ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง?



ในการทำงานตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนกระทั่งทำงานกับคนหมู่มาก เราได้ยินกันมาตลอดว่า หัวใจ ของความสำเร็จคือการทำงานเป็นทีม

แต่แม้ว่าทั้งที่เราก็เข้าใจตรงกันอย่างนี้ เมื่อเวลาทำงาน เราก็ตั้งใจทำให้เป็นทีม แต่บางครั้งก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จได้อย่างใจ แล้วก็มักจะสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุให้การทำงานเป็นทีม ประสบความล้มเหลว เพราะถ้ารู้คำตอบนี้ เราก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขตนเองและทีมงานให้ทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การที่หมู่คณะใดหมู่คณะหนึ่งจะทำงานเป็นทีมเวิร์กได้ดีนั้น จะไม่เป็นเรื่องยากเลย  ถ้าหมู่คณะ นั้นฝึกฝนอบรมตนเองมาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกตนเองในเรื่องของความอดทน

พวกเราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า พื้นฐานของความเป็นทีมเวิร์กที่ดีนั้น อยู่ที่  "ความอดทนของผู้ที่เข้าไปร่วมทีม" เป็นหัวใจหลัก ส่วนเรื่องความฉลาดและความชำนาญในการทำงานนั้น ยังเป็นเรื่องรองลงไป 

ความอดทนที่ก่อให้เกิดความเป็นทีมเวิร์กได้นั้น มีอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ คือ

๑. อดทนต่อการกระทบกระทั่ง

๒. อดทนต่อคำสรรเสริญเยินยอ

ถ้าใครก็ตามที่เข้ามาร่วมทำงานเป็นทีม ในขั้นต้นเขาเป็นคนไม่อดทนต่อเรื่องจุกจิกที่จะไหลเข้ามาในเวลาทำงาน ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่จากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งที่แม้ว่าทุกคนจะมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี เวลาปฏิบัติงานก็จะต้องทำเป็นขั้นตอนอย่างนั้น ๆ แต่ก็จะมีเรื่องขัดใจกันจากเรื่องจุกจิก จนเป็นสาเหตุให้อยู่ร่วมงานกันไม่ได้

เพราะในการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันเป็นทีมเวิร์กนั้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอเรื่องรายละเอียดที่เป็นส่วนจุกจิกอีกมาก และไม่มีใครที่จะมีความเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไปทุกเรื่อง อาจจะมีความเห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง แต่ถ้าไม่อดทนต่อการกระทบกระทั่งแล้ว การร่วมทีมกันก็จะไปไม่รอด ทีมก็จะแตกกลางคัน

อีกพวกหนึ่งก็คือคนที่ต้องการให้ใคร ๆ เขาชมอยู่เรื่อย พอไม่ได้รับคำชม ก็มีอาการจะเป็นจะตายขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นเรื่องจุกจิกกระทบกระทั่งกัน จนเป็นสาเหตุให้ทีมเวิร์กพังลงได้

หมู่คณะใดมีทีมเวิร์กที่ดี นั่นก็หมายถึงว่า หมู่คณะนั้นมีผู้ร่วมทีมที่มีความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง และคำสรรเสริญเยินยอได้มากกว่านั่นเอง

บทฝึกที่จะทำให้เกิดความอดทนต่อการกระทบกระทั่งในการทำงานร่วมกันได้อย่างดี ก็คือ การฝึกความละเอียดลออในการใช้ปัจจัยสี่ พวกเราเคยสังเกตไหมว่า เวลาทำงานร่วมกัน เพียงแค่สมาชิกคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในทีม หยิบเครื่องไม้เครื่องมือไปใช้ทำงานแล้วไม่เอากลับมาไว้ที่เดิม หรือเอากลับมาไว้ที่เดิมเหมือนกัน แต่ไม่ทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพียงแค่นี้ก็เกิดการกระทบกระทั่งกันแล้ว ทำให้งานใหญ่เกิดความเสียหายได้เช่นกัน

การที่คนใดคนหนึ่งจะมีลักษณะนิสัยละเอียดลออ หยิบสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ เสร็จแล้วก็ทำความสะอาด นำกลับไปไว้ที่เดิมให้เรียบร้อย ไม่ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ก่อภาระให้คนอื่นต้องมาตามล้างตามเก็บในภายหลัง ใครที่ฝึกตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ นั่นก็หมายความว่า เขาต้องฝึกการดูแลการใช้ข้าวของส่วนตัว ทั้งเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มก็เก็บพับเรียบร้อย รับประทานอาหารก็มีมารยาท มื้อไหนมีของอร่อยก็แบ่งปันกันให้ทั่ว ๆ ไม่ใช่เจออาหารถูกปากก็ตักกินคนเดียวหมด อาหารที่ไม่ถูกปากก็ปล่อยให้ชาวบ้านกินไป เมื่อรับประทานเสร็จก็ช่วยกันเก็บล้างทำความสะอาดอย่างดี

การฝึกฝนอบรมตนเองอย่างนี้ จะทำให้เป็นคนไม่เอาแต่ใจตัว เมื่อไม่เอาแต่ใจตัวก็เลยกลายเป็น คนที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความอดทน ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งไปในตัว

ถ้าเราผ่านไปที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นบ้านใคร หรือแผนกงานใด แค่เห็นไม้กวาดที่เขากวาดบ้าน หรือกวาดพื้นถูกวางทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ สายยางรดน้ำใช้แล้วก็ไม่ขดไม่ม้วนให้เรียบร้อย ผ้าขี้ริ้วใช้แล้วก็ไม่ซักไม่ตากในที่ที่เหมาะสม สันนิษฐานได้เลยว่า บ้านหลังนั้นจะต้องมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เป็นประจำ

แต่ถ้าเราผ่านไปบ้านไหน เห็นเขาเก็บสิ่งของไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยดีหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็รู้ไว้เถอะว่าในความมีระเบียบของคนในบ้านนั้น เขาได้ฝึกฝนอบรมคนของเขาให้มีความอดทนต่อการกระทบกระทั่งเป็นอย่างดีแล้วด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่อยู่ในบ้านหลังนั้นก็เลยไม่มีการตำหนิกัน ไม่มีการจับผิดกัน อาการหิวคำชมจึงไม่เกิดขึ้น

คนที่หิวคำชม ต้องการแต่คำสรรเสริญเยินยอ ก็แสดงว่าถูกด่าถูกตำหนิมามาก จึงอยากจะให้ใครเขามาชมบ้าง แต่ถ้าใครทำทุกอย่างดี เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็มักได้คำชมเป็นปกติ ไม่เคยถูกตำหนิ จึงไม่ต้องไปโหยหาคำชมกันอีก

ถ้าใครคิดว่า ตนเองยังอดทนต่อการกระทบกระทั่งได้ไม่ดีพอ ก็ให้กลับมาเคี่ยวเข็ญตนเองในเรื่องการใช้สอยปัจจัยสี่ เช่น ไปนั่งที่ไหนก็เก็บเก้าอี้เก็บโต๊ะในเวลาเลิกนั่ง ไปกินที่ไหนก็เก็บถ้วย ช้อน ชาม ให้ดีเวลาเลิกกิน ไปเขียนหนังสือหรือไปทำงานตรงไหน พอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เก็บเครื่องไม้เครื่องมือให้ดี ในขณะที่กำลังทำงานอยู่ ก็รู้จักใช้ของให้พอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ขี้เหนียว ไม่ตระหนี่ถี่ถ้วนจนเกินไป

ถ้าเราเคี่ยวเข็ญฝึกอบรมตนเองให้สะอาดและเป็นระเบียบ ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งก็จะเกิดขึ้น และจะช่วยยกระดับความอดทนในเรื่องอื่นให้สูงขึ้นด้วย เพราะเมื่อเรามีความอดทนต่อการควบคุมตัวเองได้สูงกว่าเดิมแล้ว ความมีน้ำใจและความอยากจะทำงานเป็นทีม ก็จะเกิดขึ้นมาเอง แต่ถ้าพื้นฐานเรื่องการใช้ปัจจัยสี่ยังดีไม่พอ ความคิดอยากจะให้ทำงานกันเป็นทีมก็จะดับไป ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว 

