กฐินทาน กาลทานที่มีผลานิสงส์มาก


คำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวว่า ทานหรือ การให้เป็นความดีที่เป็นสัมมาทิฐิเบื้องต้นของมนุษย์ทุกคน  เพราะทั้งการให้  การแบ่งปัน  หรือการสงเคราะห์  ล้วนเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลกันระหว่างชีวิตต่อชีวิต  เป็นพื้นฐานความดีที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป  ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งยังสร้างบารมี  กว่าพระองค์จะทรงประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิต คือ การตรัสรู้ธรรม พระองค์ก็ทรงอาศัยการทำทานเป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งสมความดี

ยิ่งไปกว่านั้น ทานยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับการทำความดีอื่น ๆ ที่จะตามมา และ ทานที่สั่งสมไว้ดีแล้วย่อมอำนวยผลอย่างไม่มีประมาณเหมือนกัน  ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ใน  ทานสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ไซร้  สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้แล้วก็จะไม่พึงบริโภค  อนึ่ง  ความตระหนี่อันเป็นมลทิน จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น  สัตว์เหล่านั้นไม่พึงแบ่งคำข้าวคำหลังจากคำข้าวนั้น  แล้วก็จะไม่พึงบริโภค  ถ้าปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ของสัตว์เหล่านั้นพึงมี  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้จำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้  ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายไม่ให้แล้วจึงบริโภค  อนึ่ง  ความตระหนี่อันเป็นมลทินจึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น

ในบรรดาทานทั้งหลายที่มีผลานิสงส์มาก  กฐินทานนับเป็นทานชนิดหนึ่ง  ซึ่งในปีหนึ่งจะทำได้เพียงครั้งเดียว ในระยะเวลาเพียง ๑ เดือน หลังจากออกพรรษา กฐินทานจึงได้ชื่อว่าเป็น  กาลทาน

ผู้ที่ให้ทานตามกาลอันควรแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ในที่ที่ทานนั้นส่งผล

กฐินทานยังจัดว่าเป็นสังฆทาน  คือ  ทานที่ให้แก่หมู่คณะ  ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง  โดยข้อกำหนดที่ว่า สังฆทาน  คือ  ทานที่ถวายสงฆ์ทั้ง  ๗  ประเภท ได้แก่

๑.    สงฆ์ ๒ ฝ่าย  (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)  มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒.    สงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว
๓.    ภิกษุสงฆ์
๔.    ภิกษุณีสงฆ์
๕.    บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๖.    บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุสงฆ์ 
๗.    บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุณีสงฆ์

เจ้าภาพผู้ทำกฐินทานจำเป็นต้องถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุมัติจากมติสงฆ์  ดังนั้นกฐินจึงจัดว่าเป็นสังฆทานซึ่งมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิปุคคลิกทาน  ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้อย่างชัดเจน  เมื่อครั้งที่พระนางมหาปชาบดีโคตมี  มีพระประสงค์จะถวายผ้าเจาะจงเฉพาะพระพุทธองค์ ดังเรื่องราวต่อไปนี้

ครั้งหนึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือผ้าคู่หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังที่ประทับ กราบทูลพระพุทธองค์ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ผ้าใหม่คู่นี้  หม่อมฉันกรอด้าย  ทอเอง  ตั้งใจนำมาถวายเฉพาะพระองค์  ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์รับผ้าคู่นี้ด้วยเถิด

พระศาสดาสดับคำกราบทูลแล้ว ตรัสตอบว่า

ดูก่อนโคตรมี  พระนางจงถวายสงฆ์เถิด  เมื่อถวายสงฆ์แล้ว  จักเป็นการได้บูชาอาตมภาพและสงฆ์ด้วย

พระนางกราบทูลขอถวายเฉพาะพระองค์แม้ครั้งที่   และแม้ครั้งที่ ๓  แต่พระพุทธองค์ตรัสตอบเช่นเดิม เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยืนยันอย่างนี้  พระอานนท์จึงกราบทูลพระองค์ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระองค์ทรงรับผ้าคู่ใหม่ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีด้วยเถิด  พระนางมีอุปการะมาก  เป็นพระมาตุจฉา (น้าหญิง)  ผู้ทรงบำรุงเลี้ยงประทานพระขีรรส (น้ำนม) แด่พระองค์เมื่อพระชนนีสวรรคตไปแล้ว  และแม้พระองค์ก็ทรงมีอุปการะแก่พระนางเป็นอันมาก  พระนางทรงอาศัยพระองค์ จึงทรงเข้าถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์เป็นสรณะ ทรงเว้นจากเวรทั้ง ๕ ได้ ทรงประกอบด้วยความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย  และทรงประกอบด้วยอริยศีล  ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง

พระศาสดาทรงรับรองคำของพระอานนท์และตรัสเช่นเดิม  โดยทรงมุ่งให้พระนางได้บุญมาก  ได้อานิสงส์มาก ๆ เพราะการถวายสังฆทานมีผลมากกว่าปาฏิปุคคลิกทาน  ดังพระดำรัสว่า

ดูก่อนอานนท์  เราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าสังฆทานโดยปริยายใด ๆ เลย  สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ  พระสงฆ์นั่นแหละเป็นประมุขของผู้บูชา  และพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ในช่วงเวลาแห่งเทศกาลทำบุญกฐิน  สังฆทานตามกาล  ที่กำลังจะใกล้เข้ามาถึงนี้   นับเป็นโอกาสดีที่พวกเราเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้ตักตวงบุญใหญ่  ด้วยการเป็นเจ้าภาพกฐินทั้งที่วัดพระธรรมกาย ศูนย์สาขา  และวัดต่าง ๆ  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ซึ่งนอกจากเป็นการทำตามประเพณีอันดีงามแล้ว   ยังเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา  และที่สำคัญยังได้ทำมหาทานกุศลซึ่งมีอานิสงส์มาก  ที่จะทำให้เราได้ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และเมื่อมีความต้องการสิ่งใด  สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นบริบูรณ์สมควรตามกาล  ดังนั้นเราจึงไม่ควรพลาดที่จะได้สั่งสมบุญใหญ่ในช่วงกฐินทานนี้กันทุกคน

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่  ๑๕๖  เดือนตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘


เหตุการณ์สําคัญในวันตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต



กฐินทาน กาลทานที่มีผลานิสงส์มาก กฐินทาน  กาลทานที่มีผลานิสงส์มาก Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:20 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.