ผู้เห็นภัยในวัฎฎะ


ภิกษุ หรือ พระภิกษุ (บาลี : ภิกฺขุ ; สันสกฤต : ภิกษุ) เป็นคำใช้เรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา มีความหมาย ๒ นัย แปลตามที่มาของศัพท์บาลี ดังนี้

๑. แปลว่า ผู้ขอโดยปกติ มีรูปวิเคราะห์ คือ ภิกฺขติ สีเลนาติ ภิกฺขุ กล่าวคือ พระภิกษุเป็นผู้ขอปัจจัยสี่อันสมควรแก่สมณบริโภคจากทายกคหบดีที่น้อมถวายด้วยจิตศรัทธา มีภัตตาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เป็นต้น

๒. แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร มีรูปวิเคราะห์ คือ วฏฺฏสํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ กล่าวคือ พระภิกษุเป็นผู้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ของการเวียนว่ายตายเกิด มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากของรัก หรือประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เป็นต้น

พระภิกษุจึงเป็นผู้ที่เลี้ยงชีวิตด้วยความเรียบง่าย ออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ มีใจปลอดกังวล ฝึนตน แผ้วถางหนทางพระนิพพานอันเป็นบรมสุขที่ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า

ดังเช่นเรื่องราวที่น่าสนใจของ พระแดเนียล ธมฺมารกฺโข อายุ ๒๖ ปี พรรษา ๖ ลูกครึ่งสัญชาติไทย-อเมริกัน ผู้ค้นลึกเข้าไปในใจตน จนพบคำตอบของความสุขที่แท้จริงจากชีวิตพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ดังนี้

“อาตมาเกิดและเติบโตในประเทศไทยที่จังหวัดอุดรธานี จนอายุ ๔ ขวบ ครอบครัวจึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ๑๔ ปี รัฐฟลอริดา ๒ ปี และรัฐอิลลินอยส์ ๔ ปี

“อาตมาใช้ชีวิตประจำวันโดยตอนกลางวันเรียนที่มหาวิทยาลัย ตอนเย็นทำงานพาร์ตไทม์และออกไปเที่ยวกับเพื่อนตอนกลางคืน รวมถึงแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น บวชสามเณรให้คุณพ่อและคุณแม่ ๒ ครั้ง ที่วัดพระธรรมกายนิวเจอร์ซีย์ และอีก ๒ ครั้ง ที่โครงการบวชพระนานาชาติ IDOP

“อยู่มาวันหนึ่ง ในคืนที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมายดังเช่นทุกครั้ง มีเสียงเพลง เสียงดนตรีดังกระหึ่มและบรรยากาศที่ครื้นเครงของปาร์ตี้งานเลี้ยงฤดูร้อน แต่ในค่ำคืนวันนั้นความรู้สึกของอาตมาต่างไปจากเดิม อาตมากลับไม่รู้สึกสนุกสนานเหมือนดังเช่นแต่ก่อน จึงปลีกตัวออกจากผู้คน แล้วเดินออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ยามค่ำคืนในบรรยากาศที่เงียบสงบ มีสายลมเย็นพัดผ่านเบา ๆ พร้อมกับคำถามที่ดังขึ้นในใจว่า ทำไมเราถึงเบื่อหน่ายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในชีวิต.. ชีวิตของเราจะดำเนินไปสุดที่จุดไหน.. และสถานที่ใดที่จะค้นเจอความสุขที่แท้จริง..

“ในตอนนั้น อาตมามีความต้องการหลุดพ้นจากพันธนาการของวิถีชีวิตเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ อาตมาพยายามค้นหาบางสิ่งภายในใจที่ขาดหายไป เพียงแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร และขณะนั้นเองความทรงจำหนึ่งก็ผุดขึ้นมา เป็นช่วงเวลาอันแสนสงบในวัยเด็ก เมื่อตอนที่อาตมาได้เคยบวชเป็นสามเณร

“อาตมาจึงตัดสินใจบวชอีกครั้งในโครงการ IDOP ของวัดพระธรรมกาย ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อธัมมชโยที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีพระ วิถีพุทธ ที่สงบ สันติ ปลอดกังวล และไม่เบียดเบียน ด้วยคำสอนที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า สันติภาพภายนอก เริ่มต้นจากสันติสุขภายใน

“หลังจากที่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ อาตมาได้ฝึกสมาธิเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งทำให้อาตมาค้นเจอใจตัวเองว่า ชีวิตที่ขาดหายไปถูกเติมเต็มด้วยความสงบจากใจที่เป็นสมาธิ และสมาธินี้เองทำให้อาตมามีความสุขในทุกวันคืนตลอด ๖ ปีที่ผ่านมา สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุทฺทกนิกายธรรมบทว่า
                                               โย หเว ทหโร ภิกฺขุ        ยุญฺชติ พุทฺธสาสเน
                                        โสมํ โลกํ ปภาเสติ                อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา
ภิกษุใดแล ยังหนุ่ม พากเพียรอยู่ในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ที่พ้นจากหมอกเมฆสว่างอยู่ ฉะนั้น.”
                                                                                                                            ๒๕/๖๖/๓๕

Cr. พระมหาภูรัช ทนฺตวํโส
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๐ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑




***สามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ขอให้ใส่ Cr. ผู้เขียนด้วย***

คลิกบทความได้ที่นี่ https://dhamma-media.blogspot.com/2018/10/blog-post_32.html

คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๙๐ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ที่นี่
คลิกอ่านแต่ละบทความของวารสารอยู่ในบุญ ประจำเดือนของปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ที่นี่
คลิกอ่านหรือดาวน์โหลดวารสารอยู่ในบุญประจำเดือนของแต่ละปีได้ที่นี่
ผู้เห็นภัยในวัฎฎะ ผู้เห็นภัยในวัฎฎะ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:38 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.