ผมเป็นเจ้าของกิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งใจดำเนินกิจการอยู่บนความถูกต้อง ผมจะทำอย่างไรให้สำเร็จสมความตั้งใจ?


ความถูกต้อง ที่คุณยึดเป็นหลักในการทำงานของคุณนั้น มาจากคำว่า สัจจะซึ่งแปลว่า ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ นั่นก็หมายความว่า ต้องทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง

เมื่อครั้งพุทธกาล เคยมีหัวหน้ายักษ์เป็นผู้ตั้งคำถามถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ก็เป็นสุข ตายแล้วก็ไปสวรรค์พระองค์ตรัสตอบว่า ผู้มีศรัทธา เชื่อในคำสอนของพระอริยเจ้า แล้วมีความประพฤติ  ๔ ข้อ คือ ๑. มีสัจจะ ๒. มีทมะ  ๓. มีขันติ  ๔. มีจาคะ  ผู้มีศรัทธาและมีธรรมครบ ๔ อย่างนี้ มีชีวิตอยู่ในโลกก็มีความสุข ตายไปก็ไปสวรรค์”   

ธรรมเรื่องที่ ๑ สัจจะ เป็นธรรมที่ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติ ถ้ารู้ความหมายเพียงแค่  ความถูกต้องยังไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจมากพอจะนำไปปฏิบัติได้ ถ้าแปลในลักษณะที่เอาไปฝึกด้วย ใช้งานด้วย สัจจะนั้นแปลว่า ความรับผิดชอบ เมื่อทำอะไรขึ้นมาแล้ว ถ้าผิดก็ต้องรับผิด  ถ้าถูกก็รับความดีความชอบไป

บูรพาจารย์ของเราท่านแยกออกมาให้ดูว่า ความถูกต้องที่คุณจะต้องรับผิดชอบทำนั้นมีอยู่ ๕ เรื่อง ไม่ใช่เรื่องเดียว

•    รับผิดชอบต่อหน้าที่ ต้องทำให้ครบทุกหน้าที่ที่มี

•    รับผิดชอบต่อการงาน หน้าที่แต่ละอย่างมีการงานที่ต้องทำมากมาย งานต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมาต้องทำให้ได้ดีถึงระดับดีที่สุด

•    รับผิดชอบต่อคำพูด ในการดูแลกิจการนั้นคุณไม่ได้ทำเองทุกเรื่อง คุณต้องให้คนอื่นมาช่วยทำ ฉะนั้นคำพูดของคุณที่สั่งงานไปต้องให้ชัดเจน

•    รับผิดชอบต่อบุคคล คุณมีบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งบุคคลต่าง ๆ ในการปกครองรวมถึงลูกค้าของคุณด้วย

•    รับผิดชอบต่อความดีของตัวเอง คือ บุญบาปที่จะเกิดกับคุณ รวมทั้งนิสัยดี ๆ หรือนิสัยเลว ๆ ที่จะเกิดกับคุณ

ยกตัวอย่างการทำงานของคุณ จะสร้างผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น หน้าที่ของคุณต้องไปควบคุมดูแลให้วิจัยแล้ววิจัยอีก ทดลองแล้วทดลองอีก ให้ได้ผลแน่นอน จึงจะยอมให้มีการผลิตออกมาจำหน่าย ส่วนในงานผลิต คุณก็ต้องติดตามรักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ ต้องกำกับดูแลลูกน้องทุกระดับให้ทำงานให้ดีที่สุด เพื่อรักษาชื่อเสียงของยี่ห้อเอาไว้ ฉลากสินค้าทุกตัวอักษรก็ต้องรับผิดชอบ เพราะมันคือคำพูดของคุณ ถ้าทำไม่ดีก็คือการไม่รับผิดชอบทั้งต่อลูกค้า ต่อบุคลากร ต่อบริษัท สุดท้ายก็ต่อบุญบาปของตัวเอง

นี้คือธรรมเรื่องที่ ๑ คือ สัจจะ ที่ใช้คำว่ารับผิดชอบหรือความถูกต้อง ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทั้งคุณและลูกน้องต้องฝึกให้ตัวเองมีความซื่อสัตย์ถึง ๕ สถาน

ความรับผิดชอบเพื่อความถูกต้องนี้ต้องฝึกจากการงานที่ทำและต้องทำให้เป็นนิสัย โดยประการสำคัญจะต้องมีความสำนึกในเรื่องความดี ความชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป ให้เป็นนิสัย

การมีความสำนึกในความรับผิดชอบเรื่องบุญเรื่องบาปเป็นนิสัย นั่นคือลักษณะของผู้มี ศรัทธาเชื่อในคำสอนของพระอริยเจ้าแล้ว เพราะถ้ายังไม่เชื่อว่ามีบุญ มีบาป มีนรก มีสวรรค์ มีชีวิตหลังความตาย ก็จะไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการกระทำของตนว่าจะเป็นบุญหรือบาป คนที่ไม่เชื่อ ไม่มีศรัทธา จะไม่ทุ่มเทรับผิดชอบมาถึงตรงนี้

ธรรมเรื่องที่ ๒ ทมะ ในขณะที่ทำการงานด้วยความรับผิดชอบตามหลักสัจจะอยู่นั้น คุณธรรมหนึ่งจะเกิดตามมาคือ ทมะ ซึ่งแปลว่า ฝึก แปลว่า ข่ม

๑. ฝึกนิสัยดี ๆ ขึ้นมาใหม่ เมื่อก่อนเราอาจจะทำงานอะไรยังไม่ดีเท่านี้ แต่วันนี้ถึงคราวจะต้องสร้างธุรกิจให้เป็นหนึ่ง จึงต้องฝึกต้องทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แม้ตอนนี้สินค้าในตลาดของเราถือเป็นที่หนึ่งแล้ว แต่เมื่อคำนึงว่า เมื่อต่างประเทศรุกเข้ามา สินค้าของเราก็อาจจะร่นถอยลงมาเป็นอันดับ ๓ อันดับ ๔ ได้ เมื่อคาดการณ์เห็นอย่างนี้ ก็มีความจำเป็นจะต้องฝึกกันต่อไป ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง

๒. ต้องข่มนิสัยไม่ดีต่าง ๆ ให้หมดไปด้วย เพราะนิสัยไม่ดีต่าง ๆ คือข้อบกพร่องที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดความเสียหาย เกิดอันตรายได้ 

เพราฉะนั้น เราก็ต้องฝึกบุคลากรทั้งองค์กรให้มีใจคิดและฝึกไปในแนวทางเดียวกัน  การพัฒนาถึงจะก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกันก็ระวังป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามหลังอีกด้วย

ธรรมเรื่องที่ ๓ ขันติ  คือ  ความอดทน การทำงานทุกงานนั้นต้องมีความอดทน ถ้าไม่มีก็เติบโตต่อไปไม่ได้

ขันติมี ๔ ลักษณะ แบ่งเป็น ๓ ทน ๑ อด คือ

•   ทนต่อความยากลำบาก ได้แก่ ทนแดด ทนลม ทนฝน ยิ่งเป็นเจ้าของต้องลงไปตรวจงาน ดูกิจการของเราเอง

•   ทนต่อทุกขเวทนา ได้แก่ ทนป่วย ทนไข้ ถ้าไม่เจ็บหนักก็ต้องออกไปติดตามดูการทำงานของลูกน้อง ถ้าปล่อยปละอาจมีบางสิ่งรอดหูรอดตาไปแล้วเสียหายได้

•   ทนต่อการกระทบกระทั่ง เพราะการปกครองคนหมู่มากย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นบ้าง ก็ต้องทนต่อลูกน้อง ทนคำบ่น ทนคำนินทา

•   อดใจต่อการยั่วเย้าของกิเลส เช่น อดใจต่อคำชม คำสรรเสริญต่าง ๆ ถ้าเผลอตัวไปกับคำชื่นชมต่าง ๆ เราอาจประเมินกำลังศักยภาพของตนผิดพลาดได้ ความประมาทเป็นหนทางแห่งความเสื่อม

ธรรมเรื่องที่ ๔ จาคะ  คือ  เสียสละ  ในขณะที่ทำงานไปและพยายามฝึกสัจจะ ทมะ และขันติไปด้วย ก็มีเรื่องที่ต้องการความเสียสละของเราเกิดขึ้นตามมา

การเสียสละเกิดขึ้นหลายประการ ได้แก่

•   สละเวลา สละเวลาหลับเวลานอน บางครั้งต้องติดตามงานให้เสร็จจนถึงดึกดื่น หรือ  บางครั้งต้องถูกปลุกแต่เช้าไปดูแลแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

•   สละความรู้ความสามารถ ความรู้ความสามารถบางอย่างหวงไม่ได้ เมื่อต้องการคนมาช่วยงานแบ่งเบาภาระงานต้องให้ความรู้แก่เขา และบางทีความรู้ที่เป็นความลับของเราจะรั่วไหลไปบ้าง ก็คงต้องยอมสละ

•   สละอารมณ์  ต้องสละอารมณ์เสียอารมณ์บูดทั้งหลายจากการทำงาน จากความเห็นไม่ตรงกัน ฯลฯ หากจะทำให้การสละอารมณ์ตรงนี้ได้ง่าย ก็ต้องฝึกนั่งสมาธิให้บ่อย ๆ

•   สละทรัพย์สิ่งของ ถึงเวลา ถึงจังหวะโอกาสที่เหมาะสม ก็มีรางวัลเตรียมไว้ให้แก่ลูกน้องคนทำงานด้วย ตอบแทนน้ำใจที่เขายอมทำงานติดตามเรา ให้เราได้ใช้สอยให้ทำงาน

ธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ เมื่อฝึกทำงานไปจะเกิดตามกันมาเป็นชุด จึงจะเกิดเป็นนิสัยขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แยกเป็น ๔ เรื่อง เปรียบเสมือนเพชรเม็ดหนึ่งมีทั้งสีสวย เนื้อแกร่ง น้ำดี สะท้อนแสงแวววับ มันไม่ได้แยกออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจุดเริ่มต้นต้องเป็นคนที่มีศรัทธา เชื่อคำสอนของพระอริยเจ้า เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อบุญบาป โลกนี้โลกหน้ามีจริง

เมื่อคุณคิดจะดำเนินกิจการบนความถูกต้อง ให้ลำดับความสำคัญของคุณภาพสินค้ามาก่อนกำไร นั่นคือเริ่มต้นการทำงานด้วยสัจจะ เป็นการเริ่มต้นที่ถูกทางแล้ว แต่จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจรอบด้านว่า ความถูกต้องประกอบด้วยความรับผิดชอบถึง ๔ ด้าน และธรรมชาติของความรับผิดชอบเหล่านี้จะทำได้สมบูรณ์จะต้องฝึกทมะ ขันติ และจาคะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย 

ดังนั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ กิจการก็จะเจริญเติบโตยั่งยืนได้ ทรัพย์ก็มั่งคั่ง ชีวิตก็มั่นคง สมบูรณ์ด้วยมิตรสหาย ลูกน้องบริวาร และเป็นชีวิตที่ได้สั่งสมบุญ ละเว้นจากบาปอกุศล จึงเป็นชีวิตที่อยู่ในโลกอย่างเป็นสุข ตายแล้วก็ไปสู่สวรรค์


Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๒  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๕๘

แนวทางการดำเนินชีวิตให้ประสบ
ข้อความที่ว่า “ของจริงต้องคู่กับคนจริง”






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ผมเป็นเจ้าของกิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งใจดำเนินกิจการอยู่บนความถูกต้อง ผมจะทำอย่างไรให้สำเร็จสมความตั้งใจ? ผมเป็นเจ้าของกิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งใจดำเนินกิจการอยู่บนความถูกต้อง ผมจะทำอย่างไรให้สำเร็จสมความตั้งใจ? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:40 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.