การปฏิบัติเพื่อฝึกใจตามเส้นทางสายกลาง


ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรอันเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงปฐมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวถึง มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง ซึ่งเป็นหนทางหรือข้อปฏิบัติที่ไม่ตึงเกินไปจนเป็นความลำบากแก่ตน (อัตตกิลมถานุโยค) ไม่หย่อนเกินไปจนเป็นการพอกพูนกามกิเลส (กามสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งหมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นหนทางที่พระตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ซึ่งทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัตินั้นไม่ได้มีบอกไว้ชัดเจนในพระสูตรว่ามีวิธีการเช่นไร เพียงแต่บอกว่า คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหลังจากที่หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ปฏิบัติโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านได้พบว่า ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา อันประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้นพบนั้น แท้จริงแล้วมิได้หมายถึงข้อปฏิบัติหรือความประพฤติทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน แต่หมายถึงการฝึกใจที่ดำเนินไปตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งท่านได้อธิบายไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า

นี่ที่ไปถึงพระตถาคตเจ้าอย่างนี้ ไปถึงธรรมกายเช่นนี้ ไม่ได้ไปทางอื่นเลย ไปทางปฐมมรรค ไปกลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

ดวงศีลคืออะไร ดวงศีลนะคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว อริยมรรค ๓ องค์นี้เรียกว่า ดวงศีล

ดวงสมาธิ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อริยมรรค อีก ๓ องค์

ดวงปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นแปดองค์ในอริยมรรคนั้นทั้งสิ้น

และในการฝึกใจตามเส้นทางสายกลางหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อธิบายถึงหลักการสำคัญที่จะทำให้ค้นพบหนทางสายกลางว่าจะต้องนำเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง ซึ่งวิธีการเอาใจให้เข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางนี้ ท่านได้สรุปไว้ว่าคือการทำใจให้ หยุดเพียงอย่างเดียว ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตรด้วยว่า

ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลาง นั่นแหละได้ชื่อว่ามัชฌิมาน่ะ พอหยุดก็หมดดี หมดชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วกัน หยุดทีเดียว พอหยุดจัดเป็นบุญก็ไม่ได้ พอหยุดจัดเป็นบาปก็ไม่ได้ จัดเป็นดีก็ไม่ได้ ชั่วก็ไม่ได้ ต้องจัดเป็นกลาง ตรงนั้นแหละกลางใจหยุดก็เป็นกลางทีเดียว นี้ที่พระองค์ให้นัยไว้กับองคุลิมาลว่า สมณะหยุด สมณะหยุดพระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มา สมณะหยุดแล้ว ท่านก็หยุด นี้ต้องเอาใจไปหยุดตรงนี้ หยุดตรงนั้นถูกมัชฌิมาปฏิปทาทีเดียว พอหยุดแล้วก็ตั้งใจอันนั้นที่หยุดนั้นอย่าให้กลับมาไม่หยุดอีกนะ ให้หยุดไปท่าเดียวนั่นแหละ พอหยุดแล้วก็ถามซิว่า หยุดลงไปแล้วยังตามอัตตกิลมถานุโยคมีไหม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีไหม ไม่มี นั่นกามสุขัลลิกานุโยคไม่มี ลำบากยากไร้ประโยชน์ไม่มี หยุดตามปกติ ของเขาไม่มี ทางเขาไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีทางดังกล่าวแล้วนี่ตรงนี้แหละที่พระองค์รับสั่งว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา พระตถาคตเจ้ารู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น (ตรงหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย) ตั้งต้นนี้แหละจนกระทั่งถึงพระอรหัตผล

ดังนั้น ในการสอนปฏิบัติ หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงใช้ถ้อยคำในการสอนสั้น ๆ ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จและในการฝึกใจตามทางสายกลางด้วยการทำหยุดให้เกิดขึ้นนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ให้หลักการสำคัญว่า ต้องเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลางคือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า กลางนี่ลึกซึ้งนัก ไม่มีใครรู้เข้าใจกันเลยธรรมที่เรียกว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางน่ะ ในทางปฏิบัติ แปลว่า ถึงเฉพาะซึ่งกลาง อะไรถึงต้องเอาใจเข้าถึงซึ่งกลางสิ เอาใจเข้าไปถึงซึ่งกลาง กลางอยู่ตรงไหน มนุษย์นี่มีแห่งเดียวเท่านั้น ศูนย์กลางกายมนุษย์

ศูนย์กลางกายจึงมีความสำคัญในการฝึกใจตามเส้นทางสายกลาง เป็นหนทางที่จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกายและพระนิพพานได้ในที่สุดดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป หลักการดำเนินจิตไปตามทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา จะเกิดขึ้นได้เมื่อเอาใจให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งกลาง คือ ให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อทำได้เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อฝึกจิตตามเส้นทางสายกลาง

ในวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ จึงเป็นวันที่ศิษยานุศิษย์จะได้มาตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระมงคลเทพมุนี ที่ได้นำเอาหลักการปฏิบัติเพื่อฝึกใจตามเส้นทางสายกลางด้วยถ้อยคำง่าย ๆ แต่ทรงคุณค่าต่อการปฏิบัติธรรม เพื่อการรู้เห็นธรรมตามแบบอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถ่ายทอดให้แก่พวกเรา

ดังนั้น จึงขอเชิญเหล่าศิษยานุศิษย์ไปร่วมปฏิบัติธรรมในวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และมาฝึกปฏิบัติดำเนินจิตตามเส้นทางสายกลางไปพร้อม ๆ กันทั่วโลก

จากวิชา MD 102 หลักการเจริญสมาธิภาวนา

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙









คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การปฏิบัติเพื่อฝึกใจตามเส้นทางสายกลาง การปฏิบัติเพื่อฝึกใจตามเส้นทางสายกลาง Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 03:35 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.