ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม


ในยุคที่การติดต่อข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก การกระทำทางวาจาที่เรียกว่า วจีกรรมเป็นกรรมที่มีโอกาสทำผิดพลาดกันได้ง่ายมากขึ้น วจีกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการสื่อสารผ่านตัวหนังสืออีกด้วย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงให้หลักในการพิจารณาการพูดไว้ในองค์ของวาจาสุภาษิตว่า

๑. ต้องเป็นคำจริง เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น

๒. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า ประชดประชัน เสียดสี เพราะคำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

๓. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นเป็นคำจริงและสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

๔. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดีอยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในข้อนี้ยังหมายถึงว่า แม้พูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ก็ตาม แต่ยังต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ไม่ใช่ถือว่าเรามีความปรารถนาดีแล้ว อยากจะพูดอะไรก็พูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้

๕. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง คำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับ ก็จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป

พูดถูกเวลา (กาล) คือ รู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือ รู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไร จึงสมควรที่จะพูด หากพูดไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร

การพูดหรือการสื่อสารที่ขาดสติพิจารณา พูดเอาสนุกปาก พูดหยาบคาย หรือพูดโดยปราศจากข้อมูลที่แท้จริง ไม่เพียงแต่จะไม่เป็นวาจาสุภาษิต แต่ยังมีทุกข์โทษภัยแก่ผู้พูดตามหลักกฎแห่งกรรมอีกด้วย ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีผู้ใดฝ่าฝืนได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติ ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามกฎแห่งกรรม ก็จะเกิดโทษ ชีวิตไม่ได้รับความสุข ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่ากฎแห่งกรรมเป็นเรื่องใหญ่และมีหลักกรรมเป็นกรอบในการปฏิบัติ คือ บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนบุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

วจีกรรมที่เป็นอกุศล เป็นทุพภาษิต โดยเฉพาะที่กระทำการด่าบริภาษต่อเพื่อนพรหมจรรย์ คือ พระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมติเตียนพระอริยเจ้า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า จะต้องประสบกับความฉิบหาย ๑๑ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. ไม่บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ
๒. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
๓. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว
๔. เป็นผู้หลงเข้าใจว่าได้บรรลุสัทธรรม
๕. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
๖. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
๗. บอกลาสิกขา คือ สึกไปเป็นฆราวาส
๘. เป็นโรคอย่างหนัก
๙. ย่อมถึงความเป็นบ้า คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
๑๐. เป็นผู้หลงทำกาละ คือ ตายอย่างขาดสติ
๑๑. เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เพราะฉะนั้นเมื่อจะพูดหรือจะสื่อสารสิ่งใดก็ตาม จะต้องตระหนักถึงหลักกรรมนี้เสมอ ถึงเวลาเมื่อจะต้องติดต่อสื่อสาร สิ่งสำคัญประการแรกก็ต้องตั้งสติพิจารณาให้ดีว่า สิ่งที่พูดนั้นมีข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร และเมื่อจะต้องสื่อสารก็ต้องใช้คำพูดที่สุภาพ มีจิตเมตตา ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และทำในเวลาที่เหมาะสม ถ้าทำได้เช่นนี้เราก็จะอยู่เป็นสุข ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเพราะวจีกรรมทุพภาษิตที่เราสร้างขึ้น และจะได้ไม่ต้องไปรับผลแห่งวจีกรรมที่อาจจะเผลอทำผิดพลาดไปเพียงเพราะขาดสติ

จากหนังสือ GB 102 สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐







คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 20:22 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.