แนวคิดการสร้างพระเจดีย์
จุดกำเนิดการสร้างพระเจดีย์
ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มักเสด็จไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทรงสงเคราะห์เหล่าเวไนยสัตว์
เมื่อชาวเมืองสาวัตถีถือของหอม ระเบียบดอกไม้ ไปที่วัดพระเชตวัน
เพื่อนอบน้อมบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่พบพระพุทธองค์
ก็นำเครื่องสักการะไปวางไว้ที่ประตูพระคันธกุฎี
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนถามพระอานนท์
และขอร้องให้ท่านช่วยกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ที่พระวิหาร สาธุชนจะบูชาพระองค์ได้อย่างไร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้บูชาพระเจดีย์ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ ธาตุเจดีย์
บริโภคเจดีย์ และอุทเทสิกเจดีย์ ซึ่งในครั้งนั้นพระอานนท์ได้กระทำอุทเทสิกเจดีย์
อันเป็นต้นโพธิ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
สำหรับในยุคปัจจุบันมีการจัดเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระธรรมเข้ามาเป็นเจดีย์อีกประเภทหนึ่ง
จึงมีพระเจดีย์รวมเป็น ๔ ประเภท คือ
๑) ธาตุเจดีย์ คือ
พระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระบรมธาตุของถูปารหบุคคล คือ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ
๒) บริโภคเจดีย์ คือ พระเจดีย์ ณ
สังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งพระสรีรังคาร คือเถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ
ตุมพทะนาน ที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมธาตุแจกแก่เจ้านครทั้งสี่
รวมทั้งบาตร จีวร บริวาร เสนาสนะ เตียง ตั่ง และกุฎีวิหาร
ทุกสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบริโภค ก็จัดเป็นบริโภคเจดีย์
๓) อุทเทสิกเจดีย์ คือ
พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่กำหนดว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น พระพุทธปฏิมากร พระพุทธรูปปางต่าง ๆ พระพุทธบาท
บัลลังก์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศและตรึกระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ยังความศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็นให้เกิดกุศลจิต
๔) ธรรมเจดีย์ คือ
พระเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จดจารึกลงบนแผ่นทอง เงิน
ศิลา เป็นต้น เช่น คาถาที่แสดงพระอริยสัจหรือคัมภีร์พระไตรปิฎก
การสร้างเจดีย์ปัจจุบันมีประเพณีบรรจุของมีค่าและพระพิมพ์จำนวนมากไว้ในกรุขององค์เจดีย์
ซึ่งมีนัยว่าเป็นการสืบทอดพระศาสนา
ลักษณะรูปทรงเจดีย์
จากบันทึกของพระถังซำจั๋งกล่าวว่า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดรูปแบบของเจดีย์ไว้เป็นปฐม ด้วยการทรงนำผ้าของพระองค์มา
๓ ผืน
แต่ละผืนพับเป็นสี่เหลี่ยมแล้ววางซ้อนกันจากใหญ่ไปหาเล็กและทรงคว่ำบาตรของพระองค์วางลงไปบนยอดอีกทีหนึ่ง
และตรัสว่า นี่แหละสถูปเจดีย์
รูปทรงเจดีย์ในพระพุทธศาสนาสรุปเป็น ๖
แบบ คือ
๑. ทรงโดมหรือบาตรคว่ำ โอคว่ำ
๒. ทรงหลังคาซ้อนกันจากใหญ่ไปหาเล็ก
๓. ทรงระฆัง ที่มีความโค้งเว้าแตกต่างกันไปตามความนิยม
๔. ทรงตึก
๕. ทรงทิเบต
๖. ทรงดอกบัว
เหตุผลในการพัฒนารูปทรงเจดีย์ตลอดเวลาสองพันกว่าปี คือ
๑. เพื่อปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม
๒. เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของตน แห่งตน ขึ้นเป็นการเฉพาะ
๓. เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับความเชื่อและข้อปฏิบัติในฝ่ายที่ตนเลือก
๔. เพื่อยืนยันความเป็นนักคิดและให้สอดคล้องกับพระสูตรที่แต่ละท้องถิ่นนิยม
๕. เพื่อผสมผสานวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์โบราณของท้องถิ่น
พระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์
เป็น "มหาเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย"
สร้างขึ้นให้ผู้พบเห็นได้ตรึกระลึกนึกถึงกราบไหว้เคารพบูชา ‘แก่นของพระพุทธศาสนาคือ
พระรัตนตรัย’ อันนำไปสู่ความสนใจใคร่ศึกษา
ค้นคว้าหาคำตอบจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และมุ่งปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึง ‘พระรัตนตรัยภายในตัว’ ซึ่งเป็นสรณะแท้จริงที่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
พระมหาธรรมกายเจดีย์มีองค์ประกอบ หลัก ๓ ส่วน
คือ
๑) พุทธรัตนะ คือ ส่วนโดมและเชิงลาดสีทอง
ลักษณะคล้ายสาญจิเจดีย์ ด้านนอกเจดีย์ประดิษฐานพระธรรมกาย ๓๐๐,๐๐๐
องค์ และด้านในเจดีย์ ๗๐๐,๐๐๐ องค์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และมีพระบรมพุทธเจ้าหล่อจากเงินแท้ หนัก ๑๔ ตัน เป็นองค์ประธาน
๒) ธรรมรัตนะ เป็นวงแหวนเชิงลาด
สีขาวรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ แทนพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แสดงสัญลักษณ์ที่แผ่ขยายออกไปประดุจธรรมจักร
เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างพุทธรัตนะและสังฆรัตนะ มีความกว้าง ๑๐.๘ เมตร
๓) สังฆรัตนะ เป็นพื้นที่ขั้นบันได รูปวงแหวน
ที่ลดหลั่นลงมาจากธรรมรัตนะ มี ๒๒ ขั้น ใช้สำหรับพระภิกษุนั่งปฏิบัติธรรม
และประกอบพิธีได้จำนวน ๑๐,๐๐๐ รูป
นอกจากพระมหาธรรมกายเจดีย์จะสร้างขึ้นเพื่อให้เป็น
‘มหาเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย’ แล้ว
ยังมีองค์ประกอบของพระเจดีย์รวมอยู่ถึง ๓ ประเภท คือ
๑) ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒) อุทเทสิกเจดีย์ มีพระธรรมกาย ๑,๐๐๐,๐๐๐
องค์ และพระบรมพุทธเจ้าเป็นองค์ประธานอยู่ภายใน
๓) ธรรมเจดีย์ บรรจุพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ไว้ในส่วนธรรมรัตนะ
พระมหาธรรมกายเจดีย์เป็นทั้งเจติยสถานเพื่อระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย
พร้อมทั้งเป็นสถานที่รองรับพุทธบริษัท ๔ นับล้านคน เพื่อมาประกอบศาสนพิธีในวันสำคัญ
พระมหาธรรมกายเจดีย์จึงเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดสันติสุขแก่ชาวโลก
จุดมุ่งหมายของการสร้างพระเจดีย์
การสร้างพระธาตุเจดีย์หรือพระสถูปเจดีย์เพื่อสักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นการสืบทอดความเลื่อมใสศรัทธามาถึงยุคปัจจุบัน
ซึ่งเป็นทางมาแห่งมหากุศลยิ่งใหญ่ เพราะว่าพระเจดีย์ถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธ
ถ้าบ้านเมืองไหนมีพระสถูปเจดีย์ประดิษฐานอยู่ ความสงบร่มเย็นจะบังเกิดขึ้น
เพราะพระเจดีย์เป็นสิ่งที่ยกใจให้สูงขึ้นจากอาสวกิเลส และเป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้ คิด
พูด ทำอกุศลต่าง ๆ บุคคลใดเลื่อมใสในวัตถุที่ควรเลื่อมใส จะส่งผลให้ไปสุคติภพ
ดังพุทธพจน์ว่า “ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระตถาคต ครั้นทำกาละแล้ว ชนเหล่านั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
การที่เราได้ไปกราบไหว้พระเจดีย์ สวดสรรเสริญพระพุทธคุณ
เจริญพุทธานุสติด้วยความระลึกนึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย
แล้วน้อมนำใจให้ตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยภายในตัว
อานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่มีประมาณ
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร หน้าพระมหาธรรมกายเจดีย์
ซึ่งนอกจากเป็นการสรรเสริญพุทธคุณแล้ว
ยังถือเป็นการกระทำสักการะด้วยจิตที่เลื่อมใสอีกด้วย
ผลบุญใหญ่ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ผู้สวดและสักการบูชา
ยิ่งถ้าเราได้มีส่วนในการสร้างพระเจดีย์
ยิ่งทำให้เกิดความปลื้มปีติในผลแห่งการเป็นผู้สร้าง และอานิสงส์อันไม่มีประมาณย่อมจะเกิดขึ้นเป็นอริยทรัพย์ติดตัวไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้าตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน
จากหนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๖ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การเดินทางไปสู่ปรโลก (ปีก่อนหน้า)
จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม
วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม |
รอลงบทความ |
คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การเดินทางไปสู่ปรโลก (ปีก่อนหน้า)
จิตเกษมในยุคชาวศิวิไลซ์
ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
วันอาสาฬหบูชา : วันที่ปณิธานถูกเติมเต็ม
แนวคิดการสร้างพระเจดีย์
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
02:29
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: