สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ สาเหตุที่ทําให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๑ สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
--------------------------------------------
โลกยุคนี้มิได้เป็นยุคที่คนหวงแหนความรู้
มิได้เป็นยุคที่คนขาดแคลนความรู้ ตรงกันข้าม กลับเป็นยุคที่คนมีความรู้จากทั่วทุกมุมโลกพยายามแข่งขันกันเผยแพร่ความรู้ของตัวเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตลอด
๒๔ ชั่วโมงอีกด้วย
วิธีการเผยแพร่ความรู้ก็ทําได้ง่าย ๆ ใครมีความรู้ใดอยากจะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้รู้บ้าง
ก็อัปโหลด (Upload) ข้อมูลลงในอินเทอร์เน็ต ความรู้นั้นก็จะถูกเผยแพร่กระจายออกไปทั่วโลกทันที
ส่วนใครอยากรู้เรื่องใด เมื่อเข้าไปในอินเทอร์เน็ต ก็สามารถค้นหาความรู้เรื่องที่ต้องการนั้น
แล้วดาวน์โหลด (Download)
มาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ได้ทันทีเช่นกัน
ปริมาณข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตอย่างมากมายมหาศาลนี้
กลายเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของโลก
โดยเปลี่ยนจากโลกยุคเดิมที่คนส่วนมากยังขาดแคลนความรู้ ให้กลายเป็นโลกยุคใหม่ที่มีปริมาณความรู้ล้นท่วมโลกไปแล้ว
สิ่งที่น่าคิดก็คือ ทั้ง ๆ
ที่โลกยุคนี้กลายเป็นยุคที่ความรู้ท่วมโลก แต่ทําไมโลกกลับไม่เคยสงบลงเลยแม้แต่วันเดียว
มิหนําซ้ำปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ นับวันมีแต่จะยิ่งเพิ่มพูนทวีคูณมากขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
อะไรเป็นสาเหตุให้โลกเกิดปัญหาวุ่นวายมากยิ่งขึ้นทั้ง ๆ ที่อยู่ในยุคความรู้ล้นท่วมโลกเช่นนี้
สาเหตุที่ทําให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
สาเหตุที่ทําให้โลกวุ่นวายทั้งที่อยู่ในยุคความรู้ล้นท่วมโลก
มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. หลักสูตรการศึกษามุ่งเน้นด้านทฤษฎี แต่ขาดบทฝึกสร้างนิสัย
การจัดการศึกษาของชาติในยุคปัจจุบัน มุ่งสร้างคนให้มีความรู้
แต่ไม่ให้ความสําคัญกับการฝึกคนให้มีนิสัยดี ๆ
ครั้นเมื่อความรู้ตกไปอยู่ในมือคนพาล ย่อมมีแต่นําความวิบัติเสียหายมาสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม
เพราะคนพาลมีนิสัยปล่อยให้ใจขุ่นเป็นปรกติ จึงแยกแยะถูก-ผิด ดี-ชั่วไม่ออก เมื่อนําความรู้ไปใช้ก็คิดได้แต่เรื่องประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องของตนเท่านั้น เพราะเหตุนี้ปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ
นานาในโลก จึงทวีคูณความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจถึงขั้นทําลายล้างโลกได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว
๒. หลักสูตรการศึกษากําหนดวิธีให้ความรู้ด้านแก้ทุกข์ในชีวิตประจําวันไม่สมบูรณ์
การศึกษาปัจจุบันมุ่งสอนแต่เรื่องการทํามาหากินเป็นหลัก
แต่บกพร่องเรื่องเป้าหมายการศึกษาเกี่ยวกับการดับทุกข์ประจําชีวิต ๔ ประการ ได้แก่ ๑)
ทุกข์จากปัญหาสุขภาพกาย ๒) ทุกข์จากปัญหาการอยู่ร่วมกัน ๓) ทุกข์จากปัญหาการเลี้ยงชีพ
๔) ทุกข์จากกิเลสยังผลให้คนที่จบการศึกษาไปแล้วรับมือกับความทุกข์ได้ไม่ครบ
รับมือกับความทุกข์ไม่เป็น เมื่อปัญหารุมเร้ารอบด้าน จึงหาทางเอาตัวรอดด้วยการทําอะไรมักง่ายแบบขอไปที
โดยไม่คํานึงถึงความเสียหายที่จะตามมา กล่าวได้ว่า ความบกพร่องในเรื่องการวางเป้าหมายการศึกษาเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวายขึ้นในโลกปัจจุบัน
๓. หลักสูตรการศึกษาขาดความรู้พื้นฐานสําคัญสําหรับป้องกันและแก้ทุกข์
ความรู้ที่แพร่หลายจนล้นท่วมโลกอยู่ใน
ขณะนี้ไม่สามารถป้องกันและดับทุกข์ได้จริง ความรู้ที่ใช้ดับทุกข์ได้จริงนั้นคือความรู้จักประมาณ
ผู้ที่จะมีความรู้จักประมาณเป็นนิสัยนั้น จะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงว่า
วัตถุสิ่งของใดคือสิ่งจําเป็นในการยังชีพ (Need)จะขาดเสียไม่ได้ สิ่งใดเป็นเพียงสิ่งที่ต้องการ (Want) หากขาดไปบ้างก็พอทนได้ สิ่งใดเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย
(Extravagant) ต้องตัดใจไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วย
เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเสียเวลาในการทําความดีเพื่อชีวิตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าคนเรายังแยกแยะเรื่องพื้นฐานในการดําเนินชีวิตดังกล่าวแล้วไม่ได้ ก็ยากที่จะวินิจฉัยเรื่องอื่น ๆ
ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจําวันได้ว่า
สิ่งใดถูก-ผิด สิ่งใดดี-ชั่ว สิ่งใดบุญ-บาป สิ่งใดเป็นประโยชน์-โทษ สิ่งใดควร-ไม่ควร อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของตนตลอดชีวิต
และเป็นต้นเหตุให้ก่อปัญหาความวุ่นวายในโลกเพิ่มขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น คนบนโลกนี้มีอยู่กว่า ๗,๐๐๐ ล้านคน
ถ้าหากทุกคนใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่าย ปัญหาที่ตามมาก็คือ บ้านทุกหลังจะมีแต่ของเหลือใช้ที่กลายเป็นขยะล้นบ้าน
ถ้าบ้านทุกหลังทิ้งขยะออกมาพร้อมกัน โลกก็กลายเป็นถังขยะใบใหญ่ในพริบตา
ต่อจากนั้นก็กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อไปอีก นับตั้งแต่ปัญหาขยะล้นโลก ปัญหาทรัพยากรโลกเหลือน้อยลง ปัญหาภัยธรรมชาติ
ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาขาดแคลนอาหาร ปัญหาโรคระบาด ปัญหามลภาวะ ปัญหาขาดอากาศบริสุทธิ์หายใจ
ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม เป็นต้น
การขาดวินิจฉัยอย่างถูกต้อง นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นแล้ว
การใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็สร้างปัญหาสังคมให้เกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน
เพราะเมื่อทุกคนใช้จ่ายเกินตัว แต่ละครอบครัวก็จะประสบปัญหาการเงินตามมาทันที
เริ่มตั้งแต่ปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาคุณภาพชีวิต
ปัญหาสุขอนามัย ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ปัญหาคนตกงาน ปัญหานายจ้างลูกจ้าง ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาการพัฒนาประเทศ เป็นต้น
ปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ ในโลกที่เพิ่มขึ้น
ตามมาไม่จบสิ้น เพราะสาเหตุ ๓ ประการ ดังกล่าวนี้ ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไขให้ถูกวิธี ปัญหาก็จะลุกลามบานปลายกลายเป็นไฟลุกท่วมโลก แล้วก็จะเข้าทํานองคําโบราณที่ใช้เตือนสติว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” หรือหากจะพูดให้เข้ากับยุคสมัยนี้ก็คือ
ความรู้ท่วมโลกแต่เอาตัวไม่รอด
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๐ เดือนธันวาคม พ.ศ.
๒๕๕๙
คลิกอ่านสร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ - ๗ ได้ตามบทความด้านล่างนี้
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๒ หลักการแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๔ การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๗ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม (ต่อ)
|
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๒ หลักการแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๔ การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๗ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม (ต่อ)
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ สาเหตุที่ทําให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
04:21
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: