกาล นักบวชศาสนาอื่นบางคนมาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ดีใจว่ามาพบผู้รู้แจ้งโลกแล้ว จึงมาศึกษาธรรมะจากพระพุทธเจ้า
แล้วก็ขอบวชจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันมากมาย เช่น ชฎิล ๓ พี่น้อง
ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ระดับอาจารย์ของกษัตริย์ในประเทศมหาอำนาจ คือ พระเจ้าพิมพิสาร
และได้ออกบวชเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ๑,๐๐๓ รูป
แต่บางท่านกลับมองว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือคู่แข่ง แล้วหาช่องทางที่จะไปกลั่นแกล้งพระองค์
การที่คนเราจะมีท่าทีมุมมองในเรื่องต่าง
ๆ หลากหลายกันไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดา และมีทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องเกม
แล้วก็มีทุกยุค ขึ้นอยู่กับพื้นภูมิแห่งใจและสภาพแวดล้อมที่เขาเจอ
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเกมหรือไม่ติด
ให้ดูว่าถ้าเมื่อไรถึงขนาดเล่นจนกระทั่งเสียกิจวัตร
เช่น ปกติเคยนอน ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม ถึงเวลาก็ไม่นอน อยู่จนถึงตี ๑ ตี ๒ เป็นสัญญาณให้รู้ว่าไม่ปกติแล้ว
แต่ถ้ายังอยู่ในขอบเขตที่เราคุมได้ เช่น เล่นในช่วงเวลาที่เราเหนื่อยมาทั้งวัน
อยากจะคลายอารมณ์สัก ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่ง ในวันหยุดก็เป็นไปได้
แต่ถ้าเมื่อไรเกินกว่าขอบเขต ความเหมาะสม คือเริ่มจะควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว
ส่วนวิธีการแก้นั้น สิ่งแวดล้อมมีส่วนมาก เช่น
บางคนติดเกม พอมาบวช ๒ เดือน ทั้งพระหรือสามเณรก็ตาม ไม่เห็นติดเกม
เพราะไม่มีเกมให้ติด แล้วความรู้สึกอยากเล่นเกมก็ไม่มีเลย เพราะรอบตัวไม่มีอะไรที่ดึงเข้าไปหาตรงนั้น
แต่ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม กลับถึงบ้านบนโต๊ะมีคอมพิวเตอร์อยู่
พอเปิดเครื่องแล้ว บางทียังไม่ทันคิดอะไรเลย มือไปกดปุ่มแล้ว
และมักจะติดพันไปเรื่อย ๆ ทั้งที่บางทีก็ไม่มีอะไรเร้าใจ เล่นไปเรื่อย ๆ
ให้เวลาหมดไป ๆ เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงมีส่วน ถามว่าแล้วอย่างนี้ต้องไปบวชหรือเปล่าถึงจะเลิกติดเกม
เอาเป็น ว่าให้เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมก็แล้วกัน ไปบวชได้ก็ดี แต่ถ้ายังบวชไม่ได้
เราสามารถจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ไปหาวิธีการแล้วกัน ให้ลูกมีความยากในการเข้าไปเล่นเกม
ไม่ใช่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือ เครื่องเล่นเกมตั้งอยู่ในห้องนอนของลูก
อย่างนี้จมหายไปทั้งวันทั้งคืนแน่ แล้วก็ต้องคุยกันด้วย ถ้าเด็กโต
พอสมควรก็คุยกันแบบผู้ใหญ่ว่า ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร
การควบคุมในช่วงแรกต้องอาศัยคนอยู่ใกล้ให้ช่วยกัน
ตกลงกติกากัน เช่น ออนไลน์ได้ถึง ๔ ทุ่ม ๔ ทุ่มไปแล้วเลิกออนไลน์
เพราะถึงเวลานอนแล้ว หากจะใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปค้นหาข้อมูลอย่างอื่นเอาไว้ทำตอนหัวค่ำ
