ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๑)


ณ มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอนุทวีปอินเดีย เป็นที่ตั้งของเกาะรูปร่างคล้ายหยดน้ำชื่อ ลังกาทวีปหรือที่รู้จักในปัจจุบันว่าประเทศศรีลังกา เกาะแห่งนี้มีชื่อเรียกหลากหลายแตกต่างกันไปตามสมัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์แห่งภัทรกัปนี้ ในสมัยพระกกุสันธพุทธเจ้าเรียกว่า โอชทีปะ สมัยพระโกนาคมนพุทธเจ้าเรียกว่า วรทีปะ และสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าเรียกว่า มัณฑทีปะ ส่วนชื่อที่เป็นที่รู้จักกันมาก คือ ลังกาทวีปและ ลงกาตามมหากาพย์รามายณะ มหากาพย์ของอินเดียซึ่งประพันธ์ด้วยภาษาสันสกฤตเป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์


ประชากรส่วนใหญ่ของศรีลังกาเป็นชาวสิงหลราวร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมด นับถือพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการหยั่งรากลึกของพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องมายาวนานหลายพันปี ดังปรากฏเรื่องราวบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในพงศาวดารที่เก่าแก่ของลังกา คือพระคัมภีร์ทีปวงศ์และพระคัมภีร์มหาวงศ์ ที่บันทึกตำนานการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นว่า ทีปวงศ์น่าจะแปลว่า วงศ์อันรุ่งเรืองเช่นดวงประทีปหรือวงศ์อันเป็นประดุจดวงประทีป อันหมายถึง วงศ์แห่งพระพุทธเจ้าต้นฉบับพระคัมภีร์ทีปวงศ์เป็นอักษรสิงหลภาษาบาลี ไม่ปรากฏหลักฐานว่ารจนาขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้ประพันธ์ แต่เชื่อว่าเป็นผลงานที่มีจุดเริ่มต้นจากการสืบทอดการทรงจำแบบปากต่อปาก ที่เรียกว่า มุขปาฐะจากนั้นจึงบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้ประพันธ์หลายคน ภาษาที่ใช้ในการประพันธ์ จึงไม่สละสลวยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่าที่ควร


ต่อมา ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๕ พระมหาเถระมหานามะแห่งอนุราธปุระได้รจนาพระคัมภีร์มหาวงศ์ขึ้นอีกเล่มหนึ่งในรูปแบบคาถา โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งเดียวกับพระคัมภีร์ทีปวงศ์ โดยเฉพาะข้อมูลจากคัมภีร์สีหลมหาวังสัตถกถา ของคณะสงฆ์สำนักมหาวิหาร ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ดังนั้นเนื้อหาของพระคัมภีร์ทีปวงศ์และพระคัมภีร์มหาวงศ์จึงเหมือนกันมาก มีเพียงลำดับเรื่องที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากพระคัมภีร์มหาวงศ์ถือเป็นวรรณกรรมภาษาบาลีที่มีความสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง ต้นฉบับเดิมอักษรสิงหลจึงได้รับการถ่ายถอด (transliterate : แปลงตัวเขียนจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง) เป็นอักษรต่าง ๆ รวมทั้งอักษรขอม ซึ่งเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ที่ในอดีตมักใช้บันทึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ฉบับที่ค้นพบโดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นพระคัมภีร์ทีปวงศ์ฉบับรองทรง มีอายุอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื้อหาของพระคัมภีร์เริ่มต้นด้วยการเสด็จเยือนลังกาทวีปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ ครั้ง ดังนี้


การเสด็จเยือนครั้งแรก คือเดือนที่ ๙ หลังการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเล็งเห็นด้วยทิพยจักษุว่า ลังกาทวีปเป็นป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แต่ต่อมาถูกหมู่ยักษ์และรากษสผู้มีใจโหดเหี้ยมดื่มกินโลหิตเป็นอาหารเข้ามาครอบครอง พระองค์ทรงดำริที่จะทำให้เกาะลังกากลับมาเป็นที่อยู่ของเหล่ามนุษย์ตามเดิม ด้วยทรงเห็นว่าในอนาคตพระพุทธศาสนาจะเจริญ ณ ดินแดนแห่งนี้ จึงเสด็จจากตำบลอุรุเวลาไปปราบเหล่าอมนุษย์ โดยทรงแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ ทรงบันดาลฝนห่าใหญ่ให้ตกและลมเย็นจัดให้พัดไม่ขาดสาย ทั่วทั้งพื้นที่เต็มไปด้วยความมืดมนอนธการ จากนั้นก็ทรงบันดาลให้อากาศร้อนจัดราวกับมีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน ๗ ดวง แม้แต่แผ่นหนังอันเป็นที่ประทับของพระองค์ก็ลุกเป็นเปลวเพลิงร้อนแรงโชติช่วง เหล่ายักษ์และรากษสเห็นพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณ ต่างก็แตกตื่นวิ่งหนีอย่างไร้ทิศทางด้วยความหวาดกลัว จากนั้นพระองค์ก็ทรงบันดาลเกาะคิรีทีปะที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เพื่อให้เหล่าอมนุษย์หลบหนีออกจากเกาะลังกาและใช้เกาะนี้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไปอย่างผาสุก


การเสด็จเยือนครั้งที่ ๒ คือ ๕ ปีหลัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขับไล่อมนุษย์ออกจากเกาะลังกาขณะ ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน มหาวิหาร พระองค์ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นว่าเหล่านาคผู้มีฤทธิ์มากมักโกรธ มีใจหยาบช้า มัวเมาด้วยทิฐิมานะที่อยู่ตามเชิงเขาในเกาะลังกาได้ออกมาสู้รบกัน เพื่อชิงความเป็นใหญ่ในบัลลังก์ หากพระองค์ทรงปล่อยให้จอมนาคลุงกับหลาน คือ มโหทรนาคราชและจุโฬทรนาคราชนำไพร่พลรบราฆ่าฟันกันโดยมิเสด็จไปห้ามปราม เกาะลังกาก็คงจะถึงกาลพินาศ ด้วยพระเมตตาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงปรารถนาให้พวกนาคอยู่ด้วยกันอย่างสันติและเพื่อรักษาเกาะลังกามิให้ถูกทำลาย พระองค์ได้เสด็จไปยังสนามรบของเหล่านาค พร้อมด้วยสมิทธิเทพผู้เป็นพระราชาแห่งเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก ทรงบันดาลให้เกิดความมืดครอบคลุมไปทั่วอาณาบริเวณ จนเหล่านาคเกิดความกลัวจนขนลุกขนพองสยองเกล้า จากนั้นทรงแผ่เมตตาและเปล่งฉัพพรรณรังสีสว่างไสวไปทั่วสารทิศ แล้วทรงประกาศพระสัทธรรมจนเหล่านาคจำนวน ๘๐ โกฏิ เกิดความสำนึกและยินยอมพร้อมใจกันถวายบัลลังก์แด่พระพุทธองค์ พร้อมปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยพุทธานุภาพต้นราชายตนะที่สมิทธิเทพอัญเชิญ มาเป็นร่มกางถวายพระบรมศาสดาได้สถิตเหนือบัลลังก์ที่ทรงประทับ ก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงสาวัตถี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานบัลลังก์และต้นไม้ให้เป็นบริโภคเจดีย์แก่พวกนาค


ครั้งที่ ๓ คือในพรรษาที่ ๘ แห่งการตรัสรู้ธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไป ยังเกาะลังกาตามคำทูลเชิญของพญานาคนามว่า มณีอักขิกะ พร้อมด้วยภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป พระพุทธองค์เสด็จไปในอากาศมายังปากแม่น้ำกัลยาณีพร้อมด้วยพระสาวก ซึ่ง ณ ที่นั้นจะเป็นที่ตั้งของพระมหาสถูปและพระมหาเจดีย์ต่อไปในภายภาคหน้า หลังประทับนั่งแผ่เมตตา และทรงเข้าสมาบัติตลอด ๗ วัน แล้วเสด็จไปยังมหาเมฆวันอันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าถึง ๓ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ ได้ประทับนั่งรับไทยธรรม และพระองค์ก็ทรงเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ที่ ๔ ที่ประทับรับไทยธรรมเฉกเช่น พระพุทธเจ้าในกาลก่อน จากนั้นจึงเสด็จพร้อมด้วยพระสาวกไปที่ยอดเขาสุมนกูฏ คือยอดเขาศิริปาทะ และประทับรอยพระบาทไว้บนยอดเขา แห่งนั้น

เนื้อความในพระพระคัมภีร์ทีปวงศ์และพระคัมภีร์มหาวงศ์ เรื่องการเสด็จมายังเกาะลังกาทั้ง ๓ ครั้ง ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบลงเพียงเท่านี้ จากนั้นเนื้อความปริเฉทถัดไป พระมหาคัมภีร์ได้เล่าถึงเรื่องการสังคายนา พระไตรปิฎกครั้งต่าง ๆ รวมถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ เกาะลังกา หลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไปในบทความฉบับหน้า แม้ว่าในการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของนักวิชาการบางท่าน อาจมองว่าการเสด็จมาของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้จริง ถึงกระนั้น หากมองพระคัมภีร์ทั้งสองในมิติ ของความรักและความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธองค์ กลับทำให้เห็นว่า เรื่องราวดังกล่าวแสดงถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีมานานหลายพันปี และสะท้อนถึงความแน่นแฟ้นในคำสอนของพระพุทธองค์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของบรรพชนชาวศรีลังกามาช้านาน หล่อหลอมให้เกาะลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่คำสอนของพุทธศาสนาแบบเถรวาทยังเป็นประทีปส่องนำทางมาจนปัจจุบัน

Cr. Tipitaka (DTP)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๗๖ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐


คลิกอ่านพระไตรปิฎก (DTP) ของวารสารอยู่ในบุญ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลิงก์ด้านล่างนี้
สังคายนา เชื่อมกาลสานธรรม
ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๑) ลังกาทวีป ประทีปพุทธธรรม (ตอนที่ ๑) Reviewed by สำนักสื่อธรรมะ on 01:57 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.