การรู้จักตนเองตามคำสอนของพระพุทธศาสนาหมายถึงอย่างไร?
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนเกี่ยวกับกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกของเรานี้เอง
หากเราต้องการรู้จักตัวเราเอง
ต้องมาศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านทรงสอนให้เรารู้จักตนเองอย่างไร
และควรทำอย่างไรต่อไป ถึงจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง
การทำความรู้จักตนเองขั้นพื้นฐานนั้น มีอยู่ ๔
เรื่อง
๑) กายมนุษย์ประกอบจากธาตุไม่บริสุทธิ์
กายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุสี่ ได้แก่ ธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ซึ่งธาตุสี่ที่ประกอบเป็นเซลล์ในร่างกายมนุษย์เป็นธาตุไม่บริสุทธิ์
จึงทำให้เซลล์ในร่างกายของเราเสื่อมสลายและตายไปสามร้อยล้านเซลล์ต่อนาทีโดยประมาณ
สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นเนื่องจากเซลล์ที่ตายไป
คือ อาการหนาวที่เกิดขึ้นของร่างกาย และหากปล่อยให้เซลล์ตายลงไปเรื่อย ๆ
เราก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ จะถึงซึ่งความตายในที่สุด
ดังนั้น
จึงต้องหาธาตุสี่จากภายนอกมาเติมให้ร่างกายอบอุ่น
แต่ธาตุสี่ที่หามาได้จากภายนอกนั้นก็เป็นธาตุสี่ที่ไม่บริสุทธิ์
เซลล์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่า เนื่องจากได้มาจากธาตุสี่ที่ไม่บริสุทธิ์
แม้ได้มาเพิ่มใหม่ มันก็ต้องตายต่อไป ฉะนั้นเราก็ต้องหาธาตุสี่มาเติมให้ร่างกายต่อไปตลอดชีวิต
วันใดที่ร่างกายไม่สามารถรับธาตุสี่เพิ่มได้อีกต่อไปก็เป็นวันสิ้นสุดชีวิตนี้
เมื่อเติมธาตุสี่เข้าไป
ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาพร้อมกับได้พลังงานด้วย ความร้อนก็เกิดขึ้นในร่างกาย
ความหนาว ความร้อน ที่มีอยู่ในตัวเรา
เป็นตัวฟ้องว่า ในกายเรานี้ ทุกนาทีมีตายมีเกิด
และมีเกิดมีตายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรยืนยงคงที่เลย
การที่เรารู้สึกหิวก็เพราะต้องการธาตุดิน
ที่รู้สึกกระหายก็เพราะต้องการธาตุน้ำมาเติม
ที่รู้สึกอึดอัดเพราะต้องการหายใจเอาธาตุลมเข้าไป
ที่รู้สึกหนาวก็เพราะต้องการธาตุไฟ ทำให้ต้องไปหาเสื้อผ้ามานุ่งห่ม
อาการเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหิว
เดี๋ยวกระหายนี้ เริ่มตั้งแต่เมื่อใด เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา
อาการเหล่านี้เกิดขึ้นในครรภ์
และบอกให้รู้ว่าร่างกายของเรานั้นมีตายมีเกิดมาตั้งแต่ก่อนเกิดจากครรภ์มารดาเสียอีก
อะไรเป็นเครื่องยืนยันว่าธาตุสี่เหล่านี้ไม่บริสุทธิ์
ก็อุจจาระ ปัสสาวะ ที่อยู่ในตัวเรา ที่ต้องขับถ่ายออกมาเพราะมันเป็นกาก
เป็นของเสีย ที่ร่างกายเอาไปใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ประโยชน์ จึงบอกได้ว่าธาตุเหล่านี้ไม่บริสุทธิ์
๒) ความทุกข์เกิดจากธาตุไม่บริสุทธิ์
อาการต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหนาว ร้อน หิว กระหาย
ขับอุจจาระออก ขับปัสสาวะออก รวมกันเรียกว่า ความทุกข์ประจำตัวหรือประจำสรีระ
ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น
ในชีวิตประจำวัน ถ้าเรามีความสำรวมกาย
สำรวมวาจา ความทุกข์จำพวกนี้จะบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง
จากที่มีการตายของเซลล์นาทีละสามร้อยล้านเซลล์ ก็ตายน้อยลงไปกว่านั้น
ยิ่งรักษาศีลได้มากเท่าไร ยิ่งนั่งสมาธิได้มากเท่าไร
อัตราการตายของเซลล์ซึ่งมาจากธาตุที่ไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ก็จะยิ่งลดลง ๆ
ไปอีกเรื่อย ๆ นี้คือ ปฏิกิริยาชีวเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรา
ยิ่งเราสามารถควบคุมกาย ควบคุมวาจาของเรา
อันเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของเราได้
ก็จะยิ่งช่วยลดความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ลงไปอีกมาก
๓)
งานเลี้ยงชีพของมนุษย์คือการเติมธาตุ
จากต้นเหตุเพราะธาตุสี่ในกายเราที่ไม่บริสุทธิ์
ส่งผลให้เราต้องไปหาธาตุสี่จากภายนอกมาเติม เพราะว่าเราต้องหาธาตุสี่นี้เอง
จึงทำให้เราต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ
ดังนั้นความจริงมนุษย์เราที่ต้องทำงานก็เพราะต้องการธาตุสี่นั่นเอง
แต่การทำงาน เราได้สิ่งตอบแทนเป็นเงินตรา
จากนั้นจึงนำเงินตรามาแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยสี่อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร
เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
ความซับซ้อนในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมีมาก
แม้เราจะรับธาตุสี่เข้าไป เราก็ยังไม่รับเข้าไปตรง ๆ ต้องรับผ่านในรูปของปัจจัยสี่
ดังนั้น เมื่อมีใครถามว่า เราทำงานไปเพื่ออะไร
ส่วนใหญ่คนจะตอบแค่ว่าทำงานเพื่อให้ได้เงินมา หาได้ยากที่ใครจะมองลึกไปถึงว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการทำงานเพื่อธาตุสี่
เหตุนี้เองมนุษย์จึงทำความเดือดร้อนให้มนุษย์ด้วยกันเองได้ง่าย
เพราะมนุษย์มองตื้น ๆ เพียงว่า ไม่ว่าจะประกอบอาชีพดีหรืออาชีพชั่ว
ต่างก็ได้มาซึ่งเงินตราเพื่อเอามาใช้จ่ายในชีวิตได้เหมือนกัน
แต่ความจริงของชีวิตไม่ได้หยุดแค่นั้น
เมื่อทำงานก็เกิดกรรมดีกรรมชั่วขึ้นมา และทั้งกรรมดีกรรมชั่วต่างก็ดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม
นั่นคือ “ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว” เมื่อมนุษย์ไม่คำนึงถึงปลายทางของกรรม
ตรงนี้คือจุดอันตรายของมนุษย์ผู้ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจความจริงของชีวิต
กฎแห่งกรรมที่เกิดขึ้นในชาตินี้
ที่เราสามารถตรองตามได้นั้นมีอยู่ เมื่อมนุษย์ทำกรรมดี ตั้งแต่ความคิด คำพูด
และการกระทำก็ดี ส่งผลให้สุขภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ทุกอย่างดีหมด บุญเกิด นิสัยดี ๆ เกิด มิตรเกิด
การงานก็เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จ ชีวิตรุ่งเรือง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ทำกรรมชั่วนั้นตรงกันข้าม
ตั้งแต่บั่นทอนทำลายสุขภาพกาย จิตใจ อารมณ์ บาปก็เกิด นิสัยเลวก็เกิด ก่อแต่ศัตรู
มีอันตรายรอบด้าน การงานตกต่ำ ชีวิตถดถอย นี้คือสิ่งที่มนุษย์ทำความผิดพลาด
เพราะผิดพลาดเช่นนี้คนชั่วจึงเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์
