วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม
“อาสาฬหบูชา” อ่านว่า
อาสานหะบูชาหรืออาสานละหะบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะหรือเดือน ๘
ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งเรียกว่า วันอาสาฬหบูชา
ในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งพุทธกาล ๓ อย่างคือ
๑)
เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
๒)
เป็นวันที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นพระรัตนตรัยภายนอกเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก
คือพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อท่านฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว
ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและขอบวชในพระพุทธศาสนา
๓) หลังจากท่านอัญญาโกณฑัญญะบวชแล้ว
จึงทำให้วันนี้เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์เป็นครั้งแรก
คือมีครบทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกและการบังเกิดขึ้นของพระสงฆ์ในวันนี้ ทำให้วันอาสาฬหบูชามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวันประสูติ ตรัสรู้
และปรินิพพานเลย เพราะจากเรื่องราวของการสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า
เราจะพบว่ามีความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้าแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า
กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตรัสรู้แล้วแต่ไม่สอนผู้อื่น
ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ก็จะสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
ซึ่งระยะเวลาในการสั่งสมบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ ประเภทนี้
แตกต่างกันหลายเท่าตัว คือพระปัจเจกพุทธเจ้าสั่งสมบารมี ๒ อสงไขย แสนมหากัป
ก็เป็นพระพุทธเจ้าได้
ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกพุทธเจ้าต้องสั่งสมบารมีอย่างน้อยที่สุด
๒๐ อสงไขยแสนมหากัป พระสัทธาธิกพุทธเจ้าและพระวิริยาธิกพุทธเจ้าต้องสั่งสมบารมี
๔๐ อสงไขย และ ๘๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปตามลำดับ เหตุผลสำคัญของการสั่งสมบารมีที่แตกต่างอย่างมากมายมหาศาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเทียบกับพระปัจเจกพุทธเจ้า
ก็เพราะการจะเป็นผู้นำที่สามารถขนสรรพสัตว์ไปสู่นิพพานได้นั้น
จะต้องทำให้ตนเองสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา ความบริสุทธิ์
และมีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมหากรุณา จนกระทั่งภพชาติสุดท้าย สามารถที่จะเปล่งอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก
เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดอีกมิได้มี” เมื่อได้คุณสมบัติที่เป็นเลิศเช่นนี้
การทำหน้าที่ผู้นำรื้อสัตว์ขนสัตว์ก็จะสามารถทำได้ไม่ยาก
การที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญทานแบบยิ่งยวด
ดุจคนถือหม้อแล้วคว่ำหม้อลงจนไม่เหลืออะไร ยอมสละอวัยวะ เลือดเนื้อ
ชีวิตและสั่งสมบารมีต่าง ๆ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
ก็เพื่อรอให้ภพชาติสุดท้าย สามารถทำหน้าที่ได้ดีที่สุด คือการรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปพระนิพพาน
สมดังปณิธานในการตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าที่ว่า “โลกก็คือคุกใบใหญ่ ตัวเราและสรรพสัตว์ต่างถูกจับขังให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
เราจะต้องหาทางพาตัวเองออกไปจากคุกนี้ให้ได้” และเนื่องจากมีความกรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย
จึงได้ตั้งความปรารถนาว่า “หากวันใดเราแหกคุกนี้ไปได้
เราจะไม่ไปคนเดียว แต่จะขนคนไปให้หมดทั้งโลก”
แม้เวลาในการสั่งสมบารมีนั้นยาวนานมากจนเทียบไม่ได้กับเวลาชีวิตที่ใช้เพื่อการรื้อสัตว์ขนสัตว์
อย่างเช่นพระสมณโคดมพุทธเจ้าสร้างบารมี ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป
แต่ทำหน้าที่รื้อขนสัตว์อยู่ได้แค่ ๔๕ พรรษา
แต่ช่วงเวลาเพียงเท่านั้นก็คุ้มค่าแล้วสำหรับปณิธานที่ถูกตั้งมาอย่างยาวนาน
เพื่อการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้รื้อขนสรรพสัตว์
วันอาสาฬหบูชาที่เราชาวพุทธกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
และระลึกถึงการแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทำให้บังเกิดพระรัตนตรัยครบถ้วนบริบูรณ์
จึงมีความสำคัญและยิ่งใหญ่
เพราะเป็นวันที่ปณิธานที่พระพุทธองค์ตั้งความปรารถนามายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ถูกเติมเต็มอย่างครบถ้วนบริบูรณ์
คือพระองค์ได้กระทำหน้าที่ประกาศสัจธรรม จนทำให้เกิดพระสาวกผู้บรรลุธรรมเช่นเดียวกับพระองค์
ประดุจดังนาวาธรรมที่พระพุทธองค์พากเพียรสร้างจนกระทั่งสำเร็จและเริ่มแล่นไปในมหาสมุทรแห่งวัฏฏะทุกข์ที่มีสรรพสัตว์ว่ายวนเวียนรอคอยการขึ้นฝั่งมากมาย
พระอัญญาโกณฑัญญะเปรียบเสมือนผู้ที่ได้ขึ้นนาวาธรรมท่านแรก และมีผู้ที่ได้ขึ้นนาวาธรรมนี้อีกมากมายจนกระทั่งเต็มลำ
และพระองค์ก็นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นไปสู่ฝั่ง คือ พระนิพพาน
แต่กระนั้นก็ยังมีสรรพสัตว์อีกจำนวนมากที่พลาดโอกาสไม่ได้ขึ้นนาวาธรรมลำนี้
และรอคอยนาวาธรรมลำต่อไปที่จะมารับ
โบราณาจารย์ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชา ในฐานะเป็นวันที่ธรรมจักรถูกขับเคลื่อนไป
ทำให้ศาสนาหรือคำสอนหนึ่งเกิดขึ้นบนโลก เราเรียกศาสนานั้นว่า ศาสนาพุทธ หรือ
ศาสนาของผู้รู้
ตราสัญลักษณ์ธรรมจักรอันสื่อมาจากธัมมจักกัปปวัตนสูตรจึงถูกใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนาของพระพุทธเจ้า
คือ พระพุทธศาสนานั่นเอง
ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธควรหันมาศึกษาธัมมจักกัปปวัตนสูตรในฐานะต้นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนาและเป็นบทธรรมที่พระพุทธเจ้าทุก
ๆ พระองค์ล้วนประกาศแสดงแก่พระสาวก
ความหมายสัจธรรมและคำสอนที่ปรากฏในธัมมจักกัปปวัตนสูตร
มีนัยลึกซึ้งมากกว่าเพียงตัวอักษรที่เราอ่านและทำความเข้าใจ
นั่นคือชาวพุทธควรจะได้ปฏิบัติและเข้าไปให้ถึงสัจธรรมที่เก็บไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร
และนั่นจะเป็นคุณค่าสูงสุดของการได้ระลึกนึกถึงวันอาสาฬหบูชาวันที่ปณิธานได้ถูกเติมเต็ม
และเมื่อได้ระลึกนึกถึงวันอาสาฬหบูชาแล้ว ก็ควรใช้โอกาสสำคัญนี้ ปรารภเหตุสำหรับการสั่งสมความดีในช่วงเข้าพรรษา
ซึ่งเป็นวันสำคัญต่อจากวันอาสาฬหบูชา
ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ชาวพุทธควรจะได้ใช้วันเวลาให้อยู่กับการทบทวนธรรมะและปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรม
เป็นช่วงที่จะได้ตอกย้ำและสร้างเสริมคุณธรรมความดีให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น เหมือนที่พระภิกษุท่านปรารภเข้าจำพรรษา
เพื่อทำความบริสุทธิ์แห่งจิตให้เกิดพร้อม ๆ
กับการศึกษาพระธรรมวินัยจากครูบาอาจารย์เป็นประจำทุกปี
ดังนั้น ในช่วงเข้าพรรษานี้ เราควรจะปรารภกันสร้างบุญใหญ่
ทำความดีเพื่อตัวของเราเอง เช่น ตั้งใจสวดธรรมจักรทุกวัน ตั้งใจรักษาศีลทุกวัน
หรือตั้งใจนั่งสมาธิให้ได้ทุกวัน หรือสร้างกุศลกรรมอื่น ๆ
ที่จะยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น
และยังเป็นการรักษาประเพณีที่ดีงามไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
แนวคิดการสร้างพระเจดีย์
ศีลกับเป้าหมายชีวิต |
แนวคิดการสร้างพระเจดีย์ |
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การเดินทางไปสู่ปรโลก (ปีก่อนหน้า)จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
แนวคิดการสร้างพระเจดีย์
วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
08:24
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: