อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโลกเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายจนบานปลาย
ไปสู่ความแตกแยก บางครั้งก็รุนแรงถึงขั้นเกิดสงครามโลก
หลวงพ่อเกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๓
เป็นภาวะที่ขณะนั้นใกล้สงครามโลกครั้งที่ ๒ เต็มที ในช่วงนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะคับขัน
ถูกอำนาจทางการเมืองโลก รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจสังคมทั่วโลก บีบเข้ามาอย่างแรง
แล้วผลที่ตามมาก็คือ ความระส่ำระสายทั้งประเทศไทย
และความไม่สงบเรียบร้อยในพระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นเป็นอันมาก แต่พวกเราซึ่งเกิดมาในภายหลังไม่ค่อยจะรู้กัน
จะมีก็แต่หลวงปู่ หลวงพ่อ บางรูปในยุคนั้นเท่านั้นเอง สภาพต่าง ๆ
เหล่านี้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างยิ่งในกาลต่อมา
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้น
ถ้ามองในสายตาของชาวโลก ก็บอกว่าเพราะประเทศนั้นประเทศนี้ เป็นตัวต้นเหตุ
ในแง่ของประวัติศาสตร์ ก็มักจะโทษประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมันว่าเป็นผู้ก่อเหตุ
ทำให้สงครามโลกเกิดขึ้น ผู้คนต้องล้มตายกันมากมาย นี้คือการมองแบบชาวโลก
มองในแง่ของประวัติศาสตร์
แต่ถ้ามองแบบชาวพุทธมอง เราไม่ได้มองอย่างนั้น
เรามองว่าขณะนี้มารฝูงใหญ่ ๆ ฝูงหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "กิเลสมาร"
กำลังอาละวาดด้วยการแทรกเข้าไปอยู่ในใจคน แล้วทำให้คนโลภ โกรธ หลงอย่างหนัก
แล้วชักใยให้คนทั้งโลกรบราฆ่าฟันจนล้มหายตายจากกันไป
และทั้ง ๆ ที่เจ้ามารฝูงนี้ คือ ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ซึ่งรวมเรียกว่า กิเลสมาร เข้าไปชักใยอยู่ในใจคน
จนกระทั่งคนฆ่ากันตายเป็นล้าน ๆ คน แต่มนุษย์ที่เหลือก็ยังมองไม่ออกอีกว่า
สาเหตุแห่งความตายนั้นมาจากกิเลสของคน หรือมารฝูงหนึ่งที่เรียกว่า "กิเลสมาร"
ต้นเหตุที่ทำให้คนตาย คือ กิเลสมาร ซึ่งมี ๓
ลักษณะ
ลักษณะที่
๑ คือ ความโลภ ความเห็นแก่ได้ ทำให้ตามล้างตามผลาญกัน
ลักษณะที่
๒ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ทำให้จองล้างจองผลาญกัน
ลักษณะที่
๓ คือ ความหลง ความโง่ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ทำให้จองล้างจองผลาญกัน
กิเลสมารย่ำยีมนุษย์ถึงขนาดนี้
แต่ว่าคนทั้งโลกในยุคนั้นที่จะรู้อย่างนี้กลับมีไม่กี่คน อย่าว่าแต่ในยุคนั้น
แม้ผ่านมาแล้วตั้ง ๔๐ กว่าปี คนที่จะรู้อย่างนี้
นอกจากผู้ที่เป็นชาวพุทธและสนใจพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีใครรู้
แล้วท่านที่สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังในพระพุทธศาสนานั้น
เราก็รู้ว่าเอาจริง ๆ เข้าก็มีกันไม่กี่คน อย่าว่าแต่ชาวโลกมีไม่กี่คนเลย
แม้แต่พระภิกษุที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา
ที่สนใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังก็มีน้อย อย่างที่พวกเราเห็นกันอยู่นี้แหละ
เวลาพวกเราเข้ามาบวชแต่ละรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่อบรมธรรมทายาทในภาคฤดูร้อน
เข้ามาอบรมคราวละเป็นพันคน แต่เหลือมาบวชประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ คน ถ้าจะว่าไปก็คือ
เหลือมาบวชสัก ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์
ในจำนวน ๖๐๐-๗๐๐ คน หรือที่บวชมา ๖๐-๗๐
เปอร์เซ็นต์นี้ เมื่อผ่านการอบรมไปแล้วได้เดือนหนึ่ง
ก็สึกไปประมาณเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง ๓๐-๔๐ รูป หรือ ๓-๔ เปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลืออยู่ต่อจนกระทั่งเข้าพรรษาก็อยู่จนตลอดพรรษา
พอออกพรรษาแล้ว จาก ๓๐ รูป ก็เหลืออยู่สัก ๑๐ รูป จากผู้เข้าอบรมในภาคฤดูร้อน ๑,๐๐๐ คน พอออกพรรษาเหลืออยู่ ๑๐ รูป
ก็เท่ากับเหลืออยู่ ๑ เปอร์เซ็นต์ และ ๑
เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่นี้ถือว่าสูงมากแล้ว นี่ขนาดในวัดของเราซึ่งผู้ที่เข้ามาบวชก็มีความรู้
มีการศึกษาดี ยังเหลือแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้
แล้วใน ๑ เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งใจบวชต่อนี้
ถ้าไม่สนใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ ก็จะมองไม่เห็นว่า สภาพการล้างการผลาญกัน
ไม่เฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้สภาพการรังแกเบียดเบียนกันอยู่ทุกวันนี้ในโลกมนุษย์
ไม่ว่าจะเป็นสงครามในประเทศต่าง ๆ หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม ดังที่เราเห็นแพร่ภาพในโทรทัศน์
เมื่อใดที่มีการล้างการผลาญกัน ถ้ามองให้ลึกจริง ๆ แล้ว
ก็พบว่าเกิดด้วยอำนาจกิเลสในตัวของแต่ละคน หรือมารฝูงเดิมนั่นแหละ
ที่ก่อให้เกิดการล้างผลาญกันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ฝูงเดียวกัน แต่อาละวาดกันอยู่คนละลักษณะ
และแม้ในวันนี้ก็ยังเป็นต้นเหตุแห่งความเดือดร้อนของคนทั้งโลกอยู่ดี
ถามว่ามารฝูงนี้
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งชื่อว่า "กิเลสมาร"
มีมานานแล้วหรือยัง ต้องบอกว่ามีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เมื่อมีโลกเกิด มีมนุษย์เกิด
มารฝูงนี้ก็มีมาพร้อม ๆ กันแล้ว แล้วมันก็อยู่ในใจคนเรื่อยมา
จะอยู่ในใจใครต่อใครก็ตามที แต่ที่แน่ ๆ มันอยู่ในใจเราด้วย
เพราะฉะนั้น
ถ้าจะว่าไปที่เรามาบวชกันอยู่ทุกวันนี้ ประเด็นสำคัญของเราก็คือ เราบวชเพื่อมารบกับมารฝูงนี้โดยเฉพาะเลย
ถ้าคิดให้ดีหน้าที่หลักของเราคือปราบกิเลสมารพวกนี้
แล้วเจ้ามารฝูงนี้บางครั้งมันก็ระบาดหนัก
ขนาดแพร่เชื้อไปทำให้เกิดกับคนทั้งโลก บางครั้งมันอาจจะซบเซาไปบ้าง
แต่ก็ไม่ได้ไปไหน หลบเข้าไปอยู่ในใจคนแต่ละคนในโลก ไม่เฉพาะแต่ในใจคน
ในใจสัตว์ด้วย
แม้ในที่สุดคน
ๆ นั้นตายไปแล้ว เจ้ามารฝูงนี้ก็ยังไม่ละลด ยังเกาะติดใจคน ๆ นั้นไป ไม่ว่า คน ๆ
นั้นจะไปเกิดที่ไหน จะไปตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ก็ตาม มันก็ยังเกาะติดใจของคน ๆ
นั้นเหมือนปลิงที่เกาะหลังควาย ดูดเลือดควายอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ
แล้วตราบใดที่คนนั้นยังไม่รู้จักวิธีปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
หรือรู้แล้วแต่ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติอริยมรรค มีองค์ ๘ อย่างจริงจัง
ยังเข้าไม่ถึงธรรมกาย ก็จะยังไม่สามารถไปมองเห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในใจ กิเลสก็ยังเกาะติดอยู่อย่างนั้น
แล้วหาทางทำลายล้างคน ๆ นั้นเรื่อยไป
แม้ที่สุดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์องค์อื่น
ๆ กิเลสมันเกาะเข้าไปข้างในไม่ได้ มันก็แปรสภาพไปจากกิเลสมาร
เป็นเทพบุตรมารมาอาละวาดข้างนอก มาทำความเดือดร้อนต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก
เหมือนอย่างที่พญามารทำความเดือดร้อนแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายนอกนั่นเอง
หลวงพ่อได้คิดเรื่องเหล่านี้
เพราะเห็นความผันผวนของโลกมาอย่างชัดเจน คนเราลองได้ผ่าน ความตายมาหลาย ๆ
ครั้งเข้า แม้เป็นเด็กก็จะได้ข้อคิด ตั้งแต่จำความได้หลวงพ่อเห็นศพลอยน้ำมาทุกวันรอบ
ๆ บ้าน มีทหารญี่ปุ่นตายบ้าง พวกเชลยศึกยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฮอลันดา หรืออังกฤษ
ที่มารบในเมืองไทยตายกันเป็นเบือ ชาวอินเดียจำนวนมากที่ถูกเกณฑ์มาจากประเทศอินเดียเพื่อมาทำทางรถไฟสายมรณะจากกาญจนบุรีตัดป่าใหญ่เข้าสู่พม่า
ผ่านด่านเจดีย์ ๓ องค์ พวกนี้ก็ตายกันมาก
เพราะฉะนั้น สงครามโลกก็ตาม ความแตกแยกในสังคมก็ตาม
ความวุ่นวายต่าง ๆ ในโลกนี้ก็ตาม ล้วนมีสาเหตุเบื้องลึกมาจากกิเลสมารทั้งสิ้น
การที่เราจะกำจัดกิเลสมารได้มีเพียงหนทางเดียว
นั่นคือ ต้องอาศัยความเคารพในครูบาอาจารย์ อาศัยความอดทนที่จะฝึกความละเอียดรอบคอบ
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด อาศัยความอดทนต่อการกระทบกระทั่งในการทำงานเป็นทีม
และอาศัยความอดทนในการนั่งสมาธิ ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าจะทำให้เป็นนิสัย
เราต้องทำด้วยความมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น หลักการโดยย่อก็คือ การที่เราจะสู้กับกิเลสได้
เราก็ต้องมีความเคารพ ความอดทน และฝึกตนด้วย ความมีวินัย ไม่ทำตามใจตัวเอง
เมื่อเรามีคุณธรรมทั้งสามเป็นพื้นฐาน บารมีอย่างอื่น บุญอย่างอื่นก็จะไหลเข้ามาเอง
สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเองมีบุญบารมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ก็ให้ดูง่าย ๆ ว่า เวลาเกิดการกระทบกระทั่ง
หรือเกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ให้เราสังเกตตัวเราว่า ยังมีความอดทนดีอยู่หรือไม่
ยังมีความเคารพในครูอาจารย์ดีอยู่หรือไม่ ยังรักษาความมีวินัยดีอยู่หรือไม่
ถ้าเรายังรักษาคุณธรรมทั้งสามนี้ไว้ได้อย่างดี
ก็แสดงว่าคุณธรรมได้เพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรม
ที่จะเห็นได้เด่นชัดเป็นพิเศษ ก็คือ ความอดทนในการรักษาความดี ซึ่งตรงกับพุทโธวาทที่ว่า
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ซึ่งแปลว่า ขันติเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง
เมื่อเราทำได้ดังนี้
ไม่ว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งอย่างไร เกิดความขัดแย้งอย่างไร
เราก็จะสามารถรักษาใจให้สุขุมเยือกเย็นไว้ได้ เมื่อกิเลสไม่สามารถออกฤทธิ์ในจิตใจเราได้
ปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์ จะถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
โดยไม่เสียคุณธรรมความดี และสามารถระงับเหตุร้ายทั้งปวงไว้ได้
พลิกจากสถานการณ์ร้ายให้กลายเป็นดีโดยไม่ก่อบาปก่อเวร ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๑๙
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕
การเลี้ยงดูพัฒนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ? |
ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ? |
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บุคลิกของคนมีสัจจะเป็นอย่างไร?
ทำงานอย่างไร... ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?
ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง?
ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร
เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร?
"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร ในพระพุทธศาสนา?
วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?
การเลี้ยงดูพัฒนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?
ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ?
ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร?
การฝึกตนเป็นนักสร้างบารมี จะต้องทำความเข้าใจเรื่องใดให้ชัดเจนก่อน?
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:20
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: