สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๔ การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๔
การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า
ปัญหาทุกข์ทั้งโลกดับลงได้ด้วยการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น พระองค์จึงทรงต้องการเผยแผ่ความรู้เรื่องมรรคมีองค์
๘ ออกไปให้ชาวโลกได้รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด เร็วที่สุด กว้างไกลที่สุด
เพราะยิ่งมีผู้ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพิ่มมากขึ้นเท่าไร ปัญหาต่าง ๆ ในโลกก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น
นโยบายการเผยแผ่เชิงรุก
ในยุคบุกเบิกการเผยแผ่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้นโยบายการเผยแผ่เชิงรุกแก่เหล่าพระอรหันตสาวก ๖๐
รูปแรกของโลกไว้ว่า
“พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน
เพื่อความเอ็นดูแก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย...
“แต่พวกเธออย่าได้ไปทางเดียวกันถึง ๒ รูป พวกเธอจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
สัตว์โลกทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ผู้จักอาจรู้ทั่วถึงธรรมนั้นมีอยู่ เขาเหล่านั้นย่อมเสื่อมจากคุณที่พึงได้พึงเห็น
เพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม
แม้ตถาคตก็จะไปสู่อุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน”
พระพุทธโอวาทนี้แสดงให้เห็นว่า
๑) คำสอนในพระพุทธศาสนามีความเป็นสากล
มิได้ผูกขาดไว้เฉพาะพระองค์หรือเหล่าพระอรหันตสาวก ผู้ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเทวดา
หากปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ตามคำสอนของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
ย่อมสามารถบรรลุธรรมเช่นเดียวกับที่พระองค์ตรัสรู้ได้เช่นกัน
๒)
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องแข่งขันกับปัญหาความทุกข์ของคนทั้งโลก
ซึ่งกำลังรอคอยพระองค์และเหล่าพระอรหันตสาวกให้เดินทางไปแนะนำสั่งสอนวิธีการดับทุกข์ด้วยการปฏิบัติมรรคมีองค์
๘ จนถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเขา
๓)
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องกระจายกำลังออกไปทั่วทุกทิศทาง
เพื่อให้คนทั้งโลกมีโอกาสได้ศึกษาวิธีการดับทุกข์ด้วยการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘
ด้วยตนเองอย่างทั่วถึงทุกมุมโลก โดยไม่ให้ตกหล่นใครเลยแม้แต่คนเดียว
การหมุนธรรมจักร
เนื่องจากคำสอนในช่วงต้นพุทธกาลยังมีอยู่น้อยมาก
พระองค์จึงมิได้เรียกการส่งพระอรหันต์ออกไปสอนวิธีการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘
ว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ทรงเรียกการเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่า “การหมุนธรรมจักร” เพราะการเผยแผ่ตลอด ๔๕ พรรษานั้น คือ
การอธิบายขยายความธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั่นเอง
ในช่วงเวลาที่เพิ่งเริ่มหมุนธรรมจักรนั้น พระพุทธองค์เพิ่งตรัสรู้ได้เพียง
๕ เดือนเท่านั้น คำสอนในช่วงนั้นจึงนับว่าน้อยมาก
เมื่อเทียบกับคำสอนทั้งหมดในพระไตรปิฎก เพราะมีเพียงธัมมจักกัปปวัตนสูตร
อนัตตลักขณสูตรที่แสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป
และอนุปุพพิกถาที่แสดงแก่พระยสกุลบุตรและสหายรวม ๕๕ รูปเท่านั้น
แต่พระองค์ก็ทรงสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็ว
เพราะทรงมีวิธีหมุนธรรมจักรด้วยพระปรีชาสามารถอันยอดเยี่ยม
