แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย


การอุทิศชีวิตทำงานสืบอายุพระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย  เกิดขึ้นจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่ ทรงช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ข้ามสู่ฝั่งพระนิพพาน โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากใด ๆ แม้แต่นิดเดียว

ดังเมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงเป็นพระโพธิสัตว์  พระองค์ทรงตั้งมโนปณิธานในการรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไว้ว่า เราตรัสรู้แล้ว จะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย เราพ้นจากกิเลสแล้ว  จะให้ผู้อื่นพ้นด้วย เราข้ามโลกได้แล้ว จะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย มหาสมุทรคือวัฏสงสารมีภัยมากซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่ต่อชาวโลก เพราะทันทีที่พระองค์ทรงเริ่มคิดจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ ก็ไม่ทรงคิดแบบต่างคนต่างอยู่อย่างที่ชาวโลกทั่วไปมักจะเป็นกัน  แต่ทรงคิดจะทุ่มชีวิตหอบหิ้วคนทั้งโลกให้พ้นทุกข์ไปด้วยกัน

น้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยความกรุณามหาศาลนี้เอง ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นคำว่า สังฆะซึ่งแปลว่า หมู่คณะหรือ ทีมเวิร์ก” (Teamwork) นั่นเอง ส่งผลให้พระพุทธศาสนากลายเป็นเรือลำใหญ่ ที่ใช้ขนสรรพสัตว์ข้ามห้วงทุกข์ในวัฏสงสาร โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นกัปตันเรือ และมีผู้สืบทอดรักษาเรือพระพุทธศาสนาลำนี้เรื่อยมาถึงพวกเราในวันนี้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่กำเนิดขึ้นมาจากน้ำพระทัยบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตรงนี้เองที่เป็นหลักการของความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาเพราะว่า หากชาวพุทธขาดน้ำใจปรารถนาดีต่อกันเมื่อไร อายุพระพุทธศาสนาจะสั้นลงทันที

หลวงพ่อธัมมชโยมีความห่วงใยว่า ถ้าหากไม่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก วันหนึ่งพระพุทธศาสนาอาจจะสูญหายไปจากโลกนี้ ท่านจึงอุทิศชีวิตชักชวนหมู่คณะมาร่วมกันสร้างวัดพระธรรมกายจนมีเนื้อที่ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่ที่พร้อมรองรับการมาปฏิบัติธรรมของผู้คนนับล้านจากทั่วโลก และในขณะเดียวกันก็ส่งทีมงานออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

การที่ท่านชักชวนหมู่คณะให้ทุ่มเทชีวิตเช่นนี้ เพราะท่านตระหนักดีว่า ยิ่งมีคนมาปฏิบัติธรรมร่วมกันมากเท่าไร ก็จะยิ่งรวบรวมผู้ที่มีน้ำใจมาช่วยกันค้ำจุนพระพุทธศาสนาได้มากเท่านั้น แล้วพระพุทธศาสนาก็จะมีอายุยืนยาวออกไปอีกนานแสนนาน และนั่นคือบุญกุศลใหญ่ของพวกเรา

ความซาบซึ้งและตระหนักในน้ำพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรง มีน้ำพระทัยเผื่อแผ่ต่อการพ้นทุกข์ของชาวโลกจึงกลายมาเป็น แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย

สำหรับภาคปฏิบัติในการทำงานของวัดพระธรรมกายนั้น แบ่งเป็น ๓ ข้อ คือ

.สร้างวัดด้วยกัน อิ่มด้วยกัน อดด้วยกัน

เมื่อครั้งเริ่มแรกสร้างวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อธัมมชโยเรียกประชุมหมู่คณะรุ่นบุกเบิก ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงเจ้าหน้าที่อุบาสกไม่กี่คน หลวงพ่อทัตตชีโวก็ยังไม่ได้บวช มีหน้าที่เป็นหัวหน้าอุบาสกของวัด เมื่อทุกคนมาประชุมพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยท่านก็พูดสั้น ๆ ว่า อิ่มด้วยกันอดด้วยกันคือ หลวงพ่อฉันอะไร พระลูกวัดก็ฉันอย่างนั้น เจ้าหน้าที่วัดก็กินอย่างนั้น นี้คือนโยบายแรกในการสร้างวัดของหลวงพ่อ

จากวันนั้นถึงวันนี้ วัดพระธรรมกายจึงเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตามลำดับ ในที่สุดระบบกองกลาง อาคารหอฉัน อาคารสังฆภัณฑ์ก็เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของทุกคนในหมู่คณะ ให้สามารถกอดคอทำงานพระศาสนาร่วมกันด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

๒. เจ็บป่วยเมื่อใด ให้หาหมอที่ดีที่สุดมารักษา

นอกจากนโยบายดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยยังห่วงใยไปถึงสุขภาพของทุกคนในหมู่คณะอีกด้วย ท่านบอกว่า ทุกคนในที่นี้ยังไม่หมดกิเลส ยังกลัวตายเหมือนกันหมด เมื่อถึงคราวเจ็บป่วยก็ต้องเลือกหมอที่ดีที่สุดมาทำการรักษา เพื่อรักษาชีวิตไว้สร้างบุญ เพราะฉะนั้น หากใครเจ็บป่วยเมื่อใด ให้หาหมอที่ดีที่สุดมารักษา ถ้าหาไม่ได้ให้มาหาหมอที่รักษาหลวงพ่อจะเสียเงินเสียทองมากเท่าไรก็ช่าง ต้องรักษาชีวิตเอาไว้สำหรับปราบกิเลสก่อน แล้วค่อยจากโลกนี้ไป ในที่สุดสถานพยาบาลสำหรับรักษาฟรีแก่พระภิกษุ สามเณร เจ้าหน้าที่วัด และสาธุชนที่มาทำบุญที่วัดพระธรรมกายก็เกิดขึ้นมา

แม้วันนี้หมู่คณะของวัดพระธรรมกายจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า และงานเผยแผ่ธรรมะได้ขยายออกไปทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว แต่นโยบายด้านการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันเป็นทีมของหลวงพ่อยังคงเหมือนเดิม

๓. ทำงานเป็นทีม ทะเลาะกันได้ แต่ห้ามผูกโกรธกัน

ในการลงมือสร้างวัดพระธรรมกายนั้น คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ได้ทำแบบอย่างการสร้างทีมงานไว้ให้ดูด้วย คุณยายท่านทราบดีว่างานสร้างวัดจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ความสามัคคีและมีน้ำใจของหมู่คณะเป็นสำคัญท่านเรียกประชุมศิษย์ทุกคน ซึ่งในเวลานั้นมีหลวงพ่อธัมมชโยบวชอยู่รูปเดียว คนอื่น ๆยังไม่ได้บวช ท่านถามทุกคนในที่ประชุมเลยว่า เราจะช่วยกันสร้างวัด แล้ววัดที่เราสร้างก็เป็นวัดใหญ่ที่มีเนื้อที่มาก และเมื่อสร้างทั้งทีเราก็ต้องสร้างให้ดีที่สุด ใครที่คิดว่ามาสร้างวัดกับยายแล้ว ถ้าเถียงกันแล้ว ทะเลาะกันแล้ว อดที่จะโกรธกันไม่ได้ ขอให้ถอยออกไปนั่งอยู่ข้างหลัง ส่วนใครคิดว่าขัดแย้งกันแล้ว เถียงกันแล้ว จะไม่โกรธกัน ขอให้ขยับขึ้นมานั่งใกล้ยาย

พอสิ้นคำประกาศของคุณยาย ก็ปรากฏว่า มีหลายคนที่เขยิบขึ้นมานั่งข้างหน้า และอีกหลายคนถอยร่นลงไปนั่งข้างหลัง

การที่คุณยายประกาศนโยบายเช่นนี้ เพราะท่านทราบดีว่า วัดจะสร้างเสร็จได้ ต้องฝึกให้ทุกคนมีความสามัคคีเป็นทีม มิฉะนั้นหมู่คณะจะแตกแยกเสียก่อนที่จะสร้างวัดเสร็จ

เมื่อถึงคราวที่ลงมือสร้างวัดจริง ๆ เนื่องจากแต่ละคนไม่เคยสร้างวัดมาก่อน ทำให้ในเวลาที่ประชุมกัน มีบางครั้งที่ความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่ไม่ว่าจะกระทบกระทั่งกันอย่างไร พอเริ่มจะเสียงดังกันขึ้นมา คุณยายจะให้เลิกประชุมก่อนทุกครั้ง แล้วเรียกทุกคนให้ไปนั่งสมาธิพร้อมกัน พอทุกคนใจใสดีแล้ว เหลือเวลาอีก ๕ นาที จะเลิกนั่งสมาธิ ท่านก็จะสอนไม่ให้ผูกโกรธกันข้ามวัน หรือบางวันคุณยายมีเรื่องอะไรที่จะแนะนำ ตักเตือนหรือปรับความคิดเห็นของหมู่คณะ ท่านก็จะอาศัยเวลาช่วง ๕ นาที ก่อนเลิกนั่งสมาธิ หลอมความคิดในขณะที่ทุกคนกำลังใจใส พอวันรุ่งขึ้นทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจทำงานด้วยกันเหมือนเดิม วัดพระธรรมกายจึงสร้างสำเร็จเพราะกุศโลบายในการฝึกอบรมศิษย์ให้ใจใสของคุณยายนั่นเอง

จากภาคปฏิบัติในการทำงานของวัดพระธรรมกาย ซึ่งสร้างบารมีกันเป็นหมู่คณะมีความปรารถนาดีต่อกัน ประคับประคองทีมให้สร้างความดีไปด้วยกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่ใจของชาวโลก เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของ แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย ซึ่งได้ต้นแบบมาจากน้ำพระทัยอันประเสริฐของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเองดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมวัดพระธรรมกายจึงสามารถสร้างงานพระศาสนาให้กว้างขวางออกไปได้ดังในปัจจุบัน

อ้างอิงจากหนังสือ PD 002 สูตรสำเร็จการสร้างบารมีเป็นทีม

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๘  เดือนธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘


เหตุการณ์สําคัญในวันตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต
บริหารเวลาด้วยกาลัญญู (ปีถัดไป)



แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:02 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.