"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร ในพระพุทธศาสนา?




คำว่า "ศรัทธา" เราได้ยิน เราได้คุ้นกันมาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งมั่นใจว่าเราเข้าใจ แต่เอาเข้าจริง ๆ เราเข้าใจผิดกันเสียเป็นส่วนมาก  คำว่า "ศรัทธา"  ในพระพุทธศาสนา ถ้าจะแปลกันให้ชัด ๆ แปลว่า "ความเชื่อโดยปราศจากความสงสัยในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" หรือเรียกให้ชัดลงไปว่า "ตถาคตโพธิสัทธา"

การที่ใครจะเชื่อจนหมดสงสัย ก็แสดงว่าไม่ใช่ความเชื่อตาม ๆ กันมา แต่เป็นความเชื่อที่ได้เจาะลึกจนกระทั่งเข้าใจเหตุผลนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น แค่คำว่า "ศรัทธา" คำเดียว ก็เป็นเรื่องที่เราจะดูเบาไม่ได้เสียแล้ว

ในเบื้องต้นนั้น  คนที่จะมี  "ศรัทธา"  คือความเชื่อเพราะหมดสงสัยในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องประกอบเหตุ ๒ ประการ คือ

๑. ได้ค้นคว้าเจาะลึกในเรื่องราวประวัติการสร้างบารมีของพระพุทธองค์มามากพอสมควร

๒. ได้ศึกษาขั้นตอนในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอย่างชัดเจน

ในทางปฏิบัติ  ถ้าถามว่าคนที่จะเข้าใจเรื่องนี้ทำได้ยากไหม ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะคนที่จะเข้าใจได้จริงนั้น นอกจากศึกษาพุทธประวัติหรือประวัติของพระองค์มาอย่างละเอียดแล้ว ยังจะต้องศึกษาเรื่องสมาธิมาอย่างลึกซึ้ง และเคยทดลองฝึกสมาธิจนกระทั่งได้รับผลการปฏิบัติในระดับใดระดับหนึ่งแล้ว จึงจะหมดสงสัย

ถ้าคน ๆ นั้นยังไม่เคยฝึกสมาธิ ก็ยากที่จะเข้าใจขั้นตอนการตรัสรู้ หรือแม้เคยฝึกมาบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับมีประสบการณ์ภายในที่น่าพอใจ เช่น ยังไม่เคยเจอความสว่างจริง ๆ จัง ๆ ยังไม่เคยหาศูนย์กลางกายได้ ยังไม่เคยเห็นปฐมมรรคว่าเป็นอย่างไร หรือยังไม่เข้าถึงพระธรรมกายว่าเป็นอย่างไร ถ้าอย่างนั้น ความเข้าใจชัดเจนในเรื่องของการตรัสรู้ก็คงจะยาก

ด้วยเหตุนี้  คำว่า “ศรัทธา”  ซึ่งเป็นธรรมะเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา จึงเป็นเรื่องที่ดูเบาไม่ได้ เพราะถ้าหากเพียงแต่อ่านพุทธประวัติผ่าน ๆ ไม่ได้เจาะลึกเหตุผลการสร้างบารมี ๑๐ ทัศ ไม่ได้นั่งสมาธิจนกระทั่งได้สัมผัสกับธรรมะภายใน บุคคลเหล่านี้ก็ยากที่จะรู้จักคำว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศรัทธาตัวจริงที่เรียกว่า "ตถาคตโพธิสัทธา"

และเพราะญาติโยมที่ตั้งใจจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่า “ศรัทธา” ซึ่งเป็นธรรมะเบื้องต้นที่จะบรรลุธรรมต่อไปข้างหน้า จึงทำให้ความทุ่มเทใน ๓ เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นมา

๑.  ความทุ่มเทที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เกิดขึ้นมา

๒. ความทุ่มเทที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไม่ให้ถูกทำลายก็หย่อนลงไป ไม่เกิดขึ้นมา

๓. ความทุ่มเทที่จะป้องกันและรักษาศาสนสถานต่าง ๆ ตั้งแต่โบสถ์ วิหาร ให้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ไม่เกิดขึ้นมา

