กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ๔ ประการ คือ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก

ใน ๔ ประการนี้ อาจกล่าวได้ว่า การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น  เป็นการยากยิ่ง เพราะผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จะต้องผ่านการเป็นพระโพธิสัตว์  ที่ตั้งความปรารถนาจะหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยตนเอง และต้องการให้คนอื่นพ้นทุกข์ด้วย  แต่เพียงแค่การตั้งความปรารถนายังไม่เพียงพอ จะต้องลงมือปฏิบัติด้วยการสั่งสมพุทธการกธรรม คือ บารมีทั้ง ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี จนครบถ้วนทั้ง ๓๐ ทัศ ซึ่งบุคคลที่ตั้งความปรารถนาและจะไปเป็นพระพุทธเจ้าได้จะต้องมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ อุปมาได้ดังนี้

๑. หากห้วงจักรวาลกว้างใหญ่ ไกลถึงหนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นสี่ร้อยห้าสิบโยชน์ เต็มไปด้วยหนามแหลม พระโพธิสัตว์จะมีหัวใจยิ่งใหญ่ที่จะเดินลุยด้วยเท้าเปล่าไปจนสุดปลายทาง

๒.  หากห้วงจักรวาลนี้เต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ร้อนระอุ ท่านก็จะเดินไปด้วยเท้าเปล่าให้ถึงจุดหมายปลายทาง

๓. หากห้วงจักรวาลเต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกเป็นเพลิงตลอดเวลา ระหว่างซอกเขาเต็มไปด้วยน้ำทองแดงร้อนแรง ท่านก็จะว่ายแหวกน้ำทองแดงข้ามไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ข้ามห้วงหมื่นจักรวาลไปให้ได้

อุปมานี้ชี้ให้เห็นถึงความยาวนานและอุปสรรคของบุคคลที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องเจอและผ่านพ้นไปให้ได้ ดังนั้นในระหว่างการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่นิพพานนั้น จึงมีทั้งผู้สร้างบารมีจนกระทั่งบารมีเต็มเปี่ยมได้เป็นพระพุทธเจ้า หรืออาจจะเปลี่ยนเป้าหมายปรารถนาสาวกภูมิ

ดังนั้น ผู้ที่สร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์  จึงมีอยู่ ๒ ประเภท คือ อนิยตโพธิสัตว์  ได้แก่บุคคลที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป้าหมายการสร้างบารมีได้ และ นิยตโพธิสัตว์  ได้แก่บุคคลที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน โดยมีเครื่องรับประกัน คือ การได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าหลาย ๆ พระองค์ ที่พระโพธิสัตว์นั้นไปเกิดเจอ ซึ่งระยะเวลาของการสร้างบารมีนั้นก็ยาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน  โดยท่านแบ่งระยะเวลาการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละประเภทไว้ดังนี้

ประเภทพระพุทธเจ้า    
ดำริในพระทัย
เปล่งวาจา
ได้รับพุทธพยากรณ์
ปัญญาธิกพุทธเจ้า
๗    อสงไขย
๙    อสงไขย
๔  อสงไขย แสนมหากัป
สัทธาธิกพุทธเจ้า
๑๔  อสงไขย
๑๘  อสงไขย
๘  อสงไขย แสนมหากัป
วิริยาธิกพุทธเจ้า
๒๘  อสงไขย
๓๖  อสงไขย
๑๖ อสงไขย แสนมหากัป

การจะสร้างบารมีจนได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ต้องสร้างอย่างยาวนาน สั่งสมบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ จนครบถ้วนบริบูรณ์ และทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันยากที่จะหาผู้ใดทำได้ ยกตัวอย่าง ทานบารมี ไม่เพียงแต่ทรัพย์สมบัติที่พระโพธิสัตว์ให้ทานออกไปประดุจคว่ำหม้อซึ่งจัดเป็นทานบารมีเท่านั้น ในระดับอุปบารมีและปรมัตถบารมีท่านกล่าวไว้ว่า พระองค์ต้องควักดวงตาให้เป็นทานมากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้า ตัดศีรษะให้เป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในพื้นปฐพี ถวายเลือดให้เป็นทานมากกว่าน้ำในมหาสมุทร ถวายเนื้อให้เป็นทานมากกว่าแผ่นดินในทวีปทั้ง ๔ และต้องสั่งสมบารมีอื่น ๆ ที่เหลืออย่างยิ่งยวดด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  ดังนั้นกว่าจะบังเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นสักพระองค์หนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก  เมื่อเป็นเช่นนี้ ในช่วงแต่ละกัปที่ผ่านไปจึงมีบางกัปที่เป็นสุญญกัป คือ ไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น  เป็นช่วงที่ว่างเปล่าจากมรรค ผล นิพพาน ยุคนี้มนุษย์จะไปสุคติเท่าเขาโค ไปอบายเท่าขนโค  แต่ในบางยุคก็เป็นอสุญญกัป คือ มีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละกัปมีจำนวนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นไม่เท่ากัน บางยุคมี ๑ พระองค์ เรียกว่า สารกัป บางยุคมี ๒ พระองค์ เรียกว่า วรกัป บางยุคมี ๔ พระองค์ เรียกว่า สารมัณฑกัป บางยุคมี ๕ พระองค์ เรียกว่า ภัททกัป (ภัทรกัป)

กัปของเราเป็นกัปที่เจริญที่สุด มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งในขณะนี้มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๔ พระองค์แล้ว คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า  พระโกนาคมนพุทธเจ้า  พระกัสสปพุทธเจ้า  และพระโคตมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  ส่วนพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัปนี้  คือพระศรีอริยเมตไตรย์ ซึ่งจะมาบังเกิดในยุคต่อจากนี้ไปอีก ๑ อสงไขยเศษ

นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่เกิดมาทันยุคกึ่งพุทธกาล ที่แม้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว แต่พระสัทธรรมคำสอนยังคงถูกจารึกไว้ในพระไตรปิฎก และยังมีผู้สืบทอด คือ พระภิกษุที่ทรงศีล ทรงธรรม อีกทั้งยังมีพระพุทธปฏิมาเป็นตัวแทนของพระองค์ เราได้ผ่านความยากประการหนึ่งมาแล้ว คือ การได้เกิดเป็นมนุษย์ ทั้งยังมีลมหายใจอยู่ซึ่งเป็นความยากประการที่สอง และยังโชคดีที่อยู่ในยุคที่ยังมีพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำสอน ซึ่งก็นับว่าเป็นการยากอีกประการหนึ่ง  ดังนั้นชีวิตของเราในภพชาตินี้จะไม่ไร้ผลเลย หากเราได้ใช้โชคดีที่เรามีอยู่นี้หันมาศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เต็มที่

ในช่วงเทศกาลนี้เป็นเดือนแห่งการเตรียมตัวบวชในภาคเข้าพรรษา จึงนับเป็นโอกาสดีของสุภาพบุรุษทุกท่าน ที่จะได้มาใช้ความโชคดีของการเกิดเป็นชาย เข้ามาใกล้ชิดพระพุทธองค์ด้วยการบวชศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำมาปฏิบัติให้คุ้มค่าสมกับที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา

เรียบเรียงจากหนังสือ GL204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๒  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๘






กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:19 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.