จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์


ทันทีที่เกิดมาลืมตาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่าง ๆ นานา ที่พร้อมจะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเลมหาโหด

ภัยทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาผจญคอยดักอยู่ตลอดเวลา
ข้างหลัง คือ ชาติภัย ภัยจากการเกิด
ข้างขวา คือ ชราภัย ภัยจากความแก่
ข้างซ้าย คือ พยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ
ข้างหน้า คือ มรณภัย ภัยจากความตาย

ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลังทุกด้านเลยทีเดียว ใคร ๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

๒. ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น ภัยจากคน อาทิ ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน ภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ระเบิด ฟ้าผ่า ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ อาทิ เคยเบียดเบียนสัตว์ ก็ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย พิการ เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน เคยไปลักขโมยโกงเขา เขาจับได้ก็ถูกขังคุกลงโทษ

การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลายที่ดิ้นไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้าน ๆ ชาติมาแล้ว ทั้งนี้เพราะถูกผูกด้วย โยคะ ซึ่งแปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพมีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่

๑. กามโยคะ คือ ความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเพลงเพราะ ๆ อยากกินอาหารอร่อย ๆ ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวย ๆ นุ่มนวลสวมสบาย อยากเห็นรูปสวย ๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้

๒. ภวโยคะ คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คนที่พ้นเชือกเกลียวแรกพ้นกามโยคะมาได้ ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือ เมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบทำสมาธิจนได้รูปฌานหรืออรูปฌาน ก็พอใจยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหมซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก นี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๒

๓. ทิฏฐิโยคะ คือ ความยึดถือความคิดเห็นที่ผิด ๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู่ ยังไปหลงยึดความเห็นผิด ๆ อยู่ สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๓

๔. อวิชชาโยคะ คือ ความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี้ก็เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๔

ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเหมือนเชือก ๔ เกลียวที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดทีเดียว

จิตเกษมคืออะไร ?

เกษม แปลว่า ปลอดภัย พ้นภัย สิ้นกิเลสมีความสุข

จิตเกษม จึงหมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว โยคะเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้ง ๔ เกลียวได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง จิตเป็นอิสรเสรี ทำให้คล่องตัว ไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใด ๆ มาบีบคั้นได้อีกจึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในนิพพานตลอดเวลา ซึ่งได้แก่พระอรหันต์นั่นเอง ซึ่งจิตของพระอรหันต์นั้น นอกจากจะหมดกิเลสแล้ว ก็ยังทำให้มีความรู้ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ เช่น วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔

สวดธรรมจักรด้วยจิตเกษม

ในการสวดธรรมจักรนั้น ต้องสวดอย่างถูกหลักวิชชา คือ สวดด้วยจิตเกษมปราศจากธุลี ซึ่งลักษณะของจิตดังกล่าว เป็นลักษณะจิตของผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง อยู่เหนือโลก อยู่เหนือการครอบงำของกิเลส เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ และจิตเช่นนี้จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น การรวมตัวสวดธรรมจักรของทุกคนทั่วโลกตามหลักวิชชาเช่นนี้ คือ การทำจิตของผู้สวดให้เป็นจิตเกษมชั่วขณะ แม้จะยังไม่ถึงขั้นเป็นจิตของพระอรหันต์ แต่จิตนั้นก็จะเป็นอิสระ มีความบริสุทธิ์ และมีอานุภาพมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม บรรยากาศ รวมถึงสภาพจิตใจโดยรวมของมนุษย์

เมื่อความบริสุทธิ์เขามาแทนที่ ภัยตาง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยภายในหรือภายนอกก็จะมลายหายสูญไป และยุคชาวศิวิไลซ์ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นศีลและธรรมจะเกิดขึ้น เราก็จะมีความสุขสดชื่นเบิกบาน มีจิตเกษมสำราญกันถ้วนหนาทุกคน

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐








คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การเดินทางไปสู่ปรโลก (ปีก่อนหน้า)
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม
แนวคิดการสร้างพระเจดีย์
จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์ จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:21 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.