เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร?



คำว่า  "พร"  มาจากคำว่า  "วร"  เป็นคำๆ เดียวกับคำว่า  "พระ"  ซึ่งแปลว่า  "ประเสริฐ"  

ให้พร  คือ  ให้ความประเสริฐ

ความประเสริฐของพระอยู่ตรงไหน แตกต่างอย่างไรกับความประเสริฐของคน  เพราะความจริงแล้วทุกคนเกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่วัด

ความประเสริฐของมนุษย์นั้น  อยู่ที่การปราบกิเลส  ใครปราบกิเลสในตัวได้มากเท่าไร ก็เป็นความประเสริฐของผู้นั้นมากเท่านั้น

กิเลสที่ฝังอยู่ในใจเราคอยบีบคั้นให้เราทำกรรมชั่ว  เพื่อนมนุษย์ทุกคนทั่วทั้งโลกก็มีกิเลสฝังอยู่ในใจ คอยบีบคั้นใจให้ทำกรรมชั่วเช่นเดียวกัน

ถ้าปล่อยตัวปล่อยใจตามอำนาจกิเลส ก็จะทำให้ความคิดตกอยู่ใต้อำนาจความโลภ  ความโกรธ ความหลง แล้วคำพูด การกระทำ ที่เป็นผลจากความคิดนั้น ก็พูด ทำ ด้วยอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วความชั่วต่างๆ ก็จะเกิดตามมา นิสัยไม่ดีต่างๆ ก็จะเกิดตามมา

ในทางตรงกันข้าม ใครตั้งใจฝืนกระแสกิเลส ไม่ทำตามอำนาจกิเลสในตัว และไม่ทำตามอำนาจ กิเลสของเพื่อนมนุษย์ที่เป็นกระแสอยู่นอกตัว บาปก็ไม่เกิด ความชั่วใดๆ ก็ไม่เกิด แต่บุญเกิด เมื่อบุญเกิดขึ้นมากเพียงใด ใจก็ผ่องใสมากขึ้นเพียงนั้น ความผ่องใส ความสว่าง เกิดขึ้นมากเท่าใด ก็กำจัดกิเลสที่ห่อหุ้มหมักดองใจได้มากเท่านั้น นิสัยไม่ดีต่างๆ ก็จะถูกทำลายไปด้วย นิสัยดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นมาแทน

ท่านจึงสรุปว่า ความประเสริฐคือการฝืนใจไม่ทำตามอำนาจกิเลส ซึ่งเป็นกรรมดี มีผลทำให้ กิเลสถูกทำลายไปด้วย แล้วจะมีสิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ใจอยู่ในตัวไม่หนีเที่ยว บุญก็เกิด นิสัยดีๆ ก็เพิ่มพูนขึ้น

ความประเสริฐของพระนั้นอยู่ตรงที่ แม้ยังไม่หมดกิเลสแต่ก็รู้ว่าตัวเองยังดีไม่พอ แล้วก็รู้ด้วยว่าวิธีแก้ไขจะต้องอาศัยคำสอนของท่านผู้รู้จริง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาเป็นแม่บทในการแก้ไขตนเองจึงตั้งใจบวชเพื่อจะปราบกิเลส ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะทรงสั่งสอนเอาไว้

ครั้นเมื่อบวชมาศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ก็ลงมือทำตามด้วยการควบคุมกาย วาจา ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ตัวเอง ด้วยการรักษาศีลตามคำสอนของพระองค์

ต่อมาก็ตั้งใจฝึกสมาธิ ควบคุมตัวเองให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา แม้ในความคิดก็เลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีงาม

จากนั้นก็ตั้งใจพากเพียรพยายามศึกษาคำสอนของพระองค์ให้เข้าใจถ่องแท้และเพียรพยายาม แก้ไขความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจมาตามลำดับ ตัวเองปราบความไม่ดีไปถึงไหนก็รู้ ตัวเองเหลืออีกเท่าใดก็รู้

สิ่งเหล่านี้เป็นความประเสริฐมาตามลำดับของพระ จากความประเสริฐเหล่านี้ทำให้หมดความ ทุกข์ หมดกิเลส หมดความไม่ดีไม่งามต่างๆ ไปตามลำดับ แล้วความรู้จริง ความเข้าใจถูกต้องต่อโลกต่อชีวิตก็จะเพิ่มพูนขึ้นมาโดยลำดับ ทำให้ตัวเองไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเองด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ยังเทศน์อบรมใครไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่แบบพระ ก็แสดงให้ชาวโลกรู้ได้ว่าจริง ๆ แล้วชีวิตคนเราไม่ต้องการอะไรมากนัก เพียงแค่อาหารวันละ ๒ มื้อ มื้อหนึ่งก็ไม่มาก ไม่มีความจำเป็นจะต้องรับเข้าไปมากกว่านั้น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เป็นของจำเป็นแก่ชีวิต ก็ไม่ใช้อะไรมาก เพียงไตรจีวร ๑-๒ ชุด ก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องการเสื้อผ้ามากเป็นตู้ ๆ ที่อยู่อาศัยก็ไม่จำเป็นต้องโอ่โถงตกแต่งวิจิตรพิสดารอะไรมาก เรื่องป่วยไข้โอกาสจะป่วยก็ยาก เพราะไม่ได้ถล่มทลายสังขารตัวเอง มีความระมัดระวังไม่เอากายไปทำความล่วงล้ำก้ำเกินใคร พยายามที่จะรู้ประมาณในความสะดวกความสบาย ไม่ให้เกินไป ไม่เอาแต่ใจจนเกินไป ความป่วยไข้จึงยากจะเกิด ถ้าจะมีความป่วยไข้ก็มักจะเกิดจากผลกรรมในอดีตที่ตามมา ก็เป็นเรื่องที่ต้องทนกัน แต่กรรมใหม่ก็พยายามทำดีที่สุด ไม่สร้างกรรมชั่วขึ้นมาอีก

สิ่งเหล่านี้เป็นความประเสริฐทางพฤติกรรมที่แสดงออกมาให้โลกภายนอกได้เห็น ได้ถือเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต เพราะชีวิตพระทำให้แยกออกได้ง่ายว่า อะไรคือความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ และอะไรคือความต้องการเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสบาย

โดยสรุป

ความประเสริฐของพระประการที่หนึ่งอยู่ตรงที่กำจัดกิเลสให้หมดไปตามลำดับๆ  แม้ยังไม่หมดเด็ดขาด ก็ลดน้อยถอยลง

ความประเสริฐของพระประการที่สองคือ  กำจัดนิสัยไม่ดีไม่งามให้หมดไปพร้อม ๆ กับการกำจัดกิเลสและเพิ่มพูนนิสัยดีๆ ขึ้นมา เหมือนเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า  นอกจากกำจัดความมืดให้หมดไปแล้ว ก็ยังเพิ่มความสว่างให้กับโลกด้วย

ชีวิตพระเมื่อปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นอกจากฆ่ากิเลส ฆ่านิสัยไม่ดีแล้ว นิสัยดี ๆ ก็เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นบุญก็เกิดตามมาโดยลำดับด้วย

ผลพลอยได้ของญาติโยมก็คือ ได้เห็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อมีโอกาสในภายภาคหน้า พระก็จะได้อบรมสั่งสอนให้เขาเหล่านั้นได้รู้ตาม ได้ประพฤติปฏิบัติ ได้ความประเสริฐติดตัวเขาไปด้วย

วิสัยของพระ วิสัยของผู้ประเสริฐ ย่อมไม่จับผิดใคร แต่จะตามระลึกถึงความดีที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตัว ความไม่ดีที่ใครทำแก่ตัวหรือทำแล้วกระทบกระทั่งมาถึงเรา ไม่จำ ไม่สนใจ ไม่เสียเวลา ไปนึกถึง จะนึกถึงแต่ความดีที่คนอื่นเขาทำให้กับเรา

เมื่อพระภิกษุได้รับการบำรุงจากญาติโยม จะบำรุงด้วยข้าวปลาอาหาร เสนาสนะที่อยู่อาศัย หรือจีวรผ้านุ่งผ้าห่ม หยูกยาและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม ทำให้พระภิกษุสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้สะดวกสบายขึ้น จนกระทั่งความประเสริฐภายในเกิดตามมาดังได้กล่าวไว้ข้างต้น

เมื่อพระภิกษุได้รับการบำรุงแล้ว ก็เป็น  "อริยประเพณี" ว่า  ต้องมานึกถึงความประเสริฐที่ตัวเองได้รับ โดยสำนึกว่าตัวของเรานี้ได้รับการบำรุงจากเจ้าภาพทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุน ประคับประคองมาจากผู้มีพระคุณในอดีต อดีตที่ผ่านมาก่อนที่จะบวชด้วย แล้วตั้งกุศลจิต ขอให้ความประเสริฐในตัวซึ่งเกิดจากการบำรุงของญาติโยม ขอให้เขาเหล่านั้นได้บุญตามมาด้วย ในฐานะที่ส่งเสริมให้เกิดความประเสริฐเหล่านี้ในตัวพระ ส่งเสริมให้เกิดความประเสริฐเหล่านี้ขึ้นในโลก และเป็นผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาไปด้วยในตัว ขอให้บุญนี้ ความประเสริฐนี้ ส่งผลให้เขาเหล่านั้นมีแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อตั้งจิตอย่างนี้แล้ว พระท่านก็จะให้พรเป็นภาษาบาลีตามประเพณีนิยมสืบต่อไป

ด้วยจิตเมตตาที่แผ่ออกไป จะส่งผลเป็นความสุขเกิดขึ้นในใจของผู้รับทันที และส่วนที่นึกอุทิศบุญกุศลให้ไปถึงแก่ผู้ล่วงลับ หากเขาอยู่ในสภาพที่รับได้ อยู่ในภพภูมิที่รับได้ บุญก็จะส่งผลให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

การที่พระท่านทำเช่นนี้ ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่สมบูรณ์ ผู้ที่ทำบุญกับพระก็เหมือนกับต่อรับบุญจากพระ บุญก็บังเกิดเต็มเปี่ยมกับเขาด้วย เพราะได้เนื้อนาบุญที่ดีจากพระ เมื่อเป็นอย่างนี้ ญาติโยมที่ทำบุญกับพระก็มีแต่ความสุข ความเจริญ แล้วก็มีกำลังใจที่จะทำนุบำรุงพระภิกษุสามเณร ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดจนมีกำลังใจอบรมสั่งสอนลูกหลาน บริวารว่านเครือ ให้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามท่าน ผลดีและความดีทั้งมวลก็จะก่อเกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่อย่างนี้



Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว


"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไรฯ
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๑๕  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๕


ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
บุคลิกของคนมีสัจจะเป็นอย่างไร?
ทำงานอย่างไร... ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?
ทำงานเป็นทีมอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง?
ชาวพุทธจะยืนหยัด รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร
"ศรัทธา " มีความหมายอย่างไร ในพระพุทธศาสนา?
วันพระ มีความเป็นมาอย่างไร?
การเลี้ยงดูพัฒนาเด็ก ควรจะเริ่มต้นอย่างไร ?
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?
ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฎแห่งกรรม ?
ธรรมชาติของกรรมเป็นอย่างไร?
การฝึกตนเป็นนักสร้างบารมี จะต้องทำความเข้าใจเรื่องใดให้ชัดเจนก่อน?
เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร? ผู้ทำบุญได้อะไร? เวลาพระให้พร ท่านให้อะไร?  ผู้ทำบุญได้อะไร? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:17 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.