ทางสายกลาง เส้นทางตรัสรู้ของพระพุทธองค์


วันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นับเป็นวันสำคัญที่มหาบุรุษ เจ้าชายสิทธัตถะ  บำเพ็ญเพียรทางจิต ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ด้วยการดำเนินจิตตามทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา แต่ทว่าทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัตินั้น ไม่ได้บอกรายละเอียดของวิธีการและขั้นตอนไว้ชัดเจนนักในพระคัมภีร์ บอกแต่เพียงลักษณะความหมายของมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อ ๆ จนกระทั่งหลังจากการปฏิบัติโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว จึงได้ค้นพบว่า ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาอันประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้นพบนั้น แท้จริงแล้วมิได้หมายถึงข้อปฏิบัติหรือความประพฤติทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน  แต่หมายถึงการฝึกใจที่ดำเนินไปตามมรรคมีองค์ ๘  ซึ่งพระมงคลเทพมุนีได้อธิบายไว้ในพระธรรมเทศนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า ...

นี่ที่ไปถึงพระตถาคตเจ้าอย่างนี้ ไปถึงธรรมกายเช่นนี้ ไม่ได้ไปทางอื่นเลย ไปทางปฐมมรรค ไปกลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสนะ

ดวงศีลคืออะไร ดวงศีลน่ะ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว อริยมรรค ๓ องค์นี้ เรียกว่า ดวงศีล

ดวงสมาธิ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อริยมรรค อีก ๓ องค์

ดวงปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็น ๘ องค์ ในอริยมรรคนั้นทั้งสิ้น

พระมงคลเทพมุนียังได้อธิบายถึงหลักในการปฏิบัติสมาธิหรือการฝึกใจตามเส้นทางสายกลางว่า การที่จะพบหนทางสายกลางได้ ต้องนำเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง ซึ่งวิธีการเอาใจให้เข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางนี้ ท่านสรุปว่า คือ การทำใจให้ หยุดเพียงอย่างเดียว ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในพระธรรมเทศนา  เรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า ...

ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลาง นั่นแหละได้ชื่อว่า มัชฌิมา มัชฌิมานะ พอหยุดก็หมดดี หมดชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วกัน หยุดทีเดียว พอหยุดจัดเป็นบุญก็ไม่ได้ พอหยุดจัดเป็นบาปก็ไม่ได้ จัดเป็นดีก็ไม่ได้ ชั่วก็ไม่ได้ ต้องจัดเป็นกลาง ตรงนั้นแหละกลางใจ หยุดก็เป็นกลางทีเดียว นี้ที่พระองค์ให้นัยไว้กับองคุลิมาลว่า สมณะหยุด สมณะหยุด พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มา สมณะหยุดแล้ว ท่านก็หยุด นี้ต้องเอาใจไปหยุดตรงนี้ หยุดตรงนั้นถูกมัชฌิมาปฏิปทาทีเดียว พอหยุดแล้ว ก็ตั้งใจอันนั้น ที่หยุดนั้น อย่าให้กลับมาไม่หยุดอีกนะ ให้หยุดไปท่าเดียวนั่นแหละ พอหยุดแล้วก็ถามสิว่า       หยุดลงไปแล้วยังตามอัตตกิลมถานุโยคมีไหม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีไหม ไม่มี นั่นกามสุขัลลิกานุโยคไม่มี ลำบากยากไร้ประโยชน์ไม่มี หยุดตามปกติของเขา ไม่มีทางเขา ไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีทางดังกล่าวแล้ว นี่ตรงนี้แหละ ที่พระองค์รับสั่งว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา พระตถาคตเจ้ารู้แล้ว  ด้วยปัญญายิ่ง ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น (ตรงหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย) ตั้งแต่ต้นนี้แหละ จนกระทั่งถึงพระอรหัตผล

ดังนั้น หลักคำสอนที่พระมงคลเทพมุนีได้สอนสมาธิจึงมีถ้อยคำสั้น ๆ ว่า  หยุดเป็นตัวสำเร็จ

ในการฝึกใจตามทางสายกลางด้วยการทำหยุดให้เกิดขึ้นนั้น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนียังบอกไว้อีกว่า ต้องเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า

กลางนี่ลึกซึ้งนัก ไม่มีใครรู้ใครเข้าใจกันเลย ธรรมที่เรียกว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางน่ะ ในทางปฏิบัติ แปลว่า ถึงเฉพาะซึ่งกลาง อะไรถึง ต้องเอาใจเข้าถึงซึ่งกลางสิ เอาใจเข้าไปถึงซึ่งกลาง กลางอยู่ตรงไหน ในมนุษย์นี่มีแห่งเดียวเท่านั้น ศูนย์กลางกายมนุษย์

ศูนย์กลางกายจึงมีความสำคัญในการฝึกใจตามเส้นทางสายกลาง เป็นหนทางที่จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกาย หากไม่ได้ฝึกสมาธิโดยเอาใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย และดำเนินจิตเข้ากลางตรงศูนย์กลางกาย เราก็จะไม่พบคำว่าธรรมกาย

ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุป หลักการดำเนินจิตไปตามทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาจะเกิดขึ้นได้เมื่อเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง คือ ให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อทำได้เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติสมาธิฝึกใจตามทางสายกลาง และผลแห่งการปฏิบัตินั้นก็คือ การเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งหลังจากที่ปฏิบัติเข้าถึงแล้ว  ท่านได้ตรวจหาหลักฐานในสิ่งที่ท่านค้นพบว่าตรงกับหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ท่านก็พบหลักฐานเกี่ยวกับคำว่า ธรรมกายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก  จึงทำให้มั่นใจในสิ่งที่ปฏิบัติว่าถูกต้อง


การบังเกิดขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญวิสาขะ เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีที่แล้ว เป็นประดุจดวงอาทิตย์อุทัยที่โผล่ขึ้นมาเพื่อขจัดความมืดให้แก่โลก เพราะพระองค์ทรงเปิดเผยเส้นทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางสายเอกอันนำไปสู่ความหลุดพ้นที่ผู้คนในยุคนั้นไม่เคยรู้จัก และเส้นทางสายกลางนี้แจ่มชัดขึ้นเมื่อพระมงคลเทพมุนีได้ปฏิบัติธรรมอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และได้พิสูจน์แล้วว่า  เส้นทางสายกลางนั้นเป็นเช่นไร

วันวิสาขบูชานี้จึงเป็นวันสำคัญที่พวกเราชาวพุทธจะมิได้รำลึกถึงเพียงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธองค์เท่านั้น แต่เป็นวันที่พวกเราควรปฏิบัติบูชาด้วยการทำสมาธิดำเนินจิตไปตามเส้นทางสายกลาง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพื่อเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ และยืนยันว่า คำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นอกาลิโก ไม่จำกัดด้วยกาล และรอคอยการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเองของทุกคน

จากหนังสือ MD102 หลักการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

Cr. พระมหาวุฒิชัย  วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๑  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘


                เห็นสมณะ




ทางสายกลาง เส้นทางตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ทางสายกลาง เส้นทางตรัสรู้ของพระพุทธองค์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:48 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.