แบบนี้ก็เป็นตัวช่วยได้อย่างหนึ่ง
เด็กบางคนไม่เล่นที่บ้าน
แต่ไปเล่นที่ร้านเกม อย่างนี้พ่อแม่จะป้องกันอย่างไร
คงต้องใช้การคุยกัน
ที่สำคัญเจ้าตัวต้องเห็นก่อนว่ามันเป็นคุณหรือเป็นโทษ ให้เขาเรียบเรียง
ความคิดแล้วเขียนออกมาเอง เขาถึงจะคิดออก ถึงจะรู้ว่าต้องแก้ไขแล้ว
แต่ว่าจะแก้อย่างไรนั้น พ่อแม่ต้องเข้าไปช่วยให้เขาเปลี่ยนกิจกรรมไปทำอย่างอื่นแทน
ถ้าเปลี่ยนกิจกรรม เปลี่ยนระบบชีวิตตัวเองไปทำอย่างอื่นแทน เช่น เล่นกีฬา
สักพักหนึ่งประมาณ ๓-๔ อาทิตย์ จะเกิดความคุ้นเคย นิสัยจะเริ่มเปลี่ยน
ความผูกพันกับเรื่องเกมจะคลายตัวลง อย่างนี้เป็นต้น ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญ
สามารถแก้ได้ทุกเรื่อง
การแก้ปัญหาลูกติดเกมด้วยการเล่นเกมออนไลน์ไปด้วยกันถูกต้องหรือไม่
ก็ได้ส่วนหนึ่ง
ถ้าถึงเวลาที่ไม่ควรเล่นแล้วก็เลิก เล่นด้วยกัน อย่างนี้ได้ แต่เล่นด้วยแล้วนอนตี
๒ ด้วยกัน อันนี้ไม่ถูก เดี๋ยวจะทรุดทั้งบ้านเลย ลูกเสียการเรียน
พ่อแม่ก็เสียการงาน แย่กันหมดทั้งบ้าน
บางบ้านไปเลือกเกมกับลูก
ๆ อย่างนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมหรือเปล่า
ถ้าไปเลือกเกมที่ใช้ได้ก็ไม่ถึงกับเสียหายจนเกินไป
ถือว่าเหมือนเป็นที่ปรึกษาให้ลูกรู้สึกว่าคุยกับพ่อแม่รู้เรื่อง
จะได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางของลูก ถ้าอย่างนี้ก็คงพอได้
แต่ถ้าติดเกมทั้งคู่ก็เลยไปซื้อด้วยกัน เล่นกันจนกระทั่งกู่ไม่กลับ อันนี้ไม่ดี
จริง
ๆ แล้วเกมออนไลน์ในประเทศเราเพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อมีอินเทอร์เน็ต
แต่ที่ญี่ปุ่นเรื่องเกมเป็นเรื่องใหญ่ของเขาเลย เคยได้ยินเรื่องปาจิงโกะไหม
มันคือการเล่นเกมอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนไทยในญี่ปุ่นเรียกว่าไปจับปลา
ที่จริงไปให้ปลาจับมากกว่า ทำงานเหนื่อยทั้งวันปลาจับเสียหมดเนื้อหมดตัวเลย
อาตมาก็ไม่รู้ว่ามันเล่นอย่างไร รู้แต่ว่ากึ่ง ๆ เกม กึ่ง ๆ การพนัน
บางคนเล่นจนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัวเลยก็มี คนญี่ปุ่นกว่าครึ่งประเทศเล่นปาจิงโกะกัน
โดยเฉพาะตอนที่ยังหนุ่ม ๆ อยู่ แต่ส่วนใหญ่พอมีครอบครัวแล้วก็เลิก
อาตมาเคยถามคนญี่ปุ่นว่าเล่นปาจิงโกะไหม เขาบอกว่า “หนุ่ม ๆ ก็เล่น มาเลิกเล่นตอนมีครอบครัว
ใครมีครอบครัวแล้วยังไปเล่นปาจิงโกะอีกก็บ้าแล้ว จะเอาเงินทองที่ไหนมาดูแลครอบครัว”
เพราะฉะนั้นโดยความรับผิดชอบต้องเลิก แต่มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ไม่เลิก
ครอบครัวก็แย่จริง ๆ
เรื่องนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า
ขนาดเป็นเกมที่ระบาดทั้งประเทศ คนเล่นตั้ง ๔๐-๕๐ ล้านคน เป็น
อุตสาหกรรมใหญ่ที่มีรายได้ปีหนึ่งมหาศาล แต่ถึงคราวก็เลิกได้ เพราะตระหนักว่าขืนไม่เลิกผลเสียหายจะเกิดขึ้นกับชีวิตอย่างร้ายแรงแน่นอน
พอสำนึกความรับผิดชอบที่มีต่อตนเองและครอบครัวเกิดขึ้น
รู้ว่าไม่ดีก็มีแรงรั้งให้กลับมา
ดังนั้น
ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้สำคัญ
