การสืบทอดวรรณกรรมบาลีแห่งศรีลังกาและสยามประเทศ


เมื่อวันที่ ๑๖-๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา อุบาสิการัชนี พรสี่ นักวิชาการไทยของโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ได้เป็นตัวแทนไปนำเสนอผลงาน ในหัวข้อ การสืบทอดวรรณกรรมบาลีจากประเทศสยามไปสู่ประเทศลังกาเพื่อฟื้นฟูภาวะวิกฤตทางพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ ๑๘ในงานประชุมสัมมนานานาชาติ ด้านภาษา วรรณกรรม และสังคม ครั้งที่ ๔ (Fourth International Conference on Languages, Literature and Society) จัดขึ้นที่ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ โดยความร่วมมือของ Ithaca College นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, ศูนย์วิจัยและการพัฒนานานาชาติ ประเทศศรีลังกา และ Jagadguru Kripalu University ประเทศอินเดีย

การศึกษาหัวข้อวิจัยดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดทั่วไปที่เข้าใจว่า คัมภีร์ใบลาน สายที่ใกล้เคียงสมัยพุทธกาลที่สุด คือ สายสิงหล แต่เมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงระหว่างความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาในศรีลังกาและไทย จึงได้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจในหน้าประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงระหว่างความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาในเกาะลังกาและแผ่นดินสยาม ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับการแลกเปลี่ยนวรรณกรรมบาลีระหว่าง ๒ ประเทศ ที่มีมาอย่างช้านาน

พระพุทธศาสนาเผยแผ่จากอินเดีย และตั้งมั่น ณ เกาะลังกา หลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ ราวปี พ.ศ. ๒๐๐ เศษ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระมหินทเถระ พระราชโอรสผู้รอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ ๙ ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังตัมพปัณณิทวีป ในรัชสมัยกษัตริย์ลังกา พระนามว่า พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นพระสหายของพระองค์ การเดินทางไปประกาศพระศาสนาในครั้งนี้ พระมหินทเถระได้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปสู่เกาะลังกา และได้แสดงพระธรรมเทศนาจนพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเกิดศรัทธาปสาทะสร้างมหาวิหารเป็นศูนย์กลางเถรวาทสืบมา

การสืบทอดพระพุทธศาสนาในเกาะลังกายุคนั้นยังเป็นแบบมุขปาฐะ (การท่องจำสืบต่อกันมา) ยังมิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แม้ว่าช่วงเวลาที่พระมหินทเถระไปยังเกาะลังกานั้นมีหลักฐานระบุว่ามีระบบการเขียนแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นก็มิได้ปรากฏหลักฐานการจารพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด จนกระทั่งราวปี พ.ศ. ๔๐๐ จึงมีการจารพระไตรปิฎกลงบนแผ่นลานเป็นครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยตามหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ทีปวงศ์ ซึ่งรจนาโดยภิกษุณีศรีลังกาเป็นคาถาภาษาบาลี อักษรสิงหล นับเป็นพงศาวดารพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่ง มีเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ลังกา

เนื้อหาในปริเฉทที่ ๒๐ ของคัมภีร์ทีปวงศ์ฉบับภาษาไทย สำนวนแปลและเรียบเรียงโดย รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ภิกษุณีธัมมนันทา) ระบุว่า พระเจ้าวัฏฏคามินีกลับมากู้บัลลังก์อีกครั้งโดยปลงพระชนม์กษัตริย์ทมิฬ ทาฐิกะ พระเจ้าอภัยวัฏฏคามินีครองราชย์อยู่ ๑๒ ปี และก่อนหน้านั้น (ในช่วงที่พวกทมิฬเข้ามาคั่น) อีก ๕ เดือนก่อนหน้านั้น พระภิกษุสงฆ์สืบทอดพระธรรมคำสอนทั้งไตรปิฎกและอรรถกถาโดยมุขปาฐะ ในช่วงนี้เองที่พระสงฆ์ได้เห็นถึงความเสื่อมของมนุษย์เข้าร่วมประชุมเพื่อให้พระศาสนาสืบทอดไปได้ยาวนาน จึงทำการบันทึกคำสอนโดยการจารลงเป็นลายลักษณ์อักษรการจารคัมภีร์พระไตรปิฎก ณ เกาะลังกานับเป็นจุดกำเนิดของคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานที่ต่อมาได้สืบทอดไปยังดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในแถบสุวรรณภูมิและขยายความรุ่งเรืองสู่สยามประเทศในเวลาต่อมา

ในสมัยพระเจ้าปรักกรมพาหุ พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มีความรุ่งเรืองมาก ทำให้มีพระภิกษุสงฆ์จากหลากหลายประเทศเดินทางไปศึกษาหรือบวชเรียน ณ เกาะลังกา ขณะเดียวกันก็มีพระภิกษุชาวลังกาเดินทางไปเผยแผ่พระศาสนายังดินแดนต่าง ๆ สำหรับในดินแดนสยามปรากฏหลักฐานว่า กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ลังกาวงศ์ขึ้นไป ณ กรุงสุโขทัย ดังข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบพระไตรปิฎก หัวก๊กกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกตนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมานี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คัมภีร์ใบลานบาลีจารีตสิงหลมีการปฏิบัติและเข้าหยั่งราก ณ ใจกลางของกรุงสยาม ตั้งแต่ยุคกลางศตวรรษที่ ๑๔ จนถึงศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา แต่การที่ไทยรับถือลัทธิลังกาวงศ์นั้น เมื่อรับมาแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับวิถีและแนวปฏิบัติแบบของไทย อาทิ ตัวอักษรเขียนพระไตรปิฎก คงใช้ตัวอักษรขอม เป็นต้น

สำหรับพระพุทธศาสนาในเกาะลังกา ยังคงความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนกระทั่งศตวรรษที่ ๑๘ เกิดภาวะวิกฤตทางพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้การสืบทอดพระพุทธศาสนาในประเทศลังกาเสื่อมถอยไปอย่างมาก กษัตริย์กีรติศรีราชสิงหะปกครองราชอาณาจักรแคนดี ได้ส่งราชทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอความช่วยเหลือ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสงฆ์สยามนำโดยพระอุบาลีเถระและพระอริยมุนีเถระไปยังลังกา เพื่อบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวสิงหล พร้อมกันนั้นได้พระราชทานคัมภีร์ที่ไม่มีในเกาะลังกาแก่ทูตานุทูต ดังปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ว่า “...เจ้าพนักงานพาพวกทูตานุทูตเข้าไปหาเจ้าพระยามหาอุปราช ๆ ทักทายปราไสยแลเลี้ยงหมากพลูแล้ว จึงให้ดูพระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งในลังกาทวีปหาฉบับไม่ได้ บอกว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะพระราชทานหนังสือคัมภีร์ทั้งปวงนี้ให้ออกไปกับคณะสงฆ์ ที่จะไปให้อุปสมบทในลังกาทวีป...

๓ ปีต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งคณะสงฆ์สยามนำโดยพระวิสุทธาจารย์และพระวรญาณมุนีไปผลัดเปลี่ยนกับคณะสงฆ์ชุดแรก และเมื่อคณะทูตที่เดินทางมาส่งจะเดินทางกลับเกาะลังกา พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ทางลังกาขาดแคลนกลับไปอีก ๙๗ คัมภีร์ ดังข้อมูลปรากฏในจดหมายโบราณของอัครมหาเสนาบดีซึ่งส่งจากประเทศสยามไปถึงประเทศลังกาที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๙๙ ด้วยภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาทางการทูตระหว่างประเทศสยามกับประเทศลังกาในเวลานั้น

การสืบทอดมรดกวรรณกรรมบาลีทางพระพุทธศาสนาที่ส่งต่อจากประเทศสยามกลับสู่ประเทศลังกาในช่วงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ซึ่งเริ่มจากพระราชสาส์นจากกษัตริย์ลังกาทรงทูลขอกษัตริย์สยามให้พระราชทานตัวแทนพระมหาเถระผู้ทรงภูมิรู้ธรรม เดินทางไปฟื้นฟูการศึกษาพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกและไปให้การอุปสมบทพระภิกษุซึ่งขาดช่วงไปจากประเทศลังกา จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นอกจากจะมีการส่งพระมหาเถระไปเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ที่มากกว่านั้นคือ คัมภีร์วรรณกรรมบาลีจากประเทศสยามก็ถูกส่งไปเพื่อฟื้นฟูเหตุการณ์วิกฤตทางพระพุทธศาสนาในประเทศลังกาอีกด้วย นี้คือการตอบแทนจากสยาม ดินแดนที่เคยได้รับการถ่ายทอดความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาจากลังกา ด้วยการระลึกถึงอุปการคุณนั้นและส่งมอบความรุ่งเรืองกลับคืนสู่ประเทศลังกาอีกครั้ง จึงอาจเป็นไปได้ว่า วรรณกรรมพระพุทธศาสนาของสิงหลและสยามต่างมีการถ่ายทอดผสมผสานกันเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังนั้นคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานสิงหลที่มีอายุน้อยกว่า ๒๖๔ ปี ที่จารในภายหลังการเข้าไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาของพระภิกษุสงฆ์ชาวสยาม อาจมีเค้าโครงของต้นฉบับจากใบลานของทางกรุงศรีอยุธยาดั้งเดิมก็เป็นได้

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

การสืบทอดวรรณกรรมบาลีแห่งศรีลังกาและสยามประเทศ การสืบทอดวรรณกรรมบาลีแห่งศรีลังกาและสยามประเทศ Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 02:18 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.