ศีลกับเป้าหมายชีวิต


ในพระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ตั้งเป้าหมายชีวิตซึ่งเป้าหมายชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น มีอยู่ด้วยกันถึง ๓ ระดับ คือ เป้าหมายบนดิน(ปัจจุบันชาติ) เป้าหมายบนฟ้า (ภพชาติเบื้องหน้า) และเป้าหมายเหนือฟ้า หรือเป้าหมายสูงสุด (พระนิพพาน)

เป้าหมายบนดิน คือ การดําเนินชีวิตที่มีความสุข มีความสงบ ไม่เดือดร้อนทุกข์กาย หรือทุกข์ใจ

เป้าหมายบนฟ้า คือ การได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์หรืออย่างน้อยได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ไม่ต้องพลัดตกไปสู่อบาย คือ เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน

เป้าหมายเหนือฟ้า คือ การกําจัดกิเลสอาสวะ เพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน

การจะบรรลุถึงเป้าหมายทั้ง ๓ ระดับได้นั้น สิ่งที่ต้องกระทําเป็นอันดับแรก คือ ต้องทําทาน เพราะทานเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความสุขสบาย ลําพังการทําทานนั้นก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องรักษาศีลด้วย ซึ่งศีลนั้นมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายชีวิตทั้ง ๓ ระดับ ดังนี้

ศีลกับเป้าหมายบนดิน
เมื่อมีสมบัติไว้หล่อเลี้ยงกาย สิ่งที่จําเป็นต้องได้ถัดมา คือ การมีชีวิตที่สงบสุขปราศจากทุกข์โทษภัยหรือการเบียดเบียนกัน ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกันมิให้คนในสังคมเบียดเบียนกันก็คือศีลนั่นเอง เพราะศีลเป็นเครื่องควบคุมกายและวาจาของคนเราให้เรียบร้อย ทําให้ไม่มีการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินซึ่งกันและกัน ดังนั้นเพื่อความสุขและความปลอดภัย แต่ละคนจะต้องรักษาศีลของตนเองไว้ให้มั่นคง

ศีลกับเป้าหมายบนฟ้า
นอกจากศีลจะเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขแล้ว ศีลยังเป็นหลักประกันที่จะทําให้ไม่ต้องตกไปสู่อบายหรืออย่างน้อยก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุขัยยืนยาว เพราะว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนทําร้ายใคร จึงทําให้ได้ร่างกายที่เหมาะสมสําหรับทําความดีและยังสามารถใช้ทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

ศีลกับเป้าหมายเหนือฟ้า
การรักษาศีลไม่เพียงเป็นเหตุให้ได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตในภพชาตินี้ คือการมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากทุกข์โทษภัยใด ๆ หรือบรรลุเป้าหมายในภพชาติเบื้องหน้า คือการได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น แต่ศีลยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณธรรมทั้งหลายของมนุษย์ ประดุจแผ่นดินเป็นที่รองรับของการงานทั้งปวง ดังที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมพลกรณียสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงานที่บุคคลต้องทําด้วยกําลังอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินทั้งนั้นจึงจะทําได้ การงานที่ต้องทําเหล่านี้ เขาย่อมทําด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอบรมอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ทําให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ฉันนั้น

นอกจากนั้น ศีลก็ยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูง คือ สมาธิและปัญญา  ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ภิกขุสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงทําเหตุเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน เหตุ เบื้องต้นของกุศลธรรม คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดีและความเห็นตรง เมื่อใดศีลของเธอบริสุทธิ์ดีแล้ว และความเห็นของเธอก็ตรงดีแล้ว เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล แล้วจงเจริญสติปัฏฐาน ๔ (วิปัสสนา) ต่อไป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเธออาศัยศีลและตั้งอยู่ในศีลแล้ว จะเจริญสติปัฏฐาน ๔  เหล่านี้โดย ๓ ส่วนอย่างนี้ เมื่อนั้นเธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียวตลอดคืนหรือวันอันจะมาถึง เธอจะไม่มีความเสื่อมเลย

เพราะศีลมีความสําคัญกับเป้าหมายชีวิตทั้ง ๓ ระดับเช่นนี้ ควรที่เราชาวพุทธจะต้องสมาทานตั้งมั่นอยู่ในการรักษาศีล โดยเฉพาะในการรักษาศีล ๕ ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่าเป็นข้อห้าม แท้จริงแล้วศีลนั้นเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ที่เรียกว่า มนุษยธรรมอันทําให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายซึ่งไม่มีมโนธรรม ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ ดังนั้นการที่มนุษย์ขาดจากการรักษาศีล ๕ ข้อนี้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง มีสามัญสํานึกผิดชอบชั่วดี ก็จะลดน้อยถอยลง และการพัฒนาคุณธรรมความดีต่าง ๆ ที่มนุษย์สามารถจะพัฒนาให้ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งหมดกิเลสก็จะทําได้ยาก

ดังนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องสร้างเจตนาในการสมาทานประพฤติศีลในการดําเนินชีวิตประจําวัน ยามที่ต้องประสบกับเหตุการณ์หรือโอกาสที่อาจล่วงละเมิดศีล ก็พยายามหลีกเลี่ยงเสีย ด้วยการนึกตอกย้ำถึงมนุษยสัญญา สัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ที่เราจะต้องรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และหากเราสามารถมีศีล ๕ เป็นคุณธรรมประจําใจ การดํารงชีวิตในชาตินี้ก็จะมีความสุข ชีวิตในภพเบื้องหน้าก็จะไปสู่สุคติ และนําไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพานในที่สุด ดังบทสรุปตอนท้ายที่พระท่านกล่าวในเวลาให้ศีลว่า

สีเลนะ สุคะติง ยันติ
แปลว่า ศีลทําให้ไปสู่สุคติ
สีเลนะ โภคะสัมปะทา
แปลว่า ศีลทําให้มีโภคทรัพย์
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ
แปลว่า ศีลทําให้ไปพระนิพพาน

จากหนังสือ SB 101 วิถีชาวพุทธ

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐










คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การเดินทางไปสู่ปรโลก (ปีก่อนหน้า)
จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ
วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม
แนวคิดการสร้างพระเจดีย์
ศีลกับเป้าหมายชีวิต ศีลกับเป้าหมายชีวิต Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 00:14 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.