แม้เป็นเด็กถ้าให้เขาตระหนักชัดว่าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้ว ชีวิตจะเป็นอย่างไร
เอาเหตุกับผลมาชนกัน ดูให้เห็นชัด ๆ ว่า ถ้าทำอย่างนี้จะเกิดผลอย่างนี้ เขียนเป็นข้อ
ๆ ขึ้นมาก็ได้ แล้วตั้งกติกาตัวเองให้ดี คุมกิจวัตรให้ดี เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดี
อย่างนี้เราจะผ่านวิกฤตติดเกมไปได้
มีเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลมาเป็นตัวอย่างหรือไม่
มีในชาดกหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า
พระราชาองค์หนึ่งครองเมืองที่มีสมบัติพัสถานมาก มีความสุขมาก พระมเหสี พระโอรส
พระธิดา น่ารัก งดงาม ต่อมาพระราชาติดสกา แล้วก็แพ้เกม ถึงขนาดที่สมบัติค่อย ๆ
หมดไป จนกระทั่งเอาเมืองมาพนัน หมดเมืองแล้วพนันลูก หมดลูกแล้วเอามเหสีมาพนัน
สุดท้ายหมดทั้งเมือง หมดทั้งลูก หมดทั้งมเหสี เหลือแต่ตัว
มีตัวอย่างมากมายที่จะเล่าให้ลูกฟังว่า
เขาจะเลือกเป็นอย่างไรดี แล้วถ้าจะให้ดีควรเอาลูกไปวัด ให้ลูกติดธรรมะดีกว่า
พอเขาได้สวดมนต์ ได้นั่งสมาธิแล้ว ใจจะสบายขึ้น นุ่มขึ้น
การที่จะไปติดเกมจะคลายตัวลง หรือว่าพาไปบวชซัมเมอร์ก็ได้
เด็กบางคนบอกว่าเขาแยกถูกแยกผิดได้
เขาจะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่อย่างไรดี
พิสูจน์ด้วยการกระทำดีที่สุด
ถ้าช่วงแรกพ่อแม่อยากจะให้ห่าง ถ้าเราไม่ติดเกมจริง เราไม่เล่นก็ไม่ เห็นเป็นไรเลย
สมัยก่อนไม่มีเกมเราก็ยังอยู่ได้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร
เพราะฉะนั้นถ้าท่านยังไม่อยากให้เล่น เราก็ห่าง ๆ เสีย ให้ท่านมั่นใจตัวเราว่าโอเค
ถึงคราวก็จะมีการปรับให้ถึงจุดที่พอดี ไม่จำเป็นต้องไปเอาชนะ เพราะว่าจริง ๆ
แล้วที่เราบอกว่าเราไม่มีปัญหา เราแน่ใจหรือ เกมนี้ไม่มีปัญหาก็จริง
แต่ถ้าเกิดไปเจอเกมที่ชอบขึ้นมาจริง ๆ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมาจะทำอย่างไร บางคนบอกว่า
ผมเล่นการพนันผมไม่ติด แค่เข้าสังคม เพื่อนเขาเล่นกัน
จะไปเจรจาธุรกิจเลยเล่นกับเขา เล่นไปเล่นมาติดไปเลย เรื่องอย่างนี้อย่าว่าแต่เด็ก
ผู้ใหญ่ยังมีเลย แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราไม่มีปัญหา ห่างออกมาได้เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว
ไม่เห็นจะต้องไปเอาชนะเพื่อจะได้เล่นเกมจริง ๆ เลย มีโอกาสไหนท่านให้เล่นก็เล่น
ไม่ให้เล่นก็ไม่เห็นเดือดร้อน ถ้าเราไม่ติดเกมจริง ๆ เราจะต้องเดือดร้อนทำไม
แล้วเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า เรารับผิดชอบตัวเองได้
พอเราโตขึ้นก็ไม่มีใครมายุ่งกับเราแล้ว
Cr. พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๙
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕
ความลับของพระพุทธศาสนา |
ชีวิตจริง..บนสังคมออนไลน์ |
คลิกอ่านข้อคิดรอบตัวของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เลิกติดเกม อย่างนุ่มนวล
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:25
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: