บริหารเวลาด้วยกาลัญญู


ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ผ่านไปแล้ว ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ เราจะพบว่า เวลาชีวิตของเรานั้นผ่านไปอย่างรวดเร็วเพียงไม่นานก็ครบรอบ ๑ ปี และสิ่งนี้จะเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นทุกปี เราจึงควรบริหารเวลาให้ดี เพื่อให้เวลาผ่านไปอย่างมีคุณค่า เพราะเวลาที่ผ่านไปนั้น นำเอาความแก่ชรามาให้เราพร้อมกับนำวัยอันสดใสและความแข็งแรงไปจากเรา นอกจากนี้เวลายังนำโอกาสดี ๆ ของชีวิตให้ล่วงเลยผ่านไป และท้ายที่สุดก็นำความตายมาให้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นคุณค่าของเวลาชีวิต และทรงให้แนวทางแก่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาในการบริหารเวลา ดังนี้

ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น หากภิกษุไม่พึงรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู

สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ก็ควรนำหลักกาลัญญูมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหลักการบริหารเวลาในเบื้องต้นก็คงคล้าย ๆ กับของพระภิกษุ คือ เริ่มจากการมองเห็นคุณค่าของเวลาที่มีอยู่ว่าสำคัญ และต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองให้ได้มากที่สุด

เมื่อมีแนวคิดอย่างนี้ จะทำให้เวลาที่มีอยู่ถูกนำไปใช้ในเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อนเสมอ เช่นเดียวกับหลักการบริหารเวลาในทางโลกที่มักจะใช้วิธีแบ่งภารกิจการงานที่ต้องทำออกเป็น ๔ รูปแบบ คือ

๑. ภารกิจที่สำคัญและต้องทำเร่งด่วน เช่น ภารกิจฉุกเฉินทั้งหลาย หรืองานเฉพาะหน้า งานสำคัญที่จำเป็นต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนเป็นต้น

๒. ภารกิจที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น งานในด้านการวางแผนหรือกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิต หน่วยงาน หรือองค์กรในระยะยาว เป็นต้น

๓. ภารกิจไม่สำคัญแต่เร่งด่วน ได้แก่เรื่องเล็กน้อยทั่ว ๆ ไป เช่น การรับโทรศัพท์ที่กำลังดัง เป็นต้น

๔. ภารกิจไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่นการไปเที่ยวเตร่เฮฮาหรือการไปชมภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีผลดีต่อตนเอง เป็นต้น

ในภารกิจเหล่านี้ หากจัดตามลำดับความสำคัญ คนในทางโลกคงให้ความสำคัญกับภารกิจที่ ๒ คือ สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน” เป็นอันดับแรก ส่วนภารกิจสำคัญและเร่งด่วนอยู่ในลำดับรองลงมา ทั้งนี้เนื่องจากว่า ภารกิจสำคัญที่ไม่เร่งด่วนนั้น แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบในระยะสั้นแต่อย่างใด แต่ถ้าหากนิ่งนอนใจไม่เร่งรีบทำไว้ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนและนโยบาย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อความก้าวหน้าของงาน หรือต่อองค์กรนั้น ๆ ในอนาคต สำหรับภารกิจสำคัญและเร่งด่วนนั้น แม้จะมีความสำคัญต้องรีบทำก็จริง แต่ก็มักส่งผลในระยะสั้น และนาน ๆ จึงจะมีให้ทำสักครั้งหนึ่ง


จากเหตุปัจจัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้หลักการบริหารเวลาในทางโลก ก็ยังให้ทุ่มเวลาไปกับภารกิจสำคัญก่อน ดังนั้นหากจะนำกาลัญญูมาปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของฆราวาส ก็สามารถทำได้ไม่ยาก นอกเหนือจากการทำมาหากินเพื่อแสวงหาปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีวิต ตนเองและครอบครัว แล้วควรบริหารเวลาจากกาลทั้ง ๔ ออกเป็น ๒ ภารกิจด้วย คือ

๑. เวลาเพื่อการเรียนและการสอบถาม คือ การศึกษาหาความรู้ในทางธรรม และพบปะสนทนากับผู้รู้ ซึ่งอาจเป็นพระหรือฆราวาสที่มีหลักในการใช้ชีวิตเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตรงตามเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์

๒. การประกอบความเพียรและการหลีกออกเร้น คือ การทำทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรม ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างรากฐานการดำเนินชีวิตที่มั่นคง ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข ไม่มีอุปสรรคเกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็สามารถใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี

ในเมื่อฆราวาสก็ต้องบริหารเวลาเพื่อการสร้างบารมี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิตเช่นกัน แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น คงต้องฝึกปฏิบัติด้วยวิธีที่เหมาะกับเพศภาวะของตนซึ่งในที่นี้ก็คือ การฝึกฝนตนเองผ่านการทำทานรักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ดังนั้นจึงต้องฝึกบริหารเวลาไป เพื่อใช้ในการ

- ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทาน ศีล และภาวนา อย่างจริงจัง

- นำมาฝึกปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามานั้นและหมั่นตอกย้ำซ้ำเดิมเรื่อยไป

ด้วยวิธีนี้ผู้เป็นฆราวาสก็ย่อมจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ คือ การได้นำชีวิตของตนเองให้เข้าใกล้กับเป้าหมายชีวิตอย่างแท้จริง

ในช่วงศักราชใหม่ปี ๒๕๕๙ นี้ เป็นปีที่นักสร้างบารมีจะได้สั่งสมบุญใหญ่ตั้งแต่ต้นปีทั้งต้อนรับพุทธบุตรโครงการธรรมยาตราฯ บวชสามเณรล้านรูป และอีกหลาย ๆ บุญที่จะได้ทำตลอดทั้งปี ดังนั้นขอให้ทุกท่านบริหารเวลาในชีวิตให้ดี ใช้ช่วงเวลาตลอดปีใหม่นี้เก็บเกี่ยวบุญ ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพื่อให้ได้ชื่อว่า เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมีอย่างแท้จริง

จากหนังสือ SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๙ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙








คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย (ปีก่อนหน้า)
มาฆบูชามหาสมาคม
ท่าทีต่อสงฆ์ในยุคปัจจุบัน
คุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา
กลวิธีแก้ไขความผันแปรของสภาพอากาศโลก
บริหารเวลาด้วยกาลัญญู บริหารเวลาด้วยกาลัญญู Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:59 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.