คุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา


ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีโครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่เหล่ากุลบุตรจะได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ธรรมะและปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต และเพื่อการเป็นพุทธบริษัท ๔ ที่ดี แต่การที่กุลบุตรจะบวชในพระพุทธศาสนาได้นั้น นอกจากจะต้องมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ยังจะต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงให้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกกุลบุตรที่จะบวชไว้หลายประการ เพื่อให้การบวชเกิดประโยชน์แก่ผู้บวชและเป็นประโยชน์ต่อการสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังนั้นเพื่อให้การทำหน้าที่ของยอดกัลยาณมิตรทุกคนที่กำลังไปเชิญชวนชายแมน ๆ มาบวชในภาคฤดูร้อนนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและได้บุญกันอย่างเต็มที่ จึงขอนำคุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงให้หลักการเอาไว้ มาเป็นแนวทางในการคัดกรองกุลบุตรผู้มีศรัทธาเพื่อการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัยทั้งในการบวชเป็นสามเณรที่เรียกว่า บรรพชาและการบวชเป็นพระภิกษุที่เรียกว่า อุปสมบทโดยผู้ที่บรรพชาและอุปสมบทต้องมีคุณสมบัติที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ ดังนี้

๑) บุคคลผู้ถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาด

ผู้ถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาดมีอยู่ ๓ ประเภท คือ ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ อย่าง และผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา หากคณะสงฆ์ให้อุปสมบทไปโดยที่ไม่รู้ เมื่อทราบภายหลังจะต้องให้ลาสิกขา การห้ามอุปสมบทในที่นี้รวมถึงการห้ามบรรพชาเป็นสามเณรด้วย

ประเภทที่ ๑ ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง
๑)  บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย
๒)  อุภโตพยัญชนก หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศ ๒ เพศ คือ มีทั้งเพศหญิงและเพศชายในคนเดียวกัน
๓)  สัตว์ดิรัจฉาน

ประเภทที่ ๒ ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม
๑)  ผู้ที่ฆ่าบิดา
๒)  ผู้ที่ฆ่ามารดา
๓)  ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์
๔)  ผู้ที่ทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
๕)  ผู้ที่ทำสังฆเภทคือทำสงฆ์ให้แตกกัน

ประเภทที่ ๓ ผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา
๑)  ผู้ที่เคยต้องอาบัติปาราชิก หมายถึง ผู้ที่เคยบวชแล้วแต่ทำผิดร้ายแรงถึงระดับที่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ บุคคลประเภทนี้จะกลับมาบวชอีกไม่ได้
๒)  ผู้ที่ประทุษร้ายภิกษุณี
๓)  คนลักเพศ หมายถึง ปลอมบวช คือ เอาผ้าเหลืองมาห่มเองโดยไม่มีพระอุปัชฌาย์
๔) ผู้ที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ หมายถึง พระภิกษุ-สามเณรที่เปลี่ยนไปเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา จะกลับมาบวชไม่ได้

๒) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการอุปสมบท

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ไม่ควรได้รับการอุปสมบทไว้ ๒๐ ประการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีพระอุปัชฌาย์หรือผู้ที่พระอุปัชฌาย์มีปัญหา เช่น พระอุปัชฌาย์เป็นกะเทย, ไปเข้ารีตเดียรถีย์, พระอุปัชฌาย์เป็นอุภโตพยัญชนก เป็นลักเพศ ประเภทที่สอง ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีบริขารเป็นของตนเอง คือ ไม่มีบาตรและจีวร บุคคลเหล่านี้ไม่ควรให้บวช หากภิกษุรูปใดบวชให้จะต้องอาบัติทุกกฎ1 แต่เมื่อใดบุคคลเหล่านี้สามารถหาพระอุปัชฌาย์ที่เหมาะสมได้และหาบริขารได้แล้วก็สามารถอุปสมบทได้

๓) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชา

ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชานั้นถือว่าเป็นผู้ไม่ควรได้รับการอุปสมบทด้วย เพราะอุปสมบทกรรมเป็นพิธีที่ต้องผ่านการบรรพชามาก่อน บุคคลที่ไม่ควรได้รับการบรรพชาแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย, ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์, ผู้ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง

ประเภทที่ ๑ ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย ได้แก่ มารดาบิดาไม่อนุญาต มีหนี้สินเป็นทาส ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต โจรผู้ร้าย คนที่ถูกออกหมายจับ เป็นต้น

ประเภทที่ ๒ ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ได้แก่ มือเท้าด้วน หูขาด นิ้วขาด เอ็นขาด จมูกแหว่ง นิ้วติดกันเป็นแผ่น ตาบอด ใบ้ หูหนวก ง่อย เปลี้ย คอพอก ค่อม เตี้ยเกินไป เท้าปุก ชรา ทุพพลภาพ รูปร่างไม่สมประกอบ คนกระจอกคือฝ่าเท้าไม่ดีต้องเดินเขย่ง เป็นต้น

ประเภทที่ ๓ ผู้ที่ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคอัมพาต โรคเรื้อรัง โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคลมบ้าหมู โรคมองคร่อ (โรคที่มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านหลอดลม) โรคเหล่านี้ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ป่วยจึงไม่ควรที่จะเข้ามาบวช แต่ในปัจจุบันมีโรคร้ายแรงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเอดส์เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้ก็ไม่ควรให้บวชเช่นกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า หากพระอุปัชฌาย์ท่านใดให้บุคคลเหล่านี้บรรพชาจะต้องอาบัติทุกกฎ2 แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ให้บุคคลที่ได้รับการบวชแล้วลาสิกขาแต่อย่างใด ในอรรถกถาบางแห่งกล่าวไว้ว่า หากสงฆ์ให้บุคคลเหล่านี้บวชแล้ว ก็เป็นอันอุปสมบทด้วยดี3 บุคคลดังกล่าวหากได้บวชแล้วจะสามารถดำรงเพศบรรพชิตอยู่ได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสงฆ์ในแต่ละวัด ถ้าหากข้อบกพร่องมีไม่มากก็คงให้บวชอยู่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าหากให้บวชอยู่ต่อไปจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสงฆ์ก็ควรให้ลาสิกขาไป

จะเห็นว่าระบบระเบียบการคัดคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นระบุไว้อย่างละเอียดชัดเจนมาก จึงเป็นเครื่องชี้วัดว่า ผู้ที่จะมาบวชได้จะต้องมีความสมบูรณ์พร้อมจริง ๆ ทั้งเรื่องบุคลิกภาพและความประพฤติ ต้องเป็นคนที่สั่งสมบุญมาอย่างดีแล้ว มาบวชเพื่อหวังทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างแท้จริง และจะได้เป็นที่พึ่งให้พระศาสนาได้ ไม่ได้มาบวชเพื่อหวังพึ่งพระศาสนา

ดังนั้น ในการไปทำหน้าที่ชวนชายแมน ๆ มาบวช ก็อย่าลืมช่วยกันพิจารณาคุณสมบัติของผู้บวชแทนพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ด้วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ และไม่ทำให้เสียความตั้งใจในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรถ้าหากผู้ที่ชวนมาบวชไม่ผ่านคุณสมบัติของการบวช


1พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑, มก. เล่ม ๖ ข้อ ๑๓๓ หน้า ๓๓๕-๓๓๖.
2พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑, มก. เล่ม ๖ ข้อ ๑๓๕ หน้า ๓๔๐.
3สมันตปาสาทิก อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค มก. เล่ม ๖ หน้า ๓๕๐.
ข้อมูลจาก GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๒ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙







คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
แนวคิดในการสร้างวัดพระธรรมกาย (ปีก่อนหน้า)
บริหารเวลาด้วยกาลัญญู
มาฆบูชามหาสมาคม
ท่าทีต่อสงฆ์ในยุคปัจจุบัน
กลวิธีแก้ไขความผันแปรของสภาพอากาศโลก
คุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา คุณสมบัติของผู้บวชในพระพุทธศาสนา Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:13 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.