เหตุการณ์สําคัญในวันตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต
การที่ใครสักคนหนึ่งจะตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว
เพื่อออกบวชตลอดชีวิตมิใช่เรื่องง่าย เพราะโดยปกติใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายจะถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส
โดยเฉพาะกามคุณซึ่งเป็นเหยื่อล่อสําคัญที่ทําให้สรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอยู่ร่ำไป ผู้ที่มีบุญเก่ามาดีจึงจะสามารถเห็นโทษภัยของการอยู่ครองเรือน เห็นความสําคัญของการบําเพ็ญเนกขัมมบารมี และมีแรงบันดาลใจมากพอที่จะใช้ชีวิตของตนให้หลุดพ้นจากกิเลสกามด้วยการออกบวช ดังเช่นพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย
เมื่อบําเพ็ญพุทธการกธรรม ได้ดําริเห็นว่า “บุรุษอยู่มานานในเรือนจํา ลําบากเพราะความทุกข์ มิได้ทําความยินดีให้เกิดในเรือนจํานั้น
แสวงหาความพ้นออกไปอย่างเดียว ฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจํา
เป็นผู้มุ่งหน้าออกบวช เพื่อพ้นจากภพนั้นเถิด”
ย้อนไป ๑๑๒ ปี
มีเด็กหนุ่มวัย ๑๙ ปี ซึ่งต่อมาคือพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ กําลังทําหน้าที่เป็นพ่อค้าข้าวแทนบิดาที่เสียไปตั้งแต่อายุ๑๔
ปีและได้เป็นหัวแรงสําคัญของครอบครัว ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบวชตลอดชีวิต ทําให้เป็นจุดหักเหให้ท่านเลือกเส้นทางเดินชีวิต
ที่ต่างจากคนทั่วไป
เหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในวันนั้นมีดังนี้
วันหนึ่งหลังจากค้าข้าวเสร็จ เด็กหนุ่มคนนี้
(หลวงปู่) และลูกน้องนําเรือเปล่ากลับบ้าน
ในคืนนั้นล่องเรือไปด้วยความยากลําบาก เพราะน้ําในคลองไหลเชี่ยว แต่ก็พยายามถ่อเรือต่อไป
จนมาถึงคลองเล็ก ๆ สายหนึ่ง คลองนี้เป็นคลองเปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
ในขณะนั้นมีเรือเพียงลําเดียวเท่านั้นที่แล่นเข้าไปในคลอง
เมื่อเรือแล่นเข้าไปได้เล็กน้อย ท่านก็กลัวว่าจะโดนโจรปล้นและทําร้าย ถ้าโจรปล้นจริง ๆ ท่านจะโดนทําร้ายก่อนใคร เพราะยืนอยู่ทางท้ายเรือ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า “อ้ายน้ําก็เชี่ยว อ้ายคลองก็เล็ก
อ้ายโจรก็ร้าย ท้ายเรือเข้าก็ไล่เลี่ยกับฝั่ง ไม่ต่ำไม่สูงกว่ากันเท่าไรนัก
น่าหวาดเสียวอันตราย เมื่อโจรมาก็ต้องยิงหรือทําร้ายคนท้ายก่อน ถ้าเขาทําเราเสียได้ก่อน ก็ไม่มีทางที่จะสู้เขา
ถ้าเราเอาอาวุธปืน ๘ นัดไว้ทางหัวเรือ แล้วเราก็ไปถือเรือทางลูกจ้างเสีย
เมื่อโจรมาทําร้าย เราก็จะมีทางสู้ได้บ้าง” เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงหยิบปืนยาวบรรจุกระสุน ๘ นัดไปอยู่หัวเรือ
บอกให้ลูกจ้างมาถือท้ายเรือแทน
ขณะถ่อเรือแทนลูกจ้างอยู่นั้น พลันเกิดความคิดขึ้นมาว่า
“คนพวกนี้เราจ้างเขาคนหนึ่งเพียง ๑๑-๑๒
บาทเท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นเจ้าของทั้งทรัพย์ทั้งเรือ
หากจะโยนความตายไปให้ลูกจ้างก่อน ก็ดูจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์มากเกินไป
ทําอย่างนี้ไม่ถูก ไม่สมควร”
เมื่อเกิดจิตเมตตาและนึกตำหนิตัวเองเช่นนี้ ท่านจึงตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า
“ทรัพย์ก็ของเรา
เรือก็ของเรา เราควรตายก่อนดีกว่า ส่วนลูกจ้างนั้นเมื่อมีภัยมาถึง
เขาควรจะได้หนีเอาตัวรอดไปทํามาหาเลี้ยงบุตรภรรยาของเขาได้อีก” เมื่อตกลงใจเช่นนั้น
จึงเรียกลูกจ้างให้มาถ่อเรือแทน ส่วนตัวเองถือปืนคู่มือ
กลับมานั่งถือท้ายเรือตามเดิม
เรือยังคงแล่นต่อไปเรื่อย ๆ
แต่ไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่คิด เมื่อเรือแล่นมาใกล้จะออกจากคลอง
จนเห็นปากทางออก ก็รู้ได้ว่าปลอดภัยแล้ว
แต่ในใจของท่านยังคิดถึงความตายอยู่ตลอดเวลา และทันใดนั้น
ธรรมสังเวชก็เกิดขึ้นในใจของท่านว่า “การหาเงินหาทองนี้ลําบากจริง ๆ
