ข้อความที่ว่า “ของจริงต้องคู่กับคนจริง” นั้นเป็นอย่างไร?

ข้อความที่ว่า ของจริงต้องคู่กับคนจริงนั้นเป็นอย่างไร? ทำไมบางคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิไม่เคยขาด แต่ยังไม่เข้าถึงพระธรรมกาย  บางคนกว่าจะชวนเข้าวัดได้ก็แสนยาก แต่พอมานั่งสมาธิกลับเข้าถึงพระธรรมกายได้ง่าย ๆ


เรามาทบทวนกันก่อนว่า เราปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ระดับแรกคือเพื่อฝึกให้ใจหยุดนิ่ง  ระดับที่สองคือเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายในตัว และระดับที่สามคือด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกายจึงเห็นอริยสัจ ๔ นั่นคือเห็นและกำจัดกิเลสได้ 

จากเส้นทางการปฏิบัตินี้ จึงทำให้เรามองออกว่า  อริยสัจ ๔  ไม่ใช่เรื่องห่างไกลจากตัวเราเลย

เพราะเป้าหมายชีวิตจริง ๆ ของพวกเรา คือการปฏิบัติธรรมเพื่อจะเข้าถึงธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว เข้าถึงแล้ว ไปเห็นมาแล้ว ซึ่งก็คือการตรัสรู้อริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ เป็นความประเสริฐอันแสนวิเศษ เพราะใครที่ได้รู้เรื่องความจริงนี้ แม้เพียงรู้จักจากคำบอกเล่าของพระพุทธองค์ ก็จะเริ่มค้นหาทางออกจากทุกข์ที่วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร เมื่อหาทางออกเจอแล้ว ก็จะพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารได้

ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ สรุปได้ว่า

๑. ชีวิตนี้เป็นทุกข์ 

๒. ทุกข์นี้เกิดจากกิเลสที่ฝังอยู่ในใจ 

๓. ทุกข์ทั้งหลายแก้ได้ กำจัดได้ 

๔. ข้อปฏิบัติในการกำจัดทุกข์กำจัดกิเลส คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการ

ความจริง ๔ ประการนี้ต้องรีบรู้ แล้วลงมือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ใจจึงจะหยุดจะนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว ก็จะเข้าถึงพระธรรมกายในตัว

แต่การจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ แล้วเข้าถึงพระธรรมกายได้นั้น มีทางเดียวคือ ต้องมีสัจจะ คือ ต้องจริง

ถ้าคุณปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้จริง คุณก็จะเข้าถึงพระธรรมกายจริง แล้วคุณก็จะได้เห็นอริยสัจ ๔ จริง แล้วคุณก็จะปราบกิเลสได้จริง มันจริงเป็นชั้น ๆ เป็นขั้นตอนการฝึกตัวไปตามลำดับอย่างนี้

การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะต้องมีสัจจะทำจริงใน ๕ สถาน คือ ปฏิบัติให้สมกับหน้าที่ ให้สมกับการงาน ให้สมต่อวาจา ให้สมต่อบุคคลทุกคนที่เราต้องเกี่ยวข้อง และให้สมต่อความดี

ปฏิบัติจริง ๕ สถาน ชื่อว่าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จริง

๑. จริงต่อหน้าที่
           
๒. จริงต่อการงาน
           
๓. จริงต่อบุคคล
           
๔. จริงต่อวาจา
           
๕. จริงต่อความดีหรือธรรมะ

สิ่งที่ขาดตกบกพร่องไปในการนั่งสมาธิของเรา ทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้าก็อยู่ตรงนี้เอง ตรงที่การจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะขณะที่เรานั่งสมาธิ แต่ต้องต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงขณะปฏิบัติหน้าที่การงานอื่น ๆ ด้วย

๑-๒. สัจจะต่อหน้าที่และการงาน

หน้าที่ คือ ภารกิจที่ต้องรับทั้งผิดทั้งชอบ โอนให้ใครไม่ได้

การงาน คือ สิ่งที่ต้องทำตามหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ

ทันทีที่เกิดมา เราก็ต้องมีหน้าที่แล้ว ตั้งแต่หน้าที่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ถ้าเราไม่ใช่คนโต  ก็ต้องเป็นน้องที่ดีของพี่เขาด้วย แล้วก็ต้องเป็นหลานที่ดีของปู่ย่า ตายาย ของลุงป้า น้าอา อีกด้วย เมื่อโตขึ้นมาอีกนิดไปโรงเรียนก็มีหน้าที่เป็นลูกศิษย์ที่ดี ไปที่โรงเรียนมีเพื่อนก็เลยต้องมีหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดี

เมื่อโตขึ้นมาก็มีหน้าที่เป็นประชาชนที่ดี ต่อมาแต่งงานแต่งการก็มีหน้าที่เป็นสามีที่ดี เป็นภรรยาที่ดี ต่อมามีลูกมีเต้าก็ต้องเป็นพ่อที่ดีเป็นแม่ที่ดี