ซึ่งพอสรุปเป็นประเด็นการทำงานช่วงแรกบุกเบิกได้ดังนี้
๑. การบริหารเวลาชีวิต
พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการบริหารเวลาชีวิตเป็นอย่างมาก
โดยทรงกำหนดพุทธกิจเพื่อทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวัน ๕ ประการ ซึ่งเรียกว่า “พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ” ดังนี้
๑) เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
๒) เวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่ผู้สนใจใคร่ฟังธรรม
๓) เวลาย่ำค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
๔) เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
๕) เวลาย่ำรุ่งทรงส่องข่ายพระญาณตรวจดูสัตวโลกที่สามารถและที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรม
อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่
พระองค์ทรงปฏิบัติกิจวัตรเช่นนี้ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อสอนสั่งทั้งมนุษย์และเทวดาให้รู้จักการปฏิบัติมรรคมีองค์
๘ จะได้บรรลุธรรมอันเป็นปัญญาเครื่องดับทุกข์ดุจเดียวกับพระองค์
๒. การโปรดสรรพสัตว์
พระองค์ทรงแบ่งการโปรดสรรพสัตว์ออกเป็น ๒ แบบ
ดังนี้
๑) การโปรดสรรพสัตว์แบบเร่งด่วน
ช่วงเวลาย่ำรุ่งของทุกวัน ในขณะที่พระองค์ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยข่ายพระญาณ
หากพบบุคคลที่สามารถบรรลุธรรมปรากฏขึ้นในญาณทัสนะ
ก็จะเสด็จไปหาบุคคลนั้นแบบเร่งด่วนทันที เมื่อได้พบกันแล้ว
ก็จะทรงเป็นฝ่ายทักทายขึ้นก่อนเพื่อชวนสนทนา
เมื่อเขาบังเกิดจิตเลื่อมใสในพระองค์แล้ว ก็ทรงแสดงธรรมในเรื่องที่เขาสงสัยให้ฟัง
เมื่อความซาบซึ้งในธรรมขจัดความสงสัยสิ้นไป ใจของเขาก็หยุดนิ่งดิ่งเป็นสัมมาสมาธิ
พอพระธรรมเทศนาจบลงก็บรรลุธรรม พร้อมทั้งประกาศตนเป็นสาวกตลอดชีวิต
๒) การโปรดสรรพสัตว์แบบปกติ
ถ้าหากวันใดไม่มีบุคคลที่จะสามารถบรรลุธรรมปรากฏเข้ามาในข่ายพระญาณ
พระองค์ก็จะทรงดำเนินกิจวัตรประจำวันไปตามปกติเพื่อสั่งสอนอบรมบ่มอินทรีย์เหล่าสาวกให้แก่กล้าขึ้นก่อน
เมื่อมีศิษย์คนใดอบรมบ่มอินทรีย์จนแก่กล้าแล้ว
ก็จะทรงแสดงธรรมแบบเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลนั้น
เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุธรรมของเขาโดยตรง
๓. การเลือกหัวข้อธรรมที่เหมาะสม
ในการแสดงธรรมทุกครั้ง
พระองค์จะทรงเลือกหัวข้อธรรมที่เหมาะสมกับบุคคล ปัญหา สถานการณ์ นอกจากนี้ในการแสดงธรรม
ไม่ว่าจะเป็นแบบเร่งด่วนหรือแบบปกติ พระองค์จะทรงปรารภเหตุในการแสดงธรรมอยู่ ๔
ลักษณะ ได้แก่
๑)
ทรงปรารภขึ้นจากความประสงค์ของพระองค์เองโดยไม่มีใครกราบทูล
ตัวอย่างเช่น
ในคราวที่พระองค์ทรงต้องการจะให้โอวาทแก่สามเณรราหุลที่มีอายุเพียง ๗ ขวบ
ก็เสด็จไปถึงที่พักสามเณร แล้วตรัสแสดง ราหุโลวาทสูตร
เพื่อปลูกฝังให้สามเณรรู้ว่า “สัจจะ” คือ
คุณธรรมอันเป็นเสาหลักค้ำจุนชีวิตคน คนที่ยังพูดโกหกไร้สัจจะ คือ คนที่ยังทำความชั่วได้ทุกอย่าง
หากต้องการบรรลุอริยสัจ ๔ ต้องฝึกการมีสัจจะต่อความดีให้เป็นนิสัยประจำตัว
สามเณรราหุลได้รับฟังโอวาทแล้ว
ก็ตั้งใจฝึกความเป็นผู้มีสัจจะตั้งแต่ ๗ ขวบ เพื่อบ่มอินทรีย์ให้แก่กล้า
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
โดยอาศัยความมีสัจจะที่ได้รับการปลูกฝังไว้เป็นพื้นฐานตั้งแต่เด็กเป็นคุณธรรมหลักในการบรรลุอรหัตผล
๒)
ทรงปรารภจากอัธยาศัยของบุคคลผู้ควรตรัสรู้ธรรม
ตัวอย่างเช่น
ในคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาล ซึ่งเวลานั้นฆ่าคนและตัดนิ้วไปแล้ว ๙๙๙
คน กำลังตามล่าหานิ้วสุดท้าย เพื่อให้ครบหนึ่งพัน
พระองค์ทรงเห็นในข่ายพระญาณว่าเป็นโจรที่มีบุญมากพอจะได้เป็นพระอรหันต์ในอนาคต
แต่ถ้าไม่เสด็จไปห้ามการฆ่าไว้ก่อน ก็จะทำอนันตริยกรรมฆ่าตัดนิ้วแม่บังเกิดเกล้า
แล้วบาปกรรมจากการทำมาตุฆาต ก็จะตัดหนทางแห่งมรรค ผล นิพพาน
พระองค์จึงเสด็จไปดักหน้า
เพื่อล่อให้โจรองคุลิมาลวิ่งตามฆ่าพระองค์
แต่โจรองคุลิมาลยิ่งเร่งฝีเท้าเท่าไรก็ยังตามไม่ทัน
จึงตะโกนร้องเรียกให้พระองค์หยุด
เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าทรมานโจรองคุลิมาลจนสิ้นฤทธิ์แล้ว
ก็ตรัสเตือนสติให้ได้คิดว่า “สมณะหยุดแล้ว
แต่ท่านยังไม่หยุด สองมือของท่านยังเปื้อนเลือดอยู่” โจรองคุลิมาลฟังแล้วได้คิด
ก็เลยตัดสินใจทิ้งดาบออกบวช
รอดจากการทำมาตุฆาตรอดจากการทำอนันตริยกรรมได้อย่างหวุดหวิด
ในขณะที่พระองคุลิมาลบวช
ก็ตั้งใจฝึกฝนอบรมตัวเองอย่างเคร่งครัด แม้จะประสบความลำบากในการบิณฑบาตอยู่มาก
เพราะถูกชาวบ้านระดมขว้างปาก้อนหินเข้าใส่อย่างไม่ยั้งมือด้วยความโกรธแค้น
จนกลายเป็นบิณฑบาตอาบเลือดกลับมาวัดทุกวัน ท่านก็อดทนไม่ย่อท้อ
ในที่สุดด้วยผลแห่งความเพียรอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
๓) ทรงปรารภจากปัญหาที่มีผู้กราบทูลถาม
ยกตัวอย่างเช่น
พวกเทวดาตั้งแต่สวรรค์ชั้นล่างได้ยินพวกมนุษย์ถกเถียงกันว่าอะไรคือมงคลชีวิต
จึงพากันถกเถียงเรื่องมงคลกันจนไปถึงพรหมโลก แต่ก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้
ในที่สุดก็ยกขบวนจากสวรรค์ลงมายังเมืองมนุษย์
เพื่อกราบทูลถามปัญหานี้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ทรงทราบปัญหานั้นแล้ว ก็ตรัสแสดง มงคลสูตร
๓๘ ประการ ให้เทวดาฟัง โดยเริ่มต้นจากมงคลที่ ๑ ไม่คบคนพาล มงคลที่ ๒ คบบัณฑิต มงคลที่ ๓
บูชาบุคคลที่ควรบูชา ฯลฯ จนกระทั่งถึงมงคลที่ ๓๘ จิตเกษม เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมจบลง เหล่าเทวดาทุกชั้นฟ้าก็เปล่งสาธุการดังสะเทือนเลื่อนลั่นพร้อมทั้งบรรลุธรรมตามมาเป็นอันมาก
๔)
ทรงปรารภจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
ตัวอย่างเช่น มีนักบวชนอกศาสนาคนหนึ่งพูดจาจาบจ้วงว่า
การตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่การตรัสรู้ด้วยญาณทัสนะอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส
แต่เกิดจากการตรึกตรอง-นึกคิด-ตีความ-ด้นเดา แล้วอ้างตนว่าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์
พระสารีบุตรผู้ดำรงตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา
ผู้มีปัญญามาก ได้ยินคำจาบจ้วงนี้ จึงกลับมากราบทูลรายงานให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงปรารภเหตุนี้ตรัสแสดง
มหาสีหนาทสูตร การที่พระองค์ต้องทรงแสดงธรรมแบบบันลือสีหนาท
ก็เพื่อประกาศความเป็นเลิศในการตรัสรู้ธรรมอย่างที่ไม่มีศาสดาคนใดในโลกนี้ทำได้ เพื่อให้ทุกคนทราบความจริงว่า
การตรัสรู้ธรรมของพระองค์นั้น เป็นการตรัสรู้ด้วยทศพลญาณอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส
ที่ประกอบด้วยญาณทัสนะที่มีคุณสมบัติวิเศษ ๑๐ ประการ
ซึ่งบังเกิดขึ้นจากพระปรีชาสามารถในการบำเพ็ญเพียรอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
จนกระทั่งตรัสรู้ธรรมด้วยกำลังของพระองค์เอง
และเป็นคุณสมบัติเฉพาะพระองค์เพียงผู้เดียว
ไม่มีสาธารณะทั่วไปในเหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย
ขณะที่พระองค์ทรงแสดงมหาสีหนาทสูตรถึงตอนท้าย
ก็ได้ตรัสเตือนว่า ผู้ใดไม่ละทิ้งความเข้าใจผิดและวาจาจ้วงจาบนั้นว่า
การตรัสรู้ธรรมของพระองค์เกิดจากตรึกตรอง-นึกคิด-ตีความ-ด้นเดา
แล้วอ้างว่าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน
๔.
การหมุนธรรมจักรด้วยคุณสมบัติแห่งธรรมราชา
คุณสมบัติแห่งธรรมราชามีองค์ประกอบ
๕ ประการ คือ
๑) ทรงเป็นผู้รู้จักอรรถ คือ
ทรงเป็นผู้มีญาณหยั่งรู้ผล ได้แก่ หยั่งรู้ผลที่เกิดจากเหตุปัจจัยแต่ละชนิด
รู้ทุกข์ รู้นิโรธ นิพพาน หยั่งรู้ วิบากคือผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม รู้เนื้อความแห่งภาษิต
๒) ทรงเป็นผู้รู้จักธรรม คือ
ทรงเป็นผู้มีญาณหยั่งรู้เหตุ ได้แก่ หยั่งรู้เหตุปัจจัยแต่ละชนิดที่ทำให้เกิดผล
รู้ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้อริยมรรคหนทางดับทุกข์ หยั่งรู้ว่านี้กุศลกรรม
นี้อกุศลกรรม นี้คำภาษิต
๓) ทรงเป็นผู้รู้ประมาณ คือ
ทรงเป็นผู้รู้ประมาณในการรับและการบริโภคปัจจัย ๔
๔) ทรงเป็นผู้รู้จักกาล คือ
ทรงเป็นผู้รู้เวลาปลีกวิเวก รู้เวลาเข้าสมาบัติ รู้เวลาแสดงธรรม รู้เวลาจาริกเผยแผ่ไปในชนบท
๕) ทรงเป็นผู้รู้ประชุมชน คือ
ทรงเป็นผู้รู้ธรรมชาติของกลุ่มคนทั้ง ๘ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกษัตริย์ กลุ่มพราหมณ์ กลุ่มคหบดี
กลุ่มนักบวช กลุ่มเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา กลุ่มเทวดาชั้นดาวดึงส์
กลุ่มเทวดาชั้นนิมมานรดี กลุ่มเทวดาชั้นพรหม
๕. ผลแห่งการหมุนธรรมจักร
ผลที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ
๑) มีผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามมาเป็นอันมาก
๒) การเผยแผ่พระธรรมคำสอนขจรขจายออกไปทั่วภพสาม
๓) บังเกิดปฏิรูปเทส ๔
ขึ้นในแต่ละท้องถิ่นของชมพูทวีป ได้แก่ อาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย
ธรรมะเป็นที่สบาย
๔) พระพุทธศาสนาครองใจของมนุษย์และเทวดา
เกิดเป็นเขตแดนแห่งการบรรลุธรรมขึ้นภายในใจของสรรพสัตว์
เป็นดินแดนที่มารมองไม่เห็น
ดังนั้น การที่พระองค์ทรงหมุนธรรมจักรด้วยพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์เช่นนี้ จึงทำให้มีผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งในอริยสัจ
๔ ตามมาเป็นอันมาก ความรู้เรื่องการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงแผ่ขยายออกไป
และทำให้มีสาวกรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาศึกษาธรรมะกับพระองค์เพิ่มมากขึ้น
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
|
คลิกอ่านสร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ - ๗ ได้ตามบทความด้านล่างนี้
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ สาเหตุที่ทําให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๒ หลักการแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๗ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม (ต่อ)
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๔ การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
01:49
Rating:
สาธุๆๆค่ะ
ตอบลบ