ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร



การที่ชาวพุทธจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้นานแสนนานนั้น  สิ่งแรกที่ต้องชัดเจนลงไปในความเข้าใจก็คือ ตัวจริงของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ไหน

พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ประเทศอินเดีย ไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่ศาลา และไม่ได้อยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาอยู่ในใจคน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนธรรมดา หรือคนนั้นจะมาบวชเป็นพระภิกษุสามเณรก็ตามที

คนเช่นไรพระพุทธศาสนาจึงเข้าไปอยู่ในใจได้  คนที่ศึกษาแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คน ๆ นั้นจึงจะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว อยู่ในใจ ไม่ว่าเขาจะได้บวชหรือไม่ได้บวชก็ตาม

แต่ว่าโดยทั่วไป ถ้าไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ โอกาสที่จะรู้จักคำสอน โอกาสที่จะนำคำสอนมาปฏิบัติอย่างจริงจัง มักจะไม่มี เพราะฉะนั้นปู่ย่าตาทวดของเรา อยากจะให้พระพุทธศาสนาอยู่ในใจลูกหลาน ก็เลยสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีว่า เกิดมาเป็นลูกผู้ชาย อย่างไรก็ต้องให้ได้บวชสักพรรษาหนึ่ง

ส่วนลูกผู้หญิงไม่มีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุ แล้วพระพุทธศาสนาจะเข้าไปอยู่ในใจได้ไหม  คำตอบคือได้ ถ้าเขาตั้งใจศึกษาและปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ตั้งใจศึกษา ไม่ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็คงเข้าไปอยู่ในใจเขาไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าเป็นผู้ชาย ถ้ามาบวชเป็นพระแล้วยังไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติ มาบวชแล้ว ก็เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด ถ้าอย่างนี้คำสอนของพระพุทธศาสนาก็เข้าไปอยู่ในใจเขาไม่ได้ เพราะบวชมาเพื่อนอน ไม่ได้บวชมาเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสในตัวเอง คนประเภทนี้ แม้บวชแล้วก็รักษาพระพุทธศาสนาไม่ได้

การที่เราไปชวนให้เขาเข้ามาบวช ตั้งใจกระจายข่าว ติดคัตเอาต์ (cut  out) ประกาศเชิญชวนเขามาบวชทั่วบ้านทั่วเมือง ก็เพราะอยากจะเห็นพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในใจเขา

ถ้าเขามาบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติ ก็เป็นประโยชน์กับตัวของเขาเองเต็มที่ แล้วพระพุทธศาสนาก็จะเข้าไปอยู่ในใจของเขา นอกจากพระพุทธศาสนาจะเข้าไปอยู่ในใจของเขาแล้ว เขายังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเราได้อีกด้วย  เพราะเขาได้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาไปเรียบร้อยแล้ว ในเวลาเดียวกัน เราก็จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเขาด้วย

ถ้าเขาบวชแล้วไม่สึก เขาก็เป็นหลักให้กับพระพุทธศาสนาได้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าพระภิกษุทั่วประเทศได้ ถ้าเขาสึกก็จะเป็นรั้วที่ดีให้กับวัด เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับวัด แล้วก็จะไปทำหน้าที่ตามคนดี ๆ เข้ามาเป็นชาววัดอีกต่อไปในภายภาคหน้า

เรื่องหลักของการบวชจึงเป็นเรื่องที่ผู้บวชจำเป็นต้องตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง ถ้าไม่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง การมาบวชของเขาก็จะสูญเปล่า เพราะไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจของตนเองให้ดีขึ้นเลย ความผิดนั้นก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของตัวเขา ส่วนว่าบวชแล้ว เขาจะกลายมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของวัด หรือมาช่วยเป็นรั้วของพระพุทธศาสนาหรือไม่ เรื่องนั้นยังเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือบวชแล้วต้องตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง

คนที่อยู่ในภาวะที่มีโอกาสบวชได้แล้ว แต่ไม่ยอมให้โอกาสตัวเองมาบวช นั่นคือนอกจากไม่ช่วยตนเองแล้ว ยังมีส่วนกร่อนทำลายพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย แต่ผู้ที่รู้ตัวว่าสามารถบวชได้ แต่เมื่อโอกาสยังไม่เอื้ออำนวย ก็สามารถชดเชยโอกาสของตัวเองด้วยการทำหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้อื่นได้บวช ช่วยกันไปตามคนอื่น ตามลูกตามหลาน ตามญาติมาบวชแทนตัวเอง พอเขาบวชแล้ว ก็ให้การสนับสนุนด้วยข้าวปลาอาหาร ปัจจัยสี่ต่าง ๆ เพื่อให้พระลูกพระหลานที่มาบวชได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นความถูกต้องดีงามทั้งต่อตัวเองและต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นการทำให้คนดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นในสังคม แม้ไม่ได้มาบวชแต่ก็จะได้บุญจากการส่งเสริมความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อเราฝึกฝนอบรมตัวเองให้ดีขึ้นแล้ว ก็น่าจะเพียงพอ ทำไมถึงต้องมาคำนึงถึงการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย สำหรับเรื่องนี้ก็ขอให้นึกถึงต้นไม้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรก็ตามที ต่อให้เป็นต้นไม้สูงใหญ่เพียงใด แต่ถ้าโตขึ้นเดี่ยว ๆ อยู่กลางทุ่ง กลางที่โล่ง วันหนึ่งเมื่อพายุพัดโหมกระหน่ำมา ก็มีโอกาสโค่นลงจนได้ในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีอะไรช่วยต้านแรงลม ตอนลมพัดมาเบา ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าลมพายุพัดมาแรง ๆ เมื่อไร และไม่มีต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยขึ้นอยู่รอบ ๆ ทุกทิศทาง คอยช่วยปะทะแรงลมไว้ด้วย ไม้ใหญ่ต้นนั้นปะทะลมพายุอย่างโดดเดี่ยวตามลำพังได้ไม่นาน ก็ต้องหักโค่นลงมา ยืนหยัดเดียวดายอยู่กลางทุ่งต่อไปไม่ได้

เพราะเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นคน เป็นวัด เป็นประเทศ เป็นพระพุทธศาสนา ถ้าอยู่ลำพังเดี่ยว ๆ มันยากที่จะต้านลมแรง การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงจำเป็นจะต้องทำ เพราะเราจะเป็นคนดีโดยลำพังไม่ได้ หากเป็นคนดีโดยลำพัง ไม่สนใจว่าสิ่งแวดล้อมจะดีร้ายอย่างไร สักวันก็ต้องถูกลมพายุร้ายพัดโค่นลงมาอยู่ดี

วันนี้พระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย ได้ถูกลมแรงพัดให้โยกคลอน ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดระยะเวลา ๑๐๐-๒๐๐ ปี ซึ่งที่ผ่านมานี้ พระพุทธศาสนาโดนภัยจากการล่าเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ โดนภัยจากการรุกรานของต่างศาสนา โดนภัยจากอบายมุขกัดกร่อนอยู่ทุกวันเวลา ทำให้ประชาชนห่างเหินการปฏิบัติธรรม

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง วัดร้างจึงได้เพิ่มขึ้น จำนวนผู้บวชแต่ละปีก็ลดลง พระภิกษุที่รักษาวัดกันอยู่ในขณะนี้ นอกจากจำนวนลดลงแล้ว ก็เป็นพระผู้เฒ่าอยู่เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเมื่อพวกเราได้ไปจัดงานบวชอุบาสิกาแก้ว บวชพระแสนรูปที่ผ่านมา ก็ได้ไปเห็นมาด้วยตาของตัวเองแล้วว่า ความชำรุดทรุดโทรมของวัดวาอารามต่าง ๆ ที่หลวงพ่อหลวงปู่ช่วยกันรักษาลมหายใจเฮือกสุดท้ายเอาไว้ ตลอดจนความศรัทธาของญาติโยมที่ดูแลวัดในย่านนั้น ๆ ได้ ทรุดโทรมลงไปขนาดไหน ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ลมหายใจของพระพุทธศาสนาก็จะขาดสิ้นลงไปต่อหน้าต่อตาในยุคของพวกเรานี้เอง

เพราะฉะนั้น การที่พระภิกษุไปช่วยกันตามญาติโยมมาบวช การที่ญาติโยมไปช่วยกันตามคนมาบวช สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยเหลือตัวเราเองทั้งนั้น เพราะการที่เราไปตามคนมาบวชได้มากเท่าไร ทั้งพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดนั้น ๆ และศรัทธาญาติโยมที่อยู่ในย่านนั้น ๆ ก็จะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นรอบตัวเขาอย่างหนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น

ภัยจากอบายมุข ภัยจากอาชญากร ภัยจากมิจฉาทิฐิ ภัยจากศาสนาหรือความเชื่ออื่นที่ไม่หวังดีกับพระพุทธศาสนา ภัยเหล่านี้จะถูกกันออกไป เพราะเราได้คนดีมาเป็นเพื่อน มาช่วยกันเป็นสิ่งแวดล้อมให้กับเรา แล้วเราก็จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเขา

เมื่อสองฝ่ายมาบรรจบกัน ทั้งเขาและเราต่างก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่กันและกัน  สิ่งเหล่านี้ก็คือการกระทำตามมงคลสูตรในข้อที่ว่า "ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา" แปลว่า "การคบบัณฑิต" หรือ "ปูชา จ ปูชนียานํ" แปลว่า "การบูชาบุคคลที่ควรบูชา"  ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตของเรา พระพุทธศาสนาของเรา และประเทศไทยของเรา

เพราะฉะนั้น พวกเราชาวพุทธชาวไทยที่ในวันนี้ยังมีเวลาอยู่ ก็ไปช่วยกันตามคนมาบวชให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ชวนมาบวชได้มากเท่าไร ก็ทำให้สุดฝีมือไปเลย เพราะนั่นก็คือการทำเพื่อช่วยเหลือตัวเราเอง และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่วัด แก่ท้องถิ่น แก่สังคม ประเทศชาติไปด้วย  เมื่อทุกคนทำได้เช่นนี้ พระพุทธศาสนาก็จะเข้าไปอยู่ในใจของทุกคน ชาวพุทธทุกคนก็จะสามารถยืนหยัดรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้นานแสนนาน


Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๔  เดือนเมษายน  พ.ศ. ๒๕๕๕

เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร?


ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จฯ

คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บุคลิกของคนมีสัจจะเป็นอย่างไร?
ทำงานอย่างไร... ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?
ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง?
เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร?
"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร ในพระพุทธศาสนา?
วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?
การเลี้ยงดูพัฒนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?
ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ?
ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร?
การฝึกตนเป็นนักสร้างบารมี จะต้องทำความเข้าใจเรื่องใดให้ชัดเจนก่อน?
ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร ชาวพุทธจะยืนหยัด  รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:54 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.