การเป็นนักสร้างบุญบารมี


บุญ คือ เครื่องชำระล้างใจให้ใสสะอาด ให้ห่างไกลจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญของชีวิต

ทางมาแห่งบุญ หรือวิธีการเพื่อให้ได้บุญมาขจัดอุปสรรคของชีวิต เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ คือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญหรือเรื่องที่จัดเป็นการทำบุญ เป็นหนทางในการทำความดีหรือเป็นทางมาแห่งบุญ มี ๓ ประการ คือ

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน เพื่อกำจัดความโลภ
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีลเพื่อกำจัดความโกรธ
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา เพื่อกำจัดความหลง

ผลที่ได้จากการบำเพ็ญบุญ

ผลที่ได้จากการบำเพ็ญบุญด้วยการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา อาจแบ่งได้ ๓ ลักษณะ คือ

๑. ความสุขใจ อย่างน้อยที่สุดความรู้สึกสบายใจ สุขใจ ย่อมเกิดกับผู้นั้น
๒. นิสัยที่ดี เมื่อทำมากเข้า ความดีนี้ย่อมติดเป็นนิสัยประจำตัว
๓. ได้บุญ นี้ถือเป็นผลในส่วนละเอียดที่สัมผัสได้ด้วยใจที่สะอาดบริสุทธิ์

ดังนั้น หากบุคคลใดสั่งสมบุญได้มากอุปสรรคในชีวิตก็จะน้อย หากบุญน้อยอุปสรรคในชีวิตก็จะมาก บุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิ คือ มีความเชื่อมั่นในบุญ ย่อมเป็นผู้ที่รักในการสั่งสมบุญอย่างสม่ำเสมอ ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นประจำ เพราะมั่นใจว่าทั้ง ๓ ประการนี้เป็นทางมาแห่งบุญ

บุญอันเกิดจากทาน ศีล ภาวนานี้ มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ สะสมได้ เมื่อกระทำให้มากเข้าก็จะกลั่นตัวกลายเป็น บารมีซึ่งมีอานุภาพยิ่งกว่าบุญมากมายนัก

บารมี คือ ความดีอย่างยิ่งยวด เป็นธรรมอันเลิศ ธรรมอันประเสริฐ ที่พระบรมโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญสั่งสมไปโดยลำดับ เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีมี ๑๐ ประการหรือที่เรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ คือ

๑. ทานบารมี คือ การให้ทาน
๒. ศีลบารมี คือ การละเว้นบาปและความชั่วทั้งปวง
๓. เนกขัมมบารมี คือ สละการพัวพันในเรื่องกาม เรื่องครอบครัว แล้วหลีกเร้นแสวงหาทางหลุดพ้น
๔. ปัญญาบารมี คือ การเสาะแสวงหาความรู้ที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
๕. วิริยบารมี คือ ความหมั่นเพียรไม่ท้อถอย กล้าที่จะสู้กับอุปสรรค
๖. ขันติบารมี คือ ความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี
๗. สัจบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดี
๘. อธิษฐานบารมี คือ การตั้งความปรารถนาเพื่อบรรลุเป้าหมายในหนทางของความดี
๙. เมตตาบารมี คือ ความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๑๐. อุเบกขาบารมี คือ ความวางเฉยต่อสุขและทุกข์ หรือมีความยุติธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

บารมีทั้ง ๑๐ ทัศนี้ เป็นสิ่งที่พระโพธิสัตว์ต้องสั่งสมมาหลายภพหลายชาติจนติดเป็นนิสัย ซึ่งหากมองในแง่ของการกระทำที่ปรากฏแท้จริงก็คือ นิสัยที่ดีเลิศ ๑๐ อย่างนั้นเอง ซึ่งเริ่มต้นจากการสั่งสมทาน ศีล ภาวนา มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเข้มข้นขึ้นมาในระดับที่เกิดสัมมาทิฐิอย่างเหนียวแน่น เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิต ว่าเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงแท้แน่นอนจึงนำไปสู่การตั้งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร มีใจใหญ่พอที่จะทุ่มเทชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีทุกรูปแบบ ซึ่งเราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า พระโพธิสัตว์ จึงเป็นที่มาของการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ทั้ง ๓ ระดับ คือ

๑. บารมีอย่างธรรมดา คือ การบำเพ็ญความดีอย่างยิ่ง
๒. บารมีอย่างปานกลาง เรียกว่า อุปบารมี คือ การบำเพ็ญความดีอย่างยิ่ง ชนิดที่ยอมสละได้แม้เลือด เนื้อ และอวัยวะ เพื่อความดีนั้น
๓. บารมีอย่างสูงสุดอุกฤษฏ์ เรียกว่า ปรมัตถบารมี คือ การบำเพ็ญความดีอย่างยิ่งชนิดที่ยอมสละได้แม้ด้วยชีวิต

เมื่อบารมีทั้ง ๑๐ จำแนกออกเป็นองค์ละ ๓ บารมีอย่างนี้ จึงรวมเป็นบารมี ๓๐ ทัศ

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ให้คำอธิบายถึงความสัมพันธ์ของ บุญกับ บารมีในภาคปฏิบัติ อันเกิดจากการเห็นด้วยธรรมจักขุไว้ว่า บารมีนั้นเป็น ดวงซึ่งกลั่นมาจากดวงบุญ ที่เกิดจากการสั่งสมคุณงามความดีอย่างต่อเนื่อง จากดวงบารมีก็กลั่นเป็นดวงอุปบารมี และจากดวงอุปบารมีก็กลั่นเป็นดวงปรมัตถบารมี ดังปรากฏในพระธรรมเทศนาของท่านในเรื่อง ของที่ได้โดยยากดังนี้

แต่ว่าบารมีหนึ่ง ๆ กว่าจะได้เป็นบารมีนะ ไม่ใช่เป็นของง่าย ทานบารมีเต็มดวงนะดวงบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทาน ได้เป็นดวงบุญ ดวงบุญใหญ่โตเล็กเท่าไรไม่ว่า สร้างไปเถอะ ทำไปเถอะ แล้วเอาดวงบุญนั้นมากลั่นเป็นบารมี ดวงบุญมากลั่นเป็นบารมีนะ

บุญมีคืบหนึ่ง เต็มเปี่ยมเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทีเดียว เอามากลั่นเป็นบารมีได้นิ้วเดียวเท่านั้นเอง กลมรอบตัวเท่านั้นแหละ

กลั่นไปอย่างนี้แหละทุกบารมี ไปจนกว่าบารมีนั้นจะเต็มส่วน แล้วก็บารมีที่จะเป็นอุปบารมี เอาบารมีนั่นแหละ คืบหนึ่งเต็มส่วนเอามากลั่นเป็นอุปบารมีได้นิ้วเดียว

แล้วเอาอุปบารมีนั่นแหละคืบหนึ่ง กลมรอบตัว เอามากลั่นเป็นปรมัตถบารมีได้นิ้วเดียว

บารมีก็ดี อุปบารมีก็ดี ปรมัตถบารมีก็ดีวัดผ่าเส้นศูนย์กลางกลมรอบตัวทุกบารมีไป มีทั้ง ๓๐ ทัศ จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ายากนัก เรื่องนี้ยากนัก พระองค์จึงได้ทรงโปรดออกพระโอษฐ์ว่า พุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ ความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของได้ยากดังนี้

จะเห็นได้ว่า บุญเมื่อกระทำให้มากเข้าก็จะกลั่นเป็นบารมี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็คือการสร้างบารมีนั้นเอง และการสั่งสมบารมีนี้ก็เป็นวิถีปฏิบัติแห่งผู้ที่มีมโนปณิธานที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่ฝั่งพระนิพพานในที่สุด

ในฐานะที่เราเป็นนักสร้างบารมีพันธุ์หัวใจไม่เกี่ยง ซึ่งกำลังสร้างบารมีตามมหาปูชนียาจารย์ เราจึงได้ตั้งใจสั่งสมบุญ ทั้งทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างเข้มข้น คือ เวลาทำทานก็ทำแบบเต็มกำลัง และทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำด้วยตนเองและชักชวนคนอื่นจนเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ เช่น ตักบาตรพระแสนรูป การก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุต่าง ๆ สำหรับรองรับผู้ปฏิบัติธรรมก็เพื่อบำเพ็ญทานบารมี อีกทั้งยังได้ขันติบารมีวิริยบารมี เมตตาบารมี เมื่อต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตรอีกด้วย เมื่อรักษาศีล เราก็ตั้งใจรักษาทั้งศีล ๕ ศีล ๘ อยู่เป็นนิจ พยายามสำรวมระวังในการใช้ชีวิตไม่ให้พลาดไปทำผิดศีล เมื่อมีโอกาสก็บวชอุบาสก อุบาสิกาแก้วหรือบวชเณรถือศีล ๑๐ บวชพระถือศีล ๒๒๗ อันก่อให้เกิดเป็นศีลบารมีและเนกขัมมบารมี และเมื่อเจริญภาวนาก็ตั้งใจนั่งสมาธิ ทั้งทำการบ้าน ๑๐ ข้อ อันเป็นบทฝึกการเจริญภาวนาในขณะดำเนินชีวิต อีกทั้งยังตั้งใจสร้างสภาพแวดล้อมภายนอก ด้วยการชักชวนคนให้มาปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดบรรยากาศอันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ด้วยการร่วมปฏิบัติธรรมในโครงการต่าง ๆ เปิดบ้านกัลยาณมิตร ชวนคนมาวัด ทำให้เราได้ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี และอีกหลาย ๆ บารมีตามมา ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังทำอยู่ก็เพื่อสั่งสมบุญแห่งตน และนำสิ่งที่ดีงามนี้ไปให้แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ยากที่ใครจะทำได้ นี้เป็นสิ่งที่ยืนยันการเป็นนักสร้างบุญบารมีของพวกเราทั้งหลาย

แต่ทว่ามีคนในโลกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องการทำบุญ และไม่คุ้นกับการสร้างบารมี จึงทำให้ท่านเหล่านั้นไม่เข้าใจในสิ่งที่นักสร้างบารมีกระทำ และแสดงความเห็นต่างออกมา ด้วยการพูดบ้าง การต่อว่าบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราเหล่านักสร้างบารมี ที่นอกจากจะสร้างบารมีตามมโนปณิธานที่ตั้งใจไว้แล้ว ยังจะต้องชี้แจงให้ชาวโลกเข้าใจถึงความตั้งใจ เป้าหมาย และการกระทำที่ปรากฏ ด้วยใจที่เมตตาและปรารถนาดีกับทุก ๆ คน เพราะนี้ก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของการเป็นนักสร้างบารมี ที่จะต้องมีเมตตาและมหากรุณาที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ดังนั้นเราจึงต้องสวมหัวใจอันยิ่งใหญ่ของการเป็นนักสร้างบารมีทำหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การชี้แจงให้ผู้คนทั้งหลายเข้าใจในวิถีแห่งการสร้างบารมีของพวกเรา เพื่อมโนปณิธานที่ตั้งใจไว้จะได้บรรลุผลดังปรารถนา

เนื้อหาจากวิชา GB 101 วิถีชาวพุทธ

Cr. พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๖๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙









คลิกอ่าน DOU ความรู้สากลของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การเป็นนักสร้างบุญบารมี การเป็นนักสร้างบุญบารมี Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 08:33 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.