หมู่คณะใดมีทีมเวิร์กที่ดีในการทำงานแล้ว แต่อยากจะปรับปรุงความเป็นทีมเวิร์กให้ดีไปกว่านี้อีก ก็ต้องมากวดขันในเรื่องการใช้ปัจจัยสี่ กวดขันในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ วัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน

เมื่อสมัยหลวงพ่อยังเป็นนิสิต ยังเรียนหนังสืออยู่ เวลาหลวงพ่อไปยืมตำรับตำราของใคร หรือไปยืมเครื่องไม้เครื่องมือของใคร เจ้าของก็อยากให้ยืม เพราะว่าถ้ายืมหนังสือหรือยืมสมุดของเขามาแล้ว ขากลับใส่ปกกลับไปให้เขาเรียบร้อย วันหลังเขาก็อยากให้เรายืมอีก ในขณะที่บางคน ไปยืมหนังสือหรือยืมสมุดของเขามา พอนำมาใช้ ก็ใช้เสียจนยู่ยี่ยับเยินไปหมด เมื่อถึงเวลานำกลับไปคืน เจ้าของเห็นสภาพยับเยินแบบนั้น วันหลังก็ไม่ให้บุคคลประเภทนั้นยืมอีก

เรื่องนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานเป็นทีม ถ้าที่ใดไม่กวดขันในเรื่องการใช้ปัจจัยสี่ให้สะอาดเป็นระเบียบดังที่ว่านี้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การหวงสิ่งของเครื่องใช้ ไม่ยอมแบ่งกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นของส่วนกลางก็ไม่ยอมแบ่งให้คนอื่นใช้งาน

คนที่หวงของนั้น มีอยู่  ๒ ประเภท

๑. คน ๆ นั้นเป็นคนมีนิสัยละเอียดลออ แต่คนที่นำของไปใช้งาน พอใช้แล้วไม่จัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างที่เขาเคยใช้อยู่ วันหลังเขาก็ไม่อยากให้มาใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องหันมามองดูตัวเองด้วย โดยเฉพาะเวลาที่เราไปใช้ข้าวของร่วมกับใครแล้วเขาไม่อยากให้เราใช้ด้วย

๒. คน ๆ นั้นเป็นคนมีนิสัยหวงของจริง ๆ ไม่ว่าจะทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ผู้ร่วมงานก็เป็นคนเรียบร้อย ขณะที่ตัวเองก็ไม่ได้เรียบร้อยกว่าเขาหรอก ถ้าในกรณีนี้ ก็ต้องมาแก้ไขปรับปรุงนิสัย หวงข้าวหวงของให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเอาของส่วนรวมไปใช้เป็นของส่วนตัว

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ร่วมทีมคนใดแก้ไขปรับปรุงนิสัยของเขาอย่างนี้เป็นประจำ ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งก็จะสูงขึ้น เพราะได้ฝึกควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีกว่าเดิมแล้ว จึงไม่ต้องมากระทบกระทั่งกัน ในที่สุดทีมนั้นก็จะน่าอยู่ คนดีมีฝีมือก็อยากเข้ามาร่วมทีม ผู้ร่วมทีมก็รักที่จะอยู่ในทีมไปนาน ๆ ความเป็นทีมเวิร์กก็จะยิ่งแกร่งขึ้นไปทุกวัน องค์กรนั้น หน่วยงานนั้น ก็จะสามารถทำงานเป็นทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ความสำเร็จต่าง ๆ ก็จะไหลมาเทมา เพราะมีพื้นฐานความสะอาด ความเป็นระเบียบ และความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ที่ได้ฝึกมาดีแล้วทั้งทีมนั่นเอง


Cr. หลวงพ่อตอบปัญหา
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๓   เดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๕



ทำงานอย่างไร... ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย

ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บุคลิกของคนมีสัจจะเป็นอย่างไร?
ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง? ทำงานเป็นทีมอย่างไร  ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:11 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.