แม่บทแห่งธรรม ธัมมจักกัปปวัตตสูตร


ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือที่เขียนตามพจนานุกรมว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณและเป็นพระสูตรที่เป็นแหล่งรวมของหลักธรรมสำคัญ ๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ พระสูตรนี้จึงได้สมญาว่า "ปฐมเทศนา" คือเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะประกาศพระศาสนา เพื่อประทานพุทธธรรมแก่ชาวโลก ให้มีธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต อันเป็นแนวทางให้เกิดสันติสุข และเป็นการประกาศความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นผู้เปิดทางสายเอกสายเดียวที่จะนำพามหาชนไปสู่พระนิพพาน

นอกจากปฐมเทศนาแล้ว ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ไม่เคยปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงเทศนาพระสูตรนี้ ณ ที่ใดอีกเลย ทั้งนี้การตรัสเทศนาในโอกาสต่อ ๆ มา ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักปราชญ์ทั้งหลายว่า การตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นปฐมเทศนานั้น ถือเป็นประเพณีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์

ธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไปหรือดำเนินไปด้วยการหมุนวงล้อแห่งธรรม เพื่อขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ภายหลังจากการตรัสรู้แล้ว ๒ เดือน ตรงกับวันอาสาฬหบูชาในปัจจับันซึ่งถือว่าเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้มาเป็นครั้งแรก อันเป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลกและด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดงเปิดเผยทำให้แจ้งแก่ชาวโลกด้วยพระธรรมที่ทรงตรัสรู้แล้วนั้น จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือ ทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือ ทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงสามารถแสดงสิ่งที่ทรงตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้

การที่พระสัทธรรมเทศนาสูตรได้รับการขนานนามดังกล่าว ก็เนื่องด้วยปฐมเทศนานี้เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสารไปแดนเกษม คือ พระอมตนิพพาน โดยพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถีเอง ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญประการหนึ่งอันจะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า "จักร" นั่นเอง ดังนั้นล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า "จักรธรรม" หรือ "ธรรมจักร"

ตามธรรมดา "ล้อ" หรือ "จักร" ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ดุม กำและกง ส่วน "จักรธรรม" นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรม เป็น "ดุม" ปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็น "กำ" และ อริยสัจ ๔ เป็น "กง"

ตราบใดที่ ดุม กำ และกง ยังวางแยกกันอยู่ ตราบนั้น "ล้อ" หรือ "จักร" ย่อมไม่บังเกิดขึ้น ต่อเมื่อนายช่างผู้ชาญฉลาดนำอุปกรณ์ทั้ง ๓ อย่างประกอบเข้าด้วยกันอย่างถูกต้องพร้อมสนิทแนบแน่นแล้ว "จักร" ที่แข็งแรงมั่นคงพร้อมที่จะนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจะบังเกิดขึ้นฉันใด ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็ฉันนั้น กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาพระธรรมทั้ง ๓ หมวดดังกล่าวแล้ว โดยมีความสัมพันธ์โยงใยกันอย่างใกล้ชิด เพราะเหตุนี้เอง พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงได้ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" เพราะเป็นพระธรรมที่จะนำผู้ที่ได้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญและความหลุดพ้นได้ในที่สุด นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะหานักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้ใดที่จะมีปัญญาสามารถตรัสรู้และเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้มิได้เลย

ธัมมจักกัปปวัตนสูตรมีเนื้อหาที่แสดงถึงการปฏิเสธการประพฤติปฏิบัติในส่วนที่สุดโต่ง ๒ ทางที่ไม่ควรปฏิบัติ คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นอยู่ในกามสุข หมายถึงสภาวะกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ อันประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่นรส และสัมผัสทางกาย เป็นต้น

๒. อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน

และทรงเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตโดยสายกลาง อันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์นำมาประพฤติปฏิบัติ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ที่ชื่อว่า ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ทั้ง ๘ ประการนี้มีชื่อภาษาบาลีว่า พระอัฏฐังคิกมรรค อันเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ทรงประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นี้ นอกจากเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นเหตุให้สิ้นอาสวกิเลส กลายเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังส่งให้พระพุทธองค์ทรงบรรลุ พระสอุปาทิเสสนิพพาน หรือที่เรียกว่า นิพพานเป็น คือ ดับกิเลสโดยสิ้นเชิง แต่ยังทรงมีเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์) เหลืออยู่ และภายหลังทรงบรรลุ พระอนุปาทิเสสนิพพาน หรือที่เรียกว่า นิพพานตาย ในที่สุด

บุคคลผู้ปรารถนาจะพ้นจากวัฏสงสารสละเพศฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว พึงปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทาหรือหนทางสายกลางอันประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ หรือเรียกว่า "มรรคมีองค์ ๘" ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ประจักษ์แจ้งด้วย พระอนาวรณญาณ (พระปรีชาญาณเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงรู้ทุกอย่างโดยตลอดทะลุปรุโปร่ง) อันวิเศษ มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นเหตุให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจและมรรคอริยสัจ มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นเหตุปัจจัยให้ระงับกิเลส เป็นเหตุปัจจัยให้ตรัสรู้อริยสัจ เป็นเหตุปัจจัยให้เห็นแจ้งประจักษ์ในพระนิพพานอันเป็นอมตะ

โดยเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมอันอุดมล้ำเลิศยิ่ง เปรียบประดุจรัตนยานอันประเสริฐเยี่ยมยอด สามารถนำผู้ปฏิบัติไปสู่พระนิพพานได้เที่ยงแท้ ธรรมนี้ตถาคตทรงตรัสรู้แล้วด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง

มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมอันอุดมล้ำเลิศยิ่งของพระอริยเจ้า เปรียบประดุจสมเด็จบรมจักรพัตราธิราชผู้ทรงไว้ซึ่งพระเดชาคุณอันสูงส่ง เหล่าอริราชทั้งมวลย่อมสยดสยองมิอาจต้านทานราชฤทธิ์ของพระองค์ได้ มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นที่ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง เปรียบประดุจดังมหาสมุทรอันเป็นที่ประชุมแห่งแม่น้ำทั้งปวง แม่น้ำน้อยใหญ่บรรดามีในโลกนี้ย่อมหลั่งไหลลงสู่มหาสมุทรทั้งสิ้น ฉันใดก็ดี มรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เป็นองค์ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ ก็ฉันนั้น

ดังได้กล่าวแล้วว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ประการ เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พระญาณหรือปัญญาอันรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น พระองค์ทรงทบทวนถึง ๓ รอบ เป็นไปในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเป็น ๑๒ แล้วจึงกล้าปฏิญาณว่า พระองค์ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ดังนั้นญาณทัสนะอันรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ จึงได้ชื่อว่า ญาณทัสนะอันมีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒




พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ว่า พระญาณทัสนะหรือปัญญาอันรู้ในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้ว จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ทั้งในโลกมนุษย์ ในเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับมากำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่

เมื่อบุคคลใดก็ตามหากได้ปฏิบัติตามคำสอนอย่างถูกต้องพร้อมบริบูรณ์แล้ว ก็สามารถจะทำให้กิเลสตัณหาในตัวสูญสิ้นไปอย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามพระพุทธองค์ได้ในที่สุด ดังที่เมื่อพระโกณฑัญญะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตรจบแล้ว ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระศาสดา แล้วพระพุทธองค์ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระภิกษุสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา ด้วยอานุภาพของพระสูตรนี้จึงทำให้มีสังฆรัตนะบังเกิดขึ้นในโลกร่วมกับพุทธรัตนะและธรรมรัตนะ รวมเป็นพระรัตนตรัย คือแก้ว ๓ ประการ

จากหนังสือ วิชา PD 006 แม่บทแห่งธรรม

Cr.  พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๙ เดิอนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

การบูชามหาปูชนียาจารย์..บุคคลผู้ควรบูชา






คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
แม่บทแห่งธรรม ธัมมจักกัปปวัตตสูตร แม่บทแห่งธรรม ธัมมจักกัปปวัตตสูตร Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:32 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.