สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย


สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย

แม้เราจะได้ทราบหลักการแก้ปัญหาแล้ว แต่ก็อาจมีบางท่านสงสัยว่า เมื่อถึงคราวปฏิบัติจริง หลักการของพระพุทธองค์จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ การขจัดความสงสัยในเรื่องนี้ จึงต้องดูว่า พระองค์ทรงสอนวิธีสร้างปัญญาผ่านการฝึกนิสัยไว้อย่างไร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้ไว้ใน ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนาที่เป็นแม่บทของคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

พระสูตรนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะ ตลอด ๔๕ พรรษา ที่พระองค์ทรงทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ นั้น ล้วนเป็นการแสดงธรรมเพื่ออธิบายขยายความธัมมจักกัปปวัตนสูตรทั้งสิ้น

การที่พระองค์ทรงแสดงพระปฐมเทศนาบทนี้เป็นครั้งแรกจบลงแล้ว ถึงแม้หลังจากนั้นตลอดพระชนม์ชีพจะมิได้ทรงแสดงธรรมบทอื่นเพิ่มอีกเลย ก็ถือได้ว่า คำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาได้รับการปักหลักอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ เรียกโดยย่อว่า ธรรมจักรเป็นพระปฐมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อโปรดกลุ่มนักบวชปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีสมาชิก ๕ ท่าน หลังจากการแสดงพระปฐมเทศนาจบลง หัวหน้ากลุ่มของปัญจวัคคีย์คือท่านอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน กลายเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมคนแรกของโลก

ในวันต่อ ๆ มา พระองค์ทรงแสดงปกิณกธรรมเพื่อขยายความธัมมจักกัปปวัตนสูตรเพิ่มเติมอีก พระปัญจวัคคีย์ที่เหลือก็ทยอยบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันครบทุกรูป วันต่อมาพระองค์ได้ทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร (ซึ่งเป็นธรรมปฏิบัติขั้นสูงสำหรับพระโสดาบัน) แก่พระปัญจวัคคีย์ ยังผลให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดบรรลุอรหัตผล เป็นผู้ดับทุกข์ดับกิเลสได้สำเร็จสมบูรณ์ และเป็นพระอรหันตสาวก ๕ รูปแรกในพระพุทธศาสนา

สำหรับวิธีสร้างปัญญาดับทุกข์ผ่านการฝึกนิสัยดี ๆ นั้น พระองค์ตรัสแสดงไว้ในเนื้อหาส่วนที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ของธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ ๘ ประการ เพื่อการสร้างปัญญาดับทุกข์จากง่ายไปหายาก จากระดับสามัญไปสู่ระดับสูงสุด โดยเริ่มจากการฝึกนิสัยที่ดีก่อน ได้แก่

๑. สัมมาทิฐิ คือ ความเข้าใจถูกในเรื่องการดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ได้แก่

๑.๑ หลักการดำเนินชีวิตให้เป็นสุขในชาตินี้ คือ มีความเข้าใจถูกว่า ชีวิตในชาตินี้เป็นสุขได้ด้วยหลักปฏิบัติ ๔ ประการ

(๑) การแบ่งปันกันและกันมีผลดีจริง
(๒) การสงเคราะห์ช่วยเหลือกันและกันเป็นผลดีจริง
(๓) การยกย่องคนดีมีผลดีจริง
(๔) การทำกรรมดีกรรมชั่วมีผลจริง

๑.๒ หลักการดำเนินชีวิตให้เป็นสุขในชาติหน้า คือ มีความเข้าใจถูกว่า

(๑) โลกนี้มีที่มา คือ สภาวะของผู้ที่มาเกิดในโลกนี้ขึ้นอยู่กับกรรมในอดีตชาติ
(๒) โลกหน้ามีที่ไป คือ ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปเกิดอีก สภาวะที่เกิดใหม่ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ตนทำไว้ในชาตินี้
(๓) มารดามีพระคุณ การปรนนิบัติดีหรือชั่วต่อท่านมีผลจริง
(๔) บิดามีพระคุณ การปรนนิบัติดีหรือชั่วต่อท่านมีผลจริง
(๕) สัตว์ที่ตายแล้วเกิดขึ้นอีกและโตทันทีโดยอาศัยอดีตกรรม เช่น สัตว์นรก เปรต เทวดามีอยู่จริง

ดังนั้น ชีวิตในชาติหน้าจะเป็นสุขได้ก็เพราะกรรมดีที่เราสร้างไว้ในชาตินี้ ถ้าสร้างบุญไว้น้อย อุปสรรคชีวิตในชาติหน้าก็มาก ถ้าสร้างบุญไว้มาก อุปสรรคชีวิตในชาติหน้าก็น้อย เพราะเราคือผู้ออกแบบชีวิตด้วยผลกรรมดีกรรมชั่วของตัวเราเอง

๑.๓ หลักการดำเนินชีวิตเพื่อสุขอันไพบูลย์ คือ มีความเข้าใจถูกว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโดยการตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง และสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามมีอยู่จริง การศึกษาและตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เป็นทางหลุดพ้นทุกข์จากวัฏสงสารคือการเวียนว่ายตายเกิดได้จริง

ความเข้าใจถูกอันเป็นสัมมาทิฐินี้ทำให้เกิดความเข้าใจถูกเรื่องความจริงของชีวิตที่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม สถานการณ์ของชีวิตที่ตกอยู่ภายใต้การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร และการดำเนินชีวิตเพื่อกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไป จึงได้ก่อให้เกิดวิธีฝึกตนเพื่อสร้างปัญญาดับทุกข์ ผ่านการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ข้อที่ ๒-๘ ตามมา

๒. สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก คือ คิดทางกุศล ได้แก่ คิดในเรื่องการออกจากบาป ไม่คิดหมกมุ่นในกาม ไม่คิดพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียน ย่อมทำให้ลดความทุกข์ที่เกิดจากความคิดผิด ๆ เพราะถูกกิเลสบีบคั้นใจ

๓. สัมมาวาจา การพูดถูก ได้แก่ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ย่อมทำให้ลดความทุกข์จากการพูดผิด ๆ เพราะถูกปัญหาการอยู่ร่วมกันบีบคั้น

๔. สัมมากัมมันตะ การประพฤติถูก ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมทำให้ลดความทุกข์จากการประพฤติผิด ๆ เพราะถูกปัญหาการอยู่ร่วมกันบีบคั้น

๕. สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพถูก คือ การไม่ประกอบอาชีพที่ผิดศีลผิดธรรม ทั้งไม่ส่งเสริมสนับสนุนอาชีพเช่นนั้น เช่น ไม่ค้าอาวุธ ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ค้าชีวิตสัตว์เพื่อฆ่าไม่ค้าน้ำเมา ไม่ค้ายาพิษ ฯลฯ ย่อมทำให้ลดความทุกข์จากการเลี้ยงชีพผิด ๆ เพราะถูกปัญหาการเลี้ยงชีพบีบคั้น

๖. สัมมาวายามะ คือ การประกอบความเพียรถูก ได้แก่ เพียรป้องกันไม่ให้บาปอกุศลใหม่เกิดขึ้น เพียรกำจัดบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้สิ้นไป เพียรสร้างกุศลใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วในขณะที่กำลังปฏิบัติสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้สามารถยกระดับกำลังใจให้มีความเข้มแข็งในการทำความดีอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นได้

เมื่อการประกอบความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า ย่อมทำให้การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในข้อที่ ๑-๕ มีความชำนาญขึ้น ความทุกข์ที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาการอยู่ร่วมกัน ปัญหาการเลี้ยงชีพ และปัญหากิเลสบีบคั้น จึงถูกสัมมา-วายามะกำจัดให้ลดลง ส่งผลให้ชีวิตมีความสุขจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นความชำนาญในการใช้ปัญญาดับทุกข์ และกลายเป็นนิสัยรักการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมาในชีวิตประจำวัน

๗. สัมมาสติ คือ การระลึกถูก ได้แก่ การระลึกรู้อารมณ์ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจที่มากระทบ ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้น ทำให้ใจสงบนิ่ง ทำให้มีใจหนักแน่น ไม่ขุ่นมัวง่าย ๆ ไม่คิดฟุ้งซ่านง่าย ๆ ไม่รักใคร โกรธใคร หลงใครง่าย ๆ ไม่เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้มง่าย ๆ ย่อมทำให้การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในข้อที่ ๑-๖ ดียิ่งขึ้น ชำนาญยิ่งขึ้น แก่กล้ายิ่งขึ้นจนเกิดเป็นปัญญาที่รู้เท่าทันทุกข์ จนกลายเป็นนิสัยดี ๆ ที่ฝังลึกยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ความทุกข์เก่าถูกกำจัดทิ้งออกไป ส่วนความทุกข์ใหม่ก็แทรกเข้ามาไม่ได้ ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาการอยู่ร่วมกัน ปัญหาการเลี้ยงชีพ ปัญหากิเลสบีบคั้น จึงยากจะรั่วรดแทรกซึมเข้ามาบีบคั้นใจ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ข้อที่ ๑-๖ จึงทับทวีความแก่กล้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เพราะมีสัมมาสติทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าระวังรักษาใจไว้ตลอดเวลานั่นเอง

๘. สัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นถูก ได้แก่ สภาวะใจที่หยุดนิ่งสนิทสมบูรณ์อยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ข้อที่ ๑-๗ ในขณะดำเนินชีวิตประจำวันจนกลายเป็นนิสัย ไม่ว่าความทุกข์ใด ๆ ก็ไม่สามารถบีบคั้นให้ใจขุ่นมัวเศร้าหมองได้ ถึงคราวลงมือนั่งหลับตาบำเพ็ญสมาธิภาวนา ใจที่ใส เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ใจถูกกลั่นด้วยอำนาจสมาธิอย่างต่อเนื่องได้ง่าย ทำให้เกิดความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เพิ่มขึ้นในใจมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ ๆ เป็นเหตุให้เกิดการบรรลุธรรมไปตามลำดับ ๆ ย่อมทำให้ทุกข์ดับไปตามลำดับ ๆ จนกระทั่งเมื่อใดที่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดของการปราบกิเลส คือ อรหัตผล เมื่อนั้นก็จะปราบกิเลสได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ดับทุกข์ได้หมดสิ้น การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จึงสำเร็จสมบูรณ์

เมื่อเราได้ศึกษาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ มาถึงตรงนี้ ก็ทำให้ทราบว่า การฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นนิสัยนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสร้างปัญญาดับทุกข์ให้ตัวเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยดับปัญหาทุกข์ให้แก่โลกอีกด้วย ทั้งนี้เพราะในขณะที่เรากำลังฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นนิสัยอยู่นั้น ยิ่งฝึกก็จะยิ่งเกิดความมั่นใจว่า ๑) เราไม่ได้กำลังเพิ่มทุกข์ให้ตนเอง ๒) เราไม่ได้กำลังก่อปัญหาความวุ่นวายให้แก่โลก ๓) ทุกสิ่งที่คิด ทุกอย่างที่ทำ ทุกคำที่พูดนั้น ล้วนกำลังสร้างสรรค์ความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นในโลกนี้ ๔) ไม่ว่าเราไปอยู่ที่แห่งใด ที่แห่งนั้นจะมีแต่ความสงบสุขเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว

วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐









คลิกอ่านสร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๑ - ๗ ได้ตามบทความด้านล่างนี้
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๒ หลักการแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๔ การหมุนธรรมจักรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๕ การบริหารจัดการองค์กรของพระบรมศาสดา
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๖ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๗ ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม (ต่อ)
สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย สร้างปัญญาเป็นทีม ตอนที่ ๓ วิธีแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:38 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.