ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร?




เมื่อจะทำกรรมให้ดี เราต้องมาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของกรรมด้วย เพราะคนหรือสัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง ซึ่งคุณสมบัติของกรรมมีดังนี้

ข้อที่ ๑ มีกรรมเป็นของตนเอง

ข้อที่ ๒ มีกรรมเป็นทายาท

ข้อที่ ๓ มีกรรมเป็นกำเนิด

ข้อที่ ๔ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  พวกพ้อง

ข้อที่ ๕ มีกรรมเป็นที่พึ่ง

ข้อที่ ๖ มีกรรมเป็นเครื่องจำแนกให้สัตว์โลกดีเลวต่างกัน

เรื่องคุณสมบัติของกรรมนี้ต้องทำความเข้าใจกันมากสักนิด เพราะคำว่ากรรมคือการกระทำนี้ มีมาก่อนพุทธกาล ในลัทธิอื่นศาสนาอื่นเขาก็สอนเรื่องกรรม แต่เรื่องกรรมที่เขาสอนไม่ตรงกันกับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในพระพุทธศาสนา จากการค้นพบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์พบว่า

ข้อที่ ๑ สัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน

กรรมของใครก็กรรมของมัน เข้าทำนองว่า คุณกิน คุณก็อิ่ม คุณไม่ได้กิน คุณก็หิว คุณก็อด เราหายใจแทนกันไม่ได้ ฉันใด เราก็ทำกรรมแทนกันไม่ได้ ฉันนั้น

ใครทำกรรมดีก็ชื่อว่าคนนั้นทำกรรมดี ใครทำกรรมชั่วก็ชื่อว่าคนนั้นทำกรรมชั่ว

เขาจ้างมือปืนไปฆ่าคน คนที่จ้างก็มีกรรม คือกรรมฆ่าหรือกรรมจ้างคน ส่วนคนไปยิงมีกรรม ฆ่าคนหรือยิงคน กรรมใครกรรมมัน

โกรธเขาขึ้นมาเลยเขียนจดหมายด่าเขา พอรู้ตัวเขียนจดหมายไปขอโทษเขา ที่เขียนด่าเขานั้น ก็ทำไปแล้วเรียกคืนมาไม่ได้ มันเป็นกรรมไปแล้ว พลิกกลับไปกลับมาไม่ได้ ถ้ามันเสียก็เสียแล้ว ถ้ามันดีก็ดีแล้ว สิ่งนี้จึงต้องระวัง เพราะกรรมนั้นทำคืนไม่ได้ เมื่อทำไปแล้วเรามีกรรมเป็นของตน

ข้อที่ ๒ มีกรรมเป็นทายาท

คำว่ามีกรรมเป็นทายาท นี่หมายถึงผล เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น เป็นทายาทรับผลของกรรมที่ตนทำเอาไว้

ทายาทคือผู้รับมรดก มรดกทางโลกพ่อแม่ยกให้ลูกได้ แล้วท่านอาจจะเปลี่ยนใจไม่ยกให้ก็เป็นไปได้ แม้ท่านให้มาแล้วแต่ลูกไม่รับก็ได้ ถ้าลูกรับไปแล้ววันหลังเอาไปโยนทิ้งก็ทำได้ จะรับหรือไม่รับก็ได้ รับแล้วจะโยนทิ้งก็ได้ จะเก็บเอาไว้ก็ได้ มันไม่แน่

แต่ว่ามีกรรมเป็นทายาทนั้นต่างกัน คุณทำอะไรไว้ คุณต้องรับผลของกรรมนั้น โยนทิ้งก็ไม่ได้ ทั้งกรรมชั่วและกรรมดี คุณตั้งใจร่ำเรียนเขียนอ่านมาตลอด นั่นเป็นกรรมดีของคุณ ผลกลายเป็นความฉลาด ความฉลาดของเราใครก็แย่งเอาไปไม่ได้ แบ่งให้ใครก็ไม่ได้ ขโมยไปก็ไม่ได้

สิ่งที่เราทำเอาไว้ พอถึงเวลาออกผลขึ้นมาก็เป็นมรดกของเรา ใครแย่งไม่ได้ ฉันรักษาศีลมาอย่างดี พยายามสุด ๆ เลย ไม่โกรธใคร มาวันนี้ฉันเลยหน้าใส สวย ไม่ต้องทาอะไรก็สวยได้ ผลมันออกมาอย่างนี้ แล้วใครจะมาแย่งความสวยของฉันได้ไหม? ไม่ได้ นี่เป็นของฉัน ฉันเป็นผู้รับมรดก

ตรงกันข้าม เมื่อก่อนนี้ถ้าฉันไม่ชอบใจขึ้นมาก็ค้อนให้ขวับ ๆ ชาตินี้เลยตาเหล่ ปากเบี้ยว จะไปโยนทิ้งได้ไหม? ไม่ได้ เพราะมันเป็นผลของกรรม คือ ฉันจะต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น ตั้งแต่โบราณเขาจึงมีข้อเตือนสติมาว่า กรรมไม่ดีอย่าทำ

ข้อที่ ๓ มีกรรมเป็นกำเนิด

หมายถึง กำเนิดในชาติต่อไป เวลาใกล้ตาย ใครทำกรรมชั่วเอาไว้มาก ๆ พอใกล้ตายแล้วทำให้ป่วย ทำให้ทรมาน ทำให้ขัดอกขัดใจสารพัด ภาพการทำความชั่ว กรอกลับมาให้เห็นเหมือนกรอภาพยนตร์ถอยหลังมาดู ทำให้กระสับกระส่าย ทำให้ใจขุ่นมัว ความขุ่นมัวของใจเลยนำให้ไปถือกำเนิดในทุคติ อาจจะเป็นหมู หมา กา ไก่ อาจจะไปตกนรก อาจจะไปเป็นเปรต อาจเป็นอสุรกาย ก็แล้วแต่ว่าใจขุ่นขนาดไหน

ตรงกันข้าม ถ้าทำทาน รักษาศีลมาดี ละโลกแล้ว ถ้าไม่เป็นเทวดา นางฟ้า ก็ไปเข้าท้องเศรษฐีเลย พอคลอดออกมามีสมบัติรอไว้ให้ใช้แล้ว

ข้อที่ ๔ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ พวกพ้อง

เผ่าพันธุ์พวกพ้องเป็นอย่างไร พวกพ้องพี่น้องทางโลกอยู่บ้านเดียวกัน พ่อแม่เดียวกัน คลานตามกันมา หมู่ญาติก็มีอะไร ๆ คล้าย ๆ กัน พอโตขึ้น บางทีก็ยังอยู่ด้วยกันจนกระทั่งล้มหายตายจาก แม้ต่างคนต่างไปมีครอบครัว ก็พอได้พึ่งพาอาศัยกันมา แต่พวกพ้องพี่น้องบางคน พอโตขึ้นต่างคนต่างไป ต่างไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องข้ามประเทศข้ามจังหวัดก็มี นี่คือพวกพ้อง เผ่าพันธุ์ในทางโลก

มีกรรมเป็นพวกพ้องเป็นอย่างไร คุณโหดกับใครไว้เท่าไร ถึงคราวคุณจะไปเกิดที่ไหนก็ตาม คุณก็มีกรรมโหด ๆ ติดตัวไป คุณก็จะไปเจอคนอื่นเขาโหดกับคุณอย่างหนีไม่พ้น เพราะคุณมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ข้ามชาติไป คุณมีกรรมโหด ๆ ชนิดนี้เป็นเผ่าพันธุ์ของคุณ โยนทิ้งก็ไม่ได้ มันติดเป็นนิสัยแล้ว แก้ยาก

ตรงกันข้าม คนที่พันธุ์ใจบุญไปถึงไหนก็มีพี่มีน้องมีพวกพ้องใจบุญอยู่ข้าง ๆ นิสัยรักบุญติดไปอยู่ในใจ และเพราะใจอย่างนี้เลยส่งผลให้ได้ยีน ได้โครโมโซมดี ๆ เกิดขึ้นในร่างกาย

ข้อที่ ๕ มีกรรมเป็นที่พึ่ง

คำว่าเป็นที่พึ่ง หมายความว่า เป็นกรรมดีโดยเฉพาะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงคราวจะตรัสรู้ มารมันมากวนเหลือเกิน แล้วพระองค์ทำอย่างไร ก็ทรงระลึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ ที่ทำมาดีแล้วมาเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น ใครตกทุกข์ได้ยากลำบากอะไรขึ้นมา อย่าไปเอาอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย บุญกุศลที่ทำมาตลอดชีวิต ตลอดภพ ตลอดชาติ ตลอดมาตั้งแต่เป็นมนุษย์ชาติแรก นึกเอามาช่วย เรียกบุญที่ทำมาเป็นที่พึ่ง อย่างนี้ถึงจะรอด ไม่ต้องไปเสียเวลาบนบาน เรามีกรรมเป็นที่พึ่ง เอากรรมดีที่ทำเอาไว้นั้นเป็นที่พึ่ง นึกถึงกรรมดีทีหนึ่ง ใจก็ผ่องใสทีหนึ่ง กาย ใจ ผ่องใสทีหนึ่ง บุญก็เกิดขึ้น แล้วเอาบุญนั้นเป็นที่พึ่ง

ข้อที่ ๖ มีกรรมเป็นเครื่องจำแนกให้สัตว์โลกดีเลวต่างกัน

ที่เราดีหรือเลวนั้นไม่ต้องไปโทษคนอื่น กรรมของเราเองจัดสรรมา ชาติที่แล้วพูดเพราะ ๆ ชาตินี้ก็ได้ปากสวยเสียงเพราะ ถ้าชาติที่แล้วด่าเก่ง นินทาเก่ง ชาตินี้หวังจะให้ปากสวย ๆ ก็ไม่ได้ หรอก จะเอาลิปสติกกี่ยี่ห้อมาทาก็ไม่สวย

หน้าที่ของกรรมหรือธรรมชาติของกรรมมันส่งผลอย่างนี้ อยากให้พวกเราทำความเข้าใจให้มาก ๆ แต่ละคืนที่ติดตามกรณีศึกษา (case study) ในรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ทางช่อง DMC ก็จะพบว่า กรรมมันไล่เรียงกันมาอย่างไร อันไหนคือมีกรรมเป็นของตนเอง อันไหนมีกรรมเป็นมรดก อันไหนมีกรรมเป็นกำเนิด อันไหนมีกรรมเป็นพวกพ้อง อันไหนมีกรรมเป็นที่พึ่งหรือมีบุญเป็นที่พึ่ง หรืออันไหนเกิดด้วยแรงจัดสรรของบุญ มรดกกรรมต่าง ๆ นั้น แต่ละคนได้ทำอะไรกันมา ใครที่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมมากพอ ความอายบาปกลัวบาปก็เลยไม่มี เมื่อไม่อายบาปไม่กลัวบาป เดี๋ยวก็ไปทำบาปเข้าจนได้ แต่เมื่อศึกษาจนพอเข้าใจอย่างนี้แล้ว คนที่เข้าใจเรื่องกรรมได้ดี ก็จะมีกำลังใจยับยั้งตัวเองเหมือนมีดิสเบรก (Disk Brake) ติดตัว ก่อให้เกิด หิริ โอตตัปปะ คือความอายบาป กลัวบาปติดตัว แล้วก็เลยกลายเป็นพื้นฐานของศีลธรรมทุกเรื่อง และรักที่จะสร้างกรรมดีให้ยิ่งยวดต่อไป แม้เอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อการสร้างความดีก็ยอม

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๒๑  เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๕

ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ?

การฝึกตนเป็นนักสร้างบารมี จะต้องทำความเข้าใจเรื่องใดให้ชัดเจนก่อน?
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บุคลิกของคนมีสัจจะเป็นอย่างไร?
ทำงานอย่างไร... ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?
ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง?
ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร?

"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร ในพระพุทธศาสนา?
วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?
การเลี้ยงดูพัฒนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?

ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ?
การฝึกตนเป็นนักสร้างบารมี จะต้องทำความเข้าใจเรื่องใดให้ชัดเจนก่อน?
ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร? ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:03 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.