ความทุ่มเททั้ง ๓ เรื่องนี้ เป็นความทุ่มเทของคนส่วนใหญ่ ลองมาพิจารณาดูว่า แค่ความทุ่มเทที่จะรักษาพระพุทธรูปประจำวัดให้เป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในย่านนั้น  ถ้าหากไม่มีศรัทธาในระดับที่ลงมือนั่งสมาธิตามพระองค์ไป ก็ยากจะมีความทุ่มเทขึ้นมา แม้แต่โต๊ะหมู่ หรือหิ้งพระที่บ้านตัวเอง เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิดหรือวันปีใหม่ ก็จัดดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาอย่างดี แต่หลังจากทำบุญวันนั้นแล้ว ดอกไม้ก็เสียบอยู่ในแจกันนั่นแหละ แล้วก็ปล่อยทิ้งเอาไว้ เริ่มตั้งแต่ก้านที่แช่น้ำในแจกันก็เน่า ยุงก็ลงไปไข่ในแจกันนั้น ลูกน้ำก็เกิดอยู่ในแจกัน จนกลายเป็นยุงเต็มบ้าน ผ่านไปแรมเดือนแรมปี แจกันก็ยังตั้งอยู่ที่หิ้งพระ เห็นแต่ดอกไม้แห้ง ๆ ก้านเน่า ๆ อยู่ที่หิ้งพระ อยู่ที่โต๊ะหมู่ตามเดิม จนกระทั่งครบวันเกิดอีกที หรือปีใหม่อีกที ก็ค่อยไปจัดโต๊ะหมู่บูชาใหม่ แล้วก็ไปทำบุญอีกที ดอกไม้ชาวพุทธคงทนเหลือเกิน ช่อเดียว ดอกเดียวบูชาได้ตลอดปี บูชาตั้งแต่สดจนกระทั่งเน่า จากเน่าแล้วก็แห้ง

ทำไมเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคน ๆ นั้น ยังไม่ถึงระดับที่ลงมือศึกษาและนั่งสมาธิจนกระทั่งสิ้นสงสัย ในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์

การที่เราศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ก็เพราะว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตาทวด นับถือกันมา ก็เลยนับถือตาม ๆ กันไป  ส่วนว่าพระพุทธศาสนาจะดีจริงแค่ไหน อย่างไร ก็ไม่เคยศึกษากันอย่างจริงจัง อาการหิ้งพระร้างที่ยกตัวอย่างมานี้จึงเกิดขึ้นให้เห็น

เมื่อหิ้งพระที่บ้านยังร้าง ก็ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมวัดร้างในประเทศไทยจึงมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี อย่าไปโทษใคร ต้องโทษว่าชาวพุทธเองไม่ตั้งใจศึกษาหาความรู้ในศาสนาของตัวเอง และเราก็เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น วันนี้รู้แล้วก็ขอให้ศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ อย่างน้อยที่สุดก็รู้ในระดับ ที่สำนึกตัวเองได้ว่า เราผิดพลาดไป

แต่ว่าเราจะต้องทำอย่างไรศรัทธาจึงจะเพิ่มพูนเต็มที่ทั้งในระดับของการนั่งสมาธิ และระดับของการอธิบายให้คนอื่นเข้าใจเหตุผล จนลงมือปฏิบัติธรรมตามพระพุทธองค์ไป นี่ก็เป็นศรัทธาที่ต้องใช้การฝึกฝนให้เกิดความสามารถอีกระดับหนึ่ง

อุปมาเหมือนหัวรถจักรกับขบวนรถไฟ หัวรถจักรที่ใช้ลากขบวนรถไฟต้องมีแรงมากพอจะขับเคลื่อนตัวเอง และมีแรงมากพอจะดึงขบวนรถไฟทั้งขบวนให้วิ่งตามไปด้วย

ถ้าหัวรถจักรมีแรงขับเคลื่อนน้อย ก็ขับเคลื่อนไปได้เฉพาะการเคลื่อนที่ของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถดึงขบวนรถไฟไปได้

ถ้าหัวรถจักรนั้นออกแบบก่อสร้างมาอย่างดี ให้มีแรงขับเคลื่อนมาก ก็สามารถดึงขบวนรถไฟทั้งขบวนไปได้ แต่ในบรรดาหัวรถจักรที่มีกำลังมาก ก็ยังมีกำลังลากแบ่งเป็นหลายระดับ บางประเภทดึงรถไฟได้ขบวนเล็ก ขบวนกลาง ขบวนใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับพลังขับเคลื่อนของหัวรถจักรนั้น

ศรัทธาของคนเราก็เช่นกัน ถ้าคนที่ไม่ตั้งใจฝึกสมาธิให้เต็มที่ อย่าว่าแต่มีพลังไปชวนพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ครูอาจารย์ หรือผู้มีพระคุณ ให้เกิดความศรัทธาได้เลย  แม้แต่ศรัทธาของตัวเองก็ยังไม่แน่ว่าจะฉุดดึงตัวเองไปได้

ดังนั้น  คนที่จะมีศรัทธาไปชักชวนให้คนอื่น ๆ ทำความดีได้ ก็ต้องตั้งใจนั่งสมาธิให้มาก ๆ ถ้ายังไม่เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ก็ยากที่จะเข้าใจการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจน และยากที่จะไปฉุดดึงคนอื่น ๆ ให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมตามมา

เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มที่ศรัทธาของตัวเราเองก่อน ต้องพยายามรักษาอารมณ์ให้ดีในแต่ละวัน ไม่ให้ไปหงุดหงิดใครได้ง่าย ๆ เพราะคนเราที่อยู่ด้วยกันนั้น ทั้งเขาและเราก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เพราะยังไม่หมดกิเลสด้วยกันทั้งคู่ โอกาสที่จะทำให้เกิดความหงุดหงิดต่อกันก็เกิดขึ้นได้

นอกจากบังคับตัวเองให้ดี ที่จะไม่ไปทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร ที่จะไม่ไปกระทบกระทั่งคนอื่น ๆ ให้หงุดหงิดด้วยแล้ว ก็ต้องพยายามรักษาใจให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดทั้งวัน พยายามฝึกให้ใจของเราชุ่มเย็นอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดทั้งวัน ฝึกไปวันต่อวัน

เมื่อเราพยายามฝึกอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ โอกาสที่ใจของเราจะนิ่งอย่างต่อเนื่องในศูนย์กลางกาย ก็มีมาก แล้วการทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกาย ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยอีกต่อไป

เมื่อใดที่เข้าถึงพระธรรมกาย เมื่อนั้นศรัทธา ในระดับที่เรียกว่า  "ตถาคตโพธิสัทธา"  ซึ่งเป็นศรัทธาในระดับที่ทุ่มชีวิตจิตใจให้กับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็จะบังเกิดขึ้นอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ เกิดขึ้น ก็จะไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อใจของเราแช่อิ่มอยู่กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายในตัวของเราแล้ว กำลังใจที่จะไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา จะฟื้นฟูวัดร้าง จะฟื้นฟูศีลธรรมโลก ก็จะบังเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล กำลังใจที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนคนทั้งโลกให้ปิดหนทางนรก เปิดหนทางสวรรค์ ถางทางไปพระนิพพาน ก็จะสถิตแน่นมั่นคงอยู่ในใจ อุปสรรคใด ๆ ที่บังเกิดขึ้น ก็จะถูกแก้ไขด้วยปัญญาไปตามลำดับ ๆ ในที่สุด ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเหมือนย้อนยุคพุทธกาล ก็จะต้องกลับมาอีกครั้งในยุคของพวกเราอย่างแน่นอน

ดังนั้น  ศรัทธาของตัวเราที่ได้จากการเข้าถึงพระธรรมกายภายในมีมากเท่าใด ศรัทธาที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองไปทั่วโลกก็มีมากเท่านั้น  ศรัทธาจึงเป็นธรรมะเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธทุกคนจะดูเบาหรือมองข้ามไปไม่ได้



Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๖  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๕


เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร? 
วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?


คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บุคลิกของคนมีสัจจะเป็นอย่างไร?
ทำงานอย่างไร... ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?
ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง?
ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร?
วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?
การเลี้ยงดูพัฒนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?
ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ?
ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร?
การฝึกตนเป็นนักสร้างบารมี จะต้องทำความเข้าใจเรื่องใดให้ชัดเจนก่อน?
"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร ในพระพุทธศาสนา? "ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร  ในพระพุทธศาสนา? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:12 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.