ครั้นเมื่อมาบวชเป็นพระก็มีหน้าที่ตามที่พุทธองค์ทรงสั่งไว้ ต้องเป็นพระที่ดี

เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ต่างก็มีหน้าที่ติดตัวมา บางอย่าง เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ บางอย่างก็เป็น หน้าที่ที่เกิดตามความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง แต่ละหน้าที่ก็มีการงานที่ต้องทำ

ตื่นเช้าขึ้นมา หน้าที่หลักของชีวิตคือเราจะต้องไปปราบกิเลสให้หมดไปให้ได้ด้วยการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘  เราก็ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติธรรมบ่มเพาะ สัมมาทิฐิ สัมมาสมาธิ

ตั้งแต่เช้ามืด เราก็สวดมนต์ทำวัตรนั่งภาวนาไปกับคุณครูไม่ใหญ่ กลางวันก็แบ่งเวลาทุกชั่วโมงขอ ๑ นาที เพื่อหยุดใจนึกถึงดวง นึกถึงองค์พระ หรือทำใจนิ่ง ๆ ว่าง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอตกกลางคืนถึงเวลามาศึกษาธรรมะ มาดู DMC ฟังธรรมะจากคุณครูไม่ใหญ่ คุณครูไม่เล็ก หรือจากพระอาจารย์ พอเสร็จเรียบร้อยก็ต้องทำภาวนาตามเทปของคุณครูไม่ใหญ่

การที่พวกเราปฏิบัติกันอย่างนี้ได้ทุกวันทุกคืน กลายเป็น สัจจะต่อหน้าที่นักสร้างบารมีที่ดี อย่างนี้เขาเรียกว่ามีสัจจะต่อหน้าที่ มีสัจจะต่อการงาน

นอกจากนี้เรายังมีหน้าที่จะต้องรักษากายนี้ให้ดี ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เพราะจะต้องใช้กายนี้ไปสู้กับกิเลส มีการงานต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ บ้างเป็นผู้ผลิต บ้างทำธุรกิจ บ้างรับราชการ  บ้างทำงานเอกชน ต่างก็ทำเพื่อจะได้มีปัจจัย ๔ เอามาเลี้ยงตัวทั้งเรื่องกินเรื่องใช้

ยิ่งคนมีครอบครัว ตื่นขึ้นมาแม่บ้านมีการงานที่จะต้องทำในการดูแลพ่อบ้าน พ่อบ้านก็มีหน้าที่การงานที่ต้องทำต่อแม่บ้านเช่นกัน

สัจจะต่อหน้าที่และการงาน ในเชิงปฏิบัติท่านใช้คำว่าต้อง จริงจัง จึงจะถือว่ามีสัจจะ ไม่ทำอะไรเป็นเล่น ไม่เป็นสามีภรรยากันเล่น ๆ ไม่เลี้ยงลูกแบบเล่น ๆ อย่างกับเล่นตุ๊กตา มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ทำการงานอะไรแล้ว ต้องเสร็จ ต้องทันเวลา และต้องดี

๓-๔. สัจจะต่อบุคคลและต่อวาจา

หน้าที่การงานทั้งหมดนี้เราต้องทำกับคนอื่น จึงต้องมีสัจจะต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย และแน่นอนว่ารวมถึงมีสัจวาจาด้วย

สัจจะต่อหน้าที่ผูกพันมาถึงสัจจะต่อการงาน เช่นเดียวกับที่สัจจะต่อบุคคลก็จะต้องมีสัจจะต่อวาจาด้ว

สัจจะต่อวาจาและสัจจะต่อบุคคล โบราณาจารย์ท่านสรุปว่านี้เป็นลักษณะของ ความจริงใจ ก่อนจะพูดจาอะไรกับใครให้คิดแล้วคิดอีก ยิ่งถึงกับตกลงสัญญากับใครไว้แล้ว ห้ามเบี้ยว ห้ามบิด ห้ามพลิ้ว ทำงานกับใครก็ถนอมใจกันบ้าง เห็นใจกันบ้าง เป็นตายก็ไม่ทิ้งกัน นี้คือลักษณะของความจริงใจทั้งต่อบุคคล ทั้งต่อวาจาคำพูดของเรา

วันใดขาดความจริงใจ ขณะที่มานั่งปฏิบัติธรรมจึงมีอะไรคอยผุดมากวนเรา องค์พระทำท่าจะชัด เรื่องบางอย่างกลับโผล่ขึ้นมากวนจิตใจ

เมื่อจริงใจต่อวาจาทุกคำที่พูด ต่อทุกคนที่เราคบค้าสมาคม สิ่งนั้นจะเป็นเหตุให้เราทำใจหยุดทำใจนิ่ง หรือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้ครบบริบูรณ์เร็ว

๕. สัจจะต่อความดี

จริงต่อหน้าที่ จริงต่อการงาน จริงต่อบุคคล จริงต่อคำพูดแล้ว ยิ่งไปกว่านี้ยังต้องจริงแสนจริงต่อความดีอีกด้วย

จริงต่อความดี คือ รู้ว่าอะไรดี รู้ว่าอะไรชั่ว อะไรที่ชั่วแล้วไม่ต้องรอให้ใครมาเตือน พอรู้ว่าชั่วหยุดทันที หยุดกึกหักดิบ รู้ว่าอะไรดีทุ่มชีวิตทำไป รู้ว่านิสัยอันนี้มีกับเราแล้วจะดีก็บ่มเพาะเข้าไป ธาตุทรหดดีก็เพิ่มเข้าไป รู้ว่านิสัยงอแงขี้แยน้อยใจไม่ดีก็หักดิบเลิกให้ได้ นี้คือคำว่าจริงต่อความดี

จริงต่อความดีนี้เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะเรียกว่าจริงจัง เกินกว่าจะเรียกว่าจริงใจ เขาจึงเรียกว่า จริงแสนจริงต่อความดี เมื่อจริงแสนจริงต่อความดีอย่างนี้ ใจก็หยุดก็นิ่ง แล้วนิ่งเร็วด้วย

ของจริงคู่กับคนจริง

ของจริง  ก็คือ พระธรรมกายที่อยู่ภายในตัว เข้าถึงได้ด้วยใจหยุดใจนิ่งจริง เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จริง

คนจริง  หมายถึง ผู้ที่มีทั้งความจริงจัง จริงใจ และจริงแสนดี สมบูรณ์อยู่ในตัว

การที่เราพาเพื่อนเข้าวัด กว่าจะเอาตัวมาได้ว่ายากนัก แต่พอเขามาถึงปุ๊บ วันนั้นเขากับเราก็นั่งสมาธิพร้อม ๆ กัน ปรากฏว่า เพื่อนเข้าถึงองค์พระแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นบอกได้เลยว่า เพื่อนของคุณคนนั้นเขาเป็น  คนจริง เขาได้ฝึกสัจจะ ๕ ประการนี้ผ่านหน้าที่การงาน ผ่านบุคคล  ผ่านคำพูด และการแก้ไขนิสัยใจคอมาตลอดชีวิตของเขา เขาทำอย่างนี้มานาน เขาเลยเป็นคนที่ใจนิ่งได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

บุคคลประเภทนี้เป็นบุคคลประเภทนิ่งจริง ไม่ว่าอะไรที่มาถึงเขา เขาทำดีเยี่ยมเลย  เกิดอุปสรรคอะไรขึ้นมาไม่เคยโวยวายสักคำ นิ่งหาช่องทางแก้ไขอยู่ตลอดเวลา แล้วเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตมาตามลำดับ ๆ

บุคคลประเภทนี้มาถึงวัดเมื่อใด นั่งเดี๋ยวเดียวเขาก็ใจหยุดใจนิ่งเข้าถึงพระธรรมกายในตัวได้ ส่วนใครที่ยังไม่ได้ฝึกตัวทั้ง ๕ ประการนี้มาดีพอ เข้าวัดมาแล้วก็ต้องใช้เวลาฝึกก่อนถึงจะมีโอกาสเข้าถึงธรรม แต่ถ้าวัดก็ไม่เข้า ฝึกก็ไม่ฝึก แบบนี้คงต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะเข้าถึงธรรม

ดังนั้น การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในการปฏิบัติจริง ๆ แล้ว กลับเหลือเพียงการฝึกสัจจะ  ๕ สถาน โดยมีวิธีวัดง่าย ๆ ว่า สัจจะ ๕ ประการของเราสมบูรณ์ดีไหม ถ้าสัจจะทั้ง ๕ ประการของเรานี้สมบูรณ์ เราต้องสว่าง ถ้ายังมืดอยู่ก็แสดงว่าทั้ง ๕ ประการนี้ยังไม่ครบ

เมื่อ ๕ ประการนี้ไม่ครบ มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่ครบ ก็ให้ไปทบทวนสัจจะ ๕ สถานของตัวเองให้ดี ว่าหน้าที่การงานทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ความจริงใจที่มีต่อทุกคน เคยพูดเคยจาอะไรกันไว้อย่างไร ก็ไปทบทวนดูว่า เราขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง ประการสุดท้าย ตรวจสอบนิสัยตัวเองว่า ความไม่เข้าท่าทั้งหลายที่เราเคยแก้ไขไปแล้วก็อย่าให้มันย้อนกลับมาอีก

สำรวจตรวจสอบสัจจะทั้ง ๕ ประการของตัวเองได้ละเอียดเท่าไร ก็จะกลายเป็นพรที่ให้แก่ตัวเอง ให้เราได้เป็นคนจริงเพื่อจะได้พบของจริงขอให้ทุกท่านทุกคนสามารถแก้ไขปรับปรุงสัจจะทั้ง ๕ สถานนี้ได้ แล้วเข้าถึงพระธรรมกายเป็นอัศจรรย์เทอญ 

Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ  ฉบับที่ ๑๕๓  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘

ผมเป็นเจ้าของกิจการผลิตสินค้า
ในทางพระพุทธศาสนามีคำอธิบายว่า






คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ข้อความที่ว่า “ของจริงต้องคู่กับคนจริง” นั้นเป็นอย่างไร? ข้อความที่ว่า “ของจริงต้องคู่กับคนจริง” นั้นเป็นอย่างไร? Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:58 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.