เจียวหนา บิดาของเราก็หามาดังนี้ เราก็หาซ้ำรอยบิดา ตามบิดาบ้าง เงินแลทองที่หากันทั้งหมดด้วยกันนี้
ต่างคนก็ต่างหา ไม่มีเวลาหยุดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่เร่งรีบหาให้มั่งมี
ก็เป็นคนต่ำและเลว ไม่มีใครนับถือแลคบหา เข้าหมู่เขาก็อายเขา เพราะเป็นคนจนกว่าเขา ไม่เทียมหน้าเทียมบ่า
เทียมไหล่กับเขา ปุรพชนต้นสกุลของเราก็ทำมาดังนี้เหมือน ๆ กันจนถึงบิดาของเรา
และตัวของเรา ก็บัดนี้ปุรพชนแลบิดาของเราไปทางไหนหมด ก็ปรากฏแก่ใจว่าตายหมดแล้ว
แล้วตัวของเราเล่า ก็ต้องตายเหมือนกัน”
เมื่อคิดถึงความตายขึ้นมาอย่างนี้ก็เริ่มกลัว และนึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเองต่อไปอีกว่า
“เราต้องตายแน่ ๆ บิดาเราก็มาล่องข้าว
ขึ้นจากเรือข้าวก็เจ็บมาจากตามทาง แล้วขึ้นจากเรือข้าวไม่ได้กี่วันก็ถึงแก่กรรม เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว
เราที่ช่วยพยาบาลอยู่ไม่ได้เห็นเลยที่จะเอาอะไรติดตัวไป ผ้าที่นุ่งแลร่างกายของแกเราก็ดูแลอยู่
ไม่เห็นมีอะไรหายไป ทั้งตัวเราแลพี่น้องของเราที่เนื่องด้วยแก ตลอดถึงมารดาของเราก็อยู่
ไม่เห็นมีอะไรเลยที่ไปด้วยแก แกไปผู้เดียวแท้ ๆ ก็ตัวเราเล่าต้องเป็นดังนี้
เคลื่อนความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้แน่”
เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็นอนแผ่ลงไปที่ท้ายเรือ
แกล้งทําเป็นตาย ลองดูว่าถ้าตายแล้วจะเป็นอย่างไร
ท่านก็นอนคิดว่าตัวเองตายอย่างนั้น จนเผลอสติไปสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สติรู้สึกตัวก็รีบลุกขึ้น จุดธูปอธิษฐานจิตว่า “ขออย่าให้เราตายเสียก่อน
ขอให้ได้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกตลอดชีวิต”
จากจุดเริ่มต้นแห่งความคิดในครั้งนั้น จึงทําให้มีพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยศีลาจารวัตร
ถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา เป็นยอดสมณะผู้น่าเคารพ
เลื่อมใส ศรัทธา เป็นที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลาย และมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ คือ การค้นพบวิชชาธรรมกายอันนํามาซึ่งสันติสุข
ภายในแก่มวลมนุษยชาติกลับคืนมาอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สําคัญของการบังเกิดขึ้นของมหาปูชนียาจารย์
เพราะเหตุดังกล่าวนี้ หลวงพ่อธัมมชโยจึงปรารภที่จะหล่อรูปเหมือนทองคําพระมงคลเทพมุนีประดิษฐานไว้
ณ สถานที่ที่ท่านตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต
เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานไว้ระลึกถึงเหตุการณ์สําคัญแห่งจุดเริ่มต้นในปณิธานที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นมหาปูชนียาจารย์ ผู้มีคุณูปการแก่มวลมนุษยชาติ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่ง
ที่บรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งหลายจะได้สร้างบุญใหญ่
พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา
และเชื่อมสายบุญกับท่านไปทุกภพทุกชาติ อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นการสร้างมงคลให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต
ตามภาษิตที่ว่า “ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุด”
Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๕๗
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ตามรอยมหาปูชนียาจารย์
วัดโบสถ์บน สถานที่บรรลุวิชชาธรรมกายของพระผู้ปราบมาร
อภิชาตบุตรของพ่อแม่
แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย |
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ตามรอยมหาปูชนียาจารย์
วัดโบสถ์บน สถานที่บรรลุวิชชาธรรมกายของพระผู้ปราบมาร
อภิชาตบุตรของพ่อแม่
เหตุการณ์สําคัญในวันตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
20:36
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: