สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม


สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๖ การหมุนธรรมจักรของพระอสีติสาวก
& พระสารีบุตร : ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบริหารจัดการองค์กรให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมจักร ด้วยกำลังของกองทัพธรรมเช่นนี้ สิ่งที่เราต้องติดตามศึกษาต่อไปก็คือ พระอสีติสาวกมีวิธีหมุนธรรมจักรอย่างไร จึงสามารถถ่ายทอดคุณธรรม ความรู้ ความสามารถ และคุณวิเศษเฉพาะตน ไปสู่สมาชิกในองค์กรได้สำเร็จจนกระทั่งเกิดการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเป็นทีม และคนรุ่นใหม่สามารถหมุนธรรมจักรสืบต่อจากท่านต่อไปได้

พระอสีติสาวก หมายถึง พระมหาสาวกผู้เป็นพระอรหันตเถระชั้นผู้ใหญ่ ๘๐ รูป เป็นขุนพลกองทัพธรรมที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระอสีติสาวก ๘๐ รูป แบ่งเป็น ๒ ประเภทได้แก่ พระอสีติสาวกที่เป็นเอตทัคคะ ๔๑ รูป และพระอสีติสาวกที่ไม่ได้เป็นเอตทัคคะ ๓๙ รูป ซึ่งมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกทั้งประวัติการสร้างบารมีและประวัติการทำงานที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ผลที่ได้รับจากการขับเคลื่อนธรรมจักรด้วยกองทัพธรรมก็คือ พระอสีติสาวกทั้ง ๘๐ รูป ช่วยกันสร้างศิษย์สาวกรุ่นหลังที่มีคุณภาพทั้งในด้านคุณธรรม ความรู้ ความสามารถ และคุณวิเศษเทียบเท่ากับอาจารย์ นับเป็นต้นแบบความสำเร็จของการฝึกคนด้วยวิธีสร้างปัญญาผ่านนิสัยดี ๆ อย่างแท้จริง ดังมีหลักฐานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในจังกมสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงดูเหล่าภิกษุ ผู้เดินจงกรมร่วมกับพระสารีบุตร ทุกรูปนั้น ล้วนเป็นผู้มีปัญญามาก, เธอจงดูเหล่าภิกษุผู้เดินจงกรมร่วมกับพระโมคคัลลานะ ทุกรูปนั้น ล้วนเป็นผู้มีฤทธิ์มาก

เธอจงดูเหล่าภิกษุผู้เดินจงกรมร่วมกับพระมหากัสสปะ ทุกรูปล้วนเป็นผู้ชำนาญการอยู่ธุดงค์, เธอจงดูเหล่าภิกษุผู้เดินจงกรมร่วมกับพระอนุรุทธะ ทุกรูปล้วนเป็นผู้มีตาทิพย์

เธอจงดูเหล่าภิกษุผู้เดินจงกรมร่วมกับพระปุณณมันตานีบุตร ทุกรูปล้วนเป็นธรรมกถึกเธอจงดูเหล่าภิกษุผู้เดินจงกรมร่วมกับพระอุบาลี ทุกรูปล้วนเป็นผู้ทรงวินัย, เธอจงดูเหล่าภิกษุผู้เดินจงกรมร่วมกับพระอานนท์ ทุกรูปล้วนเป็นพหูสูต...

การที่พระอสีติสาวกสร้างลูกศิษย์รุ่นหลังให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับตัวท่านได้สำเร็จนั้น ก็เพราะว่าท่านมีวิธีหมุนธรรมจักรในภาคปฏิบัติอยู่ ๔ ประการ คือ

๑) หมุนธรรมจักรด้วยกิจวัตรประจำวันของบรรพชิต
๒) หมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมพิเศษประจำตัวของแต่ละองค์
๓) หมุนธรรมจักรด้วยยุทธศาสตร์การเผยแผ่ที่เรียกว่า ทิศ ๖
๔) หมุนธรรมจักรด้วยการป้องกันภัยอันตรายให้แก่พระพุทธศาสนา

การหมุนธรรมจักรด้วยวิธีการเหล่านี้เองทำให้พระธรรมวินัยในภาคปริยัติและการฝึกมรรคมีองค์ ๘ ในภาคปฏิบัติได้รับการถ่ายทอดสู่สมาชิกองค์กรอย่างครบถ้วน ไม่ว่าสมาชิกท่านนั้นจะอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นที่ห่างไกลเพียงใด ก็ได้รับฟังคำสอนอย่างครบถ้วนและทั่วถึงไม่ตกไม่หล่นแม้แต่ผู้เดียวและคำเดียวทำให้ระบบการศึกษาที่ใช้วิธีสร้างปัญญาดับทุกข์ผ่านการฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นนิสัยได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเป็นอย่างมาก การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางด้วยวิธีหมุนธรรมจักรในภาคปฏิบัติของพระอสีติสาวกกองทัพธรรม

พระสารีบุตร ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม

สำหรับการอธิบายเรื่องนี้ให้เห็นภาพในทางปฏิบัติจริง จะขอยกตัวอย่างเรื่องการหมุนธรรมจักรของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้มีปัญญามาก เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการสร้างปัญญาเป็นทีมด้วยวิธีการหมุนธรรมจักรของท่าน

พระสารีบุตรเป็นใคร

พระสารีบุตร คือ พระมหาสาวกชั้นผู้ใหญ่ได้รับการแต่งตั้งจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้มีปัญญาเป็นเลิศเหนือกว่าพระสาวกทุกรูปของพระองค์ โดยท่านได้รับการแต่งตั้งคู่กับพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้เป็นสหายรักของท่าน คือ พระโมคคัลลานะ ผู้มีฤทธิ์เป็นเลิศเหนือพระสาวก
ทุกรูป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยกย่องปัญญาของพระสารีบุตร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวยกย่องปัญญาของพระสารีบุตรไว้ในแง่มุมต่างๆ หลายประการ เช่น

๑) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก สารีบุตรเป็นผู้เลิศ สารีบุตรเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา เป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาแหลมคม มีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส

๒)ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรมีปัญญา รองจากพระองค์เพียงผู้เดียว
ภิกษุนี้บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขย กำไรแสนกัป  ให้ธรรมจักรที่เราให้เป็นไป เป็นไปแล้ว เธอเป็นผู้สอนองค์ที่สองที่เราได้เฉพาะ เป็นผู้ให้สาวกสันนิบาตครบ ภิกษุนี้เว้นเราเสีย หาผู้เสมอด้วยปัญญาในหมื่นจักรวาลไม่ได้ เธอมีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น มีปัญญากล่าวให้บันเทิงได้ มีปัญญาแล่นไปเร็ว มีปัญญากล้า มีปัญญาในการแทงตลอด

๓) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรหมุนธรรมจักรได้ยอดเยี่ยมดุจเดียวกับพระองค์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียว ผู้ยังธรรมจักรที่ยอดเยี่ยมอันตถาคตให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบเหมือนสารีบุตรนี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรย่อมยังธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม อันตถาคตให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบทีเดียว

๔) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีธรรม ๕ ประการ ที่ใช้หมุนธรรมจักร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักผล ๑ รู้จักเหตุ ๑ รู้จักประมาณ ๑ รู้จักกาล ๑ รู้จักบริษัท ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมยังธรรมจักรชั้นเยี่ยม ที่ตถาคตให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบเทียว ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

๕) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้ชำนาญในอริยธรรม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบพึงกล่าวชมภิกษุรูปใดว่าเป็นผู้ถึงความชำนาญ ถึงบารมี (คุณธรรมให้ถึงความสำเร็จ) ในอริยศีลในอริยสมาธิ ในอริยปัญญา ในอริยวิมุตติ ภิกษุรูปนั้นคือสารีบุตรนั่นเอง

๖) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นพุทธชิโนรส
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวชอบ พึงกล่าวชมภิกษุรูปใดว่าเป็นพุทธชิโนรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดแต่ธรรมเป็นผู้อันธรรมเนรมิตขึ้น เป็นธรรมทายาท ไม่ใช่อามิสทายาท ภิกษุรูปนั้น ก็คือสารีบุตรนั่นเอง

๗) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรมีคุณสมบัติของนักการทูต
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รับฟัง ๑ ให้ผู้อื่นรับฟัง ๑ เรียนดี ๑ ทรงจำไว้ดี ๑ รู้เอง ๑ ให้ผู้อื่นรู้ ๑ เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ๑ไม่ก่อการทะเลาะ ๑ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แลควรไปเป็นทูตได้

๘) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดพระโสดาบัน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเหมือนมารดาผู้บังเกิดเกล้า โมคคัลลานะเหมือนมารดาเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำในผลที่สูงขึ้นไป

๙) ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดี
ครั้งหนึ่ง เสลพราหมณ์ผู้ชำนาญในไตรเพทและการทำนายลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการได้กราบทูลถามว่า

ข้าแต่พระโคดม พระองคทรงปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะ และตรัสว่าเป็นธรรมราชา ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงประกาศธรรมจักรดังนี้ ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ท่าน เป็นสาวกผู้อำนวยการของพระศาสดา ใครหนอประกาศธรรมจักรตามที่พระองค์ทรงประกาศแล้วนี้ได้ ?”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

ธรรมจักรอันไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า เป็นจักรที่เราประกาศแล้ว สารีบุตรผู้เป็นอนุชาตบุตรตถาคต ย่อมประกาศตามได้

อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอด้วยบิดามารดา จากพระดำรัสในที่นี้จึงหมายความว่า พระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดีที่มีคุณสมบัติในการหมุนธรรมจักรเสมอด้วยพระบรมศาสดา

จากตัวอย่างพุทธพจน์ที่พระบรมศาสดาตรัสยกย่องพระสารีบุตรไว้มากมายเช่นนี้ ก็พอทำให้เราทราบว่า พระสารีบุตรเป็นพระมหาสาวกผู้เลิศด้วยปัญญาอย่างแท้จริง ใครได้มาเป็นลูกศิษย์ของท่าน ก็จะได้รับการเคี่ยวเข็ญอบรมจนกระทั่งมีปัญญาตามท่านไปด้วย ทำให้ไม่ว่าท่านเดินทางไปเผยแผ่ยังทิศใด ทิศนั้นก็จะมีผู้บรรลุธรรมบังเกิดขึ้นมากมายดุจเดียวกับพระบรมศาสดาเสด็จไปประกาศธรรมด้วยพระองค์เอง สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า สารีบุตรและโมคคัลลานะอยู่ในทิศใด ทิศนั้นของเราย่อมไม่ว่างเปล่า ความไม่ห่วงใยย่อมมีในทิศนั้น

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของ
 ตอนที่ ๗ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม (ต่อ)





คลิกอ่านสร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ - ๗ ได้ตามบทความด้านล่างนี้
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ สาเหตุที่ทําให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๒ หลักการแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๔ การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๗ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม (ต่อ)
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 06:41 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.