ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ


มีธรรมอยู่ ๒ ข้อ คือ สันโดษ” (ความยินดีในของของตน) กับ อัปปิจฉา” (ความมักน้อย) ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจสับสนกันอยู่ จึงเอาธรรม ๒ ข้อนี้ไปรวมกัน คือ ชอบพูดว่า สันโดษมักน้อยเลยทำให้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า สันโดษ คือ ความมักน้อย เกิดความเข้าใจว่า ธรรมข้อนี้สอนให้คนเราอยากมีอะไรน้อย ๆ และยินดีตามที่ตนมีตนได้ ได้อย่างไรก็พอใจอยู่แค่นั้น เมื่อเกิดความเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็มักคิดเลยเถิดไปว่า ธรรมข้อนี้เป็นเครื่องถ่วงความเจริญก้าวหน้าของตนและประเทศชาติ บางคนยังเกิดความเข้าใจวิปลาสออกไปถึงขนาดกล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน

ความสันโดษ คือ ความยินดีในของของตน พอใจด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่ง และยา ตามมีตามได้ การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร

ความจริงธรรม ๒ ข้อนี้ มีความหมายตามหลักพระพุทธศาสนา ดังนี้

สันโดษคือ ความยินดี พอใจในของที่ตนมี

อัปปิจฉาคือ ความมักน้อย

ถ้ามีคำถามว่า การที่พ่อแม่รักลูก พอใจในลูกของตนนั้น เป็นสิ่งที่ดีไหม การที่สามีพอใจในภรรยาของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม ภิกษุรักวัดของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม พลเมืองรักชาติบ้านเมืองของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม คำตอบก็คือเป็นสิ่งที่ดี

ผู้ที่มีความพอใจในของของตนก็คือ ผู้มีความสันโดษ ซึ่งสำนวนในพระพุทธศาสนา ท่านใช้ว่า ยินดีในของที่ตนมี

เมื่อเราพอใจในบุคคลหรือสถาบันใด ๆ แล้ว เราย่อมป้องกันรักษา ทำนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า สันโดษทำให้เจริญ ในทางตรงกันข้าม ความไม่สันโดษย่อมทำให้เสื่อม เช่น ชายที่มีภรรยาแล้วไม่พอใจในภรรยาของตน กลับไปรักหญิงอื่นหรือภรรยาคนอื่น หรือเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากขาดความสันโดษก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือรับสินบนได้ ทั้งนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้เราไม่ปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้า แต่ทรงสอนให้เราพอใจตามมีตามได้และแสวงหาโดยสุจริตเท่านั้น

พระพุทธศาสนาได้จัด สันโดษเป็นนาถกรณธรรม คือ ธรรมอันเป็นที่พึ่งข้อหนึ่ง เพราะเป็นธรรมที่ช่วยปรับปรุงตัวเราให้เป็นคนขยัน ไม่ดูถูกตนเอง มีความพอใจและเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งป้องกันตัวเองไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ด้วย

สันโดษในแง่ที่เป็นธรรมปฏิบัติของภิกษุนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ

๑) ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้ หมายความว่า เมื่อได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจในสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะอยากได้ของที่ไม่ได้ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น ไม่ริษยาคนอื่น

๒) ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลัง หมายความว่า พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดาย ไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือไม่ฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน

๓) ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร หมายความว่า พอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิตและจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะสมแก่สมณสารูป หรือหากได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตน แต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่นก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น

ความสันโดษนี้มุ่งหมายไปที่การสันโดษในปัจจัย ๔ ซึ่งภิกษุที่สันโดษก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แบบไม่มีอะไร ต้องอยู่แบบซอมซ่ออย่างที่เรียกกันติดปากว่า ต้องสมถะติดดินเท่านั้น ไม่ใช้ข้าวของปัจจัย ๔ อะไรเลย แต่ความสันโดษทำให้เราพอใจยินดีในสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย หรือดีเลวอย่างไรก็ยินดีทั้งนั้น สิ่งใดก่อให้เกิดความสบายแก่ตน ก็ยินดีต่อสิ่งนั้น สิ่งใดสมควรแก่ตน ก็ยินดีต่อสิ่งนั้น ซึ่งสันโดษนี้จะแตกต่างกับความมักน้อย เพราะสันโดษไม่มีการจำกัดว่ามากน้อยเท่าใด แต่ให้ยินดีในสิ่งที่ได้มา และเมื่อภิกษุสันโดษแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปอวดอ้างคุณความดีว่าตนเป็นผู้สันโดษ เพราะการกระทำเช่นนั้นกลับกลายเป็นการถือตัว มีมานะ หรือบางครั้งก็เป็นสันโดษแบบกุหนา คือ ทำตนว่าเป็นผู้สันโดษมักน้อย ไม่ปรารถนาจะรับสิ่งของใด ๆ เพื่อทำให้ทายกนึกนิยมสรรเสริญตน และคิดว่าถ้าหาเครื่องไทยธรรมมาถวายพระภิกษุรูปนี้ก็จะได้บุญมาก ความสันโดษเช่นนี้เป็นการสันโดษที่ทำให้กิเลสเพิ่มพูนขึ้น ไม่ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายของความสันโดษ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญความสันโดษไว้ว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างเยี่ยมหมายความว่า ความยินดีด้วยของของตนนั้นเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เพราะเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนความไม่ยินดีในของของตนนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือเสื่อมทรามอย่างยิ่ง ดังเช่นพระเทวทัตที่ขาดความสันโดษ ไม่รู้จักประมาณตนว่ายังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเลย เมื่อเห็นพระอรหันตสาวกรูปอื่นได้รับความเคารพสักการะมากกว่าตน ก็เกิดความริษยาเร่าร้อนใจ ทำให้หลงลืมการบำเพ็ญสมณธรรม กลับไปทะเยอทะยานหวังให้มีผู้คนมาเคารพสักการะมาก ๆ เฝ้าคิดวางแผนการร้ายต่าง ๆ จนต้องก่อกรรมทำเข็ญถึงกับถูกธรณีสูบในที่สุด ก็เพราะขาดสันโดษนี่เอง

ความสันโดษมีคุณมากแก่ผู้คนในสังคมที่มีค่านิยมในการให้ความสำคัญกับเปลือกนอกที่แสดงให้เห็นผ่านทางวัตถุมากกว่าการยอมรับในคุณค่าของตัวตนที่แท้จริงของกันและกัน ปัญหาในสังคมแห่งชนชั้น เหยียดหยามดูแคลนกันและกันจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเราฝึกที่จะมีความสันโดษ และเมื่อมีความสันโดษ ชีวิตก็จะมีความสุขในแบบที่เราเป็นได้

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
อ้างอิง : จากตำราวิชา SB 304 ชีวิตสมณะ
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐







คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:45 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.