สังคายนา เชื่อมกาลสานธรรม


ใกล้รุ่งของคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ณ สาลวโนทยาน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ยังความเศร้าเสียใจให้แก่เหล่าพุทธบริษัท ๔ ทว่ากลับมีภิกษุนามว่า พระสุภัททะ ได้กล่าวจาบจ้วงดูหมิ่นพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระมหากัสสปเถระเรียกประชุมสงฆ์เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ หลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน


อีกร้อยปีต่อมา ราว พ.ศ. ๑๐๐ ได้เกิดกรณีพิพาทเมื่อภิกษุวัชชีบุตรเมืองเวสาลีได้บัญญัติและประพฤติตามวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งขัดต่อพุทธบัญญัติ จึงเป็นเหตุให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ ขึ้น ถัดมาอีกร้อยกว่าปี ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาทําให้มีเดียรถีย์จํานวนมากปลอมเข้ามาบวช เพื่อหวังลาภสักการะ เป็นเหตุให้พระเจ้าอโศกมหาราชเห็นภัยที่เกิดขึ้น จึงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร

การสังคายนา ๓ ครั้งดังกล่าว ณ ดินแดนชมพูทวีป เป็นที่ยอมรับตรงกันของนักวิชาการและพระภิกษุในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ไทย เมียนมา และศรีลังกา แต่วิธีนับการสังคายนาตั้งแต่ครั้งที่ ๔ เป็นต้นไปของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เนื่องมาจากภายหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูต จํานวน ๙ สาย ออกเผยแผ่ปักหลักพระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ทําให้เกิดการชําระพระธรรมคําสอนเฉพาะในดินแดนของตนในกาลต่อมา

สําหรับประเทศไทยนับการสังคายนา ๓ ครั้งแรกที่ชมพูทวีปเช่นเดียวกับประเทศเมียนมาและศรีลังกา แต่เริ่มนับการสังคายนา ณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ เกาะลังกา พ.ศ. ๒๓๘ ซึ่งพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔

การสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่ปฐมสังคายนาจนถึงการสังคายนาครั้งที่ ๔ นี้ เป็นลักษณะท่องสวดแบบปากเปล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัยปฐมสังคายนา โดยศิษย์สายพระอุบาลีทรงจําพระวินัยปิฎก ศิษย์สายพระอานนท์ทรงจําพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกสืบกันมาโดยมิได้ขาดสาย

จนกระทั่งการสังคายนาครั้งที่ ๕ ราวพ.ศ. ๔๐๐ เศษ ได้มีการจารจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนใบลานเป็นครั้งแรก ณ อาโลกเลณสถานในลังกาทวีป นับจากนั้น วิธีสืบทอดพระไตรปิฎกในเกาะลังกา คือการสังคายนาครั้งที่ ๖ และครั้งที่ ๗ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจารจารึกลงในคัมภีร์ใบลานและธรรมเนียมการสืบทอดพุทธธรรมลงบนแผ่นใบลานนี้ได้ขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ

ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๘ ซึ่งนับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในแผ่นดินไทย พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งล้านนาโปรดเกล้าฯ ให้จารพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรธรรมล้านนาลงบนแผ่นลาน เพื่อชําระคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่คลาดเคลื่อนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้จารจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นลานด้วยอักษรขอม เมื่อคราวกระทําสังคายนาครั้งที่ ๙ ณ กรุงเทพมหานคร วิธีสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ ๕ จนถึงครั้งที่ ๙ นี้ จึงเป็นแบบการจารจารึกลงบนแผ่นลานทั้งสิ้น

พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ จัดทำขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๓๑ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๙

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เจริญก้าวหน้า วิธีสืบทอดพุทธธรรมจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๑๐ มีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มแบบฝรั่งรวม ๓๙ เล่ม และต่อมาเมื่อมีการสังคายนาครั้งที่ ๑๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พิมพ์พระไตรปิฎกเพิ่มอีก ๖ เล่ม จนครบ ๔๕ เล่มในหนึ่งชุด

นับแต่หลังพุทธปรินิพพานเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน การสังคายนาแต่ละยุคสมัยมีรูปแบบการสืบทอดแตกต่างกันไป ทั้งแบบมุขปาฐะ การจารจารึก และพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อสืบทอดธํารงและเชื่อมคําสอนครั้งพุทธกาลให้ส่งผ่านกาลเวลามาสู่เราชาวพุทธในปัจจุบัน ให้คําสอนนั้นเป็นแสงนําทางในการดํารงชีวิตของเราต่อไปตราบนานเท่านาน

การนับครั้งสังคายนาในไทย



สังคายนาครั้งที่ ๑
กระทําหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ณ ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ และมีพระอรหันตขีณาสพจํานวน ๕๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนาพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู ่ ๗ เดือน จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๒
กระทําประมาณ พ.ศ. ๑๐๐ ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระยสกากัณฑกบุตรเถระ เป็นผู้ชักชวนพระอรหันตขีณาสพ ๗๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนาพระเจ้ากาฬาโศกราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๘ เดือน จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๓
กระทําเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธานสงฆ์ มีพระอรหันตขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๙ เดือน จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๔
กระทําเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘ ณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป พระมหินทเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๑๐ เดือน จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๕
กระทําเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ในลังกาทวีป พระรักขิตมหาเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์กว่า ,๐๐๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๑ ปี จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๖ 
กระทําเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ณ โลหะปราสาท เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป พระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธานสงฆ์ ไม่ระบุจํานวนพระสงฆ์ผู้เข้าร่วมสังคายนา พระเจ้ามหานามะทรงเป็นองค์อุปถัมถ์กระทําอยู่ ๑ ปี จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๗
กระทําเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ ณ ลังกาทวีป พระกัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์ ,๐๐๐ รูปเข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๑ ปี จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๘
กระทําเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ณ วัดโพธาราม เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย พระธรรมทินมหาเถระเป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์หลายร้อยรูปเข้าร่วมสังคายนา พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๑ ปี จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๙ กระทําเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานสงฆ์ และมีพระสงฆ์หลายร้อยรูปร่วมสังคายนา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๕ เดือน จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๑๐ กระทําเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๓๖ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งดํารงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ครั้งเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์ ๑๑๐ รูป เข้าร่วมสังคายนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อุปถัมถ์ กระทําอยู่ ๖ ปี จึงสําเร็จ


สังคายนาครั้งที่ ๑๑ กระทําเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๓ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นประธานสงฆ์ และมีพระราชาคณะอีก ๘ รูป แบ่งกันรับหน้าที่ผู้ชําระ และสร้างพระไตรปิฎกด้วยพระราชทรัพย์และเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไป

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ปุราณอักษรา
ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๑)

คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
พระไตรปิฎก มรดก ๙ แผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปีก่อนหน้า)
ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ
รอยลบ ที่ไม่ลบเลือน
การสืบทอดวรรณกรรมบาลีแห่งศรีลังกาและสยามประเทศ
ปุราณอักษรา
ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๑)
สังคายนา เชื่อมกาลสานธรรม สังคายนา เชื่อมกาลสานธรรม Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 19:29 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.