๔) การบรรเทาทุกข์จากธาตุไม่บริสุทธิ์
กฎแห่งกรรมไม่ได้จบแค่ชีวิตนี้
ยังปรุงแต่งภพชาติต่อไปว่าตายแล้วจะไปเสวยสุขในสวรรค์หรือรับทัณฑ์ทรมานในนรก
ซึ่งเรื่องสวรรค์นรกนี้พิสูจน์ได้ด้วยการฝึกสมาธิจนสามารถไปเห็นด้วยตนเองได้
แต่ในขณะที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะสมาธิยังไม่พอที่จะไปพิสูจน์ว่าตายแล้วไม่สูญ
สวรรค์มี นรกมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ข้อคิดเอาไว้ว่า ควรตั้งใจทำความดีไปก่อน
ถ้าแม้ไม่มีชาติต่อไป ผู้ทำความดีมาตลอดชาตินี้ก็ประสบแต่ความสุข ถ้ามีชาติต่อไปก็ประสบความสุขทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า
ซึ่งแตกต่างกับผู้ที่ทำกรรมชั่ว ถ้าแม้ไม่มีชาติต่อไป
ผู้ทำกรรมชั่วก็ประสบแต่ความทุกข์ตลอดชาติอยู่แล้ว แม้มีชาติต่อไป
ผู้ทำกรรมชั่วก็ประสบกับความทุกข์ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไปอีก
ดังนั้นไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่าตายแล้วสูญ บุคคลก็ควรทำแต่กรรมดี
ถ้าเราควบคุมสำรวมกาย สำรวมวาจา
สำรวมใจของเราอย่างดี และสำรวมในอาชีพของเราอย่างดี
ก็จะทำให้ความทุกข์ที่ประสบลดน้อยถอยลง แม้จะยังไม่หมด
เพราะเรายังทำความบริสุทธิ์ให้ตัวเองไม่ได้ก็ตาม
การที่เราจะสำรวมอาชีพได้อย่างไรนั้น
ขั้นแรก ต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร
ขั้นที่สอง นอกจากไม่ให้เดือดร้อนใครแล้ว
เรายังรักที่จะทำอาชีพนั้นด้วย
แต่ที่จะได้ขั้นที่สองดังใจนั้นไม่ง่ายนัก
ยกเว้นคนที่ทำความดีมามากพอ จึงมีสิทธิ์มีทางเลือกได้มาก
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า
เมื่อมีโอกาสทำความดีแก่คนทั้งหลายให้รีบทำไว้ให้มาก ถึงขีดถึงคราวที่บุญส่งผล
จะทำให้เรามีโอกาส มีทางเลือกที่ดี
ถ้าไม่อย่างนั้นโอกาสที่จะได้เลือกในสิ่งที่เราต้องการก็มีไม่มาก
ก็ได้แต่ต้องอดทนกันไป
ดังนั้น ตลอดชีวิตให้เลือกทำแต่ความดี
ให้รีบทำแต่ความดี เพราะความจริงของชีวิตเป็นเช่นนี้
เราเผชิญกับทุกข์มาตั้งแต่เกิด จะบรรเทาทุกข์ได้ก็ด้วยการทำแต่ความดีเท่านั้น
จะขจัดทุกข์ได้ต้องมาฝึกสมาธิตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว คนที่รู้จักตนเอง
คนที่เข้าใจชีวิต จะต้องรู้จัก ๔ เรื่องนี้ และตั้งใจสร้างแต่กรรมดี
ทั้งในขณะที่เติมธาตุสี่ ทั้งในขณะที่ประกอบอาชีพหาธาตุสี่มาเติมให้ชีวิต
เพราะว่าทำกรรมดีย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว คนที่ยังไม่เข้าใจ ๔ เรื่องนี้
จึงยังไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นคนที่รู้จักตนเองแล้ว
Cr. หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๔๘
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การไม่รู้จักตัวเองจะก่อให้เกิดผลเสียฯ |
เราควรปฏิบัติตนอย่างไรในการดูแลสุขภาพฯ |
คลิกอ่านหลวงพ่อตอบปัญหาของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
การรู้จักตนเองตามคำสอนของพระพุทธศาสนาหมายถึงอย่างไร?
Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ
on
00:38
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: